"...ฮัน คัง นำบุคลิกตัวละคร ที่แตกต่างกันมาสะท้อนผ่านเหตุการณ์เหล่านั้น เธอทำให้เห็น สัจธรรมว่าการมีชีวิตอยู่และความตายเป็นสิ่งที่คู่ขนานกันตลอดเวลา และเห็นถึงความทุกข์ทรมานของคนหลายรุ่น..."
“เป็นกวีนิพนธ์อันมีพลังแรงกล้าที่เผชิญหน้ากับบาดแผลทางประวัติศาสตร์ ทั้งยังเปิดเปลือยถึงความเปราะบางของชีวิตมนุษย์” (“Intense poetic prose that confronts historical traumas and exposes the fragility of human life”)
เมื่อคณะกรรมการรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ประกาศผลรางวัลที่กรุงสตอคโฮล์ม สวีเดน ยกย่องว่า ฮัน คัง นักเขียนสตรีชาวเกาหลีใต้ วัย 53 ปี เป็นผู้ได้รับรางวัล ประจำปี 2024
ตอนนั้น ฮัน คัง เพิ่งเสร็จจากรับประทานอาหารเย็นกับลูกชายที่บ้านของเธอในกรุงโซลพอรับรู้คำประกาศ เธอและลูกชายประหลาดใจ รู้สึกเป็นเกียรติและซาบซึ้งใจอย่างยิ่งในฐานะผู้รับรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรมคนแรกของเกาหลีใต้
เธอกล่าวว่า
“ใช่ ตั้งแต่ยังเด็ก ฉันเติบโตมากับหนังสือ ภาษาเกาหลีและหนังสือแปล ดังนั้นจึงพูดได้ว่าฉันเติบโตและใกล้ชิดมากๆ กับวรรณกรรมเกาหลี ฉันหวังว่านี่คงเป็นข่าวดีสำหรับผู้อ่านวรรณกรรมเกาหลี และเพื่อนๆ นักเขียนของฉัน
สำหรับฉัน ตั้งแต่สมัยเด็ก นักเขียนทุกคนต่างก็เป็นหนึ่งเดียวกัน พวกเขาค้นหาความหมายในชีวิต บางครั้งพวกเขาก็หลงทาง บางครั้งพวกเขาก็มุ่งมั่น ความพยายามและจุดแข็งทั้งหมดของพวกเขากลายมาเป็นแรงบันดาลใจของฉัน”
ฮัน คัง เกิดเมื่อปี 1970 เป็นหน่อเนื้อเชื้อไขนักเขียน พ่อชื่อ ฮัน ซึง วอน (Han seung - won) เป็นนักเขียนนวนิยาย ขณะที่พี่ชายชื่อ ฮัน ดง ริม ก็เป็นนักเขียนนิยาย โดยน้องชาย ชื่อ ฮัน คัง อิน เป็นทั้งนักเขียนนิยายและนักเขียนการ์ตูน
ฮัน คัง เกิดที่เมืองกวางจู ที่เป็นเมืองประวัติศาสตร์การลุกขึ้นสู้ของนักศึกษาที่นั่น เมื่อนายพลชุน ดู วาน และคณะทหารยึดอำนาจเมื่อ 17 พ.ค. 1980 บังคับใช้กฎอัยการศึกทั่วประเทศ ยกเลิกคณะรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กองทัพสั่งปิดมหาวิทยาลัยทุกแห่งทั่วประเทศ มีการจับกุมผู้นำการเมืองฝ่ายตรงข้าม โดยเฉพาะ นาย คิม แด จุง ทำให้เกิดการลุกฮือขึ้นสู้ นักศึกษาร่วมกันประท้วงทั่วประเทศ นักศึกษา 1-2 แสนคนเข้ายึดเมืองกวางจูได้อย่างเบ็ดเสร็จ และตั้งสภาประชาชนขึ้นมาปกครองตนเอง ในที่สุดฝ่ายรัฐ เอากำลังทหารเข้าปราบปรามโดยโอบล้อมเมืองจากภายนอก ตัดการสื่อสารทั้งหมด ไม่ยอมเจรจาใดๆ กับนักศึกษา ตามมาด้วยการสังหารประชาชนที่ไร้อาวุธอย่างเหี้ยมโหด
เหตุการณ์ปราบประชาชนในเวลา 10 วัน มีผู้เสียชีวิต 170 คน บาดเจ็บ 380 คน ถูกจับกุม 1,740 คน ข่าววงในระบุจำนวนความสูญเสียจริงมีมากกว่านั้น
น่าสังเกตได้ว่า ก่อนหน้านั้นราว 7 ปีเศษ คือ 14 ตุลาคม 2516 ได้เกิดเหตุการณ์ชุมนุมต่อสู้ของนักศึกษาประชาชนไทย ต่อต้านเผด็จการ ถนอม – ประภาส ซึ่งเป็นเหตุการณ์คล้ายคลึงกัน โดยมีนักศึกษาประชาชนร่วมชุมนุมเดินขบวน มากกว่า 5 แสนคน
ฮัน คัง แม้ยังเป็นเด็กเพียงอายุ 10 ขวบ ย่อมรับรู้รับเห็น สัมผัสความเป็นไปของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในบ้านเกิดของตนเอง เธอถ่ายทอดมาเป็นร้อยแก้วเชิงกวีนิพนธ์ เรื่อง การกระทำของมนุษย์ (Human Acts) เมื่อปี 2014
ความเจ็บปวดครั้งนั้น ฝังอยู่ในจิตวิญญาณ เธอเขียนในหนังสือว่า
“หลังจากที่คุณตายไป ฉันไม่สามารถจัดงานศพให้คุณได้ เพราะทั้งชีวิตที่เหลือของฉันนั้นแหละ คืองานศพ”
Human Acts ของ ฮัน คัง เป็นงานเขียนที่สะท้อนความจริงอันหฤโหด วรรณกรรมชิ้นนี้ จึงเป็นวรรณกรรมเชิงประจักษ์พยานของเธอ ซึ่ง แอนนา - คาริน ปาล์ม หนึ่งในคณะกรรมการรางวัลโนเบล กล่าวยกย่อง Human Acts ว่า
“ฮัน คัง นำบุคลิกตัวละคร ที่แตกต่างกันมาสะท้อนผ่านเหตุการณ์เหล่านั้น เธอทำให้เห็น สัจธรรมว่าการมีชีวิตอยู่และความตายเป็นสิ่งที่คู่ขนานกันตลอดเวลา และเห็นถึงความทุกข์ทรมานของคนหลายรุ่น”
ส่วนนิยายเรื่อง The Vegetarian (คนกินมังสวิรัติ) ของ ฮัน คัง ที่เขียนใน ปี 2007 กว่าโลกจะรู้จักนิยายเล่มนี้ ก็ผ่านเวลาไปถึง 10 ปี เมื่อเดบอราห์ สมิธ ได้แปลจากภาษาเกาหลีเป็นภาษาอังกฤษ เมื่อปี 2015 ทำให้เธอได้รับรางวัล International Man Booker Prize ของอังกฤษ ในปี 2016
เนื้อเรื่องนี้ ฮัน คัง บอกเล่า โดยมี ยองฮเย สาวเกาหลี เป็นคนเดินเรื่อง ยอง ฮเย แต่งงานมีสามี เธอเป็นแม่บ้านแม่เรือนที่ดีตลอดมา แล้ววันหนึ่ง เธอเอาเนื้อสัตว์ที่เตรียมทำอาหารในตู้เย็นไปทิ้งทั้งหมด สามีไม่พอใจ ยองฮเย หันไปกินมังสวิรัติเป็นการออกนอกลู่ไปจากวัฒนธรรมเกาหลีที่กินเนื้อสัตว์เป็นประจำในชีวิตประจำวัน
เธอไม่ยอมมีเซ็กส์กับสามี โดยบอกว่าเขามีกลิ่นเนื้อสัตว์ติดตัวเต็มไปหมด แม้แต่จะกินเนื้อสัตว์ในบ้าน ก็ไม่สามารถกินได้ สามีไปร้องทุกข์กับพ่อแม่ของยองฮเย เธอถูกพ่อบังคับให้กินเนื้อ ถึงขั้นจับเธอนอนกับพื้นเอาเนื้อยัดเข้าปาก แถมตบหน้าเธอ บทนี้จบลงด้วยการที่ยองฮเย เอามีดกรีดข้อมือตนเองจนต้องเข้าโรงพยาบาล
นี่เป็นภาพสะท้อนผู้หญิงเกาหลีที่ต่ำสถานะกว่าชาย และต้องเป็นคนเชื่อฟังคำสั่งสามีสถานเดียว จะมีปากเสียงอะไรหาได้ไม่
ความแปลกแยกของยองฮเย ต่อมาพี่เขยของเธอเข้ามามีสัมพันธ์ทางเพศกับเธอ จนภรรยาของพี่เขยจับได้ พี่เขยต้องหย่าร้างกับภรรยาและยองฮเยต้องเข้าโรงพยาบาลจิตเวช
คนกินมังสวิรัติ หรือ The Vegetarian จึงเป็นภาพถ่ายสะท้อนสังคมชายเป็นใหญ่เหนือหญิง ที่หญิงไม่อาจมีปากเสียงใดๆ ได้ และฉายภาพสังคมเกาหลีที่ใครกินมังสวิรัติย่อมกลายเป็นข้าวนอกนา เป็นไผ่นอกกอ ของวิถีชีวิตคนกินเนื้อสัตว์
ผู้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมอีกหนึ่งคน ที่วิพากษ์วิจารณ์กันไปทั่วโลก คือ บ็อบ ดีแลน (Bob Dylan) ชื่อจริง Robert Allen Zimmerman เด็กหนุ่มอเมริกันจากมินเนโซต้า ผู้ซึ่งตั้งแต่วัยหนุ่มเขาไม่อาจทนได้กับเครื่องบิน ระเบิด ควันปืนและคนเจ็บคนตาย และผู้คนที่บอบช้ำย่อยยับจากสงคราม
ที่บาร์เล็กๆ แห่งหนึ่ง เขาเขียนบันดาลใจลงบนแผ่นกระดาษ แล้วคว้ากีตาร์ติดตัวขึ้นไปร้องเพลงที่ยังไม่ทันตั้งชื่อเพลง เนื้อหามีว่า
“How many roads must a man walk down, before you call him a man?
How many seas must a white dove sail, before she sleeps in the sand?
Yes, and how many times must the cannonballs fly, before they're forever banned?
The answer, my friend, is blowin' in the wind. The answer is blowin' in the wind
ชายคนหนึ่งต้องเดินผ่านถนนกี่สาย ก่อนที่คุณจะเรียกเขาว่าเป็นมนุษย์?
นกพิราบขาวต้องบินผ่านอีกกี่น่านน้ำ ก่อนที่มันจะได้ทอดตัวลงบนผืนทราย?
ลูกปืนใหญ่ต้องถูกยิงอีกกี่ครั้ง ก่อนที่มันจะถูกห้ามใช้ไปตลอดกาล?
เพื่อนเอ๋ย คำตอบนั้นล่องลอยอยู่ในสายลม…”
Blowin' in the Wind แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว กลายเป็นจิตวิญญาณการสู้รบของหนุ่มสาวต่อต้านสงครามเวียดนาม และแสวงหาสันติภาพ การเรียกร้องสิทธิของคนผิวดำ และแพร่กระจายไปทั่วโลก รวมถึงหงา คาราวาน ศิลปินแห่งชาติของไทยก็เป็นคนหนุ่ม ที่เป็น “สุ้มเสียงแห่งยุคสมัย” ที่ปักหลักในการผลิตและร้องเพลงด้วยจิตวิญญาณเดียวกัน
บ็อบ ดีแลน บอกว่า “ผมยังยืนกรานว่า อาชญากรรมที่รุนแรงที่สุด คือการที่คนพวกนั้นเบือนหน้าหนีจากสิ่งที่ผิด ซึ่งเขาก็รู้แก่ใจว่ามันผิด ผมอายุแค่ 21 ปี ผมยังรู้เลยว่าเรามีสงครามมากมายเหลือเกิน คุณอายุมากกว่า 21 คุณก็คงฉลาดกว่าสิ”
หลังคำประกาศว่า บ็อบ ดีแลน ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม เป็นครั้งแรกของโนเบลที่มอบรางวัลนี้ให้แก่นักดนตรี คณะกรรมการได้ติดตามตัว บ็อบ ดีแลน ให้ไปรับรางวัลตามกำหนดที่เชิญไว้ จนกรรมการประกาศว่า แม้ บ็อบ ดีแลน ไม่ไปรับ กรรมการก็จะประกาศมอบรางวัลให้ในวันนั้น แต่ปรากฏว่า เหมือนคำตอบอยู่ในสายลม เพราะ บ็อบ ดีแลน เงียบงันเหมือนไม่รู้สึกรู้สาใดๆ
และแล้ว เมื่อวันมอบรางวัลที่กรุงสตอคโฮล์ม มาถึง เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2016 ก็มีบทปาฐกถาของ บ็อบ ดีแลน ไปถึงที่ประชุม โดยเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำสวีเดนเป็นผู้อ่านแทน
ถ้อยคำถ่อมเนื้อถ่อมตัวในตอนท้ายปาฐกถา เผยความในใจ บ็อบ ดีแลน ว่า
“ในฐานะนักแสดง ผมเคยแสดงทั้งต่อหน้าผู้ชมห้าหมื่นคน และผู้ชมห้าสิบคน และผมบอกเลยว่าการแสดงต่อหน้าผู้ชมห้าสิบกว่าคนนั้นยากกว่า คนห้าหมื่นคนมีมุมมองทัศนะแบบเดียวกัน ไม่เหมือนคนห้าสิบคน คนห้าสิบคนที่ผมว่านี้มีความเป็นปัจเจก มีอัตลักษณ์ที่แตกต่างกัน มีโลกเป็นของตัวเอง พวกเขารับรู้สิ่งต่างๆ ได้กระจ่างชัดกว่า ความซื่อสัตย์ และการจะเข้าถึงพรสวรรค์ลึกๆ ที่มีอยู่ของคุณได้ก็คือต้องพยายาม ข้อเท็จจริงที่ว่าคณะกรรมการรางวัลโนเบลนั้นมีจำนวนน้อยมาก ไม่ได้ทำให้ผมรู้สึกว่าพยายามเสียเปล่าเลย
แต่ก็เหมือนเชคสเปียร์ บ่อยครั้งผมถูกดึงดูดด้วยความตั้งใจในการสร้างสรรค์งาน และต้องรับมือกับเรื่องอื่นๆ ในชีวิตอย่าง “ใครจะเล่นเพลงนี้ได้ดีที่สุด?” “นี่เราเลือกอัดเสียงถูกสตูดิโอแล้ว ใช่ไหม?” “เพลงนี้อยู่ในคีย์ที่ถูกต้องแล้วหรือยัง?” บางอย่างก็ไม่เปลี่ยนแปลงเลย กระทั่งในอีก 400 ปีหลัง
ไม่มีสักครั้งเลยที่ผมจะมีเวลาพอที่จะถามตัวเองว่า “เพลงของเราเป็นวรรณกรรมหรือเปล่า?”
เพราะฉะนั้น ผมขอขอบคุณราชบัณฑิตสภาแห่งสวีเดน ทั้งเรื่องที่ช่วยพิจารณาคำถามดังกล่าว และที่เหนือไปกว่านั้น คือช่วยให้คำตอบอันแสนวิเศษ”
ทั้ง ฮัน คัง และ บ็อบ ดีแลน ไม่ได้พรรณนางานกวีและงานเพลงเป็นท้องทะเล แมกไม้สายลม ดอกไม้ ป่าเขา ดวงตะวัน หรือดวงจันทร์ หากแต่ได้เรียงร้อยชีวิต เลือดเนื้อ น้ำตา และชะตากรรมอันทุกข์ทนของผู้คน เป็นงานนิพนธ์อลังการ ให้สังคมโลกประจักษ์ และสร้างแรงบันดาลใจอันใสสวยต่อทิศทางที่พึงปรารถนา
อัลแบร์ กามูส์ (Albert Gamus) นักเขียนฝรั่งเศส เจ้าของงานเขียนเรื่อง “คนนอก” อันยอดเยี่ยม เป็นผู้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม เมื่อปี 2500 กล่าวสุนทรพจน์ในวันรับรางวัลโนเบลโดยให้คุณค่าต่องานศิลปะไว้อย่างตรึงจิตตรึงใจว่า
“ภาระของนักเขียน คือการนำผู้คนเข้าร่วมสะเทือนอารมณ์ในแวดวงกว้างที่สุด นักเขียนจึงไม่อาจประนีประนอมกับการโกหกหลอกลวงและนำตัวเข้าไปรับใช้คนไม่กี่คนอย่างไม่ลืมหูลืมตา.....”
“งานศิลปะเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับข้าพเจ้า เพราะศิลปะไม่อาจแยกออกจากชีวิตของเพื่อนร่วมโลกและทั้งยังช่วยจรรโลงเกื้อหนุนให้ข้าพเจ้าใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นๆ ได้ ศิลปะคือวิถีทางหนึ่งที่จะก่อความสะเทือนอารมณ์ ปลุกเร้าผู้คนในแวดวงกว้างที่สุด ทั้งนี้ด้วยการเสนอภาพชีวิตร่วมทุกแง่มุม ทั้งด้านที่แสดงความทุกข์ยากเจ็บปวดและด้านที่เป็นความปิติเบิกบาน ศิลปินหรือนักเขียนจึงต่างรับรู้ว่าตนไม่อาจแยกอยู่โดดเดี่ยว และทั้งทำให้เขามองเห็นสัจจะที่แท้ บ่อยครั้งผู้เลือกทางเดินชีวิตศิลปินเพราะรู้สึกว่าตนต่างไปจากคนอื่นๆ แต่ในไม่ช้า เขาก็จะตระหนักได้เองว่าเขาจะรักษาความเป็นศิลปะและความมีเอกลักษณ์ของตนไว้ได้ ก็ต่อเมื่อยอมรับว่าตัวเองนั้นเป็นเช่นเพื่อนมนุษย์คนอื่นๆ ศิลปินที่แท้จะต้องไม่รู้สึกดูหมิ่นดูแคลนสิ่งใดเลย ศิลปินแท้จะพยายามเข้าใจมากกว่าจะคอยตัดสินพิพากษา”
ขอคารวะ อัลแบร์ กามูส์ บ็อบ ดีแลน และ ฮัน คัง สามผู้รับรางวัลโนเบลวรรณกรรม ที่นฤมิตวรรณกรรมสะท้อนถ่ายชีวิตทั้งด้านงดงาม และด้านอัปลักษณ์ ที่สร้างแรงบันดาลใจเชิงสร้างสรรค์ไปทั่วทั้งโลกใบนี้.
ประสาร มฤคพิทักษ์ : [email protected]