"...ทุกพรรคต้องการเป็นรัฐบาล เหตุผลสำคัญคือการเข้าไปกุมกลไกระบบราชการ และใช้อิทธิพลของระบบราชการเข้ามาช่วยในการเลือกตั้ง ตัวอย่างเช่นที่เคยมีมาในอดีต ได้แก่ การเอาตำรวจ-ทหารไปบล็อกหัวคะแนนฝ่ายตรงข้าม--นี่ไม่ต้องพูดถึงการให้พรรคฝ่ายรัฐแจกเงินได้ หรือแข่งกันแจกเงินได้อย่างอิสระ พรรคนี้แจก 3 เวลาหลังอาหาร เช้า กลางวัน เย็น --แต่พรรคโน้นกลับเหนือกว่าเพราะแจก 5 เวลาหลังอาหารเพิ่มรอบหนึ่งทุ่มกับเที่ยงคืน—การเมืองบ้านเรายังเป็นอย่างนี้อยู่อย่างไม่ต้องสงสัย!!—..."
ผู้อ่านทุกคนคงเคยมีอาการตะคริวขึ้นน่อง หรือเคยพิมพ์งานแล้วกระดาษเข้าไปติดอยู่ในเครื่องพิมพ์ ภาวะเช่นนี้ถ้าเปรียบกับสังคม ก็เป็นสังคมที่แข็งทื่อหยุดอยู่กับที่ไม่ทำงานชั่วขณะ
แต่ถ้าเป็นพรรคการเมือง ก็เป็นภาวะของพรรคการเมืองที่ไม่ถอยหน้าถอยหลัง!!
การวิเคราะห์ว่าสังคมแข็งทื่อหยุดอยู่กับที่ชั่วขณะ มีพื้นฐานที่มาจากพวกซ้ายใหม่ (New Left) หมายถึงกลุ่มที่ไม่ติดยึดตายตัวกับทฤษฎีมาร์กซ-เองเกิลส์ เรียกรวม ๆ ว่า “Open Marxism” ซึ่งประกอบด้วยสำนักความคิดย่อยถึง 17 กลุ่ม
ความคิดที่สำคัญของซ้ายใหม่ คือ ที่มาร์กซเคยบอกว่าชนชั้นกรรมาชีพจะโค่นล้มนายทุน (class against capital) กลุ่มซ้ายใหม่เห็นว่าไม่จริง กรรมาชีพก็เป็นอีกชนชั้นหนึ่งที่ทำเพื่อตัวเอง (class for itself) เช่น การขยับขยายเป็นนายทุนน้อย และเข้าสู่การเมืองระบบพรรคการเมือง ซึ่งตอนแรกก็ยังมีเป้าหมายว่าจะสร้างสังคมนิยม (Socialism) ด้วยวิธีการค่อยเป็นค่อยไป (gradualism) แต่ยุคหลังสังคมอุตสาหกรรมนายทุนตกเป็นรอง เพราะอำนาจทุนเป็นรองอำนาจการเมือง ฝ่ายนายทุนจึงต้องแสวงหาพันธมิตรทางการเมืองเพื่อเข้าสู่อำนาจรัฐ เป้าหมายของพรรคซ้ายใหม่เพื่อการสร้างสังคมนิยมค่อย ๆ ลดลงเหลือเพียงการเป็นปากเป็นเสียงผู้ใช้แรงงาน คนยากไร้ และต่อสู้เพื่อสิทธิ เสรีภาพและสวัสดิการสังคม ทั้งนี้เพื่อต่อสู้ทัดทานกับพรรคนายทุน จนในที่สุดก็กลายเป็นพรรคการเมืองหนึ่งที่มีผลประโยชน์ของตัวเองเหมือนกับพรรคนายทุนทั่วไป สังคมแข็งทื่อของพวกซ้ายใหม่ คือ ภาวะที่นายทุนมีอำนาจลดลงและจำเป็นต้องแสวงหาอำนาจทางการเมืองสนับสนุนนั่นเอง
การเกิดพรรคซ้ายใหม่ในโลก ไม่ว่าจะเป็นพรรคคอมมิวนิสต์อิตาลี อังกฤษหรือเยอรมนี มีพัฒนาการทำนองที่กล่าวมา ทว่าค่อย ๆ ล้มหายตายจากไป ตัวอย่างเช่น นิตยสาร Marxism Today ซึ่งทรงอิทธิพลทางทฤษฎีอย่างมากในอังกฤษช่วงทศวรรษ 1980 ปิดตัวลงใน ค.ศ. 1998
การปรับตัวของพวก “Open Marxism” ดังกล่าวนี้เรียกว่า “การประนีประนอมทางประวัติศาสตร์” (historical compromise) สะท้อนให้เห็นถึงการเมืองของการปฏิเสธ (politics of refusal) หมายถึงการปฏิเสธการปฏิวัติชนชั้นแบบมาร์กซและหันมาต่อสู้ทางรัฐสภา แต่กระนั้น ยังมีนักวิชาการที่วิเคราะห์ปัญหาการเมืองโดยอาศัยแนวทางหลังมาร์กซิสต์อยู่จนกระทั่งปัจจุบัน อันเป็นกรอบแนวคิดที่ลึกซึ้งและแยบยลมากกว่าเดิมมาก โดยเฉพาะแนวทางในการเปลี่ยนแปลงประเทศอย่างสันติวิธีโดยอาศัยพลังมวลชน (counter-hegemonic coalitions)
ผู้เขียนสังเกตเห็นว่าพรรคการเมืองไทยขณะนี้อยู่ในอาการ “ตะคริวขึ้นน่อง” ด้วยกัน!!
พรรคเพื่อไทย มีปัญหาการขาดภาวะผู้นำอย่างรุนแรง นายกรัฐมนตรีขาดความรู้พื้นฐานทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและปรัชญา พูดง่าย ๆ ว่าในสายตาชนชั้นกลาง เธอเป็นหุ่นเชิดและไม่ได้ประสีประสาทางการเมืองเอาเสียเลย!! นอกจากนั้นพรรคและผู้นำยังถูกตรวจสอบทางการเมืองอย่างเข้มข้น อีกทั้งดูเหมือนการเล่นการตลาดการเมือง (political marketing) ด้วยมุกเดิม ๆ จะไม่เวิร์ก เช่น แจกเงินแล้วก็ยังไม่กระเตื้อง—ส่วนวิธีการโรดโชว์--คนชินตาและดูไม่ตื่นเต้นแล้ว --คนกำลังจินตนาการไปไกลว่าการตรวจสอบทางศาลจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหรือไม่ อย่างไร?
พรรคลุงสะหยุม เห็นชัดว่าอาการหนัก!! เพราะทุกอย่างล้วนลงไปที่ผลประโยชน์ส่วนตัวและไม่นำพาต่อกติกาบ้านเมือง ดูเหมือน “สามกุมาร” ทำงานไม่เต็มสูบ—ก้าวเข้ามาในพรรคแค่ครึ่งขา!! มีความคิด แต่ไม่มีอำนาจ เช่น การตั้ง “policy unit” ในพรรคซึ่งเป็นความคิดที่มาจากพรรคอนุรักษ์นิยมในอังกฤษ แต่ดูเหมือนการตอบรับยังไม่ดี ไม่ว่าภายนอกพรรคหรือภายในพรรค –ผู้คนสนใจว่า “ไอ้ ส.” คนนั้นเป็นใครมากกว่า!! แล้วทำไมลุงสะหยุมถึงกระเตงมันได้ขนาดนั้น!!
พรรคประชาชน เดินทางบนเส้นทางขรุขระและสะบักสะบอมกว่าใคร โดนกลั่นแกล้งทางการเมืองโดยการยุบพรรคตั้งแต่อนาคตใหม่ มาจนก้าวไกล และเปลี่ยนชื่อเป็นพรรคประชาชนในปัจจุบัน อันนี้เรียกได้ว่าถูกกระทำจาก “นิติสงคราม” (Lawfare) ได้อย่างเต็มปาก!!
แต่หลายคนน่าจะเห็นตรงกันว่าพรรคประชาชนยังไม่ปัง!!—เมื่อย้อนไปเทียบกับยุคพิธากับยุค ธนาธร เช่น
(1) “เท้งทั่วไทย” ยังไม่เข้าตา –แม้รอเวลาอีกเท่าใด ก็น่าจะยังไม่เข้าตา!!—
(2) กรอบแก้รัฐธรรมนูญเชิงระบบของ “ไอติม”!!—ไม่มีโฟกัส—พี่แกขอแก้รายมาตรา แต่ขอแก้ไปหมดเป็นระบบ ราวกับตัวเอง “มีอำนาจร่าง” อย่างสมบูรณ์
การรณรงค์แก้รัฐธรรมนูญอย่างที่ “ไอติม” เสนอ มีความถูกต้องในส่วนที่เสนอความคิดต่อสาธารณะ แต่ทว่ามันจะสำเร็จก็ต่อเมื่อได้ “อำนาจร่าง” คือ ได้เสียงส่วนใหญ่จากประชาชนมาก่อนเท่านั้น แค่ “ลบล้างผลพวงของรัฐประหาร” ข้อเดียว --มันก็เป็นไปไม่ได้แล้ว--
(3) การนิรโทษกรรม--ดูเหมือนเป็นท่าทีที่ดีที่เริ่มต้นด้วยการเสนอรายงานผลการศึกษา แต่การตอบรับจากสาธารณะยังน้อยมาก --นี่ไม่ต้องพูดถึงการตั้งป้อมค้านกฎหมายนิรโทษกรรมของพรรคการเมืองในรัฐสภา
บางทีพรรคประชาชนอาจต้องทบทวนนโยบาย ต้องแยกระหว่างนโยบายที่อยากทำ (preferable) กับนโยบายที่น่าจะทำได้ (probable) หรือพูดง่าย ๆ ว่า ลดอุดมคติลงแล้วหันไปหาปฏิบัตินิยม (pragmatism) บ้าง
บางทีนโยบายที่ทำได้ --มันน่าจะมีจุดร่วมกัน เช่น ให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคการเมืองยากขึ้น เช่น ใช้เสียงข้างมาก หรือเสียงข้างมากเด็ดขาด—น่าจะชูสักประเด็นก่อน
สำหรับปัญหาใหญ่ที่สุด ผู้เขียนเห็นว่า พรรคประชาชนไม่ใช่กำลังเป็นตะคริวอย่างเดียว แต่กำลังประสบกับปัญหาขีดจำกัดของการเติบโต (limit to growth)
เห็นได้ชัดจากการเลือกตั้งซ่อมส.ส.พิษณุโลกกับการเลือกนายก อบจ. ที่พรรคสนับสนุน ซึ่งเป็นที่ประจักษ์ชัดว่าการเลือกตั้งของประเทศไทยไม่ได้ขึ้นอยู่กับนโยบายพรรคการเมืองและบทบาทของนักการเมืองอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับกลไกรัฐ (state machinery) ด้วย
ทุกพรรคต้องการเป็นรัฐบาล เหตุผลสำคัญคือการเข้าไปกุมกลไกระบบราชการ และใช้อิทธิพลของระบบราชการเข้ามาช่วยในการเลือกตั้ง ตัวอย่างเช่นที่เคยมีมาในอดีต ได้แก่ การเอาตำรวจ-ทหารไปบล็อกหัวคะแนนฝ่ายตรงข้าม--นี่ไม่ต้องพูดถึงการให้พรรคฝ่ายรัฐแจกเงินได้ หรือแข่งกันแจกเงินได้อย่างอิสระ พรรคนี้แจก 3 เวลาหลังอาหาร เช้า กลางวัน เย็น --แต่พรรคโน้นกลับเหนือกว่าเพราะแจก 5 เวลาหลังอาหารเพิ่มรอบหนึ่งทุ่มกับเที่ยงคืน—การเมืองบ้านเรายังเป็นอย่างนี้อยู่อย่างไม่ต้องสงสัย!!—
ส่วนนโยบายพรรคประชาชนเองก็มีจุดบอด การจัดองค์การพรรคก็มีจุดบอดไม่แพ้กัน รวมไปถึงปัญหาอื่น ได้แก่
ประการแรก นโยบายพรรคไม่มีภาคเกษตร ไม่มีตัวแทนชาวนา-ชาวไร่ ที่ชัดเจน
ประการที่สอง การจัดองค์การพรรคเต็มไปด้วยคนรุ่นใหม่ แต่ขณะเดียวกันกลับมีนักเรียนนอกเป็นแกน ยังไม่ได้เปิดพรรคให้เกิดกลุ่มหลากหลาย (multi-class or pluralism) ยิ่งอำนาจกระจุกตัวอยู่กับกลุ่มวงใน (caucus) ของพรรคเท่าใด การกระจายออกเพื่อสร้างฐานมวลชนระดับล่างก็ทำได้ยากเท่านั้น
ประการที่สาม การขยายพรรคสู่ฐานล่างไม่คืบหน้า พรรคประชาชนมีพื้นฐานมาจากปัญญาชน ซึ่งเป็นกลุ่มปฏิรูปใหม่ที่เชื่อมั่นในระบอบรัฐสภา (neo-reformist gradualism) พูดง่าย ๆ ว่าเป็นพรรคมีฐานแคบจากนิสิตนักศึกษา อาจารย์และนักวิชาการ ต่อมา ก็ขยายออกสู่ชนชั้นกลางในเมืองหัวก้าวหน้าและขยายออกลงสู่ระดับล่าง แต่ทุกวันนี้ยังไม่ได้ขยายตัวเท่าที่ควร
ประการที่สี่ นักศึกษา-อาจารย์ยังเป็นฐานสำคัญ ทว่าจำเป็นต้องลดการกดดันพรรค หากนักศึกษา-อาจารย์ยืนหยัดและกดดันพรรคมาก --พรรคก็ขยายยาก เพราะนักศึกษา-อาจารย์เด็ดเดี่ยว ไม่ประนีประนอม—ต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้เท่านั้น!! แต่การเป็นพรรคการเมืองในระบอบรัฐสภาต้องการการประนีประนอม แม้แต่พรรคซ้ายใหม่ในยุโรปตะวันตกเองก็ยอมรับหลักการข้อนี้ เพียงแต่ขณะที่ประนีประนอมก็จำเป็นต้องรักษาความแตกต่างของพรรคตัวเองไว้ให้ชัดเจนเช่นกัน
ประการที่ห้า ควรสรุปบทเรียนของพรรคให้ถูกต้อง คราวที่แล้ว พรรคอนาคตใหม่หรือพรรคก้าวไกลชนะสบาย ๆ เพราะสู้กับ “หมู” คือ พรรคทหารซึ่งขาดความคิดที่ก้าวหน้า --คิดจะรบในสนามการเมืองด้วยกลไกรัฐอย่างเดียว
การที่พรรคประชาชนได้ส.ส.กระจายไปทั่วประเทศคราวที่แล้ว เกิดจากหลักตรรกะของความแตกต่าง (logic of difference) คราวก่อนโน้น พรรคก้าวไกลมีความแตกต่างจากพรรคอื่นมาก โดยเฉพาะประเด็นการต่อสู้เรื่องสิทธิ เสรีภาพ และสวัสดิการ หรืออีกนัยหนึ่ง การวางตำแหน่ง (positioning) หรือกฎของตำแหน่ง (law of position) ของพรรคลอยเด่น--ดีกว่าใครเพื่อน!!
แต่คราวนี้ พรรคประชาชนต้องสู้กับ “พรรคที่เขี้ยวกว่า” โดยเฉพาะการต่อสู้กับพรรคเพื่อไทยที่ใช้เงินงบประมาณของรัฐไปแจกคนจน และพรรคภูมิใจไทยที่เป็นพรรคเกาะติดที่ “ขอเป็นโซ่ข้อกลาง” ไปตลอดกาล--การสร้างความแตกต่างระหว่างพรรคประชาชนกับพรรคเหล่านั้นเป็นโจทย์ใหญ่ เช่น นโยบายภาคเกษตร นโยบายคนจนที่เห็นผลรวดเร็ว (quick-win) หรือแม้แต่นโยบายระยะยาวที่เป็นรูปธรรม ซึ่งพรรคประชาชนยังไม่มี
สรุปว่าปัญหายากที่สุดของพรรคประชาชน คือการขยายฐานการเมืองที่เลยออกไปจากเขตเมือง กับปัญหาการรักษาสถานะความแตกต่างไปจากพรรครัฐบาลในปัจจุบัน
ยิ่งประนีประนอมผิดทาง เช่น การเป็นพันธมิตรกับรัฐบาลในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ --ฐานะตำแหน่งความได้เปรียบของพรรคประชาชนก็ยิ่งลดน้อยถอยลง!!