"...เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศสหรัฐฯ ญี่ปุ่น เกาหลี อินโดนีเซีย หากเป็นเรื่องการขายตรง การค้าผูกขาด เอาเปรียบผู้บริโภค จะถูกรวมอยู่ภายใต้คณะกรรมการการค้าแห่งรัฐ (Fair Trade Commission) หน่วยงานอิสระที่คอยป้องประชาชนจากการโกหก หลอกลวง การค้าไม่เป็นธรรม โดยใช้อำนาจตรวจสอบ หยุดและลงโทษผู้กระทำการละเมิด..."
คนไทยจะรอดได้อย่างไรเมื่อหน่วยงานที่ควรปกป้องประชาชนกลับโกงเสียเอง เจ้าหน้าที่รัฐกินสินบนคำโต นักการเมืองตีกินค่าคุ้มครองจนปัญหาบานปลาย ประชาชนที่เดือดร้อนแต่พึ่งพาเจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้
สภาพปัญหา
1. มีหน่วยงานรัฐและกฎหมายเกี่ยวข้องจำนวนมาก แต่ไม่มีใครใส่ใจทุกข์ร้อนประชาชนจนกว่าปัญหาจะลุกลามเป็นข่าวดัง
2. ประชาชนไม่รู้จะพึ่งหน่วยงานรัฐไหนได้ ต้องวิ่งหาสื่อมวลชนและผู้อาสาอย่างกันต์ จอมพลัง สายไหมต้องรอด ทนายรณรงค์ แก้วเพชร ฯลฯ
3. เจ้าหน้าที่รัฐบางคนขายศักดิ์ศรี เกิดการโกงซ้อนโกง ใช้อำนาจไร้ความรับผิดชอบ การตรวจสอบทั้งภายในและภายนอกอ่อนแอ คนในหน่วยงานนิ่งเฉย บ้างจำยอมบ้างร่วมมือเพราะได้ประโยชน์จากระบบเทาๆ นี้ จึงไม่มีใครทัดทานแม้รู้เห็นสิ่งผิดปรกติ
4. กลุ่มพ่อค้าขี้โกงอย่างฮึกเหิม
5. มีนักการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้ขบวนการใหญ่โต สร้างความเสียหายวงกว้าง
รากเหง้าของปัญหา
หน่วยงานรัฐที่ถูกกล่าวถึงแล้วในกรณีนี้ 1. สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) 2. กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคบ.) 3. กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) 4. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) 5. หน่วยงานอื่น เช่น กระทรวงดิจิทัลฯ กระทรวงพาณิชย์ คณะกรรมาธิการในรัฐสภา ดีเอสไอ ป.ป.ง. และ ป.ป.ช.
เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศสหรัฐฯ ญี่ปุ่น เกาหลี อินโดนีเซีย หากเป็นเรื่องการขายตรง การค้าผูกขาด เอาเปรียบผู้บริโภค จะถูกรวมอยู่ภายใต้คณะกรรมการการค้าแห่งรัฐ (Fair Trade Commission) หน่วยงานอิสระที่คอยป้องประชาชนจากการโกหก หลอกลวง การค้าไม่เป็นธรรม โดยใช้อำนาจตรวจสอบ หยุดและลงโทษผู้กระทำการละเมิด
“ข้อดีคือ ทุกคนรู้ว่าเมื่อเจอเรื่องแบบนี้จะพึ่งใครได้ ต้องไปที่ไหน ใครบ้างรับผิดชอบ กฎหมายว่าไว้อย่างไร คณะทำงานและขั้นตอน มีอำนาจในแต่ละเรื่องมากน้อยอย่างไร ทุกอย่างจึงตรวจสอบง่าย องค์กรนี้มีผู้แทนหลายหน่วยงานและภาคประชาชนที่สังคมยอมรับมาทำงานร่วมกันอย่างเปิดเผย ใครจะร้องเรียน จะติดตามเรื่องอะไรก็ไปที่เดียว ชัดเจน ไม่ซับซ้อน” ผศ.ดร.นิสิต อินทมาโน ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าไม่เป็นธรรม กล่าว
แนวทางนี้ช่างต่างจากประเทศไทยสิ้นเชิง!!
ทุกเรื่องมักเต็มไปด้วยกฎหมายและหน่วยงานแยกกันทำ เช่น การแก้ปัญหารุกล้ำลำน้ำ เรามีหน่วยงานรัฐ 22 แห่ง กฎหมาย 22 ฉบับ แก้ปัญหาที่ดิน รุกป่า รุกที่หลวงมี 10 หน่วยงาน กฎหมาย 12 ฉบับ เป็นต้น กล่าวในทางปฏิบัติ ใครจะทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ต้องติดต่อหน่วยราชการ 15 – 20 แห่ง เปิดร้านอาหาร ฟิตเนส สปา ติดต่อ 7 หน่วยงานเพื่อขอใบอนุญาต 13 ใบ หากขาดอันหนึ่งอันใดก็มีความผิด
เรื่องเศร้าคือ แต่ละหน่วยงานต่างมีกติกา นโยบาย อำนาจของตน แต่ทับซ้อน ล้นเกินและไม่เชื่อมโยงกัน หน้าที่และความเสี่ยงจึงตกเป็นของประชาชนที่ต้องทำความเข้าใจเอง หากจำเป็นต้องไปใช้บริการ หรือร้องเรียนขอความช่วยเหลือ
ระบบกำกับดูแลของไทยจึงไม่เข้มแข็ง..
และไม่แปลกใจเลยเมื่อเห็นข่าว สคบ. เคยตีความว่าลูกค้า ดิ ไอคอน “ไม่ใช่ผู้บริโภค” ทำให้ผู้ร้องขอความช่วยเหลือหมดที่พึ่ง ต้องไปหาสื่อมวลชนและผู้อาสาอย่าง กันจอมพลัง สายไหมต้องรอด ทนายรณรงค์ แก้วเพชร ฯลฯ
ปัญหาเชิงโครงสร้าง!!
ธุรกิจแชร์ลูกโซ่รูปแบบต่างๆ มีมานานหลายสิบปีแล้วเพราะมันยังได้ผล คนจ้องจะรวยด้วยการโกงมีเยอะทีมหนึ่งถูกจับไปทีมใหม่เข้ามา แปลว่าเราไม่เคยแก้ที่ต้นตอ เราใช้ยาผิดมาตลอด
คอร์รัปชันเกิดขึ้นเมื่อเจ้าหน้าที่ใช้ดุลยพินิจฉ้อฉลไร้ความรับผิดชอบ ระบบไร้การตรวจสอบถ่วงดุล และคอร์รัปชันจะกินวงกว้างเมื่อมีนักการเมืองมาประสานงาน ดึงเรื่อง กดดัน วางแผนและปกป้องความผิด
วันนี้ความโปร่งใสไม่มีอยู่จริง กติกาของกฎหมาย (Rule of Law) ถูกบิดเบือนตลอดเวลา การตั้งกรรมการสอบสวนมักใช้แต่คนกันเอง เจ้าหน้าที่รัฐจึงมักรอดตัว เหลือแต่คนตัวเล็กที่โดนลงโทษ
อุปสรรคใหญ่ยังอยู่ที่รัฐบาลไม่ใส่ใจแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน!!!
มานะ นิมิตรมงคล
เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)