"...สาเหตุเป็นเพราะคนเกิดลดลง ขณะที่คนอายุยืนยาวขึ้น จากคนไทยมีอายุเฉลี่ย 75 ปี จะกลายเป็นอายุเฉลี่ย 85 ปี ทำให้รัฐบาลต้องมีมาตรการเบี้ยผู้สูงอายุ กองทุนการออม กฎหมายบำนาญ และโครงการอื่นๆ มาบรรเทาปัญหา..."
“ไทยโตแบบเดิมไม่ได้”
“เลิกบ้า เลิกล่าตัวเลขจีดีพี”
“จีดีพี ยิ่งโต ธุรกิจยักษ์ - ทุนใหญ่ ยิ่งอ้วน”
“เพราะว่าธุรกิจยักษ์มีสัดส่วนเพียง 5 % แต่กลับมีรายได้มากถึง 90 % และยังกระจุกตัวอยู่ใน กทม. และปริมณฑล เหลือแต่เศษซาก 10 % ในธุรกิจขนาดย่อยที่กระจายตามต่างจังหวัด แบ่งกันไป การเติบโตจะต้องเปลี่ยน ต้องออกไปในเชิงท้องถิ่นสากลมากขึ้น ต้องสะท้อนความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นจริงของชุมชน”
นี่คือพาดหัวข่าวและรายงานข่าวของสื่อสำนักต่างๆ หลังจาก ดร. เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย แสดงปาฐกถาให้สำนักข่าวไทยพลับลิกา ที่โรงแรมเอราวัณ เมื่อ 13 กย. 2567
สมทบด้วยความเห็นของ ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กก.รอง ผจก.ใหญ่ ธ.กรุงเทพ ประธานสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ที่เสริมว่า “ต้องทำให้ชาวบ้าน และชุมชนช่วยตนเองได้ ไม่ต้องแบมือขอความช่วยเหลือ... ต้องสร้างความมั่นคงแข็งแรงจากฐานล่าง”
ตามด้วย ดร. กิตติ สัจจาวัฒนา ผอ. หน่วยบริการ และจัดการทุน ด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ที่เสริมในงานเดียวกันว่า “จะต้องเสริมแนวทางปลดปล่อยพลังชุมชน (Strength from the buttom) ด้วยแนวคิดที่ว่า คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน คำตอบอยู่ที่ท้องถิ่น ไม่ใช่ที่ กทม. และปริมณฑล ต้องก่อให้เกิดกระบวนการขับเคลื่อนกลไกการมีส่วนร่วมของภาคีในพื้นที่ ภายใต้บริบทภูมิสังคมของพื้นที่”
ความเห็นของบุคคลสำคัญทั้งสาม เป็นการเตือนสติต่อสังคมไทยครั้งสำคัญว่า อย่าไปหลงใหลได้ปลื้มกับการเติบโตทางตัวเลขจีดีพี แต่ต้องมองทะลุไปที่รายได้ครัวเรือนที่เป็นจริงของคนไทย 80 % ของทั้งประเทศ
แล้วจะทำอย่างไรให้ชุมชนท้องถิ่นสามารถเงยหน้าอ้าปาก มีทักษะอาชีพ ลดการพึ่งพิงจากรัฐ สามารถพึ่งพาตนเองได้
ต่อไปนี้ คือภาพจริงของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในท้องถิ่น ซึ่งหลายชุมชนได้ทำมาแล้ว เป็นผลสำเร็จที่จีดีพีอาจไม่รู้ไม่เห็น
ที่ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช ตั้งแต่ปี 2561 มี “หลาดชุมทางทุ่งสง” โดยเทศบาล และประชาคมทุ่งสงเป็นกำลังสำคัญ ทุกวันอาทิตย์ ตั้งแต่บ่ายถึงค่ำ มีร้านค้ามาเปิดขายไม่ต่ำกว่า 200 ร้านค้า เป็นสินค้าที่ผลิตจากชุมชนเท่านั้น มีผู้คนไปจับจ่ายใช้สอย 2,000 – 3,000 คน มีเงินหมุนเวียน ครั้ง (วัน)ละ 500,000 บาท ชุมชนทุ่งสงได้ประโยชน์ไปเต็มๆ ไม่ต้องถูกแบ่งส่วนไปให้คนกลางหรือกระบวนการตลาด การโฆษณาใดๆ
ที่ ต.สะแกโพรง อ. เมือง บุรีรัมย์ มี “รถพุ่มพวงสะแกโพรง” ที่ บพท. ของกระทรวง อว. และ มรภ.บุรีรัมย์ ร่วมกันสร้างร่วมกันทำ มีรถมอเตอร์ไซด์พ่วงข้าง รถกระบะ ของชาวบ้าน มีศูนย์กระจายสินค้าชุมชน เป็นกิจกรรมของชุมชนฐานราก ที่ชาวบ้านทำโดยไม่ต้องผ่านยี่ปั๊ว ซาปั๊ว รถ 65 คัน ตระเวณส่งอาหารพืชผักถึงมือลูกค้าโดยตรง ไม่ต้องผ่านร้านสะดวกซื้อใดๆ จาก ต.สะแกโพรง ที่เดิมเป็นชุมชนยากจน กลายเป็น ต.สะแกโพรงที่สร้างรายได้ในชุมชนแบบต่อเนื่อง เป็นตำบลที่ทุกครัวเรือนมีฐานะและมีอยู่มีกิน
ที่ตลาดน้ำลัดมะยม ตลิ่งชัน 20 ปีก่อนเป็นคลองเกลื่อนขยะเริ่มมีตลาดเล็กๆ ราว 30 ร้านค้าที่ คุณชวน ชูจันทร์ ชาวบ้านในท้องถิ่น ชวนกันค้าชวนกันขาย ผักผลไม้ อาหาร ขนมในท้องถิ่น พร้อมกับช่วยกันเก็บขยะในคลองลัดมะยมไปด้วย เดี๋ยวนี้คลองสะอาด มีปลาแหวกว่ายให้เห็น ขณะนี้ขยาย กลายเป็นตลาดชุมชน มีร้านค้าราว 800 ร้านค้าที่เน้นขายสินค้าในชุมชนเป็นหลัก เวลานี้กลายเป็นแหล่งซื้อขายสินค้าพื้นบ้านที่คนไทยและคนต่างประเทศไปจับจ่ายกันอย่างหนาตา สร้างรายได้วันละ 4 ล้านบาท ขายเสาร์-อาทิตย์ เท่ากับเดือนละ 8 วัน เป็นเงินหมุนเวียนเดือนละ 32 ล้านบาท เป็นตลาดชุมชนที่วันนี้ติดลมบนไปแล้ว เป็นเศรษฐกิจชุมชนที่มีความเป็นอิสระ เป็นไทไปจากร้านสะดวกซื้อของทุนใหญ่ทั้งหลายทั้งปวง
หันมาดูเรื่องของผู้สูงอายุที่ประเทศไทยวันนี้ ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยเต็มตัวแล้ว
ในวันนี้ผู้สูงอายุ ถูกนับเนื่องเป็นภาระของรัฐบาลที่จะต้องสนับสนุนอุ้มชู และนับวันภาระนี้จะหนักหน่วงเป็นความผูกพันที่มีค่าใช้จ่ายมากขึ้นทุกปี
กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยเปิดเผย ว่าข้อมูล ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2567 พบว่าประเทศไทยมีผู้สูงอายุ 13.5 ล้านคน เท่ากับร้อยละ 20.7 จากจำนวนประชากรไทย 65 ล้านคน
สาเหตุเป็นเพราะคนเกิดลดลง ขณะที่คนอายุยืนยาวขึ้น จากคนไทยมีอายุเฉลี่ย 75 ปี จะกลายเป็นอายุเฉลี่ย 85 ปี ทำให้รัฐบาลต้องมีมาตรการเบี้ยผู้สูงอายุ กองทุนการออม กฎหมายบำนาญ และโครงการอื่นๆ มาบรรเทาปัญหา
คนที่เคยทำงาน ออกเหงื่อออกแรงกายแรงสมองเป็นผู้ผลิตมีรายได้ที่แน่นอน กลายเป็นคนเกษียณหยุดผลิตหยุดทำงาน เปลี่ยนสถานะเป็นผู้พึ่งพิง รอรับการดูแลจากรัฐ จากลูกหลาน ต้องไปอยู่สถานดูแลคนชรา หรือไม่ก็ถูกทอดทิ้ง สุดแต่ชะตากรรม
มีความเชื่อกันว่า คนอายุ 60 ปีขึ้นไปนั้น หมดกำลังวังชา ทั้งร่างกาย จิตใจและสมอง ไม่มีความสามารถจะทำอะไรได้ นอกจากนั่งๆ นอนๆ อยู่กินไปวันๆ หนึ่ง เหมือนรอวันสิ้นลมหายใจ
เป็นความเชื่อที่ต้องทบทวนกันใหม่
ในจำนวนผู้สูงวัย 13.5 ล้านคน แน่ละมีจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นคนป่วย หรือพิการ ต้องนอนติดเตียง แต่ใช่หรือไม่ว่า มีคนสูงอายุเกิน 10 ล้านคน ที่สามารถเคลื่อนไหวร่างกาย มีสมองและจิตใจที่เอื้ออำนวยต่อการผลิตทางการเกษตรอย่างง่ายๆได้
บรรพบุรุษไทย ลงหลักปักฐานเลือกทำเลสุวรรณภูมิ เพราะมีความฉลาดที่พบว่าพื้นที่ราบลุ่มแห่งนี้ เหมาะแก่การเกษตรที่จะหล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนและเลี้ยงชาวโลกได้ จึงอาศัยการเกษตรเป็นเส้นเลือดทางเศรษฐกิจตลอดมาจวบจนปัจจุบันและอนาคต
ผลิตผลทางการเกษตรนั้น
หากปลูกต้นยาง ต้องใช้เวลา 7 ปีกว่าจะกรีดยางได้ และต้องใช้พื้นที่มาก ปลูกมะพร้าว มะม่วง ลำไย ลิ้นจี่ ลองกอง ต้องใช้เวลา 3-5 ปี ถ้าปลูก มะกรูด มะนาว ตะไคร้ ก็ใช้เวลาน้อยกว่า
แต่ปลูกถั่วงอก ต้นอ่อนทานตะวัน และเพาะเห็ดนางฟ้านั้น ใช้เวลาน้อยมาก
เป็น 3 พืชเกษตร ที่ใช้แรงน้อย ใช้พื้นที่น้อย ใช้น้ำน้อย แต่ให้ผลตอบแทนดี และตลาดมีความต้องการตลอด
โรงเรียนมีชัยพัฒนา ทำแปลงเกษตรจากโรงเรียนสู่ชุมชน เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหาร และสร้างอาชีพให้ชุมชน โดยเริ่มจากการทำแปลงเกษตรในโรงเรียน มีการค้นพบ แก้ไข ดัดแปลง โดยบูรณาการกับการเรียนตามหลักสูตร สพฐ. เช่นการทำแปลงในยางรถยนต์ การปลูกผักไร้ดินในลำไม้ไผ่ การปลูกผักข้างรั้วในขวดน้ำที่ใช้แล้ว การทำแปลงเกษตรสำหรับคนที่ต้องนั่งรถเข็น รวมไปถึงการแปรรูป เช่น กล้วยตาก และการหาช่องทางจำหน่าย โดยกระบวนการทั้งหมดเป็นการเรียนรู้และลงมือทำร่วมกันกับชุมชน
การทำฟาร์มเกษตรธุรกิจเพื่อสังคมที่วัดโนนสุวรรณ ต.โกรกแก้ว อ.โนนสุวรรณ จ.บุรีรัมย์ เป็นตัวอย่างที่ใครๆ ก็สามารถไปศึกษาและเรียนรู้ได้
ด้วยความเมตตา ของพระมหาสังวรณ์ ชินวังโส เจ้าอาวาสวัดโนนสุวรรณ ทำให้การทำแปลงเกษตรในวัด สามารถดำเนินไปได้อย่างน่าสนใจ
เดิมช่วงโควิดระบาด ปี 2563 ผู้คนเดือดร้อนกันมาก พระมหาสังวร ชักชวนชาวบ้านจิตอาสา 3 คน มาปลูกผักในวัดใช้พื้นที่หนึ่งงาน ต่อมาชาวบ้านบริจาคที่ดินให้วัดรวม 10 ไร่ จึงขยายพื้นที่ปลูกผัก เช่น ผักชี ผักกาดขาว ต้นหอม ผักบุ้ง มะเขือ สาระแหน่ คุณมีชัย วีระไวทยะ ให้โรงเรียนมีชัยพัฒนา มาสนับสนุนอุปกรณ์การเกษตร ให้เมล็ดพันธุ์ผัก และให้เทคนิคจัดตั้งกันขึ้นมาเป็นฟาร์ม เกษตรธุรกิจเพื่อสังคม วัดโนนสุวรรณ
ขณะนี้มีชาวบ้าน 20 คน จาก 10 ครอบครัว มาร่วมกันทำ ใครจะทำแปลงที่บ้านก็ได้ จะทำที่วัดก็มีที่ทาง มีอุปกรณ์ มีน้ำบาดาล ผลิตจากโซลาร์เซลล์ คุณมีชัยยังสร้างห้องพัก 6 ห้องตรงข้างแปลงเกษตรให้ชาวบ้านที่อยู่บ้านคนเดียวมาพักอาศัยเพื่อเป็นชุมชนเกษตร ในวัดร่วมกันผลิต กลายเป็นรูปแบบ บ้าน วัด โรงเรียน (บวร) ที่เปิดพื้นที่ให้คนสูงอายุมาร่วมกันผลิต
แปลงเกษตร และบ้านพักในวัดกลายเป็นสโมสรชาวบ้านที่จะนั่งคุยกัน หารือกัน พักผ่อน เพราะอยู่บ้านก็อยู่คนเดียว ลูกหลานเข้ากรุงเทพฯ และไปอยู่เมืองใหญ่กันหมด
ณ 30 ก.ย. 67 สรุปผลผลิตและรายได้จากฟาร์มเกษตรวัดโนนสุวรรณ 22 เดือน (เริ่ม 18 พ.ย. 65)
มีผลผลิตผักสะสม รวม 22,953 กก.
มีรายได้สะสม รวม 678,056 บาท
เฉลี่ยรายได้ต่อเดือน 30,820 บาท
เฉลี่ยรายได้ต่อครอบครัว / เดือน 1,541 บาท
ผลงานเชิงประจักษ์ ทำให้ฟาร์มเกษตรวัดโนนสุวรรณ เป็นศูนย์การเรียนรู้ ที่คณะรัฐมนตรีด้านศึกษาธิการอาเซียนไปเยี่ยมเยือน สำนักข่าว BBCไปเก็บภาพถ่ายทอดสู่สากล สถาบันการศึกษาทุกระดับไปเยี่ยมเยียน ในเวลาปีเศษ มี 34 คณะไปที่นั่น มีผู้คนไปศึกษาดูงาน 1,244 คน
การดูงานของแต่ละคณะ ไม่มากก็น้อย นำไปสู่การขยายผลในพื้นที่ต่อไป
ถ้ารัฐบาลจะเล็งเห็นศักยภาพซ่อนเร้นที่มีอยู่จริง คือวัดกว่า 40,000 วัด โรงเรียนกว่า 30,000 โรงเรียน มีโรงพยาบาลและสถานีอนามัยในจังหวัด อำเภอ ตำบล หลายพันแห่ง
ส่วนราชการเหล่านี้มีที่ดิน มีน้ำ มีไฟฟ้า มีอุปกรณ์ มีบุคลากรที่สามารถใช้เป็นฐานรองรับการปลูกพืชผักได้ ดังที่โรงเรียนมีชัยพัฒนาได้ทำให้ปรากฏเป็นจริงและประสบผลสำเร็จมาแล้ว โดยเชิญชวนผู้สูงอายุราว 10 ล้านคน ที่นับว่าเป็นภาระของรัฐ แล้วแปรเปลี่ยนจากภาระให้เป็นพลังการผลิตทางการเกษตร ก็จะเกิดการผลิตเต็มแผ่นดิน
นี่คือปฏิบัติการ ที่คุณเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ได้เสนอไว้ว่า “หันมาไล่ล่าความอยู่ดีกินดีมีสุขของชาวบ้าน ช่วยกันกระจายรายได้ กระจายความมั่งคั่งให้บานสะพรั่งไปทั่วทุกหัวเมือง ทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในท้องถิ่น แทนที่จะปล่อยให้กระจุกตัวอยู่ในกลุ่มธุรกิจยักษ์ - ทุนใหญ่ใน กทม. และปริมณฑล เหมือนที่ผ่านมาหลายปีดีดัก”