"...กล่าวได้ว่า ตลอดชีวิตของนายมานิจ สุขสมจิตรได้ใช้ความรู้และประสบการณ์ความสามารถทุ่มเททำงานเพื่อวงการสื่อสารมาลชน วงการการศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และเพื่อส่วนรวมเสมอมา รวมถึงการดำเนินชีวิตและการประกอบวิชาชีพที่เปี่ยมด้วยคุณธรรมและจริยธรรมอันเป็นที่ประจักษ์ คณะกรรมการชมรมเพื่อนโดมอันเป็นองค์กรของศิษย์เก่าธรรมศาสตร์จึงมีมติเป็นเอกฉันท์มอบรางวัล “จิตวิญญาณธรรมศาสตร์” ประจำปี 2567 แด่นายมานิจ สุขสมจิตร เพื่อเป็นแบบอย่างแก่ประชาคมธรรมศาสตร์รุ่นหลังสืบไป..."
หมายเหตุ: ชมรมเพื่อนโดมและมูลนิธิเพื่อนโดม ประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ โดยมอบรางวัล “จิตวิญญาณธรรมศาสตร์” ให้แก่นายมานิจ สุขสมจิตร ประธานมูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ในฐานะผู้อุทิศตนและเป็นบุคคลต้นแบบ ในงานรำลึกวันธรรมศาสตร์สามัคคี วันที่ 5 พฤศจิกายน 2567 ณ สมาคมธรรมศาสตร์ในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมมอบเข็มเกียรติยศธรรมศาสตร์สามัคคี 2567 แก่ศิษย์เก่าที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานทั้งวงราชการและเอกชนไทย
สำหรับการมอบรางวัล “จิตวิญญาณธรรมศาสตร์” ดำเนินการเป็นปีที 4 ขึ้นเพื่อยกย่องศิษย์เก่าที่มีคุณสมบัติเป็นที่ประจักษ์ ได้แก่ 1.ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 2.ต่อต้านเผด็จการ 3.ยึดมั่นเรื่องความเป็นธรรมในสังคม 4.ทำประโยชน์ต่อสังคม จำนวนปีละ 1คน ซึ่งรางวัลนี้จะมอบให้ปีละ 1 คน โดยมีเงินรางวัล 100,000 บาท พร้อมถ้วยรางวัล เพื่อสร้างขวัญกำลังใจและเป็นบุคคลต้นแบบให้แก่อนุชนรุ่นหลัง สำหรับปี 2567 นี้ ผู้ที่ได้รับรางวัล “จิตวิญญาณธรรมศาสตร์” คือ นายมานิจ สุขสมจิตร นักหนังสือพิมพ์อาวุโส ผู้คร่ำหวอดในวงการสื่อสารมวลชนไทย ได้รับการยกย่องในฐานะ "ครูนักข่าว"
นายมานิจ สุขสมจิตร เข้าเรียนที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อปีพ.ศ.2501 จบปริญญาตรีนิติศาสตร์บัณฑิตในปีพ.ศ.2505 ในขณะเรียนได้สมัครทำงานนักข่าวที่หนังสือพิมพ์กรุงเทพรายวัน เมื่อปี พ.ศ. 2502 และต่อมาได้ย้ายไปทํางานที่หนังสือพิมพ์หลักเมืองรายวัน และหนังสือพิมพ์ไทยรัฐจนถึงปัจจุบัน รวมแล้วมากกว่า 60 ปี ผ่านงานสายข่าวต่างๆที่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐมาแทบทุกตำแหน่งจนมีความก้าวหน้าขึ้นตามลำดับ ในขณะที่ทำงานหนังสือพิมพ์ นายมานิจศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมตลอดเวลา ทั้งศึกษาด้วยตนเองและเข้าอบรมสัมมนามิได้ขาด จนได้รับทุนจากมูลนิธิธอมสัน ประเทศอังกฤษ ให้ ไปศึกษาต่อในหลักสูตรวิชาการหนังสือพิมพ์ชั้นสูงที่โรงเรียนวิชาการหนังสือพิมพ์ ณ เมืองคาร์ดีฟ สหราชอาณาจักร ได้รับประกาศนียบัตร Certificate in Advance Journalism Course เมื่อปี พ.ศ. 2514
ตลอดเวลาการทำงาน เมื่อสั่งสมประสบการณ์ได้ระยะหนึ่งแล้ว ผสานกับความรู้ทางวิชาการทั้งจากการค้นคว้าด้วยตนเอง การศึกษาดูงานจากต่างประเทศและความรู้ด้านกฎหมายที่ได้ร่ำเรียนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายมานิจอุทิศเวลาเพื่อถ่ายทอดประสบการณ์และความรู้การทำงานด้านการข่าวแก่นักศึกษาหลายๆสถาบันทั่วราชอาณาจักร ตลอดจนนักหนังสือพิมพ์รุ่นน้องๆจากหลากหลายฉบับตลอดเวลาโดยไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย โดยย้ำเน้นเสมอว่า "ผู้ใช้วิชาชีพสื่อมวลชนนั้นจะต้องเป็นผู้ที่มีคุณธรรมอีกทั้งมีจริยธรรมอย่างเคร่งครัดอยู่ตลอดเวลา เพราะคุณธรรมนั้นจะเป็นรากฐานแห่งความเจริญ อันมั่นคงและความสงบสุขของปัจเจกชนของสังคมและประเทศชาติ จะต้องยึดถือคุณธรรมเป็นอุดมคติ ส่วนจริยธรรมนั้นเป็นหลักปฏิบัติที่จะต้องยึดถือให้เป็นวิถีชีวิต ทั้งคุณธรรมและจริยธรรมนั้นเป็นเรื่องที่สําคัญยิ่งกว่าการได้เป็นผู้ที่เชี่ยวชาญชํานาญการในวิชาวารสารศาสตร์เสียอีก และการใช้เสรีภาพของสื่อมวลชนนั้นจะต้องใช้อย่างมีความรับผิดชอบ โดยมีคุณธรรมและจริยธรรมเป็นเครื่องกำกับ” นอกจากนั้นยังเขียนตำราวิชาการหลายเล่มด้วยกัน อาทิ เช่น หลักการวิชาชีพหนังสือพิมพ์ จริยธรรมกับสื่อมวลชน กฎหมายเกี่ยวกับหนังสือพิมพ์ รัฐธรรมนูญที่นักข่าวควรรู้ คู่มือกฎหมายสําหรับนักข่าว หนังสือพิมพ์กับข้อหาหมิ่นประมาท เป็นต้น
ด้วยความรอบรู้ทั้งทางวิชาการ ภาษา และมีประสบการณ์จากการปฏิบัติงานจริง นายมานิจจึงได้รับเชิญให้เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในหลายด้านและอาจารย์พิเศษจากสถาบันการศึกษาหลายแห่ง เช่น สถาบันพระปกเกล้า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สถาบันราชภัฏสวนดุสิต สถาบันราชภัฏสวนสุนันทา มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ฯลฯ ยังได้รับเชิญเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่มิใช่สถาบันการศึกษาอีกหลายแห่ง เช่น ผู้ทรงคุณวุฒิด้านข้อมูลข่าวสารของทางราชการ คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ สถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล ฯลฯ
นอกจากนี้ นายมานิจยังได้ทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาของชาติในฐานะของกรรมการมูลนิธิไทยรัฐมาอย่างยาวนาน โดยการสืบสานปณิธานของนายกำพล วัชรพล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐและมูลนิธิไทยรัฐ ในการพัฒนาวงการศึกษาไทย ด้วยการอุทิศตนเพื่อการพัฒนาครู นักเรียนและโรงเรียนไทยรัฐวิทยาจำนวน 111 โรงเรียนทั่วประเทศผ่านกิจกรรมของมูลนิธิไทยรัฐมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2522 จนถึงปัจจุบัน ขณะเดียวกัน นายมานิจได้มีส่วนร่วมเป็นกรรมการของมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ซึ่งทำหน้าที่คัดเลือกและมอบรางวัลแก่ครูผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงในชีวิตศิษย์และมีคุณูปการต่อการศึกษาทั้งในระดับอาเซียนและประเทศไทย
ในด้านวิชาชีพหนังสือพิมพ์และสื่อสารมวลชน นอกจากนายมานิจได้รับแหวนทองคําประดับเพชรจากนายกําพล วัชรพล ผู้อํานวยการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2522 ในฐานะที่เป็นผู้ที่ปฏิบัติงานดีเด่นเพียงคนเดียวจากกองบรรณาธิการแล้ว ยังได้รับการยอมรับจากเพื่อนร่วมวิชาชีพอย่างมาก ตำแหน่งงานที่สำคัญๆ เช่น ได้รับเลือกให้เป็นนายกสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย 2 สมัย(พ.ศ.2517-2518) เป็นประธานสมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งอาเซียนหรือ CONFEDERTION OF ASEAN JOURNALISTS (CAJ) ในปี พ.ศ. 2526-2527 โดยเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับตําแหน่งนี้ ได้เป็นประธานคนแรกของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติในปีพ.ศ.2540 เป็นหัวหน้าคณะทํางานศึกษาเพื่อเสนอให้มีการแก้ไข กฎหมายการพิมพ์และกฎหมายที่เกี่ยวข้องของสมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2541 เป็นคณะบรรณาธิการหนังสือกฎหมายการพิมพ์เปรียบเทียบ ฉบับภาษาอังกฤษและรับหน้าที่เป็นผู้ที่เขียนเรื่องกฎหมายการพิมพ์ในประเทศไทย และที่สำคัญยิ่งคือ นายมานิจเป็นนักหนังสือพิมพ์อาชีพเพียงคนเดียวที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการและทําหน้าที่ในการบัญญัติศัพท์หนังสือพิมพ์เป็นระยะเวลาติดต่อกันยาวนานถึง 3 ปี จนศัพท์บัญญัติวิชาการหนังสือพิมพ์ฉบับราชบัณฑิตยสถานเสร็จเรียบร้อย ฯลฯ
นอกจากนั้น นายมานิจยังมีบทบาทสำคัญในการเรียกร้องและรณรงค์ให้รัฐบาลยกเลิกกฎหมายและ/หรือประกาศคณะปฎิวัติที่ลิดรอนเสรีภาพสื่อในการทำหน้าที่หลายครั้ง เช่น เป็นผู้นําในการรณรงค์ให้ยกเลิกคําสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 42 (ปร.42) อันเป็นกฎหมายที่ลิดรอนเสรีภาพในการแสดงออกของสื่อมวลชนซึ่งออกมาในสมัยเผด็จการ ทําให้ประเทศไทยถูกดูถูกในสายตาของอารยประเทศ เป็นผู้นําเพื่อการเรียกร้องให้มีการยกเลิกพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. 2484 เพราะเป็นกฎหมายที่ไม่มีส่วนเอื้ออํานวยต่อการปฏิบัติหน้าที่ของหนังสือพิมพ์ ทั้งยังมีบทบัญญัติหลายมาตราที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งคณะรัฐมนตรีในสมัยของนายชวน หลีกภัย ได้ยอมรับและมีมติเห็นชอบให้เลิกพระราชบัญญัติฉบับนั้น นอกจากนี้ นายมานิจยังเป็นผู้นําในการเรียกร้องให้มีบทบัญญัติรับรองสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยไม่ให้ฝ่ายบริหารมีอํานาจสั่งปิดหนังสือพิมพ์และสื่อมวลชนอื่นๆ ตั้งแต่เมื่อครั้งมีการร่างรัฐธรรมนูญในปีพ.ศ.2540 เป็นต้นมา
ด้วยความทุ่มเทเสียสละให้แก่งานวิชาชีพหนังสือพิมพ์และสื่อสารมวลชนอย่างเสมอต้นเสมอปลายของนายมานิจ ทำให้ได้รางวัลชีวิตที่สำคัญ อาทิ ได้รับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ด้านสื่อสารมวลชนจากมหาวิทยาลัยรามคำแหงและมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในปีพ.ศ.2543 ได้รับดุษฎีบัณฑิตกิตติศักดิ์ด้านวารสารศาสตร์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปีพ.ศ.2544 ปริญญานิเทศศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาในปีเดียวกัน และรางวัลเชิดชูเกียรติยศคนหนังสือพิมพ์จากสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในปี 2566 ทั้งนี้ ยังไม่รวมโล่เกียรติคุณอื่นๆจากหลากหลายสถาบัน
ปัจจุบัน นายมานิจยังคงดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการมูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของสถาบันอิศราที่สร้างต้นแบบของการรายงานข่าวเชิงสืบสวนเพื่อต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่นให้แก่วงการสื่อมวลชนผ่านสำนักข่าวอิศรา รวมทั้งการพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมด้านวิชาชีพแก่สื่อมวลชนทุกระดับมาอย่างต่อเนื่อง
นอกจากงานด้านวิชาชีพสื่อสารมวลชนแล้ว นายมานิจยังอุทิศเวลามาช่วยงานที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อีกหลายด้าน อาทิ
- เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของสภามหาวิทยาลัยต่อกันมาตั้งแต่พ.ศ 2520 จนถึงปัจจุบัน ในระหว่างการดำรงตำแหน่งกรรมการสภามหาวิทยาลัยฯได้ทำงานที่ได้รับมอบหมายสำคัญหลายเรี่อง เช่น เป็นประธานกรรมการสรรหาคณบดีคณะต่างๆประมาณ 10 คณะ เป็นประธานกรรมการสรรหาอธิการบดี 3 ครั้ง และยังได้ทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการยกร่างระเบียบและข้อบังคับต่างๆของมหาวิทยาลัยอีกหลายฉบับ
- เป็นประธานการจัดสร้างอนุสาวรีย์ ศ.ดร.ปรีดี พนมยงค์ และ ศ.สัญญา ธรรมศักดิ์ ซึ่งประดิษฐานอยู่ที่หน้าหอประชุมใหญ่และหน้าตึกคณะนิติศาสตร์ตามลำดับ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต รวมทั้งจัดระดมทุนศิษย์เก่าสร้างประติมากรรมวันธรรมศาสตร์สามัคคี 5 พ.ย.ซึ่งตั้งอยู่ที่หลังตึกโดม ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
- เป็นประธานและกรรมการช่วยงานคณะต่างๆหลายแห่ง เช่น คณะวารสารศาสตร์ฯ คณะนิติศาสตร์ โรงเรียนอนุบาลและประถมธรรมศาสตร์ สถาบันภาษา เป็นต้น
- ล่าสุด เป็นประธานระดมทุนจัดสร้างสวนอนุสรณ์ ศ.คุณหญิงนงเยาว์ ชัยเสรี ซึ่งจะประดิษฐานอยู่หน้าโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ มีกำหนดแล้วเสร็จต้นเดือนมกราคม พ.ศ.2568 นี้
กล่าวได้ว่า ตลอดชีวิตของนายมานิจ สุขสมจิตรได้ใช้ความรู้และประสบการณ์ความสามารถทุ่มเททำงานเพื่อวงการสื่อสารมาลชน วงการการศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และเพื่อส่วนรวมเสมอมา รวมถึงการดำเนินชีวิตและการประกอบวิชาชีพที่เปี่ยมด้วยคุณธรรมและจริยธรรมอันเป็นที่ประจักษ์ คณะกรรมการชมรมเพื่อนโดมอันเป็นองค์กรของศิษย์เก่าธรรมศาสตร์จึงมีมติเป็นเอกฉันท์มอบรางวัล “จิตวิญญาณธรรมศาสตร์” ประจำปี 2567 แด่นายมานิจ สุขสมจิตร เพื่อเป็นแบบอย่างแก่ประชาคมธรรมศาสตร์รุ่นหลังสืบไป