"...ตลาดตุ้มโฮมอยู่ริมน้ำโขง ใกล้กับลานพญาศรีสัตตนาคราช ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ตลาดขายสินค้าแบบทั่วไปเท่านั้น แต่ผู้จัดต้องการให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ของทุกคน ไม่ว่าจะมาจากกลุ่มชาติพันธุ์ใด พื้นที่แห่งนี้คือบ้านที่เต็มไปด้วยความรัก ความอบอุ่นและความปรารถนาดีจากญาติมิตร ตลาดเปิดพื้นที่ให้สมาชิกในครอบครัวทุกคนได้มาตุ้มโฮม มากินข้าว มาซุมแซว มาโสเหล่ มาม่วนซื่น ในวัฒนธรรมแบบฉบับของนครพนมที่หลากหลาย..."
“ภูเขาเป็นของเค้า วิวเป็นของเรา”
ยามเช้าระหว่างทอดสายตามองแม่น้ำโขงเบื้องหน้า ผ่านไปยังฝั่งเมืองท่าแขก แขวงคำม่วน สปป.ลาว เห็นทิวเขาสีหม่นทอดยาวเป็นแนวสลับซับซ้อน งาม สงบ ระคนลึกลับ พลันก็หวลนึกถึงประโยคนี้ที่ไกด์อาสาสมัครอาวุโสชาวนครพนมพูดบนรถรางชมเมืองเมื่อวันก่อนหน้าขึ้นมาทันที…
ช่างจริงเสียนี่กระไร
นครพนมเป็นจังหวัดที่มีรูปทรงยาวติดริมน้ำโขง วิวทิวเขาที่มองข้ามไปเห็นที่ฝั่งลาวนั้นคือเทือกเขาอันนัมอันโด่งดังที่ทอดตัวยาวตลอดแนวสายตา ยามเช้ามีสายหมอกลอยระยอดเขาใหญ่น้อย ยามเย็นแสงสีทองพาดผ่านลงมาสู่ผืนน้ำโขง
หากเราข้ามไปฝั่งคะโน้น ยืนอยู่ริมตลิ่งวัดพระธาตุศรีโคดตะบอง มองกลับมาฟากคะนี้ เราจะเห็นทิวทัศน์ไปอีกแบบ เป็นภาพสลับซับซ้อนของตึกรามบ้านช่องสัญลักษณ์ของความเจริญ ยามเย็นค่ำจะเห็นแสงไฟส่องวิบวับตระการตาเหมือนเมืองที่ไม่เคยหลับ ดูงามไปอีกแบบ
“นอนนครพนม 1 คืน อายุยืน 1 ปี”
คุณพี่ไกด์อาสาสมัครอาวุโสบอกด้วยความภูมิใจบนรถรางชมเมือง
หนึ่งในจุดที่มองวิวทิวเขาฝั่งเมืองท่าแขกได้ดีที่สุดต้องที่นี่…
ตลาดตุ้มโฮม !
คำว่า “ตุ้มโฮม” เป็นภาษาอีสาน แปลว่า "มารวมกัน" หรือ "รวมตัวกัน" หรือจะสื่อถึง "ความสามัคคี" ก็ได้
ตลาดตุ้มโฮมอยู่ริมน้ำโขง ใกล้กับลานพญาศรีสัตตนาคราช ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ตลาดขายสินค้าแบบทั่วไปเท่านั้น แต่ผู้จัดต้องการให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ของทุกคน ไม่ว่าจะมาจากกลุ่มชาติพันธุ์ใด พื้นที่แห่งนี้คือบ้านที่เต็มไปด้วยความรัก ความอบอุ่นและความปรารถนาดีจากญาติมิตร ตลาดเปิดพื้นที่ให้สมาชิกในครอบครัวทุกคนได้มาตุ้มโฮม มากินข้าว มาซุมแซว มาโสเหล่ มาม่วนซื่น ในวัฒนธรรมแบบฉบับของนครพนมที่หลากหลาย
เกิดจากเทศบาลเมืองนครพนมและมหาวิทยาลัยศิลปากร
โดยคณะผู้บริหารเทศบาล หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำชุมชน องค์กรภาคเอกชน/ประชาสังคม ภาคีเครือข่าย และนักวิจัยในพื้นที่ ร่วมขับเคลื่อนมาหลายปี
ภายใต้ร่มโครงการวิจัยใหญ่เรื่อง "การพัฒนาเมืองแห่งทุนวัฒนธรรมที่ยั่งยืน และเครือข่ายย่านวัฒนธรรมชุมชน" มหาวิทยาลัยศิลปากรได้รับทุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มีเป้าหมายเพื่อนำทุนทางวัฒนธรรมมาสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมการนำวิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์และบริการด้านวัฒนธรรมพื้นถิ่น ให้เป็นวัฒนธรรมสร้างสรรค์ ทั้งยังเป็นขับเคลื่อนและสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจท้องถิ่น โดยใช้กลไกตลาดวัฒนธรรม รวมถึงเป็นการสร้างเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของชุมชนให้เด่นชัด สร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยว
โครงการนี้มี ดร.ธนภณ วัฒนกุล ที่ผมรู้จักและเรียกพี่มาตั้งแต่นุ่งขาสั้นเป็นนักวิจัยหลัก เป็นกัปตันของโครงการ
ดร.โน สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน เป็นหนึ่งในทีมนักวิจัยส่วนกลางรับผิดชอบในหัวข้อวิจัยย่อยว่าด้วยการบริหารจัดการสื่อวัฒนธรรมชุมชน "12 พื้นที่วิจัย 44 ย่านวัฒนธรรมชุมชน" ดังที่เคยเล่าให้ฟัง
เริ่มจัดตั้งตลาดตุ้มโฮม เมื่อ 25 ธันวาคม 2565
แรกเริ่มมีร้านค้าทั้งสิ้น 25 ร้าน สินค้าที่จำหน่ายมีความหลากหลาย อาหารพื้นถิ่น อาหารไทย อาหารเวียดนาม สินค้า OTOP ขนมไทย ของฝาก เสื้อผ้า ของที่ระลึก
ตลาดเปิดให้บริการทุกวันศุกร์ และเสาร์ ตั้งแต่เวลา 17.00 – 21.30 น.
บริเวณถนนโดยรอบตลาดตุ้มโฮมยังเป็นถนนคนเดิน มีสินค้าสารพันจำหน่าย มาเที่ยวที่นี่จึงกล่าวได้ว่ามา 2 ตลาดพร้อมกัน
ช่วงงานประเพณีไหลเรือไฟ และงาน Winter Festival จะเปิดตลาดทุกวัน
ปัจจุบัน มีร้านขายอาหารถิ่น ที่ยังคงขายเป็นประจำ และสามารถสร้างรายได้เพิ่ม เช่น ร้านส้มตำเจ๊หมวย ร้านจิ้มจุ่ม รวมถึงยังมีร้านค้าใหม่ๆ ที่เข้ามาสร้างความแปลกใหม่โดยตลอด
ภายในงานมีเวทีเล็ก ๆ สำหรับการแสดงพื้นบ้าน โดยมี ”ครูแก่น แลนมาร์ค“ มาโชว์เสียงเพลงประกอบพิณลายประจำจังหวัดนครพนมที่เรียกว่า “พิณลายศรีโคตรบูรณ์” ให้ความครื้นเครงกับผู้มานั่งกินดื่ม
ครูแก่นเป็นศิลปินพื้นถิ่นซึ่งเป็นครูสอนดนตรีพื้นเมืองที่ยินดีสอนให้กับนักเรียนนักศึกษาที่สนใจดนตรีพื้นเมือง
วันที่ผมกับคณะนักวิจัยย่อยของดร.โนไปเยือน ตลาดตุ้มโฮมจัดมากว่า 180 ครั้งแล้ว แว่วว่ากลางเดือนตุลาคมนี้ก็จะครบ 200 ครั้งแล้ว
ออกจากตลาดตุ้มโฮมไปนิดเดียวก็จะถึงหอนาฬิกาแห่งหนึ่งที่ดูเหมือนธรรมดาแต่ไม่ธรรมดา
หอนาฬิกาเวียดนามอนุสรณ์ !
เป็นหอนาฬิกาที่ตั้งอยู่กลางจุดตัดของถนนคนเดิน ส่วนหลังคาออกแบบตามสถาปัตยกรรมเวียดนาม ก่อสร้างเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2503 ใช้เวลา 3 เดือนเสร็จ ด้วยเงินบริจาคของชมรมชาวเวียดนามที่อาศัยในประเทศไทย ก่อนกลับมาตุภูมิ พวกเขาได้ร่วมกันสร้างอนุสรณ์สถานขึ้นเพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ไทย รัฐบาลไทย และพี่น้องชาวไทยที่ได้ช่วยเหลือชาวเวียดนามอพยพ
เล่าเรื่องตลาดตุ้มโฮมมาจนถึงหอนาฬิกาเวียดนามอนุสรณ์ ทำให้หวลระลึกถึงบทกลอนที่ พี่เนาว์-เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เขียนไว้เมื่อ 2 ปีก่อน…
“คือพื้นที่วัฒนธรรมทำหน้าที่
คือความดีความเด่นเป็นผลิตผล
คือตลาดวัฒนธรรมชุมชน
คือความเป็นตัวตนคนบ้านเรา”
ยังมีเรื่องราวของจังหวัดนครพนมและพื้นที่วัฒนธรรมอื่น ๆ ทั่วประเทศอีกมากให้เล่าขาน
คำนูณ สิทธิสมาน
14 ตุลาคม 2567
แหล่งที่มา : https://www.facebook.com/kamnoon/posts/pfbid02edgJ4cMXre3Sjk2tkf6nXpQZJVLriwV1oENf1Cn2Gq2njA2DfzY9gPPndMerxshGl