"...ส่วนในทางกลับกัน สังคมที่มีความเหลื่อมล้ำและการกดขี่ --ย่อมเป็นสังคมที่ไม่ยุติธรรม แต่การตอบโต้ต่อปัญหาความไม่ยุติธรรม --ขึ้นอยู่ระดับความอดทนของประชาชน (tolerance level) ด้วย หากประชาชนเป็น “สีทนได้” –ก็ย่อมต้องอด-ต้องทนต่อไปให้ได้..."
ความยุติธรรมทางสังคม (social justice) เป็นคุณค่าที่มีมาตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ หมายความว่าสังคมที่มีความยุติธรรม (justice society) ต้องไม่มีความเหลื่อมล้ำ (inequality) และการกดขี่ (oppression) นักปรัชญาสมัยโบราณรับรู้ปัญหาความไม่ยุติธรรมและเสนอทางออกมาตลอด เช่น เพลโตเสนออุตมรัฐไว้ในหนังสือ ชื่อ “Republic” ว่าต้องให้ราชาปราชญ์เป็นผู้ปกครอง เหตุผลเพราะราชาปราชญ์เป็นผู้มีทั้งความรู้และคุณธรรม คุณสมบัติการมีความรู้และคุณธรรมจึงเป็นคุณสมบัติพื้นฐานของผู้ปกครองมาตั้งแต่โบราณ
ส่วนในทางกลับกัน สังคมที่มีความเหลื่อมล้ำและการกดขี่ --ย่อมเป็นสังคมที่ไม่ยุติธรรม แต่การตอบโต้ต่อปัญหาความไม่ยุติธรรม --ขึ้นอยู่ระดับความอดทนของประชาชน (tolerance level) ด้วย หากประชาชนเป็น “สีทนได้” –ก็ย่อมต้องอด-ต้องทนต่อไปให้ได้!!
ปัญหาหลักของประเทศไทยยุคปัจจุบัน คือ ปรากฏการณ์ที่คุณทักษิณต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกแปดปี แต่เดินทางเข้ามาขอรับโทษในประเทศเมื่อเวลาผ่านไปนานถึงสิบหกปี เมื่อกลับเข้ามาในประเทศไทยแล้ว จึงได้ขอพระราชทานอภัยโทษ และได้รับการลดโทษจำคุกเหลือหนึ่งปี แต่พอคุณทักษิณถูกคุมขังในเรือนจำไม่ถึงยี่สิบสี่ชั่วโมง ก็มีอาการเจ็บป่วยรุนแรง และต้องส่งตัวไปรักษาพยาบาลโรงพยาบาลตำรวจนานถึง 181 วัน จนกระทั่งครบกำหนดพักการลงโทษและพ้นโทษเมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2567
ประเด็นคุณทักษิณต้องโทษจำคุก แต่ไม่ถูกจำคุกดังกล่าวเป็นประเด็นความไม่ยุติธรรมทางสังคม ซึ่งแบ่งประเด็นได้เป็น 3 ประเด็นใหญ่ ๆ ได้แก่ (1) ประเด็นทางสังคม (2) ประเด็นทางกฎหมาย และ (3) ประเดินทางการเมือง
1. ประเด็นทางสังคม
การที่คุณทักษิณต้องโทษจำคุก แต่ไม่ถูกจำคุก เป็นประเด็นทางสังคมที่ใหญ่มากในทางทฤษฎี เพราะคนทั่วไปเห็นว่าเป็นการไม่ยุติธรรม คุณทักษิณ ไม่ได้ถูกจำคุกจริง และไม่น่าจะมีเหตุให้พักรักษาตัวโรงพยาบาลได้นานถึง 181 วัน อันเป็นประเด็นความเหลื่อมล้ำทางสังคมและมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสังคมไทยหลายประการ
ประการแรก ผลกระทบต่อโครงสร้างอำนาจ เป็นกรณีที่สะท้อนถึงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันในสังคม และเมื่อคนมีอำนาจไม่เท่าเทียมกันก็จะก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด ซึ่งส่งผลกระทบต่อทั้งทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง
ประการที่สอง ผลกระทบต่อความเหนียวแน่นในสังคม เป็นกรณีสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาความเหนียวแน่นในสังคมในแนวนอนระหว่างคนกลุ่มต่าง ๆ ในสังคม เช่น โดยเฉพาะกลุ่มคนรวยกับคนจน นอกจากแตกต่างกันแล้ว ยังเกิดความเปราะบาง ขัดแย้ง แตกร้าว และอย่างน้อยความเหลื่อมล้ำทำให้กลุ่มคนที่ได้รับประโยชน์ไม่สนใจแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ เพื่อรักษาความได้เปรียบในสังคม ยิ่งเพิ่มความตึงเครียดทางการเมืองและสังคมรุนแรงขึ้นไปเรื่อย ๆ
ประการที่สาม ผลกระทบต่อความยุติธรรมทางสังคม สิทธิมนุษยชนและผลของความเหลื่อมล้ำที่เชื่อมโยงต่อกันเป็นลูกโซ่ ประเด็นนี้เห็นได้ชัดว่า กสม. วินิจฉัยตามอำนาจหน้าที่แล้วว่าเป็นกรณีการเลือกปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างผู้ต้องขังด้วยกัน และอาจมีเจ้าพนักงานใช้อำนาจโดยมิชอบช่วยเหลือให้เกิดการกระทำดังกล่าว นอกจากนั้นยังส่งผลเชื่อมโยงต่อกันเป็นลูกโซ่ เพราะเมื่อกลุ่มคุณทักษิณมีโอกาสเพิ่มขึ้น กลุ่มอื่นที่ถูกกีดกันและเอารัดเอาเปรียบอยู่แล้วก็ยิ่งแย่ลง เช่น กลุ่มเพศสภาพ เชื้อชาติ วรรณะ ชาติพันธุ์ ศาสนา ภูมิภาคและคนพิการ
สำหรับประเทศไทยเห็นได้ชัดจากกรณีตากใบ อันเป็นการเปรียบเทียบว่าเมื่อชาวบ้านถูกเจ้าหน้าที่รัฐกระทำการฆาตกรรมหมู่โดยเจตนาเล็งเห็นผล และใช้สิทธิต่อสู้ทางกระบวนยุติธรรม ปรากฏว่าตำรวจเอาคดีไปดองไว้จนเกือบหมดอายุความ จึงมีความเห็นเสนออัยการ เมื่ออัยการมีความเห็น สั่งฟ้อง ผู้ต้องหาก็หลบหนีไปแล้ว และน่าจะหลบหนีไปได้จนหมดอายุความ สะท้อนให้เห็นความแตกต่างในการเลือกปฏิบัติระหว่างกลุ่มคุณทักษิณกับกลุ่มชาวบ้านตากใบ!!!
ประการที่สี่ นอกจากนั้นยังมีผลกระทบต่อความเหลื่อมล้ำทางด้านอื่น เช่น ด้านการรักษาพยาบาล สิทธิในการต่อสู้คดี การพักโทษและการพ้นโทษ รวมไปถึงสิทธิทางการเมืองของผู้พ้นโทษและผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการใช้อิทธิพลทางการเมืองของคุณทักษิณต่อประเทศชาติ ที่ทำให้ประเทศไทยตกอยู่ภายใต้วิธีคิดและการครอบงำของคุณทักษิณ เช่น การเอาเงินงบประมาณของประเทศไปแจกเพื่อหาคะแนนเสียง!!
2. ประเด็นทางกฎหมาย ได้แก่
(1) กสม.ตรวจสอบตามคำร้องเรียน ตามอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนและให้ข้อเสนอแนะ สรุปว่ากรณีคุณทักษิณเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้ต้องขังรายอื่น และน่าจะมีเจ้าพนักงานใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ แต่ข้อหลังไม่ได้อยู่ในอำนาจของ กสม. จึงแนะนำโดยเสนอเรื่องให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบต่อ
(2) ป.ป.ช. ตรวจสอบตามอำนาจหน้าที่ กรณีเจ้าพนักงานของรัฐกระทำการโดยมิชอบตามตำแหน่งหน้าที่ราชการและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองใช้อำนาจโดยมิชอบ หากพบว่ามีข้อเท็จจริงจากการสอบสวนเบื้องต้นเพียงพอ ก็ต้องตั้งคณะกรรมการไต่สวนและชี้มูล เมื่อชี้มูลแล้วก็ต้องส่งเรื่องให้อัยการฟ้องผู้ถูกกล่าวหาต่อไป แต่ปัจจุบัน ป.ป.ช. ยังไม่ได้ชี้มูล
3. ประเด็นทางการเมือง
ประเด็นทางการเมือง หมายถึงการตรวจสอบการใช้อำนาจทางการเมืองของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและนักการเมืองที่ไม่ได้มีตำแหน่ง ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 กรณี ได้แก่
กรณีที่หนึ่ง บุคคลใดเห็นว่ามีการกระทำใดที่เข้าข่ายการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข สามารถยื่นขอให้อัยการสูงสุดส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา เพื่อให้ศาลฯ มีคำสั่งให้เลิกกระทำการนั้น ตามมาตรา 49 แห่งรัฐธรรมนูญไทยฉบับปัจจุบัน ขณะนี้คุณธีรยุทธ สุวรรณเกษร ได้ยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุดแล้ว เมื่ออัยการสูงสุดไม่ได้พิจารณาคำร้องภายในสิบห้าวันตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด คุณธีรยุทธจึงใช้สิทธิร้องตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ ปัจจุบันศาลยังไม่ได้รับคำร้องไว้พิจารณา
กรณีที่สอง กรณียุบพรรคการเมือง ผู้มีอำนาจเสนอให้ยุบพรรคการเมือง คือ กกต. ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองฉบับปัจจุบัน เมื่อปรากฏความต่อกกต.ว่ามีผู้ใดกระทำการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขหรือฝ่าฝืนบทบัญญัติที่กำหนดในพรป.พรรคการเมือง กรณีนี้มีผู้ยื่นคำร้องหลายคำร้องให้กกต.พิจารณา แต่กกต.ยังไม่ได้พิจารณามีมติให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญ
ส่วนกรณีที่คุณธีรยุทธยื่นคำร้องตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าคุณทักษิณมีการกระทำที่เข้าข่ายล้มล้างการปกครองและมีคำสั่งให้เลิกกระทำการ กกต.ก็มีอำนาจหยิบขึ้นมาเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคตามอำนาจหน้าที่ของตนก็ได้
กรณีที่สาม ป.ป.ช. เมื่อพิจารณาเรื่องที่ กสม.เสนอเรื่องแนะนำมาว่ามีเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบและมีมติให้เสนออัยการสั่งฟ้องเจ้าพนักงานแล้ว หากมีประเด็นว่าเกี่ยวข้องกับจริยธรรมนักการเมืองผู้ใดและเห็นว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อมาตรฐานจริยธรรม ป.ป.ช. สามารถมีคำร้องให้ศาลอาญาวินิจฉัยการกระทำที่ขัดต่อมาตรฐานจริยธรรมของนักการเมืองได้
ผู้เขียนมีความเห็นว่า กรณีทั้งหมดเป็นการใช้สิทธิของผู้ร้องตามกฎหมาย มิใช่ “นิติสงคราม” (lawfare) เพราะนิติสงครามต้องเป็นกรณีการใช้กระบวนการทางกฎหมายข่มขู่คุกคามและยับยั้งการกระทำทางการเมืองโดยการใช้อำนาจรัฐกลั่นแกล้ง พูดง่าย ๆ ว่าองค์ประกอบของนิติสงครามต้องเข้าข่ายการกลั่นแกล้งทางการเมืองและข้อสำคัญต้องกระทำโดยอาศัยอำนาจรัฐกลั่นแกล้งด้วย
ทั้งหมดเป็นการดำเนินการตามกระบวนการตรวจสอบโดยอาศัยช่องทางอำนาจทางตุลาการ (judicial review) ซึ่งเป็นกลไกถ่วงดุลอำนาจของฝ่ายการเมืองและฝ่ายบริหาร
จะแปลกใจหน่อยก็ตรงที่ “ประเด็นความไม่ยุติธรรมทางสังคมของไทยกรณีคุณทักษิณ” เป็นประเด็นที่ใหญ่มากในทางทฤษฎี แต่นักการเมืองที่น่าจะเป็นตัวแทนในการต่อสู้เพื่อสิทธิ เสรีภาพและสร้างความเป็นธรรมให้กับสังคมไทย กลับไม่กระตือรือร้นที่จะตรวจสอบโดยใช้อำนาจหน้าที่ทางการเมืองตามกระบวนการรัฐสภา
การอ้างว่าเป็น “นิติสงคราม” น่าจะฟังไม่ขึ้น!!!
เรืองวิทย์ เกษสุวรรณ