"...ผู้นำประเทศ ต้องไม่ปล่อยให้ความสามารถทางศิลปะ สุนทรียะ อารยะของคนไทยล่องลอยไปตามยถากรรม แต่ต้องนำมาเป็นยุทธศาสตร์ชาติในการพัฒนาประเทศ โดยนำองค์ความรู้ และ เทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุน เพราะมีหลักฐานมากมายทางโบราณคดี ที่บอกว่าเราเป็นชาติที่โดดเด่นเรื่อง ความคิดสร้างสรรค์ ทั้งดนตรี ศิลปะ งานช่าง งานฝีมือมาตั้งแต่ยุคสุวรรณภูมิ เมื่อ 2,500 ปีที่แล้ว..."
ดนตรี และ ศิลปะ คือ หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เข้าถึงจิตวิญญาณของคนในสังคม ในประเทศมากที่สุด
ประเทศที่พัฒนาแล้ว จะใช้ดนตรี และ ศิลปะ เป็นเครื่องมือยกระดับจิตใจของคนให้สูงขึ้น มีความละเมียด ละไม อ่อนโยน ลดภาวะความเครียด คลายความกังวล กระตุ้นการรับรู้ การเห็นคุณค่าของผู้อื่น และยังเพิ่มฮอร์โมนแห่งความสุขด้วย
และนี่เป็นจุดเด่นของงานวิจัยด้านสังคมศาสตร์ ที่ผมพยายามผลักดันเพื่อให้ประเทศเดิน 2 ขา เพราะงานวิจัยไม่ใช่มีแต่เพียงงานทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การแพทย์ หรือ การเกษตรเท่านั้น แต่ยังคงมีงานวิจัยเชิงสังคมที่มีความสำคัญเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศที่มีรากเหง้าของศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อที่เก่าแก่อย่างประเทศไทย เป็นคุณค่าที่นำมาสร้างเป็นมูลค่าได้ เป็นสินค้าทางสังคมศาสตร์ที่เรามีอยู่ในตัวเอง และ สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศได้ หรือ ที่เรียกกันว่า เศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ Soft Power ในปัจจุบัน
ในตอนนั้นผมจึงได้มอบหมายนโยบาย ให้ รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข ช่วยทำวิจัยเรื่องดนตรี ของประเทศ ซึ่งจริงๆ ท่านทำมาตลอดชีวิต แต่ไม่ได้เรียกว่า “งานวิจัย” ศิลปิน หรือ ปราชญ์ชาวบ้านทุกท่าน ล้วนมุ่งมั่น ค้นคว้า ค้นหาความจริงในสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เชี่ยวชาญด้วยพื้นฐานของปัญญา ทำให้ค้นพบ และพัฒนาสู่ความก้าวหน้าในความรู้เฉพาะด้านนั้นด้วยตัวเอง ซึ่งไม่ต่างจากนักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์แม้แต่น้อย ซึ่งเป็นหนึ่งข้อหลักในการปฏิรูปอุดมศึกษา ให้ศิลปิน ปราชญ์ชาวบ้าน สามารถนำผลงานที่เป็น ศิลปะ สุนทรียะ อารยะมาขอวิทยฐานะทางวิชาการได้ โดยไม่ต้องนำไปตีพิมพ์เป็นเอกสารวิชาการ
ท่านบอกกับผมว่า เพลง คือประวัติศาสตร์พื้นบ้าน วิชาดนตรี เป็นวิชาของนักปราชญ์ และจะเป็นงานวิจัยที่พัฒนาประเทศในเชิงสร้างสรรค์ได้ ท่านดีใจมากครับ ที่ได้รับการสนับสนุนให้ทำวิจัยเพื่อการขยายผล ต่อยอด นวัตกรรมเพลงพื้นบ้าน เพื่อเผยแพร่ให้เป็นมรดกชาติ
รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข กล่าวว่า การนำเพลงพื้นบ้านในพื้นที่ต่าง ๆ มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการศึกษาประวัติศาสตร์ของชุมชนโดยอาศัยบริบทของวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนในชุมชน อาศัยร่องรอยของบทเพลงที่มีศิลปินในพื้นที่สืบทอด มีการนำเสียงของวัฒนธรรมพื้นเมือง ชนเผ่า เพลงแขก จีน ฝรั่ง เพลงท้องถิ่น มาผสมผสานกัน ซึ่งเป็นเสียงที่มีอยู่แล้วโดยอาศัยเสียงจากธรรมชาติ มานำเสนอในรูปแบบเสียงดนตรีของวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตราเป็นงานวิจัยที่ทรงคุณค่าและมีความเป็นสากลมาก
คนไทยมีศักยภาพที่เป็นเลิศทางดนตรี เป็นนักดนตรีที่มีฝีมือ ทั้งการเล่นเครื่องดนตรีในท้องถิ่นและเครื่องดนตรีสากล ทำเสียงใหม่ให้ลงตัว ซึ่งการสร้างสรรค์เสียงดนตรีใหม่เป็น “ต้นทุนทางวัฒนธรรม เป็นมรดกของสังคมที่ได้สืบทอดกันมานาน และเป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่าของชุมชนและการสืบทอดต่อไปในโลกอนาคต”
ท่านยังบอกอีกว่า ผมใช้เพลงก่อกวนทางปัญญา ให้คนคิด และ เห็นคุณค่าของประวัติศาสตร์ การจัดแสดงดนตรีในที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ อาทิ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี วัดกุฎีดาว เมืองเก่าอโยธยา จ.พระนครศรีอยุธยา วัดพระธาตุลำปางหลวง จังหวัดลำปาง ถือเป็นพลังในการสร้างเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ให้กับประเทศครับ
บุคคลสำคัญอีกท่าน ที่ผมจะไม่กล่าวถึงไม่ได้คือ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ท่านเห็นความสำคัญ และ ให้การสนับสนุนงานวิจัยทั้งด้านวิทยาศาสตร์ และ สังคมศาสตร์อย่างเต็มที่
ท่านได้กล่าวกับผมว่า การศึกษาเพื่อค้นคว้าเรื่องของเสียงดนตรีที่ยังหลงเหลือร่องรอยทางประวัติศาสตร์ มาสร้างเสียงใหม่ผ่านจินตนาการใหม่ โดยการนำเสียงของวัฒนธรรมซึ่งเป็นเสียงที่มีอยู่แล้วโดยการเลียนแบบจากเสียงธรรมชาติ (Acoustic) มาใช้เป็นเสียงดนตรีนั้นเป็นบริบทที่สำคัญของชุมชน จะสามารถสื่อสารออกไปสู่สากลได้
นับเป็นวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าและสร้างสรรค์ (Soft Power) ซึ่ง วช. ได้สนับสนุนการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ในงานศาสตร์และศิลป์ โดยเฉพาะ ดนตรี และการถ่ายทอดผ่านบทเพลง เพื่อก่อให้เกิดความเข้าใจในโบราณคดี ประวัติศาสตร์ ความภูมิใจในศิลปวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ และยังเป็นการเปิดโอกาสให้ชาวไทยและนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเข้ามาร่วมชื่นชมอัตลักษณ์ของท้องถิ่น และเป็น Soft power อย่างยั่งยืน
ผู้นำประเทศ ต้องไม่ปล่อยให้ความสามารถทางศิลปะ สุนทรียะ อารยะของคนไทยล่องลอยไปตามยถากรรม แต่ต้องนำมาเป็นยุทธศาสตร์ชาติในการพัฒนาประเทศ โดยนำองค์ความรู้ และ เทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุน เพราะมีหลักฐานมากมายทางโบราณคดี ที่บอกว่าเราเป็นชาติที่โดดเด่นเรื่อง ความคิดสร้างสรรค์ ทั้งดนตรี ศิลปะ งานช่าง งานฝีมือมาตั้งแต่ยุคสุวรรณภูมิ เมื่อ 2,500 ปีที่แล้ว
เปิดโลกงานวิจัยไปกับผมนะครับ งานวิจัยฟังได้ครับ
..... เชิญทานอาหารให้อร่อยครับ
“เอกเขนก” รวมบทสนทนา (ไม่) ลับบนโต๊ะอาหารตลอด 3 ปี ที่คุณไม่เคยได้ยินของผม อดีต รมว.อว.ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ กับ เรื่องราวเบื้องหลังแผนการเปลี่ยนไทยสู่ประเทศพัฒนาแล้วในปี 2580
เชิญชมคลิปงานวิจัย “เสียงอดีตสร้างจินตนาการ” ได้ที่ https://www.mhesi.go.th/index.php/en/all-media/infographic/9307-660726general.html