"...เพราะทุกการแก้ไขมันจะมีความเสียหายเกิดเช่น ดอกเบี้ยที่เป็นรายได้ของเจ้าหนี้จะได้ไม่เต็ม,เงินจะกินข้าวของลูกหนี้ไม่พอหลังจ่ายหนี้ ครอบครัวต้องมีข้าวยังชีพ,กติกาก็ติดขัด ตึงเกิน มั่นคงแบบล้อมรั้วบ้านไม่ให้น้ำเข้า..."
ในระหว่างการฟังบรรยายและเสวนาในงาน ธนาคารแห่งประเทศไทย( BoT Symposium2024 ) มีความรู้สึกคือดีใจที่ micro data ของคนเป็นหนี้ 25ล้านกว่าคนได้ถูกนำไปฉายภาพให้เห็นเป็นจริงว่า เวลานี้มีลูกหนี้ที่แข็งแรงจริงๆ 25% ที่เหลือคือต้องทำอะไรบางประการไม่อย่างนั้นก็ได้กลายเป็นคนป่วยแห่งเอเชียแน่ๆ ไม่ต้องพูดถึงคนเป็นหนี้เสียหรือ NPL.17%
มีข้อความเข้ามาถามว่า มาตรการแก้ไขหนี้รายย่อยเวลานี้คิดว่าเพียงพอ เหมาะสม สอดคล้องกับขนาดของปัญหา และพอจะเห็นแสงสว่างหรือไม่... เข้าใจว่าท่านผู้ถามเห็นข้อมูล SM (Special Mention Loan ซึ่งหมายถึงหนี้ค้างชำระระหว่าง 1-3 เดือน หรือหนี้ที่กำลังจะเสีย)กระโดดเดือนเดียว 1.7แสนล้านบาท
ผมเรียนตอบไปด้วยสติปัญญาของคนที่โตจากบ้านนอก ไม่ใช่นักเรียนทุนสถาบันที่ไหน(หมายถึงใช้ทุนพ่อแม่) เมืองนอกเมืองนาก็ไม่เคยไปเรียนกับเขา ไทยคำอังกฤษคำก็อายบรรพชน
คำตอบของผมคือ
เงื่อนไข 3 ประการครับที่จะมีส่วนให้การแก้หนี้มีผลบรรลุได้ ต้องให้ครบทั้งสามส่วนดังนี้
1.ความตั้งใจจริงของลูกหนี้
2.ขีดจำกัดของเจ้าหนี้
3.ความยืดหยุ่นในกติกาการแก้หนี้
เพราะทุกการแก้ไขมันจะมีความเสียหายเกิดเช่น ดอกเบี้ยที่เป็นรายได้ของเจ้าหนี้จะได้ไม่เต็ม,เงินจะกินข้าวของลูกหนี้ไม่พอหลังจ่ายหนี้ ครอบครัวต้องมีข้าวยังชีพ,กติกาก็ติดขัด ตึงเกิน มั่นคงแบบล้อมรั้วบ้านไม่ให้น้ำเข้า
ถ้าทั้งสามส่วนนั้นมีความเห็นแก่ตัว ไม่คิดถึงคนอื่น เรื่องมันก็จะไม่จบ
สุดท้ายเราทั้งผองจะโยนไปที่กระบวนการทางศาล เพราะจะได้หลุดพ้นจากความรู้สึกผิดชอบชั่วดี
ซึ่งสิ่งที่เกิดกับลูกหนี้คือชีวิตครับ มันจะเละ มันจะเหมือนน้ำโคลนที่ท่วมแม่สายเวลานี้
กับเจ้าหนี้คือหนี้สูญ กำไรลด ขาดทุน
กับคนคุมกฎคือถือว่าเข้าถึง เข้าใจ ไม่เข้าร่วมก็ไม่ว่า ข้าพเจ้าได้ทำแต่ทำได้เกิดมรรคเกิดผลหรือเปล่า.. ไม่รู้ ไม่เกี่ยว เงินเดือน สวัสดิการได้ครบ
มันเป็นวงเวียนแห่งกรรมครับ กรรมของทุกๆคนที่ปัญหานี้ไปพาดผ่าน
อ่านเพิ่มเติม : 'ดอกเบี้ยต่ำ'กระตุ้นเศรษฐกิจ'โตเร็ว'ระยะสั้น อาจสะสมความเปราะบาง-นำไปสู่วิกฤติร้ายแรงได้
ที่มา : Surapol Opasatien
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก https://www.freepik.com