"...การแจกเงินหมื่นให้กับกลุ่มเปราะบางและผู้พิการ เป็นจำนวนเงินรวม 1.45 แสนล้านบาท โดยเงินเกือบทั้งหมดคือจำนวน 1.22 แสนล้านบาท มาจากงบประมาณเพิ่มเติม ซึ่งจะต้องเป็นรายจ่ายลงทุน 80 % แต่จะถูกนำไปจ่ายเพื่อการบริโภคเกือบทั้งหมด ทำให้ไม่ตรงกับที่ได้เสนอของบประมาณไว้ จะเป็นโมฆะหรือไม่ ?? รัฐบาลคงไม่สนใจและเดินหน้าต่อไป หลังจากนั้นหากมีการวินิจฉัยว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องค่อยว่ากันอีกที..."
การประชุมนัดแรกของ ครม. นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2567 ได้มีมติอนุมัติเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 23,552.40 ล้านบาท เพื่อสมทบกับเงินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 122,000 ล้านบาท เป็นจำนวนเงินงบประมาณทั้งสิ้น 145,552.40 ล้านบาท นำไปใช้ในโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ
ในส่วนของงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ปี 2567 จำนวน 122,000 ล้านบาท คณะรัฐมนตรีชุดนายเศรษฐา ทวีสิน ได้ขอความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา โดยออกเป็น พรบ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2567 ซึ่งในคำแถลงประกอบงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้แถลงต่อสภาผู้แทนราษฎร ว่าเป็นการใช้งบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งงบประมาณที่เพิ่มเติมนี้จำแนกการใช้เป็นรายจ่ายประจำ 24,400 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 20 และรายจ่ายลงทุน 97,600 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 80
บทวิเคราะห์งบประมาณ ของสำนักงบประมาณของรัฐสภา (สงร.) ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้สรุปบทวิเคราะห์ไว้ในหน้าที่ 24 ว่า งบประมาณเพิ่มเติมที่จะนำไปใช้ในโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิตอลวอลเล็ต ซึ่งรัฐบาลได้จำแนกเป็นรายจ่ายลงทุนไว้ถึงร้อยละ 80 ซึ่งผู้ได้รับเงิน 10,000 บาท จำนวน 1.22 ล้านคน จะมีการนำเงินไปลงทุนต่อมากถึง 9.76 ล้านคน ที่คิดเป็นร้อยละ 80 เป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูงและอาจเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ ทั้งที่รัฐบาลก็คาดการณ์อยู่แล้วว่าเงินส่วนใหญ่น่าจะไปใช้ในการบริโภค ถึงได้กำหนดรายการสินค้าจำนวนมากที่ห้ามซื้อ เช่น สลากกินแบ่งรัฐบาล เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสูบ น้ำมัน ก๊าซ ทองคำ เพชร อัญมณี ฯลฯ
ในช่วงที่ พรบ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมฯ มีผลใช้บังคับ รัฐบาลนางสาวแพทองธารได้เข้ามาบริหารประเทศต่อจากรัฐบาลนายเศรษฐา และได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ซึ่งนโยบายเร่งด่วนประการที่ 5 ระบุว่า รัฐบาลจะเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มเปราะบางเป็นลำดับแรก และผลักดันโครงการดิจิทัลวอลเล็ต.....
ขณะนี้รัฐบาลนางสาวแพทองธารกำลังจะนำเงินงบประมาณเพิ่มเติม จำนวน 122,000 ล้านบาทนี้ มาใช้เป็นแหล่งรายได้หลักเพื่อนำไปใช้แจกให้กับกลุ่มเปราะบางที่เป็นผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและผู้พิการ จำนวน 14.5 ล้านคนๆ ละ 10,000 บาท ดังนั้น การนำเงินงบประมาณเพิ่มเติมทั้งหมดมาใช้แจกให้กับกลุ่มเปราะบางหรือก็คือผู้ที่มีรายได้ต่ำ ซึ่งเห็นได้ว่าคนกลุ่มนี้จะนำเงินที่ได้รับแจกไปใช้จ่ายเพื่อการบริโภคเกือบทั้งหมด จึงไม่ใช่เป็นการใช้งบประมาณตามที่นายเศรษฐา ได้แถลงต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อขอความเห็นชอบงบประมาณเพิ่มเติมไว้ว่า จะนำไปใช้เป็นรายจ่ายลงทุนร้อยละ 80 หรือเป็นเงิน 97,600 ล้านบาท จาก 122.000 ล้านบาท ซึ่งบทวิเคราะห์งบประมาณของสำนักงบประมาณของรัฐสภา เป็นการวิเคราะห์ในขณะที่ยังเป็นรัฐบาลนายเศรษฐา ซึ่งเป็นการแจกเงินให้กับประชาชนทั่วไปที่ไม่ใช่กลุ่มเปราะบาง ก็ยังได้มีความเห็นว่าการกำหนดเป็นรายจ่ายลงทุนร้อยละ 80 เป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูงและอาจเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ แต่เมื่อจะดำเนินนโยบายนี้จริงโดยรัฐบาลนางสาวแพทองธาร ได้เปลี่ยนแปลงกลุ่มที่ได้รับแจกเงินจากประชาชนทั่วไปเป็นกลุ่มเปราะบาง จึงยิ่งเป็นไปไม่ได้ที่คนกลุ่มนี้จะนำเงินที่ได้รับแจกไปใช้จ่ายเพื่อการลงทุน
การนำเงินจากงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 122,000 ล้านบาท ไปใช้ในโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ ซึ่งทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดจะไม่ถูกนำไปใช้เพื่อการลงทุน จึงเป็นการใช้งบประมาณแผ่นดินที่ไม่เป็นไปตาม พรบ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ซึ่งต้องพิจารณาประกอบกับคำแถลงงบประมาณของนายกรัฐมนตรีนายเศรษฐา ทวีสิน และเอกสารประกอบการพิจารณาตามกฎหมาย รวมทั้งบทวิเคราะห์งบประมาณของสำนักงบประมาณของรัฐสภา (สงร.)
ดังนั้น เมื่อจะมีการจ่ายเงินจากงบประมาณแผ่นดินที่เป็นจำนวนสูงถึงกว่า 1 แสนล้านบาท โดยไม่เป็นไปตามเหตุผลความจำเป็นและการจำแนกรายการรายจ่ายเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ ตามที่ได้เสนอขอความเห็นชอบต่อทั้งสองสภาเพื่อออกเป็นพระราชบัญญัติ จึงอาจเป็นการจ่ายเงินแผ่นดินที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ หรือกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลัง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 140
การแจกเงินหมื่นให้กับกลุ่มเปราะบางและผู้พิการ เป็นจำนวนเงินรวม 1.45 แสนล้านบาท โดยเงินเกือบทั้งหมดคือจำนวน 1.22 แสนล้านบาท มาจากงบประมาณเพิ่มเติม ซึ่งจะต้องเป็นรายจ่ายลงทุน 80 % แต่จะถูกนำไปจ่ายเพื่อการบริโภคเกือบทั้งหมด ทำให้ไม่ตรงกับที่ได้เสนอของบประมาณไว้ จะเป็นโมฆะหรือไม่ ?? รัฐบาลคงไม่สนใจและเดินหน้าต่อไป หลังจากนั้นหากมีการวินิจฉัยว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องค่อยว่ากันอีกที
คณะรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ก็คงจะพอรับผิดชอบกันได้ !!!
อ่านบทวิเคราะห์งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 พ.ศ. .... https://web.parliament.go.th/view/82/News_Detail//1511/TH-TH