"...FCPA เอาผิดบริษัทและบุคคลที่ติดสินบน (ฝั่งอุปทานหรือผู้ให้) แต่ FEPA เพิ่มอำนาจให้สหรัฐฯ เอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐต่างชาติที่เรียกรับสินบน (ฝั่งอุปสงค์หรือผู้รับ) กฎหมายทั้ง 2 จึงไม่ได้มีไว้ทดแทนกัน แต่เป็นการเติมเต็มอำนาจในการต่อสู้กับคอร์รัปชันของสหรัฐฯ..."
เมื่อเดือนธันวาคม 2566 สหรัฐฯ ได้ออกกฎหมายใหม่ชื่อ Foreign Extortion Prevention Act (FEPA) หรือที่เรียกว่ากฎหมายป้องกันการรีดไถจากต่างชาติ ภายใต้ พ.ร.บ. การอนุญาตการป้องกันประเทศ (National Defense Authorization Act) เพื่อเอาผิดข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่รัฐในประเทศอื่นๆ ที่เรียกรับหรือรับสินบนจากบริษัทหรือบุคคลจากประเทศสหรัฐฯ
นายวรพงษ์ สุธานนท์ กรรมการผู้จัดการของบริษัท เบิร์กลีย์ รีเสิร์ช กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด หรือ BRG ประเทศไทย ซึ่งมีประสบการณ์ในสายงานตรวจสอบการทุจริตมามากกว่า 20 ปี และมีประสบการณ์ในการสืบสวนเหตุทุจริตที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย FCPA ให้แก่บริษัทข้ามชาติในประเทศไทยมาอย่างยาวนาน มองว่ากฎหมาย FEPA ที่ออกมาตามคำสั่งของประธานาธิบดีโจ ไบเดนนี้ เป็นการประกาศจุดยืนและการยกระดับการต่อสู้กับการคอร์รัปชันนอกประเทศของสหรัฐฯ ที่น่าสนใจ ซึ่งจะทำให้บุคคลและนิติบุคคลที่อยู่ภายใต้กฎหมาย FEPA เช่น บริษัทข้ามชาติจากสหรัฐฯ ที่ทำธุรกิจในไทย บริษัทลูกของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐในประเทศไทยจะต้องตื่นตัวเพื่อไม่ให้เกิดการกระทำใดๆ ที่ผิดต่อกฎหมาย FEPA นี้
ทำความรู้จักกับ FCPA and FEPA กฎหมายสู้คอร์รัปชันข้ามชาติจากสหรัฐฯ
ก่อนที่จะพูดถึงกฎหมาย FEPA ที่เพิ่งออกมาใหม่นี้ เราต้องทำความเข้าใจกฎหมาย FCPA ของสหรัฐฯ ที่มีการประกาศและบังคับใช้มาก่อนตั้งแต่ พ.ศ. 2520 หรือประมาณ 47 ปีก่อน เพื่อให้เข้าใจถึงบริบทของทั้งสองกฎหมายที่มีไว้เพื่อสู้กับการคอร์รัปชันในต่างประเทศของสหรัฐฯ นี้ก่อน
กฎหมาย Foreign Corruption Practices Act หรือ FCPA ให้อำนาจแก่กระทรวงยุติธรรมและคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐอเมริกาในการลงโทษบุคคลและนิติบุคคลสัญชาติสหรัฐฯ หรือบริษัทที่มีธุรกิจเกี่ยวข้องกับสหรัฐฯ ซึ่งกระทำความผิดในเรื่อง (1) การติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐ และ (2) การบันทึกบัญชีที่ไม่เหมาะสม ไม่ว่าความผิดนี้จะเกิดขึ้นภายในหรือนอกประเทศสหรัฐฯ ก็ตาม ซึ่งบทลงโทษของ FCPA มีทั้งการจำคุกและการปรับเงิน
ตัวอย่างการบังคับใช้ FCPA สำหรับการติดสินบนในประเทศไทย เช่น คดีสินบนเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติที่ผู้จัดงานชาวสหรัฐฯ ถูกสั่งจำคุกและปรับเงินสำหรับการติดสินบนผู้ว่าการของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือกรณีที่โรลส์รอยซ์จ่ายสินบนแก่เจ้าหน้าที่รัฐไทย รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐในประเทศอื่นๆ ทำให้โรลส์รอยซ์โดนปรับไปกว่า 800 ล้านดอลลาร์
กฎหมาย Foreign Extortion Prevention Act หรือ FEPA ซึ่งถ้าแปลให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ กฎหมายการป้องกันการรีดไถจากต่างชาติ ที่เพิ่งประกาศใช้เมื่อปลายปี 2566 ที่ผ่านมานั้น จะให้อำนาจแก่รัฐบาลสหรัฐฯในการเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐในต่างประเทศที่ร้องขอหรือมีการรับสินบนแลกกับการให้ประโยชน์ที่ไม่เป็นธรรมแก่บุคคลและนิติบุคคลสัญชาติสหรัฐฯ หรือบริษัทที่มีธุรกิจเกี่ยวข้องกับสหรัฐฯ ซึ่ง FEPA กำหนดบทลงโทษทั้งเรื่องการจำคุกสูงสุด 15 ปี และการปรับเงินไม่เกิน 250,000 เหรียญสหรัฐ หรือ 3 เท่าของมูลค่าสินบน
FCPA เอาผิดบริษัทและบุคคลที่ติดสินบน (ฝั่งอุปทานหรือผู้ให้) แต่ FEPA เพิ่มอำนาจให้สหรัฐฯ เอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐต่างชาติที่เรียกรับสินบน (ฝั่งอุปสงค์หรือผู้รับ) กฎหมายทั้ง 2 จึงไม่ได้มีไว้ทดแทนกัน แต่เป็นการเติมเต็มอำนาจในการต่อสู้กับคอร์รัปชันของสหรัฐฯ
ความเหมือนที่แตกต่างของ FCPA และ FEPA
แม้ว่า FCPA และ FEPA จะมีวัตถุประสงค์ในการต่อสู้กับคอร์รัปชันเหมือนกัน แต่ถือเป็นกฎหมายคนละฉบับ และมีความแตกต่างในเนื้อหาและขอบเขต ดังนั้น การที่บริษัทปฏิบัติตาม FCPA แล้วจึงไม่ได้หมายความว่าจะปฏิบัติตาม FEPA เสมอไป
จากการตีความตัวบทกฎหมายเบื้องต้น เราสามารถเปรียบเทียบความแตกต่างของ FCPA และ FEPA ได้ตามตารางนี้
แม้จะเป็นกฎหมายต่อต้านการคอร์รัปชันเหมือนกัน แต่เนื้อหาและขอบเขตของ FCPA และ FEPA มีความแตกต่างกัน เช่น เรื่องคำนิยามเจ้าหน้าที่รัฐ หรือเรื่องข้อยกเว้น ดังนั้น การจะปฏิบัติตามกฎหมาย FEPA ได้ครบถ้วนนั้นจะต้องศึกษาข้อมูลและทำความเข้าใจเพิ่มเติม
ประเทศไทย... การคอร์รัปชัน... กฎหมาย FEPA... ใครจะได้รับผลกระทบบ้าง?
ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีภาพลักษณ์เชิงลบในเรื่องการคอร์รัปชันมาตั้งแต่ในอดีต ผลสำรวจขององค์กรระหว่างประเทศด้านความโปร่งใส (Transparency International) ตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมาจนถึง 2566 ประเทศไทยมีคะแนนอยู่ระหว่าง 35 – 38 จาก 100 คะแนน หรือพูดได้ว่ามีความเสี่ยงด้านการคอร์รัปชันที่ค่อนข้างสูง โดยในปี 2566 เราอยู่ในลำดับที่ 5 จาก 10 ประเทศของอาเซียน (ไม่รวมประเทศบรูไน เนื่องจากไม่มีการระบุคะแนนในปี 2566) โดยมีคะแนนน้อยกว่าสิงคโปร์ เวียดนาม มาเลเซีย และติมอร์-เลสเต ซึ่งเมื่อเทียบในระดับโลกนั้น เราจะอยู่ในกลุ่มเดียวกับประเทศเซียร์ราลีโอน สาธารณรัฐโดมินิกัน หรือประเทศปานามา ดังนั้น ประเทศไทยจึงมีความเสี่ยงด้านการคอร์รัปชันที่ค่อนข้างสูง และกฎหมาย FEPA ก็จะมีบทบาทมากขึ้นตามระดับความเสี่ยง
ที่มา: https://www.transparency.org/en/cpi/2023
ในเบื้องต้น กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมาย FEPA คงแบ่งได้เป็น 4 กลุ่มหลักๆ คือ
กลุ่มที่ 1 บุคคลและนิติบุคคลจากสหรัฐฯ รวมถึงบริษัทที่ธุรกิจเกี่ยวข้องกับสหรัฐฯ ในประเทศไทย ซึ่งจะอยู่ภายใต้กฎหมาย FEPA (รวมถึงกฎหมาย FCPA) โดยตรง
กลุ่มที่ 2 บุคคลและนิติบุคคลที่ทำธุรกิจกับกลุ่มที่ 1 และมีการติดต่อกับหน่วยงานราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ (เช่น ตัวแทนจำหน่าย ผู้รับต่อใบอนุญาต ผู้รับจ้างดำเนินการพิธีการทางศุลกากร)
กลุ่มที่ 3 เจ้าหน้าที่รัฐของประเทศไทย ซึ่งรวมไปถึงเจ้าหน้าที่เกษียณอายุ อดีตเจ้าหน้าที่ซึ่งพ้นจากตำแหน่งแล้ว นักการเมือง หรือบุคคลทางการเมืองอาวุโส ซึ่งบุคคลกลุ่มนี้ทั้งที่ยังอยู่ในหน้าที่ และไม่ได้อยู่ในหน้าที่ แต่ถ้ามีการเรียกรับ หรือรับสินบน ก็จะนับว่าผิดกฎหมาย FEPA ทันที
กลุ่มที่ 4 บุคคลหรือนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มที่ 3 และมีการเรียกรับหรือรับสินบนแทนกลุ่มที่ 3 (เช่น คนในครอบครัวของเจ้าหน้าที่รัฐ ล็อบบี้ยิสต์ ที่ปรึกษาทางการเมือง) ซึ่งกฎหมาย FEPA จะครอบคลุมคนกลุ่มนี้ด้วย
สำหรับกลุ่มที่ 1 และ 2 เรื่อง FEPA อาจจะไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ เพราะทั้งสองกลุ่มนี้ต้องทำตามกฎหมาย FCPA มาตั้งแต่ดั้งเดิมอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องปรับปรุงนโยบายและแนวทางปฏิบัติที่เดิมอ้างอิง FCPA ให้สอดคล้องกับ FEPA รวมถึงต้องสื่อสารและให้ความรู้แก่พนักงานในเรื่อง FEPA เพิ่มขึ้น แต่กลุ่มที่ 3 และ 4 กฎหมาย FEPA จะเป็นเรื่องใหม่ที่ส่งผลกระทบอย่างมาก เพราะหากมีความผิดในเรื่องสินบน นอกจากจะโดนโทษอาญาของประเทศไทยแล้วยังอาจโดนโทษจากกฎหมาย FEPA เพิ่มเข้าไปด้วย
ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงด้านการคอร์รัปชันสูง และเสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมาย FEPA โดยกลุ่มบุคคลที่จะได้รับผลกระทบหนักที่สุดคือ เจ้าหน้าที่รัฐหรือบุคคลใดๆ ที่ทำหน้าที่แทนเจ้าหน้าที่รัฐในการเรียกรับ หรือรับสินบน เพราะจะโดนบทลงโทษ 2 ต่อทั้งในไทย และจากสหรัฐฯ
FCPA และ FEPA ในมุมมองและประสบการณ์ของผู้เชี่ยวชาญ
นายวรพงษ์ สุธานนท์ กรรมการผู้จัดการของบีอาร์จีประเทศไทย เชื่อว่าประเทศไทยเองก็มีกฎหมายที่ใช้ลงโทษการคอร์รัปชันอยู่หลายฉบับ รวมถึงมีการขับเคลื่อนจากภาคเอกชนเพื่อต่อสู้กับการคอร์รัปชัน เช่น องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน หรือ แนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย แต่เราก็ยังคงเห็นข่าวการคอร์รัปชันอยู่อย่างต่อเนื่อง เช่น กรณีการติดสินบนของ เวิร์ทเก้น (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของจอห์น เดียร์จากสหรัฐฯ กับเจ้าหน้าที่รัฐในหลายหน่วยงาน (เช่น กองทัพอากาศไทย หรือ กรมทางหลวง) ด้วยการให้เงินสด การจัดเลี้ยง การให้ค่าที่ปรึกษา การพาไปเที่ยวต่างประเทศในรูปแบบของการดูงาน รวมถึงการพาไปสถานบันเทิง เพื่อแลกกับผลประโยชน์ทางธุรกิจ ซึ่งจบลงด้วยการปรับเงิน 9.93 ล้านดอลลาร์ด้วยกฎหมาย FCPA
เราจะเห็นได้ว่าบริษัทที่เป็นผู้ให้สินบนถูกลงโทษสำหรับการกระทำผิดที่เกิดขึ้นในช่วง 2560 – 2563 เป็นที่เรียบร้อยตามกฎหมาย FCPA อย่างไรก็ตาม ณ ตอนนี้ยังไม่พบการลงโทษหรือการสืบสวนที่เปิดเผยต่อสาธารณะสำหรับเจ้าหน้าที่รัฐไทยที่เป็นผู้รับสินบน ซึ่งหากกฎหมาย FEPA ถูกบังคับใช้สำหรับกรณีนี้ ทางสหรัฐฯ ก็จะหาวิธีในการลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐไทยที่เป็นผู้เรียกรับ หรือรับสินบนซึ่งถือเป็นความผิดตาม FEPA นี่เอง
นอกจากเหตุการณ์นี้แล้ว ประเทศไทยยังเคยมีประเด็นกับกฎหมาย FCPA อีกหลายกรณี ซึ่งจากประสบการณ์ในการสืบสวนในเรื่อง FCPA ให้แก่บริษัทข้ามชาติสามารถพูดได้ว่าประเทศไทยยังมีการคอร์รัปชันในอีกหลากหลายรูปแบบที่เสี่ยงต่อการผิดกฎหมาย FCPA และ FEPA ดังนั้น กฎหมายทั้งสองนี้จึงไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัวเราอีกต่อไป และในอนาคตอันใกล้นี้เราอาจจะได้เห็นบทลงโทษของสหรัฐฯ ที่มีต่อเจ้าหน้าที่รัฐของไทยด้วยการบังคับใช้ FEPA เหมือนที่สหรัฐฯ เคยบังคับใช้ FCPA ซึ่งเป็นกฎหมายนอกอาณาเขตมาแล้ว
ท้ายที่สุดนี้ สิ่งที่องค์กรที่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย FEPA ควรทำ คือ การเตรียมความพร้อมให้แก่พนักงานและบุคคลที่สามที่ดำเนินงานให้องค์กร เพื่อให้สามารถปฏิบัติตามกฎหมาย FEPA นี้ได้ โดยมีข้อแนะนำเบื้องต้นดังต่อไปนี้
1. ศึกษาเรื่อง FEPA โดยละเอียดแล้วนำมาปรับปรุงนโยบายหรือแนวปฏิบัติที่เกี่ยวกับการต่อต้านการคอร์รัปชันที่มีอยู่เพื่อให้สอดคล้องกัน
2. ประเมินความเสี่ยงด้านการคอร์รัปชันภายในองค์กรเพื่อจัดทำบัญชีความเสี่ยง (Risk Profile) และการจัดการกับความเสี่ยงนั้น
3. จัดทำการสอบทานการปฏิบัติตามกฎหมาย FCPA และ FEPA ด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลหรือการสอบทานเอกสารเฉพาะกลุ่มรายการที่มีความเสี่ยงเรื่องการคอร์รัปชัน
4. สอบทานการควบคุมภายในสำหรับกระบวนการที่มีความเสี่ยงด้านการคอร์รัปชัน
5. อบรมพนักงาน และบุคคลที่สามที่ดำเนินการในนามขององค์กรเพื่อให้มีเข้าความเข้าใจในกฎหมายFCPA และ FEPA รวมถึงผลกระทบที่องค์กรอาจต้องเผชิญ
6. จัดทำหรือทบทวนช่องทางการร้องเรียน เพื่อให้พนักงานหรือบุคคลที่สามสามารถแจ้งองค์กรได้ในกรณีที่พบการกระทำต้องสงสัยที่เกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชัน
สิ่งที่น่าสนใจ คือ กฎหมาย FCPA ถูกประกาศใช้มากว่า 40 ปีแล้ว แต่ประเทศไทยเริ่มตื่นตัวกับเรื่องนี้กันไม่นาน แล้วกฎหมาย FEPA ที่เพิ่งถูกประกาศใช้ไม่ถึงปี จะต้องใช้เวลานานเท่าใดก่อนที่ประเทศไทยจะตื่นตัวและต่อสู้กับการคอร์รัปชั่นอย่างจริงจัง
ดร. มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญที่ทำงานด้านการต่อต้านคอร์รัปชั่นในประเทศไทยมาอย่างยาวนาน ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมในเรื่องนี้ว่า FEPA และ FCPA เป็นมาตรการที่แสดงถึงความมุ่งมั่นของสหรัฐฯ ในการต่อต้านคอร์รัปชันและปกป้องประชาชนผู้สุจริตของเขา แม้ในทางปฏิบัติยังคงมีนักธุรกิจของเขาที่เป็นฝ่ายเสนอสินบนให้เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศอยู่บ้างก็ตาม ดังนั้นนอกจากให้ความรู้ข้อกฎหมายนี้แก่เจ้าหน้าที่รัฐและผู้เกี่ยวข้องแล้ว หน่วยงานของรัฐต้องเตรียมรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งอาจพิจารณาเสนอให้มีการปรับปรุงกฎหมายเพื่อเอาผิดบุคคลต่างชาติในทำนองเดียวกันนี้ด้วย หากมากระทำผิดต่อเจ้าหน้าที่ของไทย
วรพงษ์ สุธานนท์
กรรมการผู้จัดการ
บริษัท เบิร์กลีย์ รีเสิร์ช กรุ๊ป (ประเทศไทย)
ข้อมูลอ้างอิงประกอบบทความ
https://docs.house.gov/billsthisweek/20231211/FY24%20NDAA%20Conference%20Report%20-%20%20FINAL.pdf