“...กิจกรรม ทั้งสองครั้ง ช่วยให้ชุมชนคุ้งสำเภามีชีวิตชีวาขึ้นมาทันที หนุ่มสาวคุ้งสำเภาไม่เคยรู้มาก่อนว่าคุ้งสำเภาเป็นแหล่งกำเนิดเพลงทรงเครื่อง มีส้มโอขาวแตงกวาที่อร่อยลือชื่อ เป็นแหล่งทำขนมอร่อยของภาคกลาง ศาลเจ้ากวนอูเป็นสิ่งเคารพที่เชิดหน้าชูตา ทำให้คนมโนรมย์มีความรู้สึกภาคภูมิใจในภูมิบ้าน ภูมิเมืองของตนเอง ผมเห็นแล้วก็ดีใจมากๆ และจะต้องสืบต่อขยายผลต่อไป แม้ทาง มรภ.จันทรเกษมจะจบโครงการแล้ว แต่ได้จุดประกายให้เทศบาลคุ้งสำเภา นายอำเภอมโนรมย์ และผู้ว่าราชการชัยนาทมีแรงใจที่จะตั้งงบประมาณ สืบต่อ และขยายผลตามแนวทางนี้ต่อไป...”
“ศิลปวัฒนธรรมประจำชาติ
เอกราชเอกลักษณ์เอกศักดิ์ศรี
เป็นคันฉ่องส่องความงามและความดี
เป็นโคมฉายช่วยชี้วิถีชน”
(เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์)
กวีบทนี้รวบยอดความหมายและจิตวิญญาณของสิ่งที่เรียกว่าศิลปวัฒนธรรมได้อย่างลงตัวเหมาะเจาะและน่าภาคภูมิในคุณค่า ควรที่คณะกรรมการซอฟแวร์แห่งชาติ จะได้นำไปขยายผลให้กว้างขวางออกไป
ในงาน “ฟื้นคืนภูมิบ้านมโนรมย์” ตามรอยศรัทธาเทพเจ้ากวนอู จากขุนพลสู่เทพศักดิ์สิทธิ์ เมื่อ 10 - 11 สิงหาคม 2567 ณ ลานเรือสำเภาทอง ริมน้ำเจ้าพระยา ต.คุ้งสำเภา อ.มโนรมย์ จ.ชัยนาท ซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม ร่วมกับส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคประชาชน จ.ชัยนาท ร่วมกันจัดกิจกรรมขึ้นมา
นายนที มนตริวัต ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท เป็นประธานเปิดงาน ได้กล่าวบนเวทีเย็นวันที่ 11 สค. ว่า
“ศิลปวัฒนธรรมในท้องถิ่น มีอยู่มากมายทั้งการแสดงพื้นบ้าน บ้านช่องเรือนชาน ศาลเจ้า อาหาร กีฬา เพลงทรงเครื่องและอื่นๆ ความเคยชินของคนในพื้นที่อาจทำให้มองข้ามความสำคัญของสิ่งเหล่านี้ไป เมื่อนักวิชาการ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษมได้ลงพื้นที่ ศึกษาวิจัย สัมภาษณ์ สอบถาม จึงพบว่ามโนรมย์เป็นแหล่งภูมิปัญญาทางศิลปวัฒนธรรมที่สืบเนื่องกันมายาวนานตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา มโนรมย์จึงควรค่าต่อการค้นคว้าและเก็บบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุ้งสำเภาที่มีมรดกชุมชนสะท้อนถึงภูมิปัญญาโบราณ
จังหวัดชัยนาท จึงขอขอบคุณและขอเรียนว่า ทางจังหวัดยินดีและพร้อมที่จะสนับสนุนงานศิลปวัฒนธรรมมโนรมย์ให้เป็นสมบัติอันล้ำค่าของลูกหลานต่อไป”
ร.ต.อ. เศรษฐา เจริญผล นายตำรวจเกษียณอายุ ซึ่งเป็นครูประวัติศาสตร์และเป็น มัคคุเทศก์ของ จ. ชัยนาทเล่าว่า
ราวปี พ.ศ. 2301 สมเด็จพระนารายณ์มหาราช เสด็จประทับที่ พระนารายณ์ราชนิเวศน์ ลพบุรี นั้น มีรายงานว่า มีพรานป่าได้พบช้างเผือก ซึ่งมีลักษณะงดงามต้องด้วยตำราคชศาสตร์ จึงทรงประกาศให้หาผู้กล้าไปคล้องช้างดังกล่าว นายใย เป็นปลัดโขลงช้าง ในกรมช้างของพระเพทราชา ใช้เวลา 3 เดือนเดินทางไปคล้องช้างนั้นมาได้
ทรงเสด็จไปรับช้าง ณ พื้นที่ซึ่งเป็น อ. มโนรมย์ในปัจจุบัน
ทรงตรัสถามนายใย ว่า “อยากได้อะไร”
“อยากเป็นเจ้าเมือง พะยะค่ะ” นายใยตอบ
จึงทรงแต่งตั้งนายใยให้เป็น “ขุนศรีสิทธิกรรฐ์” แล้วทำพิธีกำหนดพื้นที่ด้วยการฟังเสียงช้างร้อง โดยส่งทหารกระจายออกไปทั้ง 4 ทิศ แล้วนัดเวลาเที่ยงของวันรุ่งขึ้น
พอถึงเวลานัดหมาย มีการทำให้ช้างส่งเสียงร้อง ทหารได้ยินเสียงสุดทางช้างร้องตรงไหนก็ให้ปักธงตรงนั้นเป็นที่หมาย ในที่สุดได้พื้นที่ 31.18 ตารางกิโลเมตร ตรงนั้นให้เป็นพื้นที่ ทรงตั้งชื่อว่า เมืองมโนรมย์ หมายถึงสมปรารถนา คือทรงได้ช้างสมดังพระราชประสงค์ ขณะที่นายใยก็สมใจปรารถนาได้เป็นเจ้าเมืองมโนรมย์
ส่วนคำว่า “คุ้งสำเภา” เป็นตำบลซึ่งในอดีตเป็นศูนย์กลางการค้าขายทางเรือ เป็นจุดตัดผ่าน แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำสะแกกรัง เชื่อมสู่แม่น้ำท่าจีน เล่าขานกันว่า สมัยการค้าทางเรือกับจีนรุ่งเรืองตรงกับสมัยรัชกาลที่ 3 ของกรุงรัตนโกสินทร์นั้น มีเรือสินค้าขนาดใหญ่บรรทุกสินค้ามาเต็มลำ ช่วงนั้นเป็นช่วงน้ำหลากกระแสแรง แม่น้ำเจ้าพระยาตรงนั้นเป็นท้องคุ้งมีลักษณะโค้งคดเคี้ยว ทำให้เกิดน้ำวน เรือขนาดใหญ่จึงอับปางลงตรงนี้ จึงเรียกพื้นที่นี้ว่าคุ้งสำเภา เป็นชื่อตำบล มีการตั้งอนุสรณ์สถานเรือสำเภา โดยมีหัวเรือสำเภาเก่าเป็นสัญลักษณ์
นอกจากความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรธรรมชาติแล้ว จ. ชัยนาท เป็นเมืองที่มีผู้คนอยู่อาศัยมาก่อนยุคประวัติศาสตร์ จึงมีวิถีชีวิต ศิลปะ ประเพณี มีภูมิบ้านภูมิเมือง สำคัญมากมาย พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จประพาสต้น มีภาพถ่ายฝีพระหัตถ์หลายภาพ พื้นที่คุ้งสำเภายังเป็นเมืองพหุวัฒนธรรม ทั้ง พุทธ คริสต์ อิสลาม และจีน
มีวัดพิกุลงาม มีโบสถ์คริสต์มโนรมย์ มีย่านมุสลิมหลังตลาดคุ้งสำเภา และมีศาลเจ้าพ่อกวนอู
น่าสังเกตว่า ในบรรดาสามพี่น้องร่วมน้ำสาบานใต้ต้นท้อ คือ เล่าปี่ กวนอู เตียวหุย นั้น ความจริงเล่าปี่เป็นพี่ใหญ่ ที่อีกสองคนเคารพนับถือ แต่กลับกลายเป็นว่า กวนอู ได้รับการยอมรับ มีการตั้งศาลเจ้าให้เป็นเทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์และความกล้าหาญไปทั่วทั้งโลกที่มี คนจีนไปอยู่อาศัย
ที่คุ้งสำเภา ศาลเจ้าพ่อกวนอู สร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2380 สมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ไม้ทั้งหมดบรรทุกเรือมาจากจีน ศาลเจ้าแห่งนี้ไม่มีการตอกเสาเข็ม แต่ใช้ท่อนซุงขนาดใหญ่และยาววางตลอดแนวเพื่อรับน้ำหนักเสาและอาคารทั้งหมด มีความสวยงามแบบสถาปัตยกรรมจีนโบราณ เป็นศาลเจ้าที่เก่าแก่เป็นอันดับ 3 ในประเทศไทย
เพราะเหตุที่คนที่นั่น จำนวนมากเป็นคนไทยเชื้อสายจีนที่อยู่กันมานมนาน และเคารพนับถือเทพเจ้ากวนอู คณะผู้จัดงานครั้งนี้จึงวางแนวคิดตามรอยศรัทธาเทพเจ้ากวนอู
บนเวทีอภิปรายเรื่อง “กวนอูจากขุนพลสู่เทพศักดิ์สิทธิ์” วันนั้น ผู้เขียนได้เรียนรู้จากอาจารย์เศรษฐพงษ์ จงสงวน และ ดร.ธมาภรณ์ พูมพิจ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องสามก๊กและจีน ได้รู้ว่า กวนอูไม่เพียงแต่ซื่อสัตย์ต่อเล่าปี่และเตียวหุยเท่านั้น ยังซื่อสัตย์ต่อแผ่นดินและต่อโจโฉผู้มีบุญคุณ ซึ่งเป็นอริของเล่าปี่ โดยในคราวทำสงครามครั้งหนึ่งนั้น กวนอูจับโจโฉได้ แต่ก็ทำตามคำสัตย์ที่เคยให้ไว้ด้วยการปล่อยตัวโจโฉไป
ในบริเวณงานวันที่ 10 -11 สิงหาคม 2567 ผู้ร่วมงานจึงพร้อมใจกันแต่งเสื้อผ้าชุดจีน สีแดงหรือสีทองอร่ามเรืองไปทั่วงาน
ผู้ร่วมงานได้เข้าไปศึกษาที่ศาลเจ้าซึ่งมีป้ายชื่อจิตวิญญาณบรรพชนผู้ล่วงลับ มีบันทึกชื่อพ่อค้าวานิชและชาวบ้าน ผู้บริจาคเงินร่วมสร้างศาลเจ้า
- การแสดงเอ็งกอ ในชุด นักรบผู้ยิ่งใหญ่แห่งเขาเหลียงซาน โดยคณะเอ็งกอลูกพ่อหลักเมือง จากนครสวรรค์
- การแสดงแม่ไม้มวยไทย โดยครูมวยระดับแชมป์โลกและเหรียญทองโอลิมปิค คือสมรักษ์ คำสิงห์ สามารถ พยัคฆอรุณ ขาวผ่อง สิทธิชูชัย
- การขับร้องเพลงโดย แม่ผ่องศรี วรนุช ศิลปินแห่งชาติชาวมโนรมย์ ที่รับเชิญขึ้นร้องเพลงหลายเพลง เช่น ฝนหนาวสาวครวญ น้ำตาเมียหลวง ไหนว่าไม่ลืม แถมด้วยการร้องเพลง “สามสิบยังแจ๋ว” โดย สามารถ พยัคฆอรุณ ที่ผู้เขียนเล่น Button Accordion แจมไปด้วย
- นอกจากร้านค้าขายอาหาร ของกินและขนมพื้นบ้าน จำนวน ราว 80 บู๊ท ยังมีการประกวดรางวัลสื่อสร้างสรรค์ที่น่าสนใจ
มีขบวนการแสดงหลายชุด พาเหรดเข้ามาตอนเริ่มงาน ตามด้วยการแสดงบนเวที แม้ฝนเทลงมาช่วงหนึ่ง แต่เวทียังคงมีการแสดงต่อไปจนจบ
โครงการนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่สองในปีนี้ เรียกว่า โครงการนวัตกรรมพัฒนาย่านวัฒนธรรมด้วยทุนวัฒนธรรม เพื่อฟื้นฟูคุณค่าวิถีชีวิตสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ในพื้นที่ชุมชน คุ้งสำเภา อ. มโนรมย์ จ. ชัยนาท โดยความสนับสนุนของกองทุนส่งเสริม ววน. และ บพท.ใน สังกัดของกระทรวง อ.ว. โดยมี ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา และ ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย เป็นตัวแทน
กิจกรรมนี้ ถือเป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research) กล่าวคือ ทีมวิจัยของ มรภ.จันทรเกษม ซึ่งประกอบด้วย รศ.ดร.ปิยพร ท่าจีน ผศ.ธงชัย เหลืองทอง ผศ.ดร.ฐิตาภา บำรุงศิลป์ ดร.พิศาล แก้วอยู่ อ.รัศมี อิสลาม เป็นกำลังสำคัญ
ดร.ฐิตาภา ชี้ให้เห็นว่า “นี่เป็นการจัดครั้งที่สอง ครั้งแรกจัดไปแล้ว เมื่อเดือนมีนาคม 2567 เป็นการจัดกิจกรรมบนพื้นฐานศักยภาพทางศิลปวัฒนธรรมเดิมของชุมชนที่มีอยู่แล้ว ทั้งเรื่องการแสดง เช่นเพลงทรงเครื่อง มีต้นกำเนิดจากมโนรมย์ ขนมพื้นบ้านต่างๆ มากมาย จัดครั้งแรก ผู้คนเวียนเข้ามาดูงาน 4,000 – 5,000 คน จัดครั้งที่สองนี้ ตัวเลขคนเข้าชมมีถึง 7,000 คน ยกตัวอย่าง แม่ค้าขายหอยทอดเคยขายได้วันละ ราว 1,000 บาท ก็ขายเพิ่มเป็น 4 – 5 เท่าในวันงาน ขนมโบราณ ก๋วยเต๋ยว ก็เช่นกัน ขายได้ขายดี จนหยิบขายกันไม่ทัน”
ส่วนคุณชาตรีคาล สกุลสุริยะ นายกเทศมนตรีคุ้งสำเภา เป็นกำลังสำคัญในกิจกรรม ทั้งสองครั้งในนามของเทศบาล ให้ความเห็นว่า
“กิจกรรม ทั้งสองครั้ง ช่วยให้ชุมชนคุ้งสำเภามีชีวิตชีวาขึ้นมาทันที หนุ่มสาวคุ้งสำเภาไม่เคยรู้มาก่อนว่าคุ้งสำเภาเป็นแหล่งกำเนิดเพลงทรงเครื่อง มีส้มโอขาวแตงกวาที่อร่อยลือชื่อ เป็นแหล่งทำขนมอร่อยของภาคกลาง ศาลเจ้ากวนอูเป็นสิ่งเคารพที่เชิดหน้าชูตา ทำให้คนมโนรมย์มีความรู้สึกภาคภูมิใจในภูมิบ้าน ภูมิเมืองของตนเอง ผมเห็นแล้วก็ดีใจมากๆ และจะต้องสืบต่อขยายผลต่อไป แม้ทาง มรภ.จันทรเกษมจะจบโครงการแล้ว แต่ได้จุดประกายให้เทศบาลคุ้งสำเภา นายอำเภอมโนรมย์ และผู้ว่าราชการชัยนาทมีแรงใจที่จะตั้งงบประมาณ สืบต่อ และขยายผลตามแนวทางนี้ต่อไป”
“มูลค่า” ทางเศรษฐกิจนั้น เห็นตัวเลขได้ชัดเจนว่า ขายของได้เพิ่มขึ้นหลาย เท่า แต่สิ่งที่เป็น “คุณค่า” ที่ขุดค้น สืบสาน ต่อยอด ต่อไปนั้นเป็นภูมิพลังทางวัฒนธรรมที่ประมาณค่าไม่ได้
และนี่ก็คือ
“มโนรมย์ มนรื่น
มนัสชื่น คุ้งสำเภา”