“…วันนี้คู่แข่งหลักในสนามการเลือกตั้งท้องถิ่น เช่น อบจ. บ้านใหญ่มองกันแล้วว่า คือ พรรคประชาชนที่กำลังจะมาท้าทายเครือข่ายบ้านใหญ่ จากที่แต่ก่อนไม่เคยมีใครท้าทายขนาดนี้ แข่งกันเองยิ่งหนักเท่าไหร่ อาจจะเจ็บทั้งคู่และแพ้ทั้งคู่…”
เก็บตก-ควันหลงการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ราชบุรี นายวิวัฒน์ นิติกาญจนา หรือ ‘กำนันตุ้ย’ แห่งบ้านใหญ่เมืองโอ่ง กำชัยชนะ เหนือคู่แข่งนายชัยรัตน์ ศักดิ์อิสระพงศ์ ‘ผู้ท้าชิง’ จาก ‘ค่ายสีส้ม’ ขาดลอยกว่า 6 หมื่นคะแนน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สัมภาษณ์ ‘ดร.สติธร ธนานิธิโชติ’ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า วิเคราะห์หลังการเลือกตั้ง ‘นายกอบจ.ราชบุรี’ เก็บฉากแต่ทิ้งโจทย์การเมืองทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติให้ นักเลือกตั้งอาชีพ-นักการเมืองภูธรได้แก้เกมในคูหาเลือกตั้งสนามต่อไป
@ ‘สไตล์บ้านใหญ่’ (ยัง) ครองใจการเมืองท้องถิ่น
‘ดร.สติธร’ มองว่า วิธีคิดของคนต่อสนามการเลือกตั้งท้องถิ่นไม่เปลี่ยน คะแนนที่ ‘กำนันตุ้ย’ ได้ในการเลือกตั้งนายกอบจ.ราชบุรีได้รอบนี้ เทียบกับเมื่อปี 63 บวกลบไม่มาก ขณะที่คู่แข่ง 2 คน คะแนนรวมกันประมาณ 1.3 แสนคะแนน
ทั้งนี้ ผลคะแนนการเลือกตั้งนายกอบจ.ราชบุรี เมื่อวันที่ 1 ก.ย.2567 ‘กำนันตุ้ย’ สามารถ ‘รักษาแชมป์’ เอาไว้ได้ ด้วยคะแนน 242,297 คะแนน เทียบกับเมื่อวันที่ 20 ธ.ค.2567 ได้คะแนนเป็นอันดับ 1 จำนวน 241,952 คะแนน สำหรับรอบนี้พรรคประชาชนได้ 175,353 คะแนน ซึ่งคะแนนที่เพิ่มมาจากคนที่ไม่ลงคะแนนให้ใครครั้งที่แล้ว
‘ดร.สติธร’ วิเคราะห์ ว่า ‘กำนันตุ้ย’ ได้คะแนนเท่าเดิม เพราะคนที่ไม่เอาการเมืองสไตล์กำนันตุ้ย ที่เป็นการ ‘ผนึกกันของบ้านใหญ่ราชบุรี’
“เมื่อเทียบกับการเมืองระดับชาติ เราจะเห็นว่า เขตเลือกตั้งแต่ละเขตมีบ้านใหญ่อยู่ แต่สนามเลือกตั้งอบจ. ไม่มีการเอาบ้านใหญ่มาแข่งกันเอง แปลว่า ผลการเลือกตั้งอบจ.ราชบุรีที่สะท้อนออกมา คล้ายกับการเลือกตั้งอบจ.ราชบุรีเมื่อปี 63”
@ เปลี่ยนกระแสเป็นคะแนนท้องถิ่นไม่ได้
‘ดร.สติธร’ ตั้งข้อสังเกตไปยังพรรคประชาชน หรือ พรรคก้าวไกลในอดีต ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในสนามเลือกตั้งท้องถิ่น ทั้งที่ไม่มี ‘สส.ระดับชาติ’ ในการเลือกตั้งเมื่อปี 66 อยู่ในจังหวัดราชบุรีแม้แต่คนเดียว
“ทำไมพรรคประชาชนถึงดูเอาจริงเอาจังกับสนามราชบุรี ทั้งที่ไม่มี สส.เขตแม้แต่คนเดียว เพราะมั่นใจจากคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ที่ชนะทุกเขต ได้คะแนนมากที่สุด เลยลุ้นสู้ จะเปลี่ยนคะแนนปาร์ตี้ลิสต์เป็นคะแนนเลือกตั้งอบจ. คำตอบก็คือไม่ได้”
‘ดร.สติธร’ เฉลยว่า คะแนนปาร์ตี้ลิสต์ คือ คะแนนระดับชาติ การเลือกพรรค เลือกนายกรัฐมนตรี เลือกอุดมการณ์ แต่สนามท้องถิ่น คือ การเลือกคนมาให้บริการ
“ท้องถิ่นไม่ได้เน้นการเปลี่ยนแปลงแบบเชิงโครงสร้าง ทลายทุนผูกขาด ไม่มีอารมณ์มารวมพลังกันทลายบ้านใหญ่ เพราะบ้านใหญ่ไม่ได้กดขี่ ข่มเหง แบบนักเลงในตำนาน แต่เป็นระบบอุปถัมภ์ เอาอกเอาใจ ดูแลสารทุกข์สุขดิบ”
@ บ้านใหญ่ แบ่งเค้ก เลือกตั้งท้องถิ่น
ภาพกำนันตุ้ย กับสส.บ้านใหญ่ของพรรคการเมืองระดับชาติต่างพรรค ไปรวมตัวในวันประกาศชัยชนะเลือกตั้งนายกอบจ.ราชบุรี ‘ดร.สติธร’ มองว่า สะท้อนการเมืองระดับท้องถิ่นเป็นพวกเดียวกันและจัดสรรผลประโยชน์ลงตัว
สนามท้องถิ่นมีหลายสนาม อบจ. เทศบาลใหญ่ ๆ องค์การบริการส่วนตำบล (อบต.) สำคัญ ๆ สมาชิก (ส).อบจ. สมาชิกสภาเทศบาล (สท.) ส.อบต. ถ้าจัดสรรกันในหมู่บ้านใหญ่ลงตัว ไม่ต้องสู้กันเอง ประหยัดต้นทุน ทุกคนอยู่ในอาณาจักรของตัวเองได้
‘ดร.สติธร’ มองข้ามช็อตไปถึงสนามเลือกตั้งท้องถิ่นถัด ๆ ไป จะได้เห็นบ้านใหญ่ผนึกกำลังกันเหมือนกับโมเดลเลือกตั้งอบจ.ราชบุรีในวันข้างหน้า เช่น การเลือกตั้งนายกอบจ.อุทัยธานี 6 ต.ค.2567
“เห็นแน่นอน ทุกสนามเลือกตั้ง นายกอบจ.จะเป็นแบบโมเดลราชบุรี เหลือน้อยมากที่บ้านใหญ่ไม่ลงรอยกัน จนต้องแข่งกันเอง ทำให้พรรคประชาชนเป็นตาอยู่แซงไปกิน น้อยมาก เพราะถ้าสู้กันเอง แพ้ทั้งคู่”
ตอกย้ำด้วย โมเดลเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ คือ การลาออกของนายกอบจ.ก่อนครบวาระ เพื่อลดกระแสคนมาเลือกตั้งในระดับที่ควบคุมเสียงได้ อย่างไรก็ตาม ‘ดร.สติธร’ ยังมองว่า พรรคประชาชนยังมีสนามที่ ‘เป็นต่อ’ คือ เทศบาล เพราะมีคะแนนของคนเมืองเป็น ‘แต้มต่อ’
@ บ้านใหญ่ ไม่เคยตาย
‘ดร.สติธร’ ผู้อำนวยการนวัตกรรม ‘กึ่งนักวิจัย’ ค่ายพระปกเกล้า ใช้คำว่า “สนามการเลือกตั้งท้องถิ่น บ้านใหญ่ไม่เคยตาย” บ้านใหญ่จะตายบ้าง คือ ระดับเทศบาล หรือ แม้กระทั่ง่ระดับอบจ.ที่อาจจะตาย แต่ไม่ได้ตายเพราะกระแส แต่ตายเพราะแพ้บ้านใหญ่อื่น
“บ้านใหญ่หลังเก่า ถูกแทนด้วยบ้านใหญ่หลังใหม่ บ้านใหญ่ดั่งเดิมปรับตัวไม่ได้ โดนบ้านใหญ่หลังใหม่เข้ามายึด ซึ่งก็คือเครือข่ายเดิมที่เถลิงอำนาจขึ้นมา ไม่ได้ตายเพราะกลุ่มที่มีกระแส หรือ ไม่ใช่พลังทางสังคมใหม่ในพื้นที่ที่มาล้มบ้านใหญ่”
‘ดร.สติธร’ วิเคราะห์ว่า บ้านใหญ่อยู่มานานได้เพราะรู้จักปรับตัว ปรับตัวเก่ง ปรับตัวเร็ว อยู่ได้เป็น 10 ปี ชนะเลือกตั้งท้องถิ่น 4-5 สมัย บางคน 7-8 สมัย อะไรที่เป็นความเสี่ยง ความท้าทาย
“ลูกหลานบ้านใหญ่บางคนไปเกาะกระแสพรรคก้าวไกลเพื่อลงท้องถิ่น หรือ ทำการเมืองท้องถิ่นให้ชัดว่าคนละแบบกับสิ่งที่โดนท้าทาย เช่น การเอาอกเอาใจ ยังได้ผล คนยังไม่รู้สึกมีส่วนร่วมเรื่องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างระดับชาติแบบที่ก้าวไกลเสนอ”
ประกอบกับข้อจำกัดของการบริหาร เช่น งบประมาณที่ได้ไม่มากพอที่จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอะไรได้ แต่ถ้าประเทศไทยเปลี่ยนโมเดลให้งบส่วนกลางเหลือเพียง 30 % อีก 70 % กระจายลงท้องถิ่นหมด รายได้ท้องถิ่นส่วนใหญ่เก็บไว้ใช้เอง การเมืองแบบอุดมการณ์แบบเปลี่ยนโครงสร้างอาจจะมีพลัง เพราะเปลี่ยนแปลงได้จริง
@ อาฟเตอร์ช็อก ‘ราชบุรีโมเดล’
ส่วนสนามท้องถิ่นจะเกิด ‘อาฟเตอร์ช็อก’ สั่นสะเทือนไปถึงการสนามระดับชาติ-เลือกตั้งซ่อม สส.พิษณุโลก ทดแทน ‘หมออ๋อง’ ปดิพัทธ์ สันติภาดา หรือไม่ ‘ดร.สติธร’ ยังต้องฟันธงเป็นรายพื้นที่-รายเขต
“ไม่เรียกว่าอาฟเตอร์ช็อก เพราะสนามเลือกตั้งซ่อม สส.พิษณุโลก หนึ่ง เป็นสนามระดับชาติ สอง โชคดีเป็นเขต 1 เขตในเมือง พรรคประชาชนยังมีลุ้น และที่สำคัญครั้งที่แล้วชนะเยอะ”
สนามวัดใจรอบนี้ พรรคประชาชน ส่งนายณฐชนน ชนะบูรณาศักดิ์ เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งซ่อม สส.เขต 1 พิษณุโลก ขณะที่พรรคเพื่อไทยส่ง นายจเด็ศ จันทรา เป็น ‘ผู้ท้าชิง’
“รอบนี้อาจจะได้โมเดลคล้ายกับอบจ.ราชบุรี ที่บ้านใหญ่ไม่แข่งกันเอง เพราะพรรคร่วมรัฐบาลส่งพรรคเพื่อไทยลงพรรคเดียว”
‘ดร.สติธร’ คำนวณโอกาสแพ้-ชนะ โดยเปรียบเทียบผลคะแนนเมื่อปี 66 ว่า หนึ่ง คะแนน ‘หมออ๋อง’ เป็นตัวตั้งและลดลงไป 70-80 % ของคะแนนเดิม เพราะคนจะออกมาใช้สิทธิ์น้อยกว่าการเลือกตั้งใหญ่ การกลับมามาเลือกตั้งน้อย เพราะมีต้นทุน
สอง เอาคะแนนของผู้สมัครรับเลือกตั้งคนที่เหลือมาบวกกัน และลดลงไม่เกิน 10 % เพราะเป็นฐานเสียงของคนบ้านใหญ่ คนในพื้นที่ ผลลัพธ์น่าจะออกมาสูสี เป็นสนามที่เบียดมาก
“เราอาจจะเห็นบ้านใหญ่แข่งกันเองน้อยลงในการเลือกตั้งระดับชาติ ไม่ถึงกับต้องชิงกันทุกเขต แข่งกันเองน้อยลง จะเห็นภาพการสู้แบบโมเดลราชบุรี คือ บ้านใหญ่แบ่งพื้นที่ แบ่งผลประโยชน์กันเพื่อสู้กับกระแส”
‘ดร.สติธร’ ขมวดประเด็นว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นในสนามถัด ๆ ไป จะเห็นเครือข่ายบ้านใหญ่ผนึกกำลังเพื่อล้มพรรคประชาชน
“วันนี้คู่แข่งหลักในสนามการเลือกตั้งท้องถิ่น เช่น อบจ. บ้านใหญ่มองกันแล้วว่า คือ พรรคประชาชนที่กำลังจะมาท้าทายเครือข่ายบ้านใหญ่ จากที่แต่ก่อนไม่เคยมีใครท้าทายขนาดนี้ แข่งกันเอง ยิ่งหนักเท่าไหร่ อาจจะเจ็บทั้งคู่และแพ้ทั้งคู่”
‘ดร.สติธร’ ทิ้งปริศนา ว่า โมเดลบ้านใหญ่รุมกินโต๊ะพรรคประชาชนในการเลือกตั้งท้องถิ่น อาจจะลุกลามไปถึงการเลือกตั้งระดับชาติ เกิดการจัดสรร-ปันผลประโยชน์บนพื้นที่ทางการเมืองเพราะเห็นว่า เป็นพรรคคู่แข่งพรรคเดียวกัน
“ต่อไปถ้าสนามเลือกตั้งระดับชาติมีแนวโน้มที่พรรคการเมืองระดับชาติมองคู่แข่งเป็นคนเดียวกันเหมือนกับสนามท้องถิ่น ถ้าพรรคร่วมรัฐบาลมองพรรคประชาชนเป็นคู่แข่งพรรคเดียว อาจจะเจอโมเดลนี้ได้”