คู่รักต่างเพศที่ทุ่มเท สร้างชีวิตขึ้นมาด้วยกัน ทั้งสองเป็นเจ้าของบ้านและสวนทุเรียน แต่เรื่องเศร้าก็เกิดขึ้นเมื่อ คนรัก จากไปอย่างกะทันหันจากอุบัติเหตุ และความจริงที่ว่าทั้งสองไม่เคยแต่งงานกันอย่างถูกกฎหมายของประเทศไทยกลายมาเป็นปัญหาที่ทำให้ คนที่ยังอยู่ ไม่มีสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ร่วมสร้างขึ้นมาด้วยกัน...
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา สื่อบันเทิงต่างๆ เริ่มมีกระแสบางอย่างที่เข้ามา นั้นก็คือ “ Woke ” หรือ “การตื่นรู้ทางสังคม” มักใช้เพื่ออธิบายความตระหนักรู้ ความตื่นตัวต่อปัญหาสังคมและความยุติธรรม ให้ได้เห็นกัน เช่น The Little Mermaid (2023) ที่เปลี่ยนตัวละคร แอเรียล เจ้าหญิงเงือกผิวสีขาวเป็นผิวสีดำแทน ที่นำแสดงโดย แฮลลี เบลีย์ หรือ วิดีโอเกม Concord เกมฟอร์มยักษ์ใช้ทุนสร้างกว่า 200 ล้านเหรียญ ใช้เวลาสร้างกว่า 8 ปี ที่ใส่ความ Woke มาอย่างสุดโต่ง มีคาแรกเตอร์ดีไซน์ในเกม ไม่สวยหล่อตามมาตราฐาน อ้าน หน้าอกและก้นถูกตัดออกไป เพื่อให้เกมมีความเท่าเทียมให้มากที่สุด และสุดท้ายยังใส่ระบบ สรรพนามของตัวละคร เช่น he/him, she/her, they/them และ undecided (ยังไม่ได้ตัดสินใจเลือกเพศ)
( ภาพตัวละครจากเกม Concord และภาพจากหนังเรื่อง The Little Mermaid )
ผลที่ออกมาคือ The Little Mermaid (2023) มา พร้อมคำวิจารณ์เชิงลบจากแฟนๆ อนิเมชั่นฉบับปี 1989 เนื่องจากไม่เหมือนแอเรียลที่พวกเค้ารู้จัก กับการแสดงของ แฮลลี เบลีย์ ที่ยังไม่ดีพอ ส่วน Concord ที่หลังเปิดตัวมาได้ เพียง 14 วัน ก็ต้องประกาศยุติการจำหน่าย พร้อมคืนเงิน เนื่องจาก ยอดผู้เล่นที่น้อยมากจนน่าใจหาย บวกกับกระแสด้านลบของการดีไซน์ตัวละคร ที่ว่ากันว่าแย่ที่สุดในวงการวิดีโอเกม ส่งผลให้เกมนี้ขาดทุนเป็นอย่างมาก
คำถามคือแล้วจะทำอย่างไรให้สื่อที่พูดเกี่ยวกับความเท่าเทียมออกมาดี?
วันนี้ผมจึงมาขอแนะนำหนังที่พูดถึงเรื่อง “ความเท่าเทียม” ที่ดีและน่าสนใจมาก “วิมานหนาม”
ทองคำ และ เสก เป็นคู่รักต่างเพศที่ทุ่มเท สร้างชีวิตขึ้นมาด้วยกัน โดยทั้งสองเป็นเจ้าของบ้านและสวนทุเรียนในจังหวัดแม่ฮ่องสอน แต่เรื่องเศร้าก็เกิดขึ้นเมื่อ เสก จากไปอย่างกะทันหันจากอุบัติเหตุ และความจริงที่ว่าทั้งสองไม่เคยแต่งงานกันอย่างถูกกฎหมายของประเทศไทยกลายมาเป็นปัญหาที่ทำให้ ทองคำ ไม่มีสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ร่วมสร้างขึ้นมาด้วยกัน
ในตอนนี้บ้านและสวนทุเรียนจึงตกเป็นของแม่ของ เสก ผู้ที่ย้ายเข้ามาอยู่อาศัยพร้อมกับลูกสาวบุญธรรมและคนสวนอีกคนหนึ่ง ทำให้ ทองคำ ต้องต่อสู้เพื่อทวงคืนสิ่งที่เป็นนํ้าพักนํ้าแรงที่เขาและอดีตคนรักร่วมสร้างขึ้นมาด้วยกัน
อย่างแรก ต้องขอชื่นชมก่อนครับ ว่าหนังเรื่องนี้เป็นหนังที่มีคอนเซ็ปต์ที่ดีมาก ทั้งการเลือกเครื่องแต่งกายของตัวละคร การใส่จุดเล็กๆน้อยๆให้คนดูได้สังเกตถึงความประหลาดของบ้าน การกระทำที่แปลกประหลาดของตัวละคร เพศสภาพของตัวละคร หรือ การเลือกผลไม้ประจำเรื่องให้เป็นทุเรียน เพราะกว่าจะได้กิน ต้องใช้เวลาปลูกนานถึง 5 ปี เปรียบเหมือนตัวแทนคู่รักที่ที่ลงทุนลงแรงมาด้วยกัน กว่าเราจะได้กินของอร่อย ทุเรียนจึงสามารถเป็นตัวแทนของหนังเรื่องนี้แบบเห็นได้ชัดมาก นอกจากนี้ ทีมงานผู้สร้างหนังเรื่องนี้ เลือกใช้จังหวัด แม่ฮ่องสอนเป็นพื้นหลังของเรื่อง เพราะแม่ฮ่องสอนคือจังหวัดที่ยากจนที่สุดในประเทศไทย เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่อยู่ในเขตป่าตามกฎหมายประมาณ 98 % ชุมชน พื้นที่สาธารณะ และพื้นที่สำหรับจัดทำโครงสร้างพื้นฐานส่วนใหญ่ จึงไม่สามารถสร้างพัฒนาสิ่งสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานได้
การเล่าเรื่องก็ดูเหมือนจะเป็นข้อดีหลักของเรื่องนี้เลย แม้ว่าจะใส่ความ “ Woke ” มาในเรื่องค่อนข้างจะเยอะมาก แต่ด้วยการเล่าเรื่องที่ออกมาเป็นธรรมชาติ ใส่มาในจังหวะที่เหมาะสม จึงทำให้คนดูไม่ได้รู้สึกว่า โดนยัดเยียดจากหนังเกินไป รวมถึงการเล่าประเด็นความไม่เท่าเทียมทางสังคมบางอย่าง จนทำให้คนที่ไม่ได้ใส่ใจกับประเด็นความเท่าเทียม อาจต้องกลับไปคิดทบทวน ว่าสังคมเรามีปัญหาด้านความไม่เท่าเทียมจริงๆ
งานภาพและงานแสดงเอง เป็นส่วนช่วยให้หนังเรื่องนี้ออกมาดีมาก มีการเล่าเรื่องด้วยภาพและการแสดง แม้ไม่ต้องพูดแต่ก็ทำให้คนดูเข้าใจได้ การใช้ สัญญะ ของเรื่องไม่ได้เข้าใจยาก สำหรับการแสดงที่ผู้เขียนชอบที่สุด ผมคงต้องยกให้คุณ อิงฟ้า วราหะ ในบทของ โหม๋ ลูกเก็บมาเลี้ยงของ แม่แสง ที่ถ่ายทอดการแสดงของมาได้อย่างธรรมชาติ ผ่านแววตาที่มองออกมา และเข้าถึงอารมณ์ของตัวละครที่สุดในเรื่องแล้ว
*สำหรับส่วนต่อไปมีการพูดถึงเนื้อหาในหนัง วิมานหนาม
ทองคำ
ต้องยอมรับว่าผู้เขียนเอง ก็อาจจะไม่ใช่คนที่สนใจเรื่อง กฎหมายสมรสเท่าเทียม มาก แต่หนังได้แสดงให้เห็นถึงสิทธิแบบ คู่สามี-ภรรยา ปกติ ที่ไม่ได้ถูกนับรวมกับคู่รักของ กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ เช่น สิทธิในการสามารถตัดสินใจเซ็นยินยอมการรักษากรณีฉุกเฉิน หรือ การแต่งงานเฉกเช่นคู่รักปกติ ที่ในเรื่องส่งผลให้ตัวละครเอกอย่าง ทองคำ ต้องซื้อที่ดินจดเป็นชื่อของคู่รักของตัวเองเพื่อเป็นสัญญาทางใจ วันหนึ่งที่คนรักของเค้าตายไป ที่ดินกลับไม่ตกไปอยู่ในมือของเค้า ต้องตกเป็นของผู้สืบสันดานตามกฎหมาย มันจึงทำให้ ทองคำ ซึ่งไม่ได้อยู่ในฐานะอะไรเลยตามกฎหมาย ก็ไม่มีวันได้ที่ดินนี้อยู่ดี หากไม่เกี่ยวทางสายเลือด ทั้งที่ ทองคำเป็นคนลงทุนและแรงทำแท้ๆ จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เค้าคิดว่าตัวเองสมควรได้ที่ดินแห่งนี้
ซ้ำร้ายแล้วยังโดนหาว่าโง่ ที่ไม่รู้จักศึกษากฎหมาย เพราะถ้า ทองคำ เพิ่มชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินร่วมกัน ก็จะไม่เจอเรื่องแบบนี้ แต่คำถามคือ ถ้าทุกอย่างถูกทำให้เป็นเหมือนการสมรสปกติ เรื่องราวการแย่งที่ดินที่นำมาสู่โศกนาฏกรรม ทั้งหมดคงไม่เกิดขึ้นรึเปล่า?
โหม๋
ตัวละครที่น่าสงสาร และเป็นผู้เสียหายที่สุดในเรื่อง เป็นตัวละครที่สะท้อนผลเสียของคำว่า “ชายเป็นใหญ่” ได้เห็นภาพที่สุดแล้ว โหม๋เป็นตัวละครสาวชาวดอย ที่ตอนต้นเรื่องเราจะเข้าใจว่าเป็นเด็กเก็บมาเลี้ยงของ แม่แสง แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งจะทราบว่าแท้จริงเธอคือ เมียเก็บ ของเสก ที่อยู่กับครอบครัวเสกมา 20 ปีแล้ว แต่เรื่องนี้เสกไม่เคยได้บอกกับ ทองคำ แม้แต่น้อย เพราะ เสก เหมือนต้องการให้โหม๋ดูแลแม่แสงที่แก่ชรา เลยเลือกที่จะคงความสัมพันธ์ไว้ แต่ก็ไม่ได้แต่งงาน ซ้ำร้ายยังโดนตัดโอกาส ในการขอไปทำงานในกรุงเทพ ปล่อยให้ทำงานขายผักตามแบบคนดอย ต้องมานั่งเช็ดปัสสาวะให้ แม่แสง ไม่ต่างอะไรจากการเป็นคนใช้ จึงเป็นเหตุผลที่เธอคิดว่าตัวเองสมควรได้ที่ดินแห่งนี้
แม่แสง
หญิงชราพิการเดินไม่ได้แล้ว แต่ยังต้องใช้รถเข็นที่ต้องให้คนเข็นให้ ที่ใช้ติดต่อกันมากว่า 20 ปี อาศัยในกระท่อมเล็กๆ นอนก็ต้องนอนบนพื้น สิ่งที่ทำได้ก็ดูแต่จะมีแค่นอนไปวันๆ ตลอดชีวิตเป็นแค่คนขายผัก วันหนึ่ง ลูกชายของเธอมีที่ดินขายทุเรียนได้เป็นล้าน กลับเสียชีวิตลง ตามกฎหมายแล้ว ที่แห่งนี้เป็นของเธอแน่นอน จึงเป็นเหตุผลที่เธอคิดว่าตัวเองสมควรได้ที่ดินแห่งนี้
ทั้ง 3 ตัวละครนี้แม้จะแตกต่างแต่ก็มีจุดร่วมกันคือ ความจน และ ไร้โอกาส
เพราะความจน และ เพราะไร้โอกาสรึเปล่า ที่ทำให้โศกนาฏกรรม ทั้งหมดเกิดขึ้น? ไม่ว่าจะเด็กหรือคนแก่ ต่างก็อยากได้ความสะดวกสบายทั้งนั้น
การจากไปของตัวละคร เสก ทำให้ตัวละคร 3 ตัวนี้ไม่เหลือหลักประกันของชีวิต ทองคำ เอาเงินของตัวเองไปช่วย เสก ทำสวนแห่งนี้ จึงทำให้ไม่เหลือเงินซักบาท แม่แสงเป็นแค่หญิงชราพิการที่ทำอะไรเองก็ยังไม่ได้เลย และ โหม๋ เมียเก็บ ที่ไม่ต่างอะไรกับคนใช้ส่วนตัวของแม่แสง ที่แค่จะซื้อขนมปังที่ร้านสะดวกซื้อ ยังต้องใช้เงินทั้งตัวที่มี เงินทั้งหมดที่เสกเหลือไว้มีเพียงแค่ 1 หมื่นบาท คำถามคือ แล้ว มันจะไปพอกับอีก 3 ชีวิตที่ยังอยู่ได้ยังไง? สุดท้ายแล้วทั้ง 3 ตัวละครเอง ก็เพียงต้องการใช้สิทธิที่ควรจะได้ของตัวเอง เพื่อให้มีชีวิตอยู่อย่างปกติเท่านั้นเอง....
สำหรับผมนี่คือตัวอย่างหนังสมัยใหม่ที่ดี ที่ไม่ใช่แค่หนังผี หนังตลก และหนังวัยรุ่นรักใคร่ และไม่ใช่แค่หนังที่พูดถึงประเด็นความเท่าเทียมแบบ พื้นๆ แต่เลือกที่จะพูดทุกอย่าง ออกมาอย่างธรรมชาติ จริงๆมีอีกหลายประเด็นที่น่าพูดกันในหนังเรื่องนี้ครับ แต่ผมคิดว่าประเด็นหลักที่พลักดันเรื่องจริงๆมันคือความจน และ ไร้โอกาส หาก ทุกคนสามารถใช้ชีวิตแบบเท่าเทียมกัน คงจะเป็นไปตามภาพแบบ จิ่งนะ คิด ว่าวันหนึ่ง ทองคำ และ โหม๋ สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข บนที่ดินแห่งนี้
*ขอขอบคุณภาพประกอบจาก เพจเฟซบุ๊ค GDH