"...การศึกษาดูงานครั้งนี้ บรรดารัฐมนตรีศึกษาธิการอาเซียนและคณะผู้มาเยือนได้รับประโยชน์ไปเต็มๆ ที่เห็นได้ว่าโรงเรียนไม้ไผ่แห่งนี้ให้ทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ ที่ผูกพันกับวิถี อัตลักษณ์เกษตรของคนไทย เด็กทุกคนได้รับการบ่มเพาะผ่านการปฏิบัติจริงอย่างครบเครื่องไม่ใช่แค่ท่องตำรา เด็กทุกคน ยิ้มแย้ม ไหว้สวย มีสัมมาคารวะ และมีหัวใจแบ่งปัน ทุกคนทำด้วยใจ จึงเป็นการศึกษาดูงานที่คุ้มค่า เชิดหน้าชูตาการศึกษาไทยสู่สายตาของประเทศอาเซียนทั้งหมด..."
เนื่องจากทางการไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 13 (13 th ASIAN Education Ministers Meeting and Related Meeting) ซึ่งผู้นำด้านการศึกษาของประเทศอาเซียน รวมทั้งอาเซียน +3 และอาเซียน +8 จะแสดงวิสัยทัศน์แลกเปลี่ยนทัศนะ โดยใช้ชื่อการประชุมว่า “พลิกโฉมการศึกษาในยุคดิจิทัล” (Transforming Education in the Digital Era) โดยจัดขึ้นที่ จ. บุรีรัมย์ ในวันที่ 23-26 สิงหาคม 2567
การประชุมครั้งนี้ นอกจากรัฐมนตรีด้านการศึกษาของ 10 ประเทศอาเซียนแล้วยังมีเอกอัครราชทูตออสเตรเลีย มีผู้แทนระดับสูงด้านการศึกษาของติมอร์ - เลสเต้ เกาหลี ญี่ปุ่น รัสเซีย สหรัฐอเมริกา อินเดีย และเจ้าหน้าที่บริหารของ SEAMEO รวมกว่า 50 คน
พล.ต.อ. เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว. กระทรวงศึกษาธิการ รับรู้ความเป็นไปของโรงเรียน มีชัยพัฒนา ทั้งเคยไปเยี่ยมเยือนถึงพื้นที่ จึงเข้าใจได้ดีว่า โรงเรียนนี้ เป็นโรงเรียนที่ตอบโจทย์การศึกษายุคใหม่อย่างมีคุณภาพ กล่าวคือมีกระบวนการเรียนการสอนที่เน้นปฏิบัติโดยอาศัยวิถีเกษตรของชุมชน เป็นพื้นที่และเป็นพลังแห่งการเรียนรู้ ทำให้นักเรียนได้ทั้งทักษะอาชีพ ทักษะชีวิต และมีจิตใจเอื้ออาทรต่อชุมชนและบุคคลอื่นๆ เด็กนักเรียนทุกคนมีทั้งคุณภาพและคุณธรรมติดตัวตลอดไป
ด้วยเหตุนี้ ในฐานะผู้รับผิดชอบในการจัดการประชุมดังกล่าว พล.ต.อ. เพิ่มพูน ชิดชอบ จึงให้เกียรติเลือกโรงเรียนมีชัยพัฒนา หรือที่รู้จักกันในชื่อโรงเรียนไม้ไผ่ (Mechai Bamboo School) เป็นโรงเรียนที่คณะรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียนไปเยี่ยมเยียนศึกษาดูงานถึงพื้นที่ ณ ตำบลโคกกลาง อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ ในวันที่ 26 สค. 67 เวลา 16.00 - 17.30 น.
ณ ห้องประชุมโดมไม้ไผ่ คุณมีชัย วีระไวทยะ ประธานกรรมการของโรงเรียน กล่าวต้อนรับว่า
“ขอต้อนรับรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน เอกอัครราชทูต ผู้บริหารระดับสูงด้านการศึกษา และแขกผู้มีเกียรติ
โรงเรียนไม้ไผ่ “มีชัยพัฒนา” เป็นโรงเรียนสร้างทักษะอาชีพ ทักษะชีวิต และสร้างเยาวชนให้เป็นคนที่มีหัวใจแห่งการแบ่งปัน ท่ามกลางกระแสโลกทุนนิยมที่เน้นการบริโภค และการแข่งขัน
โรงเรียนเรามีต้นไผ่เป็นสัญลักษณ์แห่งความซื่อตรง และความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เรามีควายเป็นตัวแทนแห่งความเสียสละหยาดเหงื่อแรงงานเพื่อชาวนาปลูกข้าวให้เรากิน และควายยังให้นมแก่เด็กน้อยดื่มบำรุงเลี้ยงร่างกาย เรามีศาลแผ่เมตตาเพื่อส่งพลังใจและความปรารถนาดีให้กับผู้ประสบความทุกข์ยาก หรือประสบภัยพิบัติในขอบเขตทั่วโลก เด็กนักเรียนของเราเข้าไปช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหาร ยกระดับรายได้ของชาวบ้านและชุมชนรายรอบโรงเรียน
เรามีสิ่งดีๆ อีกหลายอย่างที่เด็กนักเรียนจะทำหน้าที่นำเสนอต่อทุกท่านด้วยตัวนักเรียนเอง ณ ฐานการเรียนรู้ 5 ฐาน ด้วยกัน
ผมหวังว่า ทุกท่านจะได้รับประโยชน์ตามควรแก่เวลาที่ได้มาเยี่ยมเยียนในวันนี้”
ธรรมดาการนำเสนอสาระต่างๆ ของโรงเรียนมักเป็นหน้าที่ของผู้อำนวยการ อาจารย์ หรือครู แต่ที่โรงเรียนไม้ไผ่นั้น ทุกครั้งที่แขกมาเยือน เด็กนักเรียนจะสลับกันทำหน้าที่ ไม่ว่าจะพูดเป็นภาษาอังกฤษ หรือภาษาไทย
ออน ออ เป็นนักเรียนชั้นมัธยม 6 มาจากกัมพูชา แต่ได้รับเลือกจากเพื่อนนักเรียนให้เป็นประธานคณะมนตรีนักเรียนด้วยคะแนนเสียงข้างมาก สะท้อนให้เห็นว่านักเรียนไทยและต่างชาติล้วนมีศักดิ์ศรีเสมอกัน วันต้อนรับผู้นำด้านการศึกษาของอาเซียน ออน ออ จึงทำหน้าที่เป็นตัวแทนนักเรียนอย่างดี เป็นเด็กที่พูดคุยแนะนำโรงเรียนต่อรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการของกัมพูชาได้อย่างกลมกลืนเพราะใช้ภาษาเดียวกัน
ในขณะที่ เมย์ ทู (May Too) นักเรียนชั้นมัธยมจากเมียนมาร์ ซึ่งพูดภาษาอังกฤษได้ดีมาก เป็นคนบรรยายสรุปประกอบสไลด์ บนจอภาพ ให้คณะผู้มาเยือนได้รับรู้ว่า โรงเรียนมีชัยพัฒนานั้น
- ทุกพื้นที่ว่างเป็นสีเขียว มีแปลงผัก และพืชเกษตร เป็นหัวรถจักรนำทางในการเรียนรู้ มีต้นไผ่เป็นสัญลักษณ์ความซื่อตรง ความสามัคคี และความมีน้ำใจ
- ทุกย่างก้าวเป็นการเรียนรู้ คำบันดาลใจ คำสอนของปราชญ์ รูปภาพสีสันสดใสเรียงรายเต็มไปหมด เพื่อเตือนใจทุกคนที่เดินผ่าน
- ทุกการพบปะมีการเคารพนบไหว้ เดินสวนกัน 5 ครั้ง เด็กนักเรียนจะยกมือไหว้และเอ่ยคำ “สวัสดี” ทั้ง 5 ครั้ง เพราะสวัสดี หมายถึงความดีความงาม ความเจริญและความปลอดภัย
- เด็กจะใช้โทรศัพท์มือถือได้สัปดาห์ละหนึ่งชั่วโมงในเย็นวันเสาร์ โดยเด็กจะต้องเขียนจดหมายถึงพ่อแม่หรือญาติมิตร 2 ฉบับ หลังจากนั้น เด็กทุกคนจะอดอาหารเย็นหนึ่งมื้อต่อสัปดาห์ เพื่อเข้าใจได้จริงถึงความอดหิวของคนยากไร้ ซึ่งการอ่านหนังสือไม่สามารถทำให้เข้าใจได้เหมือนการอดอาหารจริง
- เด็กทุกคนจะมีประสบการณ์ตรง ต่อหน้าศาลแผ่เมตตาให้กับผู้ประสบภัยพิบัติ ผู้เป็นเหยื่อของสงคราม ผู้ทุกข์ยากจากโรคระบาด เป็นการอธิษฐานจิตในการ “ให้” แทนที่จะบนบานศาลกล่าว เพื่อที่จะ “ได้” แบบศาลทั่วไป
- เด็กทุกคนจ่ายค่าเทอมด้วยการทำความดี 400 ชั่วโมง และปลูกต้นไม้ 400 ต้น โดยร่วมกับผู้ปกครองของตนโดยไม่ต้องจ่ายเงิน แต่เรียนฟรีกินอยู่ฟรีทั้งหมดตลอดเวลาเรียน 6 ปี
- เด็กจะบริหารจัดการโรงเรียนด้วยการเลือกตั้งรัฐบาลนักเรียน เรียกว่าคณะมนตรีนักเรียน เช่นการจัดตั้งวินัย การดูแลสิ่งแวดล้อม การทำความสะอาดโรงเรียน การสัมภาษณ์ ครูใหม่และนักเรียนใหม่ การจัดซื้อวัตถุดิบที่ใช้ปรุงอาหารประจำวันในโรงครัว รวมทั้งการจัดซื้อรถยนต์ของโรงเรียน
จากนั้นคณะผู้มาเยือนกระจายกันไปดูตามฐานการเรียนรู้ โดยนักเรียนประจำฐานอธิบายเป็นภาษาอังกฤษ
ฐานที่ได้รับความสนใจมากคือ ฐานแรก การปลูกถั่วงอก ปลูกต้นอ่อนทานตะวัน และการเพาะเห็ดนางฟ้า ซึ่งให้ผลผลิตและรายได้เทียบกับการปลูกข้าว ดังตารางนี้
การเรียนรู้ Smart Farm การรดน้ำผ่านระบบดิจิทัล การสร้างตุ่มน้ำจากดิน การนั่งรถ วีลแชร์รดน้ำแปลงผัก การปลูกข้าวในวงบ่อซีเมนต์ การปลูกพืชไฮโดรโปนิค การเพาะเนื้อเยื่อ การผลิตกระดาษจากเปลือกแตงโม แผงโซลาร์เซลล์ และอื่นๆ ล้วนได้รับความสนใจจากแขก ผู้มาเยือน เพราะประจักษ์ได้ด้วยตา ในผลผลิตทางการเกษตรจากฝีมือนักเรียน
รัฐมนตรีด้านการศึกษาและคณะยังได้รับรู้ว่าวิถีเกษตรนี้ มีการน้อมนำไปเป็นวิถี การผลิตในโรงพยาบาลลำปลายมาศ และที่วัดโนนสุวรรณ ที่ชักนำให้ผู้สูงอายุในชุมชนรายรอบโรงเรียนสามารถเข้ามาสู่ระบบการผลิตทางการเกษตรได้อย่างจริงจัง ซึ่งนับเป็นมิติใหม่ในการยกระดับรายได้ของชาวบ้านและชุมชนที่ควรประยุกต์ใช้ในขอบเขตทั่วประเทศได้
คุณเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่ร่วมคณะผู้มาเยือน กล่าวว่า
“การศึกษาดูงานครั้งนี้ บรรดารัฐมนตรีศึกษาธิการอาเซียนและคณะผู้มาเยือนได้รับประโยชน์ไปเต็มๆ ที่เห็นได้ว่าโรงเรียนไม้ไผ่แห่งนี้ให้ทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ ที่ผูกพันกับวิถี อัตลักษณ์เกษตรของคนไทย เด็กทุกคนได้รับการบ่มเพาะผ่านการปฏิบัติจริงอย่างครบเครื่องไม่ใช่แค่ท่องตำรา เด็กทุกคน ยิ้มแย้ม ไหว้สวย มีสัมมาคารวะ และมีหัวใจแบ่งปัน ทุกคนทำด้วยใจ จึงเป็นการศึกษาดูงานที่คุ้มค่า เชิดหน้าชูตาการศึกษาไทยสู่สายตาของประเทศอาเซียนทั้งหมด”
โรงเรียนมีชัยพัฒนา จึงไม่ใช่เพียงสถานศึกษาของเด็กและเยาวชนเท่านั้น แต่โรงเรียนได้นำพาให้ครูและเด็กเชื่อมโยงผูกพันกับชุมชน ทำให้โรงเรียนเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยโรงเรียนเข้าไปมีบทบาทสำคัญในการแก้ปัญหาความยากจน สร้างอาชีพ และยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวชนบท นับเป็นภารกิจท้าทายที่สหประชาชาติได้ประกาศไว้ตั้งแต่ปี 2547 ว่าการศึกษาต้องมุ่งไปสู่การสร้างพลเมือง (Education for All)