"...สำหรับพี่วิทย์แล้วการถ่ายภาพไม่ใช่ทำเพื่อเป็นอาชีพเสริม แต่ทำเพราะใจรักและสะสมแต้มบุญ ทุกครั้งที่กดชัตเตอร์จะภาคภูมิใจ รู้สึกดี ปิติ และปลาบปลื้มใจ ค่าตอบแทนสูงสุดไม่ใช่เงินทอง แต่คือความสุขใจที่ไม่มีที่สิ้นสุด พี่วิทย์กล่าวว่า “ผมเชื่อมั่นในความดีที่ได้ทำ หรือที่เกิดจากการกระทำของตัวเราเท่านั้นที่จะคงอยู่และติดตัวเราตลอดไป คงไม่มีใครอยากให้คนอื่นระลึกถึงเราในทางลบหรือสิ่งไม่ดี เมื่อเราก้าวออกจากที่นี่หรือจากโลกนี้ไป ทั้งหมดทั้งมวลอยู่ที่ตัวเราเองสร้างและสะสมเอาไว้”..."
ในแต่ละปี แบงก์ชาติมีกิจกรรมต่อเนื่องทั้งปี และพวกเราจะสังเกตเห็นผู้ชายร่างเล็กสะพายกล้องถ่ายรูปเข้ามาร่วมกิจกรรม กดชัตเตอร์ รัว ๆ เพื่อเก็บภาพสวย ๆ ให้ครบทุกมุม พร้อมส่งมอบภาพและประวัติความทรงจำดี ๆ ให้กับทุกคนในภาพมายาวนานกว่า 20 ปี ตั้งแต่ยุคของการเล่าเรื่องผ่านรูปถ่ายจากกล้องฟิล์ม ภาพเคลื่อนไหวจากวิดีโอ มาจนถึงภาพจากกล้องดิจิทัลและภาพมุมสูงจากโดรนในปัจจุบัน และคน ๆ นั้นไม่ใช่ใครอื่นไกลคือ พี่วิทยา เทียมเศวต (พี่วิทย์) หนึ่งในเพื่อนร่วมรุ่นเกษียณปี 2567 ของผมนั่นเอง
ผมได้มีโอกาสสัมภาษณ์พี่วิทย์เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ทราบว่า พี่วิทย์เป็นคนสองจังหวัดเพราะบ้านอยู่ในเขตรอยต่อระหว่างอยุธยาและสระบุรี คุณพ่อเป็นชาวนา เป็นลูกคนที่ 3 ในจำนวนพี่น้อง 4 คน คุณพ่อปลูกฝังให้ลูก ๆ รู้จักการแบ่งปันและช่วยเหลือผู้อื่น ตอนที่ลืมตาดูโลกที่บ้านไม่มีไฟฟ้า ไม่มีน้ำประปา มีเพียงน้ำในลำคลองที่เป็นสารพัดประโยชน์ ดื่มกินด้วยน้ำฝนธรรมชาติที่อยู่ในโอ่งมังกร การสัญจรต้องอาศัยเรือหางยาวทางน้ำเพียงอย่างเดียว แต่ไม่รู้สึกว่าลำบากเพราะไม่รู้ว่า ความสบายเป็นแบบไหน ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข เล่นสนุกสนานตามวัย เมื่อจบชั้น ม.ศ. 5 รุ่นสุดท้ายจากโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย โรงเรียนชายล้วนประจำจังหวัด ได้สมัครสอบเข้าเรียนต่อที่วิทยาลัยเทคนิคพระนครศรีอยุธยา สาขาช่างไฟฟ้า สมัยเรียนเป็นเด็กวัดอาศัยอยู่กับพระที่วัดเสนาสนารามราชวรวิหาร
เมื่อเรียนจบประกาศนียบัตรวิชาชีพเทคนิค (ปวท.) ได้ทำงานเป็นช่างไฟฟ้าประจำโรงงานปั่นด้ายทอผ้า และย้ายมาทำงานที่บริษัทแหลมทองอุตสาหกรรมอาหารอีก 2 ปี วันหนึ่งฟ้าลิขิตมาพบข้อความเล็ก ๆ ในหนังสือพิมพ์ประกาศรับสมัครพนักงานโรงพิมพ์ธนบัตร จึงชวนเพื่อนสนิทมาสมัคร แต่เพื่อนไม่ยอมมาเพราะคิดไปเองว่า ต้องมีเส้นสายถึงจะเข้าได้ พี่วิทย์เลยฉายเดี่ยวเพราะมีความฝันอยากทำงานกับหน่วยงานราชการที่มีความมั่นคง จนสามารถสอบผ่านเข้าทำงานที่แบงก์ชาติแผนกผลิตธนบัตรสำเร็จรูป โรงพิมพ์ธนบัตร จากผู้สมัครกว่า 1,000 คน และรับเพียง 52 คน ได้เป็นลูกพระสยามเทวาธิราชในปี 2533 พร้อมกลับไปเล่าให้เพื่อนซี้ฟังอย่างภาคภูมิใจว่า “ที่นี่บ้านหลังนี้ไม่มีเด็กเส้น”
ในระหว่างการทำงาน พี่วิทย์ไม่ปล่อยเวลาให้สูญเปล่าได้ไปสมัครเรียนต่อปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร และจบปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สาขาการบริหารทรัพยากรมนุษย์เพื่อธุรกิจอุตสาหกรรม เมื่อปี 2550
จุดเริ่มต้นที่ทำให้หลงใหลการถ่ายภาพ เกิดจากการได้รับมอบหมายจากหัวหน้าให้นำเสนอผลงานปรับปรุงพัฒนาเครื่องจักร เริ่มจากการนำภาพนิ่งมาเรียงต่อกันและเลื่อนภาพทีละนิดอย่างเร็ว ๆ ให้ดูเหมือนเป็นภาพที่เคลื่อนไหวด้วยโปรแกรมพาวเวอร์พ้อย ต่อมาจึงเพิ่มภาพและถ่ายเป็นคลิปวิดีโอมาประกอบกับการเสนองาน เพื่อให้ผู้ฟังเกิดความเข้าใจได้ง่ายยิ่งขึ้นภายในเวลาอันสั้นเพราะ “ภาพเล่าเรื่องได้ดีที่สุด” พอทำออกมาแล้วรู้สึกชอบและสนุก จนกระทั่งมีพี่ในแผนกเกษียณอายุ จึงถ่ายทำคลิปวิดีโอแนวขำขันมาเปิดในงานเลี้ยงเกษียณของแผนก ทำให้พี่ที่เกษียณ ผู้บริหาร และเพื่อนที่มาร่วมงานต่างประทับใจและชื่นชอบในผลงานและภาพถ่ายที่ตนนำไปมอบให้ จึงเป็นที่มาของวิดีโอสำหรับงานเกษียณที่ใช้ในสายออกบัตรธนาคารเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่วันนั้นจนถึงทุกวันนี้
ต่อมาได้มีโอกาสไปถ่ายภาพงานประชุมสัมมนา งานกีฬา งานพิธีการต่าง ๆ แม้กระทั่งงานส่วนตัวของเพื่อน ทั้งงานบวช งานแต่ง งานขึ้นบ้านใหม่ งานรับปริญญา งานศพของคนในครอบครัวพนักงาน งานพระราชพิธี และงานเสด็จพระราชดำเนินขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เป็นต้น ซึ่งเจ้าของงานต่างต้องการบันทึกความทรงจำเหล่านั้นไว้ ไม่ว่างานนั้น จะเป็นงานของใคร พนักงาน ผู้บริหาร หรือเป็นพนักงาน Outsource ของแบงก์ชาติ และไม่ว่าสถานที่จัดงานอยู่แห่งหนตำบลใด ระยะทางจะใกล้หรือไกลแค่ไหนพี่วิทย์มีน้ำใจไปถ่ายภาพให้หมด โดยที่ทุกงานไม่เคยคิดค่าตอบแทนเพราะทำให้ด้วย “ใจ ล้วน ๆ”
ภาพทุกภาพ คลิปวิดีโอทุกชุด พี่วิทย์ตั้งใจทำทุกขั้นตอน ตั้งแต่ลงทุนซื้อกล้อง และกล้องตัวแรกเป็นกล้องโอลัมปัส (Olympus) ซึ่งเป็นกล้องฟิล์มธรรมดาแต่พิเศษตรงที่ใน 1 เฟรมถ่ายได้ 2 ภาพ เรียกว่า ฟิล์ม 1 ม้วนกล้องอื่นถ่ายได้ 36 ภาพ แต่กล้องตัวนี้ถ่ายได้ถึง 72 ภาพ และทยอยซื้ออุปกรณ์ รวมไปถึงโปรแกรมตกแต่งภาพด้วยเงินเก็บของตนเอง พร้อมศึกษาและเรียนรู้เทคนิคการถ่ายภาพจาก YouTube บ้าง ดูคนอื่นถ่ายบ้าง แล้วนำมาปรับเป็นสไตล์ของตนเอง เช่น ถ่ายทีเผลอจะได้ภาพธรรมชาติ แล้วนำมาคัดเลือกภาพ แต่งภาพและตัดต่อคลิปวิดีโอเอง ดังนั้น การฝึกฝนให้เกิดความชำนาญ ผนวกกับการเพิ่มพูนประสบการณ์ จึงเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้ภาพที่ออกมาดูสวยงาม ทุกงานที่เจ้าภาพหรือผู้ที่จัดงานมอบหมายให้ถ่ายภาพ ถือว่าเป็นงานสำคัญ และคนเหล่านั้นให้เกียรติ ไว้วางใจ เชื่อใจ ให้ภาพเล่าเรื่องราว ประวัติ และความทรงจำในชีวิต คิดเสมอว่า ทุกเหตุการณ์มีโอกาสเกิดเพียงครั้งเดียว ไม่สามารถย้อนเวลาหรือกลับมาถ่ายภาพใหม่ได้ พร้อมบอกกับตนเองว่า “ถ้าคิดที่จะให้ต้องให้ในสิ่งที่ดีที่สุด ไม่อย่างงั้นไม่ให้เสียจะดีกว่า”
สำหรับพี่วิทย์แล้วการถ่ายภาพไม่ใช่ทำเพื่อเป็นอาชีพเสริม แต่ทำเพราะใจรักและสะสมแต้มบุญ ทุกครั้งที่กดชัตเตอร์จะภาคภูมิใจ รู้สึกดี ปิติ และปลาบปลื้มใจ ค่าตอบแทนสูงสุดไม่ใช่เงินทอง แต่คือความสุขใจที่ไม่มีที่สิ้นสุด พี่วิทย์กล่าวว่า “ผมเชื่อมั่นในความดีที่ได้ทำ หรือที่เกิดจากการกระทำของตัวเราเท่านั้นที่จะคงอยู่และติดตัวเราตลอดไป คงไม่มีใครอยากให้คนอื่นระลึกถึงเราในทางลบหรือสิ่งไม่ดี เมื่อเราก้าวออกจากที่นี่หรือจากโลกนี้ไป ทั้งหมดทั้งมวลอยู่ที่ตัวเราเองสร้างและสะสมเอาไว้”
พี่วิทย์ทำงานในแผนกเดิมมาโดยตลอดช่วงเวลาการทำงาน 33 ปี ปัจจุบันดำรงตำแหน่งหัวหน้างานผลิตธนบัตร เรียกว่า เป็นปู่โสมเฝ้าทรัพย์ ตั้งแต่คัดธนบัตรแบบดูด้วยตา มาจนปัจจุบันเปลี่ยนมาใช้เครื่องคัดและตัดแผ่นธนบัตร พี่วิทย์เล่าว่า ไม่อยากย้ายไปที่ไหน เพราะรู้สึกว่ามีความสุขดีแล้ว ที่สำคัญที่สุดคือมีเพื่อนร่วมงานที่ดี อยู่กันแบบครอบครัว ผู้บริหารระดับสูงให้ความเมตตา ทำให้อยากมาทำงานทุกวัน พร้อมระลึกเสมอว่า ที่ตนมีทุกวันนี้ได้เพราะแบงก์ชาติ จึงอยากจะทำสิ่งดี ๆ เป็นการตอบแทน ด้วยการอาสาถ่ายภาพให้ทุกงานที่ตนจัดสรรเวลาลงตัว และโชคดีที่ทำงานแบ่งเป็นผลัดเช้า ผลัดบ่าย จึงเลือกช่วงที่ไม่ตรงกับเวลาทำงานไปช่วยถ่ายภาพได้ แต่หากตรงกับเวลาทำงานและ
ไม่เหลือบ่ากว่าแรง จะใช้วิธีลางานหรือหยุดพักผ่อน และถือเป็นการทำบุญร่วมชาติตักบาตรร่วมขันหากชาติหน้ามีจริงจะได้เกิดมาเป็นพี่น้องเป็นเพื่อนร่วมงานกันอีก
เมื่อนาฬิกาชีวิตเดินมาถึงช่วงเวลาที่ต้องอำลาเพื่อนร่วมงาน และสถานที่ทำงานอันเป็นที่รักในโอกาสเกษียณ จึงเริ่มวางแผนตั้งแต่ปีที่แล้วว่า ตนมีภาพของทุกคนที่บันทึกไว้ในฮาร์ดดิสก์แบบพกพาขนาด 2 เทราไบต์มากกว่า 30 ชิ้น จะทำอะไรดีกับภาพที่มีอยู่ จึงคิดได้ว่าน่าจะทำเหรียญที่ระลึกมอบให้กับทุกคนสำหรับมิตรภาพที่สวยงาม เป็นเหรียญชนิดราคา 20 บาท ที่ออกแบบเองและสั่งทำเป็นพิเศษ ผลิตโดยกองกษาปณ์ ด้านหน้าของเหรียญเป็นภาพถ่ายของผู้ที่ได้รับราว 800 คน ที่ตนเองคัดเลือกรูปภาพที่คิดว่าดีที่สุด มีเลข 24 ซึ่งเป็นเลขมงคลและหมายถึงปีที่เกษียณ ส่วนด้านหลังเป็นภาพตำหนักวังบางขุนพรหม ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของแบงก์ชาติ สร้างรอยยิ้มและความประทับใจให้ผู้รับและผู้ให้รู้สึกภาคภูมิใจที่ได้ส่งมอบของที่ตั้งใจทำและมีคุณค่าทางจิตใจ
หลังเกษียณวางแผนจะพักผ่อนอยู่กับครอบครัว ภรรยาและลูกทั้งสอง และหาเวลาเดินทางท่องเที่ยวต่างจังหวัดด้วยรถบ้านกับภรรยา แบบค่ำไหนนอนนั่น พร้อมฝากทิ้งท้ายว่า ให้ทุกคนมีคำว่า “ให้” ตัวใหญ่ ๆ อยู่ในใจ ให้โดยไม่มีข้อแม้ มีความสุขทุก ๆ การให้ หากการให้นั้น ถูกต้อง ถูกคน ถูกที่ และถูกเวลา ผู้รับก็รู้สึกดี คนให้ก็มีความสุข
รณดล นุ่มนนท์
26 สิงหาคม 2567
หมายเหตุ:
ขอขอบคุณ คุณสุรินทร ลาภเจริญทรัพย์ เลขานุการบริหาร ประจำผู้ว่าการ และคุณเยาวนิจ มังคละธนะกุล ผู้วิเคราะห์อาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สื่อสารและความสัมพันธ์องค์กร ที่ร่วมสัมภาษณ์ พร้อมทั้งมีส่วนในการเขียน weekly mail ฉบับนี้