"...หลักการเขียนสีน้ำที่ดูเหมือนว่าง่าย แต่ทำได้ยาก ซึ่งคุณธีรยุทธจำจนวันตายคือ คำพูดของอาจารย์ที่ว่า “สีชุ่มๆ น้ำโชกๆ ใจกล้าๆ” ทำให้ภาพสีน้ำกลายเป็นมิติสำคัญอย่างหนึ่งในชีวิต..."
“ศิลปะไม่ได้มีเพียงการสะท้อนความหมายหรือความตั้งใจ ผู้เขียนเชื่อว่า กระบวนการสร้างงานศิลปะล้วนผ่านการรำลึกถึง กลั่นกรอง วิเคราะห์ เลือกสรร จากความทรงจำ ประสบการณ์ เน้นอารมณ์ สุนทรียะ อดีต ความประทับใจ ตื่นตาตื่นใจ ความผิดพลาด ขาดทักษะ ความถนัด
การสร้างสรรค์ทุกชนิดมักมีภาวะฉับพลัน “สิ่งที่ใช่” “ภาวะปิ๊ง” หรือ “WOW” ที่เรียกว่าparadigm shift, jump ฯ เกิดขึ้น แต่เป็นช่วงสั้นๆ
กระบวนการที่ยาวนานกว่าคือ สิ่งที่กล่าวข้างต้นมาคือการเลือก ลองผิด ถูก แสวงหา ความลงตัว อย่างซับซ้อน ผิดพลาด แล้วเปลี่ยนใหม่ คิดใหม่ แก้ไขใหม่ ก่อนจะลงตัว หรือถึงจุดที่จะบอกว่าควรจะพอ หรือถึงขั้นที่เกิดความปิติ อิ่มเอมกับงาน”
(ธีรยุทธ บุญมี)
คุณอานันท์ ปันยารชุน กรุณารับเป็นประธานเปิดงาน บนเส้นทางศิลปะ (JOURNEY OF ART UNIFOLD) ของ ธีรยุทธ บุญมี ในวันพฤหัสบดีที่ 22 สิงหาคม 2567 เวลา 18.00 น. ณ หอศิลป์ กทม. ชั้น 3 สี่แยกปทุมวัน
ในวันเปิดงาน 22 สค. ตั้งแต่ช่วงเย็น 17.00 น. จะมีการเปิดใจ เจ้าของภาพเขียน โดย คุณสุภาพ คลี่ขจาย เป็นผู้ซักถาม
17.45 น. เล่นเพลง บรรเลงกวี โดย เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ หงา คาราวาน และชูเกียรติ ฉาไธสง
งานแสดงภาพเขียนจะเปิดตั้งแต่ 22 สค. - 1 กย. 67 เวลา 10.00 – 20.00 น.
ผมกับธีรยุทธ บุญมี คบหากันมาราว 60 ปี ตั้งแต่ยังนุ่งกางเกงขาสั้นจนแก่ไปด้วยกันทั้งคู่ ผมแก่กว่าเขาสองปี แต่เขาเป็นผู้ใหญ่กว่าผม
ปี 2507 ขณะที่ผมยังเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยนั้น ที่บริเวณตีนสะพานพุทธ ไม่ไกลจากโรงเรียนมีห้องสมุดบริติช เคาน์ซิล ซึ่งมีแต่หนังสือภาษาอังกฤษทั้งนั้น เป็นที่ซึ่งใครๆ ก็เข้าไปหาอ่านหายืมหนังสือได้ นานๆ ผมจะเฉี่ยวเข้าไปเพื่อรับความเย็นของห้องแอร์หลังจากเล่นบอลพลาสติกจนเหงื่อโชก ไปทีไร เห็นคุณธีรยุทธยืนค้นนั่งอ่านอยู่ที่นั่นทุกที ทั้งๆ ที่เขาเพิ่งเรียน ม.ศ. 1 ผมชำเลืองดูหนังสือที่เขาหยิบยืมอ่าน เป็นหนังสือเคมี ฟิสิกส์ และคณิตศาสตร์สำหรับเด็ก ม.ศ.ปลาย แสดงให้เห็นว่าปัญญาของเขาเกินชั้นเรียนมาตั้งแต่เล็กแล้ว เห็นได้ว่าเขาเป็นคนใฝ่รู้ ใฝ่เรียน มาตั้งแต่เด็ก
ที่สวนกุหลาบฯ คุณธีรยุทธติดห้องคิง (ห้องที่คัดเลือกแล้วว่ารวมเด็กเรียนเก่งที่สุดไว้ด้วยกัน) มาตลอด ความเป็นคนเข้าใจอะไรได้โดยง่าย สนุกกับการเรียนรู้แบบทำความเข้าใจ ไม่ใช่แบบท่องจำ ชอบคิดในเชิงระบบ และคิดรวบยอด (Conceptualize) มาตั้งแต่เล็ก ทำให้เขาไม่ต้องอ่านหนังสือจนตาเปียกตาแฉะ ตอนที่เขาสอบ ม.ศ. 5 แผนกวิทยาศาสตร์เป็นที่หนึ่งของประเทศไทยเมื่อปี 2512 นั้น เพื่อนๆ งุนงงมาก เพราะเขาไม่ได้อ่านหนังสืออย่างหามรุ่งหามค่ำเหมือนเพื่อนคนอื่น ความจริงแล้ว ระหว่างเรียนสวนกุหลาบฯ เขาไม่เคยสอบได้ที่หนึ่งเลยด้วยซ้ำ เพื่อนที่เก่งกว่ามาตลอดคือ ภิญโญ ชยสิริโสภณ (นายแพทย์)
คุณธีรยุทธรักการเล่นฟุตบอลเป็นชีวิตจิตใจดุจเดียวกับนักเรียนสวนกุหลาบฯ คนอื่นๆ ภาพที่เห็นเป็นประจำไม่ว่าเช้า กลางวัน เย็น ยามที่ไม่มีชั่วโมงเรียน ปรากฏว่าสนามฟุตบอล พื้นซีเมนต์ ซอกมุมตึก หรือแม้แต่พื้นที่แคบๆ ถูกแปรเป็นสนามฟุตบอลพลาสติกเต็มพรึดไปหมด เพื่อนๆ ยอมรับว่าฝีเท้าเขาดีถึงขั้นน้องๆ นักฟุตบอลของโรงเรียนเลยทีเดียว
คุณธีรยุทธยังได้ร่วมกับเพื่อนทำโครงการวิทยาศาสตร์เข้าประกวดระหว่างโรงเรียน ได้รับรางวัลมาหลายครั้ง
อีกฝีมือหนึ่งที่เจ้าตัวภาคภูมิใจมากคือ ภาพเขียนสีน้ำ พื้นฐานสำคัญมาจากอาจารย์จำนง บุญสถิรกุล อาจารย์สอนศิลปะชั้นมัธยมต้นของสวนกุหลาบฯ
งานภาพเขียน ก่อนหน้านั้น สารตั้งต้นงานศิลปะมาจากที่พ่อเป็นโต้โผลิเก คุณธีรยุทธ ได้เห็นช่างเขียนฉาก ซึ่งเป็นนายสิบทหารวาดฉากท้องพระโรง เกิดความอัศจรรย์ใจว่า
“ช่างเขียนคนนั้นทำฉากผ้าแบนๆ ให้ดูเป็นทิวต้นไม้ลึกไปไกลได้ เสาท้องพระโรงก็ดู กลมเหมือนจริง ผมทึ่งมาก เลยขอลองเขียนป้ายเขียนภาพประกอบได้ค่าจ้าง 5 บาท 10 บาท ก็ตื่นเต้นมากเพราะเรายากจน”
จึงรักงานวาดงานเขียนแต่นั้นมา
หลักการเขียนสีน้ำที่ดูเหมือนว่าง่าย แต่ทำได้ยาก ซึ่งคุณธีรยุทธจำจนวันตายคือ คำพูดของอาจารย์ที่ว่า “สีชุ่มๆ น้ำโชกๆ ใจกล้าๆ” ทำให้ภาพสีน้ำกลายเป็นมิติสำคัญอย่างหนึ่งในชีวิต
อาจารย์จำนงนั้นได้ชื่อว่าเป็นครูที่เฮี้ยบถึงขนาดนักเรียนคนไหนลืมสีหรือพู่กันจะถูกตัดคะแนนทันที แต่สำหรับศิษย์ที่มีนิสัยขี้ลืมเป็นประจำคนนี้ นอกจากอาจารย์จะไม่ยอมตัดคะแนนแล้ว อาจารย์ยังบอกว่า “เดี๋ยวครูจะหามาให้เอง” ทำเอาเพื่อนๆ เขม่นในความลำเอียงของอาจารย์ยิ่งนัก
น่าคิดหรือไม่ว่า คำว่า “สีชุ่มๆ น้ำโชกๆ ใจกล้าๆ” อาจส่งผลเป็นนิสัยแห่งการลงเรี่ยวแรงในเนื้องานที่ต้องการจะทำอย่างสุดฝีมือ ส่วนคำว่า “ใจกล้าๆ” คือพลังที่หล่อหลอมให้เขาเป็นคนหัวใจทรหด ไม่กลัวฟ้า ไม่กลัวดิน ไม่หวั่นหน้าอินทร์หน้าพรหมใดๆ หากตัดสินใจที่จะทำ เขาจึงเป็นกบฏเรียกร้องรัฐธรรมนูญ เป็นคนถือปืนแห่งป่าเขา เป็นคนคาดการณ์อนาคตของสังคมไทย เป็นคนหาญกล้าวิพากย์ทุกรัฐบาลอย่างน่าติดตาม
ช่วงชีวิตของคุณธีรยุทธ อาจแบ่งได้เป็น 5 ยุค
1. ยุคเรียกร้องประชาธิปไตย
ปี 2515 คุณธีรยุทธ นำการเคลื่อนไหวใช้ผ้าดิบในมหาวิทยาลัยเริ่มจากจุฬาฯ จนกลายเป็นแฟชั่นไปมหาวิทยาลัยอื่นๆ ตามด้วยการเคลื่อนไหวต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น ซึ่งได้รับความสนใจจากสาธารณะพอสมควร เป็นการเคลื่อนไหวที่ไม่คุกคามอำนาจรัฐ ในสภาพที่จอมพลถนอม กิตติขจร ยึดอำนาจตนเอง เมื่อ 17 พฤศจิกายน 2514 ที่ปิดหู ปิดตา ปิดปาก ประชาชน เผด็จอำนาจการเมืองอย่างทั่วด้าน
คุณธีรยุทธ บุญมี จึงประสานพลังร่วมของนักศึกษา นักวิชาการ ประชาชน เป็นกลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ แจกแผ่นปลิวแล้วถูกจับกุมคุมขัง นำไปสู่การเคลื่อนไหวใหญ่ 14 ตุลาคม 2516
2. ยุคเดินไพรปฏิวัติ
บรรยากาศขวาพิฆาตซ้ายหลังจากนั้น คุณธีรยุทธกับเพื่อนๆ ต้องเข้าป่าจับปืนร่วมกับฝ่ายปฏิวัติ สู้รบอยู่ในเขตป่าเขาราว 5 ปี (2519 - 2524)
เขา “คืนรัง” กลับสู่เมือง ไปเรียนต่อด้านสังคมวิทยา ที่เนเธอร์แลนด์ กลับมาทำงานการเมืองต่อเนื่องหลายอย่าง เช่นทำประชามติ ที่เรียกว่า “ธีรยุทธโพล” ในประเด็นสาธารณะต่างๆ จนกลายเป็นกิจกรรมสำคัญ เป็นการสำรวจอุณหภูมิทางการเมืองที่หลายสถาบันนิยม ทำกันในเวลาต่อมา
3. ยุคยืนหยัดสังคมเข้มแข็ง
ปี 2536 คุณธีรยุทธ วิเคราะห์การเมืองไทยด้วยมุมมองใหม่ที่ผนวกเอามิติทางสังคมวิทยา มานุษยวิทยา วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ เข้ามาร่วมพิจารณาด้วย
แล้วนำเสนอแนวคิดสำคัญคือ “ทางเลือกที่สาม การสร้างสังคมเข้มแข็ง”
แทนที่การเมืองระบบอุปถัมภ์เดิมที่ต้องอยู่ใต้อิทธิพลของเงินตรา คุณธีรยุทธ เสนอว่า
“ควรเปิดให้สังคมมีอำนาจเพิ่มขึ้นในการดูแลตัวเองในการตรวจสอบพฤติกรรมนักการเมือง การรับรู้ข้อมูลข่าวสาร การประชาพิจารณ์ ซึ่งก็คือแนวคิดเรื่องสังคมเข้มแข็ง หรือประชาสังคม (Civil Society) ที่ควรตราไว้ในรัฐธรรมนูญ”
เป็นแนวคิดที่ได้รับการตอบรับอย่างน่าสนใจ
4. ยุคพลังแรงธรรมรัฐ
วิกฤตต้มยำกุ้ง ที่เริ่มจากความล้มเหลวของระบบการเงิน สั่นสะเทือนไปทั่วทุกหัวระแหง ธุรกิจน้อยใหญ่กลายเป็นลูกหนี้แบบฉับพลันโดยไม่ทันตั้งตัว
Good Governance นี้ คุณธีรยุทธ ใช้คำว่า “ธรรมรัฐ” ในขณะที่ TDRI ใช้คำว่า ธรรมาภิบาล หมายถึงการบริหารจัดการที่ดีของภาครัฐ หรือภาคเอกชน ที่จะต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ เป็นธรรม มีประสิทธิภาพและเกิดการมีส่วนร่วม โดยองค์กร หรือหน่วยงานนั้นๆ จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบลงมือทำด้วยตนเอง เพื่อให้พฤติกรรมทั้งหมดอยู่ในเนื้อในตัวขององค์กรนั้น ไม่ใช่ใครอื่นจะมาเป็นผู้รับเหมาทำแทน
ศ. นพ. ประเวศ วะสี เขียนว่า
“ด้วยการถักทอทางสังคมทุกระดับเท่านั้นที่ ‘ธรรมรัฐแห่งชาติ’ ซึ่ง อ.ธีรยุทธ บุญมี พยายามผลักดันด้วยความปรารถนาดีอย่างยิ่ง จะสำเร็จได้ก่อให้เกิดสันติประชาธรรม”
5. ยุคกระบวนทัศน์ใหม่หลังตะวันตก (นับแต่ปี 2545)
เป็นการนำเสนอแนวคิดหลังตะวันตก (Post Western) ที่ปลดเปลื้ององค์ความรู้ ทั้งทฤษฎี ปรัชญา ศิลปะของตะวันตกที่ตอบสนองประโยชน์ตนเอง หันมาสู่ “ความหลากหลายของชีวิต และความหลากหลายทางวัฒนธรรม” ของคนไทยและคนตะวันออกที่มีสุนทรียะทางศิลปวัฒนธรรมล้ำเลิศ และลึกซึ้งกว่าตะวันตกในหลากหลายมิติ
นี่เป็นการตกผลึกทางความคิดและการเคลื่อนไหว 5 ยุค ของธีรยุทธ บุญมี ที่ปักเป็นหมุดหมายไว้ คนไทยจะศึกษา ยอมรับ และนำไปขยายผลอย่างไร หรือไม่ย่อมอยู่ที่แต่ละวิจารณญาณ
มกราคม 2563 เมื่อคราวครบอายุ 70 ปี ผมเขียนกลอนให้คุณธีรยุทธ บุญมี ว่า
“ขอต้อนรับ ขอคำนับ ขอศึกษา ลูกแม่ค้า ขายขนม ลูกจ่าทหาร
เป็นลูกสวน กุหลาบแกร่ง วิชาการ เป็นตำนาน ขานเล่า ลูกจุฬาฯ
ผ้าดิบเป็น ราวเรื่อง คนเนื่องหนุน ต้านสินค้า ญี่ปุ่น น่าศึกษา
เป็นเลขาฯ ศนท.ถูกเวลา ยืนทายท้า เผด็จการ ครั้งกระนั้น
เรียกร้อง รัฐธรรมนูญ อย่างองอาจ สร้างประวัติศาสตร์ อันเฉิดฉันท์
เป็นสิบสาม กบฏ ใจประจัน เป็นไง ก็เป็นกัน ชีวิตนี้
ผลพวง แห่งขวา พิฆาตซ้าย จึงเข้าป่า เป็นสหาย ตามวิถี
สามัคคี สู้รบ ไม่สามัคคี ขอคืนศักดิ์ คืนศรี คืนสู่เมือง
นำเสนอ “ธรรมรัฐ” “ธรรมาภิบาล” สื่อสาร “ประชาสังคม” จนลือเลื่อง
ชี้ทิศ บอกทาง ไทยประเทือง ยังต่อเนื่อง น้อมนำ ทัศนะ
เป็นศาสตราจารย์ หลังเกษียณ เป็นนักเขียน รางวัล ศิลปะ
สีพาสเทล ศรีบูรพา ขอคารวะ เป็นพละ พลังแรง แห่งความดี
คิดทำ ตามที่เห็น ตามเป็นจริง ประโยชน์ยิ่ง ส่วนรวม เป็นหน้าที่
ลมหายใจ เพื่อคนอื่น เจ็ดสิบปี ‘ ธีรยุทธ บุญมี ’ (มี)ชัยชนะ”
5 ยุคของคุณธีรยุทธ บุญมี น่าสนใจที่จะบันทึกไว้ว่า
ความจริงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นที่ยอมรับกันว่าคนไทยจำนวนไม่น้อย ยอมรับว่าเขาเป็นผู้นำนิสิตนักศึกษาที่หาญกล้าสู้กับเผด็จการ หากเขาลงสู่สนามเลือกตั้ง เลือกพรรคการเมืองที่เหมาะสม ย่อมมีศักยภาพที่จะได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นรัฐมนตรี มีศักยภาพที่จะคุมกลไกบริหารบ้านเมืองได้
แต่มีเลือกตั้งกี่ครั้ง คุณธีรยุทธก็ไม่ไยดี เขาพึงใจที่จะอยู่ข้างนอกวงจรอำนาจดำรงสถานะเป็นนักวิชาการอิสระที่คอยให้สติสังคมมากกว่าจะเข้าไปมีอำนาจราชศักดิ์ใดๆ
เขามีความสันทัดในการมองปัญหา ตัดสินใจ ประสานงาน และผลักดันความคิดที่เชื่อการรณรงค์เรื่องใช้ผ้าดิบ การต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น การเคลื่อนไหวกลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ การจัดตั้งกลุ่มประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (ปช. ปช.) ฯลฯ เป็นการเคลื่อนไหวอย่างเป็นมรรคผลโดยไม่ต้องมีอำนาจหรือตำแหน่งใดๆ มารองรับ แต่สามารถสร้างผลงานได้มหาศาล
งานภาพเขียนสีน้ำ สีพาสเทล สีน้ำมัน เป็นความลงตัวในการใช้ความปรารถนาอันแรงกล้าภายใน ใช้อิสรภาพทางจิตวิญญาณสู่ปลายพู่กัน ระบัดสีใส่แผ่นฟ้า แต้มแสงเงาในผืนน้ำ เติมสีเขียวให้แมกไม้ แต่งมวลหมู่เมฆด้วยสีขาว ไปให้สุดที่จินตนาการจะนำพา
เขาเรียกตนเองอย่างถ่อมตัวว่าเป็นศิลปินชายขอบ แต่ผู้เสพศิลป์ที่เห็นภาพของเขา ให้คะแนนมากกว่านั้น
หรือมิใช่