"...1. สิ่งสำคัญที่สุดในการเป็นผู้นำ คือ Mindset ผู้นำ มีหน้าที่ “นำ” ไม่ใช่มีหน้าที่ “สั่ง หรือ ทำ” ครับ และต้องนำให้มีคนอยากตาม เครื่องมือที่สำคัญที่สุดนั่นคือ “การพูด” พูดเพื่อเปลี่ยน Mindset คน เมื่อเค้าเห็น และ เชื่อ เค้าจะหาหนทางที่จะทำสิ่งนั้นเองโดยคุณไม่ต้องสั่ง นั่นคือ การนำที่ดีที่สุด ตลอด 3 ปีในวาระของผม ผมพูดเสมอว่า เราต้องเชื่อว่า คนไทยเก่ง ประเทศไทยเป็นชาติวิทยาศาสตร์ได้ และไทยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้ด้วยความเป็นไทย และผมพิสูจน์แล้วว่า คนในอว.ทำได้ครับ และ ตอนนี้กำลังทะยอยออกดอกออกผลครับ..."
คิดจะเป็น “ผู้นำ” ต้องอ่านเรื่องนี้ครับ 10 วิธีคิดสำหรับคนที่ตั้งเป้าอยากเป็น “ผู้นำ” โดยเฉพาะ “ผู้นำประเทศ หรือ ผู้นำภาครัฐ” ที่ผมอยากแชร์ครับ
1. สิ่งสำคัญที่สุดในการเป็นผู้นำ คือ Mindset ผู้นำ มีหน้าที่ “นำ” ไม่ใช่มีหน้าที่ “สั่ง หรือ ทำ” ครับ และต้องนำให้มีคนอยากตาม เครื่องมือที่สำคัญที่สุดนั่นคือ “การพูด” พูดเพื่อเปลี่ยน Mindset คน เมื่อเค้าเห็น และ เชื่อ เค้าจะหาหนทางที่จะทำสิ่งนั้นเองโดยคุณไม่ต้องสั่ง นั่นคือ การนำที่ดีที่สุด ตลอด 3 ปีในวาระของผม ผมพูดเสมอว่า เราต้องเชื่อว่า คนไทยเก่ง ประเทศไทยเป็นชาติวิทยาศาสตร์ได้ และไทยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้ด้วยความเป็นไทย และผมพิสูจน์แล้วว่า คนในอว.ทำได้ครับ และ ตอนนี้กำลังทะยอยออกดอกออกผลครับ
2. คนแก้ปัญหาได้เป็นคนเก่ง แต่คนที่เก่งกว่า คือ คนที่มองเห็นปัญหาเป็นโอกาส และ “ช่วงชิง” โอกาสนั้นมาให้ตัวเอง เพราะปัญหาแก้เท่าไรก็ไม่หมด และปัญหาเป็น subjective ไม่ใช่ objective จึงขึ้นกับมุมมองต่อปัญหานั้นๆ ของผู้นำ อย่าสนุกในการแก้ปัญหา และ หาคนผิดครับ ต้องใช้หลักที่ว่า “ให้ผ่อนปรนคนอื่น ให้เข้มงวดตัวเอง” และขอบคุณทุกครั้งที่ปัญหาเกิดขึ้น เพราะมิฉะนั้นเราก็จะไม่มีโอกาสครับ ตัวอย่างที่เห็นชัดที่สุด คือ ผมใช้วิกฤตโควิด19 ทำให้ประชาชน รู้จัก และ รัก อว.ภายใน 1-2 ปี เพราะเราเป็นกระทรวงใหม่ ชื่อก็ยาว แถมทำแต่เรื่องเข้าใจยาก แต่หลังจากอว.ทำ รพ.สนาม เปิดศูนย์ฉีดวัคซีน คนรู้จัก และ จำ อว.ได้ทันที แถมไว้ใจ และ อุ่นใจที่มี อว.ไปดูแลด้วย แบบนี้จึงเรียกว่า พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสครับ
3. ผู้นำ ต้องทำ “วิจัย” ทุกวัน ไม่ใช่เพราะผมอยู่กระทรวง อว.จึงมาชวนทำวิจัยนะครับ แต่การทำวิจัย คือ การคิด วิเคราะห์ ประเมินผล คิด วิเคราะห์ ประเมินผล กลับไปกลับมาอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะหน้าที่ “ผู้นำ” ไม่มีที่ไหนสอน และถึงอ่าน ศึกษาหลักการมาอย่างดี แต่ไม่เคยปฏิบัติ ท่านก็จะนำได้ไม่ดี อาจจะหลงไปทำหน้าที่ ผู้บริหาร มากกว่า ผู้นำ การนำแบบทำวิจัยทุกวัน คือ การคิด วิเคราะห์ ประเมินผลว่า เรานำแล้วได้ผลเป็นอย่างไร ถ้ายังไม่มีใครอยากตาม ต้องเปลี่ยนวิธีใหม่ ไม่ใช่ให้ไป คิด วิเคราะห์ เรื่องการจัดการ การบริหารงาน ซึ่งเป็นหน้าที่ของระดับผู้จัดการครับ
4. Data ไร้ประโยชน์ถ้าขาด Perspective ยิ่งในยุดของ BIG DATA ข้อมูลมีมากมายที่กองรอใครจะมาหยิบไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ถ้าเรามี Perspective ที่กว้าง และ ชัด เราจะเลือกหยิบข้อมูลที่สำคัญ และ เร่งด่วนมาใช้ได้ ผมตั้งเป้าหมายให้ อว.เป็นกระทรวงที่ผลักดันให้ไทยก้าวสู่ประเทศพัฒนาแล้วให้ได้ภายในปี 2580 ผมจึงมองเห็นช้างเผือกโดดเด่นขึ้นมาจากกอง Data ทั้งหมด และหยิบขึ้นป่าวประกาศให้สังคมได้รับรู้ เพื่อให้คนไทยเชื่อว่า คนไทยเก่ง และ แข่งขันได้ ผมเรียกการทดลองนี้ว่าเป็น “การระเบิดอัจฉริยภาพของคนไทย” ทำให้เชื่อมั่นว่า คนไทยทำดาวเทียมได้ คนไทยเก่งเรื่อง Quantum คนไทยเก่งกีฬา เก่งดนตรี แต่ที่ผ่านมา ถูก NASA , JAXA และ ต่างชาติ เอาตัวไปหมด เพราะเราไม่มีงานให้เค้าทำ ไม่มีพื้นที่ให้คนเก่งยืน ผู้นำต้องเห็นจุดนี้ และ “นำทาง” ให้คนเก่งได้แสดงศักยภาพของตัวเองให้มากที่สุดครับ
5. เมื่อขึ้นมาเป็นผู้นำขอให้ “ลืมภพลืมชาติ” เก่าให้หมด คุณอาจเป็นหมอที่เก่ง เป็นนักวิชาการที่เก่ง เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่เก่ง หรือ เป็นนักบริหารที่เก่ง แต่ไม่ได้ทำให้คุณเป็น “ผู้นำที่เก่งและดี” ได้ ความสามารถเดิมของคุณใช้เป็นฐานข้อมูล ฐานความรู้ได้ แต่เมื่อคุณก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำ คุณต้องคิดหาวิธีการนำ เพื่อนำพา หรือ เปลี่ยนแปลงองค์กร หรือ ประเทศไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ อย่าหลงไปกับความสำเร็จเดิม และ ทำไปเรื่อยๆ เสียโอกาสการเป็นผู้นำครับ
6. ผู้นำจะไม่ทำอะไรที่ไม่สำเร็จ เพราะชีวิตไม่ใช่ “โศกนาฏกรรม” ไม่ต้องบันทึกเรื่องราวที่ไม่สำเร็จ เศร้าหมองลงไปในชีวิต ถ้ารู้อยู่แล้วว่าทำแบบนี้จะไม่สำเร็จก็ต้องไม่ทำ ต้องไม่ใช้วิธีเดิมๆ ต้องคิดหาวิธีใหม่ที่มันจะสำเร็จ ใช้ทางลัด ทางเบี่ยง ทางเลี่ยงบ้าง ที่ผมเคยบอกให้เห็นปัญหาเป็นโอกาสครับ พอเห็นเป็นโอกาสจะมีทางเลือกมากมายให้เราเลือก ทดลองนำให้เกิดความสำเร็จเล็กๆก่อน จะทำให้กองทัพมีความฮึกเหิม ถ้ารบชนะไปเรื่อยๆ จะมีความมั่นใจออกรบสนามใหญ่ได้อย่างไม่หวั่นเกรง เหมือนที่ผมสร้าง “ธัชชา ธัชวิทย์ ธัชภูมิ” เป็นวิทยสถาน หรือ เป็นมหาวิทยาลัยแบบไม่เป็นทางการ เพราะรู้ว่า ถ้าเอาเข้าระบบมหาวิทยาลัย เรื่องนี้จะไม่สำเร็จ หรือ สำเร็จแต่ช้า ซึ่งตอนนี้ทั้ง 3 ธัช ได้ปักหมุดเป็นฐานการผลิต การนำทัพ สร้างคนเก่งทั้งวิทย์และศิลป์ เพื่อก้าวสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วภายในปี 2580 เรียบร้อยแล้วครับ
7. ผู้นำต้องคิดการใหญ่ เรื่องเล็กๆให้เป็นหน้าที่ของผู้บริหาร หรือ ผู้ใต้บังคับบัญชา เพราะมีแต่เรื่องใหญ่ๆเท่านั้นที่จะเกิดแรงกระเพื่อม ขับเคลื่อน เปลี่ยนแปลงองค์กร หรือ ประเทศได้ ผมพิสูจน์ทฤษฏีนี้ได้ด้วยการทำเรื่อง สุวรรณภูมิ เพราะการยกระดับประเทศไทยซึ่งเป็นที่ตั้งของดินแดนสุวรรณภูมิที่มีประวัติศาสตร์มากว่า 2,500-3,000 ปี เทียบเท่ากับ อารยธรรมกรีก โรมันนั้นเป็นสิ่งที่ทำให้ทั่วโลกหันมาสนใจประเทศไทยมากขึ้น เป็น Soft Power ที่ไม่ต้องลงทุนมาก เพราะเป็นข้อได้เปรียบที่เรามีมาตั้งแต่อดีตแต่ไม่เคยหยิบมาเป็นจุดขายของประเทศ และผมยังทำให้เรื่องนี้ใหญ่ขึ้นไปอีกด้วยการเตรียมยกประเทศไทยไปไว้ที่ British Museum ให้คนทั่วโลกรู้จักประเทศไทยโดยไม่ต้องเดินทางมา ผมทำเรื่องนี้สำเร็จโดยไม่ต้องผ่านกระทรวง ไม่ต้องผ่านคณะรัฐมนตรี เพราะผมจะไม่ทำเรื่องที่ไม่สำเร็จ ซึ่งผมได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนอีก 2-3 แห่ง อดใจรออีกไม่นานครับ สุวรรณภูมิจะพาไปไทยไปเวทีโลกครับ
8. ฝรั่งสอนให้ Start with WHY แต่ผู้นำแบบผมแนะนำให้ Start with WHO ครับ เพราะเราต้องรู้ว่า “ใคร” ต้องการสิ่งนี้ ก่อนจะลงมือทำ ถ้าไม่มีใครต้องการไม่ต้องทำครับ ผมใช้หลักการนี้ในการ “นำ” กระทรวงอว.มาตลอดโดยเปลี่ยนจาก Supply Side เป็น Demand Side ไม่ว่าจะมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย หรือ หน่วยงานสร้างนวัตกรรม ให้ไปหาความต้องการมาก่อนครับ ว่าประเทศ สังคม ประชาชน ต้องการอะไร แล้วผลิตสิ่งนั้นป้อนตามความต้องการ หรือ เป็นการศึกษาแนวโน้มในอนาคตว่าโลกกำลังต้องการอะไรแล้วเตรียมผลิตสิ่งนั้นไว้ล่วงหน้า เพราะ อว. เป็นกระทรวงแห่งอนาคต ต้องนำประเทศด้วยการออกแบบให้ตอบโจทย์ความต้องการ ผมฝากข้อนี้ถึงผู้นำประเทศทุกท่านด้วยครับ
9. ไม่มีชาติใดเจริญได้ ถ้ามีแต่ import ความรู้คนอื่นเข้ามา ในช่วงเริ่มต้นเรายังทำอะไรไม่เป็นก็ต้องพึ่งพาการ import เพื่อศึกษา เรียนรู้ แต่เราต้อง “พลิกเกม” กลับมา Export ของดีของเราให้ออกสู่ชาวโลกบ้าง จะทำให้เราก้าวสู่ประเทศพัฒนาแล้วได้เร็วขึ้นกว่าการผลิตเพื่อใช้กันเองภายในประเทศ “ผู้นำ” จะต้องเห็นโอกาสตรงนี้ และ รู้ว่าของดีเราคืออะไร ผมแนะนำให้ผู้นำทำงานต่างประเทศ 50% ในประเทศ 50% จะทำให้คุณมีโลกทัศน์ และ วิสัยทัศน์ที่กว้างขึ้น และ รู้จักตัวเองมากขึ้นจากมุมมองของผู้นำประเทศอื่นที่มองเข้ามา ซึ่งผู้นำแทบทุกประเทศที่ผมไปพบ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ประเทศไทยน่าอยู่” นั่นแหละครับ สิ่งที่ต้อง Export ออกไป
10. มาสร้างการเปลี่ยนแปลงด้วย Sandbox กันครับ Sandbox คือ พื้นที่ปลอดภัยสำหรับการเริ่มต้น หรือ เปลี่ยนแปลง แต่ผู้นำต้องกล้า และ ใจกว้างพอที่จะรับมือกับการทดลองที่อาจยังไม่สำเร็จบ้าง แต่เชื่อเถอะครับ ผลงานชิ้นโบว์แดงลุกๆล้มๆใน Sandbox ทั้งนั้นครับ Sandbox ที่ อว.เปิดให้แก้ไข ปรับเปลี่ยน ทดลอง กฎ ระเบียบ ได้ทุกอย่างครับ ทำแล้วไม่ work ก็ยกเลิก ทำแล้ว work ก็ขยายผล ผมจึงนั่งเป็นประธาน Sandbox เอง อย่าให้คนอื่นนั่งตำแหน่งนี้ ถ้าคุณต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลง
อ่านจบแล้ว อยากมาฝึกเป็น “ผู้นำ” กันไหมครับ
..... เชิญทานอาหารให้อร่อยครับ
“เอกเขนก” รวมบทสนทนา (ไม่) ลับบนโต๊ะอาหารตลอด 3 ปี ที่คุณไม่เคยได้ยินของผม อดีต รมว.อว.ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ กับ เรื่องราวเบื้องหลังแผนการเปลี่ยนไทยสู่ประเทศพัฒนาแล้วในปี 2580
แหล่งที่มา : Facebook ของ อดีต รมว.อว.ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์