"...1 ปีเต็ม ๆ กับการบำบัดอาการป่วย โดยที่มือและเท้าไม่ได้แตะเบาะยิมนาสติกเลย จนวันหนึ่งเธอตื่นขึ้นมาพร้อมพูดกับตัวเองว่า “ฉันไม่ต้องการบอกตนเองในอีก 10 ปีข้างหน้าว่า ฉันยอมแพ้และไม่พยายามที่จะเอาชนะตนเอง” ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่เธอยอมกลับเข้ายิมฝึกซ้อมอีกครั้งหนึ่ง แต่เป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป เข้ายิมเพียง 2 วันต่อสัปดาห์ ซึ่งไบลส์สารภาพว่า เป็นเรื่องที่ต้องฝืนใจตนเองอย่างมาก เพราะต้องก้าวข้ามความกลัวจากฝันร้ายที่เกิดขึ้น มีหลายครั้งที่เธอท้อ เลิกฝึกซ้อมกลางคันและเดินทางกลับบ้าน แต่ด้วยความเข้าอกเข้าใจและกำลังใจของโค้ชและเพื่อน ๆ ทำให้ในที่สุดเธอสามารถเอาชนะความกลัวและรู้สึกสบายใจขึ้นในการเล่นท่ายาก ๆ ที่เคยทำได้..."
ซิโมน ไบลส์ (Simone Biles) ราชินียิมนาสติก ชาวสหรัฐฯ ดับความฝันตนเองที่จะกวาดเหรียญทองครบ 6 เหรียญ ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ 2020 ที่กรุงโตเกียว เมื่อเธอหันไปบอกกับผู้ฝึกสอนว่า “ฉันไม่ต้องการลงแข่ง ฉันพอแล้ว” พร้อมขอถอนตัวกลางคันขณะกำลังแข่งขัน ซึ่งเกิดจากปัญหาสุขภาพจิตแบบกะทันหันที่เรียกว่า “ทวิสตี้ส์” (Twisties) เป็นภาวะที่ร่างกายและจิตใจไม่ตรงกัน
ไบลส์เดินทางกลับสหรัฐฯ ด้วยบาดแผลลึกทางจิตใจ แต่ต้องจำใจเดินทางไปกับเพื่อนร่วมทีมเพื่อเล่นยิมนาสติกทั่วประเทศอีกกว่า 34 เมือง เป็นเงื่อนไขที่ถูกกำหนดไว้ก่อนการแข่งขันโอลิมปิก ซึ่งไบลส์ไม่สามารถเล่นได้สมกับความเป็นอัจฉริยะของเธอ แต่สิ่งที่ไบลส์แปลกใจคือในทุกเมืองที่ไปเล่นกลับมีผู้ชมเต็มสนาม ตะโกนให้กำลังใจเธอตลอดเวลา ไบลส์กล่าวว่า “การได้ไปทัวร์ในครั้งนั้น ช่วยให้ฉันได้ข้อคิดว่า ชีวิตมีมากกว่ายิมนาสติก ฉันไม่นึกว่า จะมีใครมาดูฉันเล่นอีก แม้ว่าฉันไม่สามารถลงแข่งขันโอลิมปิกและสร้างความผิดหวังให้กับแฟน ๆ ก็ตาม” [1]
สาเหตุของการเกิดอาการทวิสตี้ส์ ต้องย้อนกลับไปในวัยเด็ก ด้วยไบลส์เกิดมาพร้อมโรคสมาธิสั้น มีอาการสับสน กระสับกระส่าย และไม่สามารถจดจ่อทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งต่อเนื่องเป็นเวลานาน ๆ จึงมีปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวัน เธอต้องทานยาเพื่อระงับอาการ และทางออกคือการเลือกเล่นกีฬาเพื่อฝึกสมาธิและโฟกัสกับการฝึกซ้อม และมุ่งมั่นต่อเป้าหมายเพื่อเอาชนะตนเองและคู่แข่ง ทำให้ผู้ป่วยโรคสมาธิสั้นอย่างไบลส์ต้องมีความขยันและตั้งใจมากกว่านักกีฬาทั่วไป และความบอบช้ำที่เธอถูกล่วงละเมิดด้วยน้ำมือของแลร์รี นาสซาร์ (Larry Nassar) อดีตแพทย์ประจำทีมของสหรัฐฯ ทำให้เธอรู้สึกเหมือนกำลังแบกโลกทั้งใบไว้บนบ่า โดยมีเพียงไม่กี่คนที่เข้าใจเธอ ทำให้อาการป่วยของเธอกำเริบและลุกลามจนเกิดอาการทวิสตี้ส์ในที่สุด [2]
ไบลส์กลับไปยังเมืองฮุสตัน บ้านเกิดของเธอ พร้อมเข้ารับการรักษาอาการสุขภาพจิตกับจิตแพทย์ทุกสัปดาห์ เลือกที่จะไม่เข้าค่ายฝึกซ้อมและไม่รับส่งข้อความเรื่องยิมนาสติกผ่านโซเชียลมีเดีย ไบลส์ กล่าวว่า “เมื่อไหร่ก็ตามที่ฉันอยู่ในสถานการณ์ที่มีความเครียดสูง ฉันจะเริ่มสติแตก ฉันจำเป็นต้องโฟกัสกับสุขภาพจิตของตัวเอง เพื่อป้องกันไม่ให้สุขภาพทั้งกายและใจต้องมาเสี่ยงกับอันตรายตรงนี้ ฉันไม่ได้เป็นแค่นักกีฬา แต่ฉันเป็นเพียงคนธรรมดาคนหนึ่ง”
1 ปีเต็ม ๆ กับการบำบัดอาการป่วย โดยที่มือและเท้าไม่ได้แตะเบาะยิมนาสติกเลย จนวันหนึ่งเธอตื่นขึ้นมาพร้อมพูดกับตัวเองว่า “ฉันไม่ต้องการบอกตนเองในอีก 10 ปีข้างหน้าว่า ฉันยอมแพ้และไม่พยายามที่จะเอาชนะตนเอง” ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่เธอยอมกลับเข้ายิมฝึกซ้อมอีกครั้งหนึ่ง แต่เป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป เข้ายิมเพียง 2 วันต่อสัปดาห์ ซึ่งไบลส์สารภาพว่า เป็นเรื่องที่ต้องฝืนใจตนเองอย่างมาก เพราะต้องก้าวข้ามความกลัวจากฝันร้ายที่เกิดขึ้น มีหลายครั้งที่เธอท้อ เลิกฝึกซ้อมกลางคันและเดินทางกลับบ้าน แต่ด้วยความเข้าอกเข้าใจและกำลังใจของโค้ชและเพื่อน ๆ ทำให้ในที่สุดเธอสามารถเอาชนะความกลัวและรู้สึกสบายใจขึ้นในการเล่นท่ายาก ๆ ที่เคยทำได้
นอกจากกำลังใจจากครอบครัว โค้ชและเพื่อน ๆ แล้ว เธอได้พบรักกับโจนาธาน โอเวนส์ (Jonathan Owens) นักอเมริกันฟุตบอลอาชีพ และแต่งงานกันเมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2023 ทั้งสองต่างสนับสนุนซึ่งกันและกันในอาชีพนักกีฬาของพวกเขา โดยไบลส์ไปเชียร์โอเวนส์ถึงขอบสนามเมืองชิคาโก ในขณะที่โอเวนส์ไปให้กำลังใจไบลส์ในการแข่งขันทุกครั้ง ไบลส์กล่าวว่า "ฉันเหมือนแต่งงานกับยิมนาสติก ตอนนี้ฉันรู้สึกเหมือนผูกพันกับสิ่งอื่น ๆ อีกมากมาย และยิมนาสติกเป็นเพียงส่วนหนึ่งในแต่ละวันของฉัน เพราะเมื่อสิ้นสุดการฝึกซ้อม ฉันได้กลับบ้านไปพบสามี สุนัขของฉัน และมีสิ่งอื่น ๆ ที่สร้างความสุขในชีวิต"
ไบลส์กลับมาแข่งขันอย่างเต็มรูปแบบในเดือนกันยายน 2023 คว้า 4 เหรียญทองจากการแข่งขันชิงแชมป์โลก แสดงท่า “Biles II” ท่าเอกลักษณ์ของเธอในอุปกรณ์ประเภทม้ากระโดดที่เธอสามารถลอยขึ้นไปตีลังกากลับหลัง พร้อมหมุนตัวสองรอบครึ่ง ก่อนเท้าลงบนพื้นได้อย่างสมบูรณ์แบบ และในที่สุดเธอถูกเลือกเป็นตัวแทนทีมชาติสหรัฐฯ ในการเข้าร่วมแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2024 ปารีสเกมส์ ที่กำลังแข่งขันอยู่ ณ เวลานี้
ไบลส์ให้สัมภาษณ์ก่อนเดินทางไปยังกรุงปารีสว่า “ฉันได้เรียนรู้มากมายเกี่ยวกับตัวเองจากการเข้าร่วมแข่งขันโอลิมปิก ซึ่งครั้งนี้จะเป็นครั้งที่สาม แน่นอนแต่ละครั้งจะกลับมาพร้อมแผลทางใจ แต่ฉันรู้สึกว่า ณ จุดนี้ ไม่มีอะไรสามารถบั่นทอนจิตใจที่มุ่งมั่นของฉันได้ ฉันผ่านความบอบช้ำทางใจอย่างมาก และต้องดูแลรักษาใจมาตลอดชีวิต แต่ฉันตื่นเต้นที่จะได้เห็นว่า จะเกิดอะไรขึ้นต่อจากนี้"
เรามาช่วยกันลุ้นให้กำลังใจซิโมน ไบลส์ เพื่อให้เธอได้สานฝันสำเร็จ กลายเป็นสุดยอดนักยิมนาสติกที่เก่งกาจที่สุดตลอดกาลเพียงคนเดียวอย่างแท้จริง (GOAT: The Greatest Of All time)
อ่านเพิ่มเติม : ซิโมน ไบลส์: ราชินียิมนาสติก พลิกชีวิตสานฝัน
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก https://olympics.com
แหล่งที่มา:
[1] OlympicTalk, Simone Biles overcame tears, fears for a no-regrets gymnastics comeback,May 16, 2024 11:41 AM, NBC Sports https://www.nbcsports.com/olympics/news/simone-biles-gymnastics-comeback-olympics
[2] กรณีศึกษา:"ซิโมน ไบลส์" ภาวะทางจิตกับความกดดันของสังคมต่อนักกีฬา, Sanook.com,7 สิงหาคม 2564 เวลา 15:15 น https://www.sanook.com/sport/1294114/