"...การละเมิดลิขสิทธิ์เป็นการขโมยทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งเป็นแหล่งรายได้สำคัญของประเทศ การกระทำนี้ทำให้รัฐสูญเสียรายได้จากภาษีและการลงทุนในวงการบันเทิงและกีฬา นอกจากนี้ยังทำให้เกิดการขาดแคลนทุนทรัพย์ในการพัฒนาและส่งเสริมกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม..."
ในยุคดิจิทัลที่มีการเผยแพร่ข้อมูล ข่าวสาร ความบันเทิง และกีฬาอย่างกว้างขวางทำให้ผู้คนสามารถเข้าถึงได้อย่างรวดเร็ว ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์กลับกลายเป็นปัญหาที่เพิ่มขึ้นอย่างน่ากังวล ไม่ว่าจะเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของภาพยนตร์ เพลง หรือการถ่ายทอดการแข่งขันกีฬาระดับโลก การกระทำเหล่านี้ไม่เพียงแต่ทำลายวงการบันเทิงและกีฬาเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมในวงกว้างด้วย เหมือนดังโรคร้ายที่รอหมอมือดีมาแก้ไข รอยาแรงมากำจัดกับการละเมิดลิขสิทธิ์ที่รุนแรงมากขึ้นทุกวัน
การละเมิดลิขสิทธิ์เป็นปัญหาเกาะกินแทบทุกวงการมาเป็นเวลานานหลายสิบปี และมีผลกระทบอย่างกว้างขวางในหลายอุตสาหกรรมในประเทศไทย ดังนั้น ทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็น ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ต้องผนึกกำลังและเอาจริงกับการแก้ไขปัญหานี้
มูลค่าความสูญเสียจากการละเมิดลิขสิทธิ์ในอุตสาหกรรมบันเทิง ตามรายงานของสมาคมผู้ผลิตภาพยนตร์แห่งอเมริกา (Motion Picture Association - MPA) พบว่า ประเทศไทยสูญเสียรายได้จากการละเมิดลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ปีละประมาณ 3,000-5,000 ล้านบาท สำหรับอุตสาหกรรมเพลง การละเมิดลิขสิทธิ์ทำให้สูญเสียรายได้ประมาณ 1,500-2,000 ล้านบาทต่อปี สิ่งที่น่าละอาย คือ ผู้คนในวงการบันเทิงสหรัฐอเมริกากล่าวว่าเทคโนโลยีของประเทศไทยพัฒนาไม่น้อยกว่าประเทศอื่น แต่พัฒนาด้านจริยธรรม ของประเทศไทยพัฒนาไม่ทัน การพัฒนาเทคโนโลยี เห็นได้จากการละเมิดลิขสิทธิ์ผลงานบันเทิงที่เกิดขึ้นมากมายในประเทศไทย
การละเมิดลิขสิทธิ์ในอุตสาหกรรมกีฬา การถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬาระดับโลกที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์ คาดว่าจะทำให้ประเทศไทยสูญเสียรายได้จากการโฆษณาและการขายสิทธิ์ในการรับชมประมาณ 1,000-2,000 ล้านบาทต่อปี เป็นการสูญเสียด้านเศรษฐกิจที่รุนแรงมาก
ผลกระทบทางเศรษฐกิจโดยรวม คือการสูญเสียรายได้จากการละเมิดลิขสิทธิ์ในทุกภาคส่วนทั้งภาพยนตร์ เพลง และกีฬา คาดว่าทั้งหมดนี้จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยสูญเสียรายได้โดยรวมประมาณ 7,000-10,000 ล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ การละเมิดลิขสิทธิ์ยังทำให้รัฐสูญเสียรายได้จากภาษีที่สามารถนำไปพัฒนาสาธารณูปโภคและบริการสาธารณะของประเทศได้
การละเมิดลิขสิทธิ์ไม่เพียงแต่จะสร้างความเสียหายต่อภาคเศรษฐกิจเท่านั้น แต่การละเมิดลิขสิทธิ์ส่งผลกระทบทางด้านสุขภาพจิตและสังคมอีกด้วย การเข้าถึงเนื้อหาที่ละเมิดลิขสิทธิ์โดยไม่ได้มีการคัดกรองอาจนำไปสู่การเสพสื่อที่ไม่เหมาะสมกับวัย ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทางจิตใจและสังคมของเยาวชน เป็นการเสี่ยงต่อการเรียนรู้ที่ไม่ถูกต้อง การใช้เนื้อหาละเมิดลิขสิทธิ์อาจทำให้เด็กและเยาวชนได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้องหรือล้าสมัย เนื่องจากเนื้อหาดังกล่าวมักจะไม่ได้รับการปรับเปลี่ยนให้ทันสมัยตามมาตรฐานการศึกษา ทั้งนี้เยาวชนอาจไม่เข้าใจความสำคัญของการเคารพทรัพย์สินทางปัญญา จนทำให้พวกเขาเห็นว่าการทำสำเนาหรือการดาวน์โหลดเนื้อหาที่มีลิขสิทธิ์โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นเรื่องปกติ
นอกจากนี้การละเมิดลิขสิทธิ์ ยังมีความเสี่ยงต่อภัยออนไลน์ เพราะการดาวน์โหลดเนื้อหาละเมิดลิขสิทธิ์จากแหล่งที่ไม่น่าเชื่อถืออาจนำไปสู่การเสี่ยงต่อไวรัสคอมพิวเตอร์และการถูกล้วงข้อมูลส่วนตัวที่อาจจะทำให้สูญเสียทรัพย์ได้อีกด้วย
การแก้ไขปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวด การเสริมสร้างความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ให้สาธารณได้รับรู้ และการส่งเสริมการเคารพทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่น
อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการละเมิดลิขสิทธิ์ ประกอบด้วย
1. อุตสาหกรรมบันเทิง ภาพยนตร์ เพลง และสื่อบันเทิงอื่น ๆ ถูกละเมิดลิขสิทธิ์ผ่านการทำสำเนาผิดกฎหมายและการแจกจ่ายออนไลน
2. อุตสาหกรรมหนังสือ การทำสำเนาหนังสือผิดกฎหมายและการแจกจ่ายเนื้อหาหนังสือแบบดิจิทัลโดยไม่ได้รับอนุญาต
3. อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในปรากฏการที่ซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชันต่าง ๆ ถูกทำสำเนาและใช้งานโดยไม่ได้รับอนุญาต
4. อุตสาหกรรมแฟชั่นและการออกแบบ การคัดลอกแบบไซน์และผลิตภัณฑ์ที่มีลิขสิทธิ์โดยไม่ได้รับอนุญาต
ผลร้ายของการละเมิดลิขสิทธิ์ ยังทำให้ศิลปินและนักกีฬาของเราไม่ได้รับการสนับสนุนที่เหมาะสม ผลงานที่พวกเขาสร้างสรรค์ด้วยความตั้งใจและพยายามกลับถูกขโมยและนำไปเผยแพร่โดยไม่ได้รับอนุญาต ส่งผลให้พวกเขาสูญเสียรายได้และกำลังใจในการสร้างสรรค์ผลงานใหม่ ๆ
การละเมิดลิขสิทธิ์เป็นการขโมยทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งเป็นแหล่งรายได้สำคัญของประเทศ การกระทำนี้ทำให้รัฐสูญเสียรายได้จากภาษีและการลงทุนในวงการบันเทิงและกีฬา นอกจากนี้ยังทำให้เกิดการขาดแคลนทุนทรัพย์ในการพัฒนาและส่งเสริมกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม
ประเทศไทยต้องมีมาตรการเด็ดขาด เริ่มตั้งแต่การบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดและมีประสิทธิภาพในการติดตามและปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ ผู้กระทำความผิดต้องได้รับการลงโทษอย่างเหมาะสม เพื่อเป็นตัวอย่างแก่ผู้อื่นในการป้อมปรามการละเมิดลิขสิทธิ์
ที่สำคัญไม่แพ้การบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวด คือการให้ความรู้และการรณรงค์สร้างจิตสำนึก การให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับผลกระทบของการละเมิดลิขสิทธิ์และการส่งเสริมให้ตระหนักรู้ว่าการใช้บริการที่ถูกต้องตามกฎหมายเป็นสิ่งสำคัญ เราต้องร่วมกันสร้างสังคมที่เคารพลิขสิทธิ์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ตั้งแต่ภาครัฐ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไป เราทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหานี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกใช้บริการที่ถูกต้องตามกฎหมาย การให้ความรู้และสร้างจิตสำนึกให้กับคนรอบข้าง และการสนับสนุนการรณรงค์เพื่อการเคารพลิขสิทธิ์
การละเมิดลิขสิทธิ์เป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพราะส่งผลกระทบทั้งต่อวงการบันเทิง กีฬา เศรษฐกิจ และความปลอดภัยของผู้ใช้ การร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหานี้จะช่วยสร้างสังคมที่มีความยุติธรรมและยั่งยืน ซึ่งเป็นสิ่งที่เราทุกคนควรมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ใช้ยุทธศาสตร์การสร้างสรรค์ในการสร้างความแข็งแกร่งให้เศรษฐกิจของประเทศ
โดย รองศาสตราจารย์ ดร.เสรี วงศ์มณฑา