"...การเรียนรู้ที่ไม่รู้จบ สามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลา ทุกยุค ทุกสมัย เป็น Lifelong Learning ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเรียนรู้ได้อย่างเท่าเทียมกัน เป็นการการเสริมและลับคมทักษะให้กับชีวิต ที่จะทำให้การพัฒนาศักยภาพของทุนมนุษย์ทำได้ในทุกมิติ และทำให้อยู่รอดได้ในโลกยุคปัจจุบัน..."
หมายเหตุสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org): มูลนิธิเอสซีจี จับมือเครือข่าย จัดงาน Learn to Earn Talk มุ่งสร้าง mindset การเรียนรู้ตลอดชีวิต ให้ทุกภาคส่วนทุก Generation เห็นความสำคัญของการมีทักษะวิชาชีพ (Hardskill) ที่ตลาดต้องการ และทักษะชีวิต (Softskill) สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง อย่างเป็นรูปธรรม จัดเวทีเสวนาในหัวข้อ ‘Empowering Learn to Earn Mindset’ แลกเปลี่ยนมุมมองและนำเสนอโมเดลแห่งการเรียนรู้ในโลกยุคใหม่ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) และเพิ่มโอกาสในการคว้าอาชีพแห่งอนาคต
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังติดกับดักความยากจน และการศึกษาที่มีความเหลื่อมล้ำสูง และการศึกษาเป็นเพียงทางเลือกเดียว (single-track education) ซึ่งไม่ตอบโจทย์เทรนด์โลกปัจจุบัน
กสศ. มีความพยายามที่จะสร้างการศึกษาที่มีหลายทางเลือก (multi-track education) ทั้งในและนอกระบบการศึกษา ในระบบ จะเป็นการสร้างหลักสูตรระยะสั้น (6 เดือน – 1 ปี) กับทางมหาวิทยาลัย เช่น หลักสูตรผู้ช่วยทันตแพทย์ รวมถึงการศึกษานอกระบบที่ช่วยให้เด็กที่หลุดจากระบบได้ระบบการศึกษาผ่านการสร้างสัมมาชีพ เช่น การเข้าถึงป่าชุมชนที่สามารถสร้างงานและสินค้าพื้นที่ได้ ด้วยการฝึกฝนผู้คนในพื้นที่ให้ได้ทั้งวิชาและอาชีพ
ดร.ไกรยศ กล่าวว่า ชุมชนเป็นกลไกและพลวัตสำคัญในการแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาหรือได้รับการส่งเสริมการเรียนรู้ตามศักยภาพ นอกจากนี้ยังเป็นจุดคานงัดที่สำคัญนำไปสู่การเรียนรู้ที่เพิ่ม Productivity ตอบโจทย์กลุ่มเยาวชนและแรงงานยากจนและด้อยโอกาสให้พึ่งพาตนเองได้บนฐานชุมชนพื้นที่
ดร.ไกรยศ กล่าวอีกว่า สำหรับการสร้างชีวิตใหม่และยกระดับอาชีพ วิชาการ วิชาชีวิต และวิชาชีพ เพื่อให้สามารถสร้างรายได้้ สร้างคุณภาพชีวิตทั้้งต่อตนเองขยายสู่ครอบครัว และเชื่อมโยงให้เกิดการพัฒนาในชุมชนอีกด้วย
รศ.ดร.ปรารถนา ใจผ่อง ผู้อำนวยการวิทยาลัยการศึกษาตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า วิทยาลัยการศึกษาตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ริเริ่มและเปิดโอกาสทางการศึกษาเพื่อส่งมอบองค์ความรู้ พัฒนาทักษะและเสริมศักยภาพคนทุกช่วงวัย ผ่านความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชนรศ.ดร.ปรารถนา กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยในระดับสมบูรณ์ หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนต่างร่วมมือกันเพื่อดูแลและส่งเสริมกิจกรรมของผู้สูงอายุ โดยการสร้างสังคมการเรียนรู้ตลอดชีวิต เสริมสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างยั่งยืนในสังคม เพราะสิ่งสำคัญในการเรียนรู้ คือจุดประสงค์ในการเรียน (purpose learning)
"มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มุ่งสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต ด้วยการสร้างหลักสูตรระยะสั้นที่ตอบโจทย์กระแสโลกได้ทันที รวมถึงการสร้างการเรียนรู้ให้แก่ผู้สูงอายุให้สามารถสร้างอาชีพ และเพิ่มรายได้ให้กับครัวเรือนเฉลี่ย 3,000 บาทต่อเดือน" รศ.ดร.ปรารถนา กล่าว
ด้าน นายนครินทร์ วนกิจไพบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และบรรณาธิการ บริษัท เดอะสแตนดาร์ด จำกัด ได้กล่าวในมุมมองของสื่อ จากการทำงานสื่อตลอดมา ทำให้เห็นว่า โลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทั้งด้าน AI และ Biotech สังคม Learn to Earn จะเกิดในสังคมไทยได้จะต้องปรับแนวคิดว่าการศึกษาในระบบไม่ใช่ศูนย์กลางการศึกษาอีกต่อไป สื่อมีส่วนช่วยในการส่งเสริมการศึกษาไม่ว่าจะเป็นผลิตสื่อที่ทั้งให้ความรู้และความบันเทิงไปพร้อมกันแบบ Edutainment ซึ่งเป็นสิ่งที่ เดอะ สแตนดาร์ด มุ่งมั่นสร้างมาตลอด รวมถึงทุกคนในสังคมมีส่วนร่วมในการสร้างแวดล้อมการเรียนรู้ได้ รวมถึงทุกภาคส่วนทั้งรัฐและเอกชนต้องจับมือร่วมกัน
นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม ประธานกรรมการมูลนิธิเอสซีจี กล่าวว่า จากข้อมูลการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ระบุว่า หนึ่งในสาเหตุของการว่างงาน คือทักษะวิชาชีพไม่ตรงกับความต้องการของตลาด (Skill Mismatch) ทำให้คนรุ่นใหม่จำเป็นต้องมีทั้งทักษะ Hard Skills เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงาน และต้องพัฒนาทักษะชีวิต Soft Skills เพื่อให้สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะต้องรักที่จะเรียนรู้ และเป็นการเรียนรู้ตลอดชิวิต เพื่อให้เป็นคนเก่งและคนดีและอยู่รอดได้ในโลกปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
โดยเฉพาะด้าน Soft Skills ที่ได้ผลการศึกษาทั้งในรูปแบบ Qualitative และ Quantitative research จาก TDRI ผลการวิจัยกลุ่มตัวอย่างกว่า 500 คน และการแลกเปลี่ยนทางความคิด จากเวที Opinion Panel พบ Skill Set ที่สำคัญจะทำให้อยู่รอดได้ในปัจจุบันและอนาคต ได้แก่ 1) ทักษะการสื่อสาร และทักษะด้านภาษา 2) ทักษะการทำงานร่วมกับคนอื่น และ 3) ทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์
ที่ผ่านมา มูลนิธิเอสซีจี ได้ให้ทุนการศึกษาที่ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ ตามแนวคิด LEARN to EARN เรียนรู้ เพื่ออยู่รอด ทั้งในระบบ และนอกระบบ จำนวน 100,000 ทุน มาอย่างยาวนานกว่า 60 ปี พร้อมผนึกความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการช่วยกันขับเคลื่อนแนวคิดดังกล่าว ทั้งระดับนโยบายและระดับปฏิบัติ ผ่านงาน LEARN to EARN : The forum เมื่อปลายปีที่ผ่านมา และงาน LEARN to EARN Talk ในครั้งนี้ จะช่วยจุดประกายให้ทุกภาคส่วนได้เห็นความสำคัญและช่วยกันผลักดันในทุกมิติ
“ทางมูลนิธิฯ พบว่านักเรียนทุนที่จบมา ตกงาน ไม่ตรงกับที่ตลาดต้องการ เราจึงเน้นทุนระยะสั้น เรียนเร็ว จบเร็ว มีงานทำทันที ภายใต้แนวคิด LEARN to EARN เรียนรู้เพื่ออยู่รอด โดยกว่า 7,000 ทุน ได้งานทำกว่า 90% ทั้งนี้ยังมี Skill Set ที่สำคัญที่นำไปสู่การ Earn จากการ Learn คือ 3 ทักษะ คือ ทักษะการสื่อสารและภาษา ทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น และทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์ เพื่อสนับสนุนแนวคิดนี้ จึงได้จัด Empowering Learn to Earn Mindset ตอกย้ำให้ทุกคนเห็นความสำคัญของการเรียนรู้ สามารถนำไปปฏิบัติ สร้างโอกาส สร้างคุณค่าให้กับตัวเองและสังคมได้” นายธรรมศักดิ์ กล่าว
นอกจากนี้ ยังมี นายสุวิกรม อัมระนันท์ (เปอร์-สเปกทีฟ ) กรรมการผู้จัดการ บริษัท แบล็คดอท จำกัด และ ดร. วิทย์ สิทธิเวคิน Host รายการ 8 Minute History และ Morning Wealth ที่มาบอกเล่าถึงการออกแบบความคิดให้ชีวิตไม่หยุดเรียนรู้ (Learnฉ การฝึกฝนวิธีคิดให้ตัวเองเป็นคนชอบเรียนรู้ พร้อมแบ่งปันแนวทางในการวางแผนอนาคตเพื่อสร้างแรงบันดาลใจในโลกที่การเรียนรู้ไม่มีวันสิ้นสุด
เพราะการเรียนรู้ที่ไม่รู้จบ สามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลา ทุกยุค ทุกสมัย เป็น Lifelong Learning ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเรียนรู้ได้อย่างเท่าเทียมกัน เป็นการการเสริมและลับคมทักษะให้กับชีวิต ที่จะทำให้การพัฒนาศักยภาพของทุนมนุษย์ทำได้ในทุกมิติ และทำให้อยู่รอดได้ในโลกยุคปัจจุบัน
การร่วมมือกันของทุกภาคส่วนจะทำให้แนวคิดนี้ได้รับการเผยแพร่ออกไปในวงกว้างมากขึ้น นอกเหนือจากสถาบันการศึกษา ครู ผู้ปกครอง รวมถึงการมุ่งเน้นขยายกลุ่มเป้าหมายไปยังคนทุกเจนทุกวัย ที่จะสามารถเรียนรู้เพื่ออยู่รอดได้ในโลกปัจจุบันและอนาคต สามารถเลี้ยงดูตนเองได้ และพร้อมส่งต่อโอกาสให้กับคนอื่นๆ ในสังคมต่อไปได้ด้วยเช่นกัน