"...กรรมการท่านหนึ่งถามต่อด้วยความสงสัยว่า “ทำไมคุณถึงบอกเราว่าโกงข้อสอบ คุณโกหกและหาเหตุผลอื่นได้นี่” มาโนชตอบกลับว่า “มันรู้สึกไม่ถูกต้องครับ ที่ซ่อนการโกงด้วยการโกงอีก การโกงครั้งแรก ผมไม่รู้ว่ามันผิด ครูเราช่วยเราโกง แต่เมื่อผมรู้ว่ามันเป็นเรื่องผิด จึงตัดสินใจไม่โกงอีก เอดมันด์ ฮิลลารี เป็นคนแรกที่พิชิตเขาเอเวอเรสต์ แต่แอง ริต้า เป็นชาวเชอร์ปาคนแรกที่พิชิต โดยไม่มีออกซิเจนช่วย สำหรับผม สิ่งที่ริต้าทำสำเร็จนั้น ยิ่งใหญ่กว่ามาก และผมมาถึงจุดนี้ โดยไม่มีออกซิเจนช่วย มาด้วยเท้าเปล่า เช่นกัน”..."
พวกเราต่างผ่าน “สนามสอบ” ทั้งสนามเล็กและใหญ่ และคงยังจดจำบรรยากาศในวันสอบได้ดี เพราะคืนก่อนหน้านั้นนอนไม่หลับ กระวนกระวาย และเมื่อถึงสถานที่สอบจะสวดมนต์ภาวนาขอให้ทำข้อสอบได้ดี ในขณะที่กรรมการมักแจกข้อสอบไว้ตรงหน้า แต่ไม่ให้เปิดดูจนกว่าจะแจกผู้เข้าสอบครบทุกคน เรียกว่าทำให้ตื่นเต้นเพิ่มขึ้นไปอีก โจทย์จะเป็นไปตามที่คาดเดาและที่เตรียมตัวมาแบบไม่ได้หลับไม่ได้นอนหรือไม่ แต่ที่ต้องลุ้นสุด ๆ คือผลการสอบที่บางครั้งไม่กล้าที่จะดูด้วยตนเอง หรือต้องค่อย ๆ แง้มตาเปิดดู
อย่างไรก็ดี ในสภาพความเหลื่อมล้ำของสังคมโดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา เด็กทุกคนไม่ได้โชคดีมีสิ่งแวดล้อมพร้อมเพื่อเตรียมสอบเช่นนั้น มาโนช กุมาร์ ชามา (Manoj Kumar Sharma) เด็กหนุ่มชาวอินเดียที่เกิดในครอบครัวยากจน อาศัยอยู่ที่หมู่บ้านเล็ก ๆ ใน “จัมบัล” (Chambal) ซึ่งเป็นเขตที่ดังกระฉ่อนว่าชุกชุมไปด้วยโจรและการคดโกงทุจริตมากมาย แม้แต่ระบบการศึกษาในโรงเรียนที่หมู่บ้านแห่งนี้ก็ไม่เว้น มาโนชใฝ่ฝันอยากจะเป็นข้าราชการตำรวจ เพราะอยากให้ย่าของเขาภูมิใจ พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตของครอบครัวให้สุขสบาย แต่ว่าการสอบชิงตำแหน่งนี้มีการแข่งขันสูงมาก แต่ละปีมีผู้เข้าสอบกว่า 200,000 คน แต่คัดเอาหัวกะทิแค่ 30 คนเท่านั้น เป้าหมายที่จะไปถึงจึงต้องฝ่าฟันอุปสรรคนานัปการ ตั้งแต่คุณภาพการศึกษาในโรงเรียน ที่ครูต้องการสร้างผลงานด้วยการปล่อยให้นักเรียนโกงข้อสอบเพื่อให้สอบผ่านและเรียนจบ จนทำให้เด็ก ๆ คิดว่าการโกงข้อสอบเป็นเรื่องปกติที่สังคมรับได้ ดังนั้น นักเรียนจึงจบการศึกษาแบบไม่มีคุณภาพ ทำมาหากินอะไรได้ไม่มากมายนัก เลยจมอยู่กับความยากจนรุ่นแล้วรุ่นเล่า1/
มาโนช กุมาร์ ชามา
มาโนชเติบโตมาในสังคมแบบนั้น เขาสัญญากับแม่ว่า “ผมจะเปลี่ยนโลกใบนี้” ย้อนแย้งกับมือที่กลับแอบจดคำตอบไว้ในกระดาษเพื่อนำไปลอกระหว่างการสอบปลายภาค แต่จุดพลิกผันเกิดขึ้นเมื่อศึกษานิเทศก์จับได้คาหนังคาเขาว่า โรงเรียนช่วยนักเรียนโกงข้อสอบจากที่คุณครูเขียนคำตอบไว้บนกระดานให้นักเรียนลอกตาม จนเด็กทั้งชั้นถูกทำโทษให้สอบตก และเมื่อมาโนชได้พบกับนายตำรวจมือสะอาดท่านหนึ่ง มาโนชปรี่เข้าไปถามว่า ทำอย่างไรถึงจะได้เป็นนายตำรวจแบบท่านบ้าง ตำรวจท่านนั้นตอบแบบสั้น ๆ แต่กินใจว่า “แค่เลิกโกงเท่านั้น” ทำให้มาโนชสาบานว่าจะไม่โกงอีก ในการสอบปีต่อไป มีเพียงมาโนชที่ตั้งหน้าตั้งตาทำข้อสอบโดยไม่ยอมโกง ไม่ลอกคำตอบที่คุณครูเฉลยให้ ซึ่งเขาสามารถสอบผ่านได้แบบเฉียดฉิว ถือเป็นแรงบันดาลใจให้มุ่งมั่นที่จะบรรลุความฝันของเขา2/
มาโนชตัดสินใจมุ่งหน้าเข้าไปทำงานยังเมืองหลวงนิวเดลี พร้อมเตรียมสอบบรรจุเป็นข้าราชการ (Union Public Service Commission: UPSC) เพื่อกรุยทางไปเป็นข้าราชการตำรวจ (Indian Police Service: IPS) ซึ่งระหว่างการเดินทางเขาถูกขโมยเงินที่คุณย่าให้ไว้ จนต้องทำงานทุกอย่างแบบเลือกไม่ได้ ตั้งแต่งานในห้องสมุด ร้านขายน้ำชา ไปจนถึงโรงโม่แป้ง ที่สภาพแวดล้อมไม่เอื้อต่อการเตรียมสอบ แต่ด้วยความมุ่งมั่นของมาโนช ไม่มีอะไรจะขวางกั้นความทุ่มเทอย่างแน่วแน่ของเขาได้ แม้กระทั่งช่วงที่โรงงานปิดไฟ มาโนชจะนำหนังสือเตรียมสอบออกไปด้านนอกและอาศัยแสงไฟจากถนนอ่านหนังสือ และมักจะหลับนอนอยู่ในห้องสมุดจนรุ่งสว่าง
แน่นอน ด้วยต้นทุนและการตั้งต้นที่เสียเปรียบผู้สอบที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีกว่า มาโนชสอบไม่ผ่านในการสอบ 3 ครั้งแรก แต่ด้วยคำกระตุ้นจากครูที่ปรึกษาด้วยคำง่าย ๆ เพียงคำเดียวว่า “เริ่มต้นใหม่” (Restart) สามารถกระตุ้นให้มาโนชมีกำลังใจและพยายามต่อไป จนสามารถสอบผ่านได้สำเร็จในครั้งที่ 4 ซึ่งเป็นโอกาสสุดท้ายแล้ว อย่างไรก็ดี มาโนชยังต้องผ่านด่านสุดท้ายที่หินที่สุด คือการสัมภาษณ์ที่จะมีผู้สอบผ่านเพียง 30 คนจากผู้ที่สอบผ่านข้อเขียน 200 คน ในขณะที่ประธานสัมภาษณ์มักมีอคติต่อระบบการเรียนการสอนที่ใช้ภาษาถิ่น (ภาษาฮินดี) มาโดยตลอด โดยคำถามแรกที่ถูกถามคือ “ทำไมจึงสอบไล่ตกไม่ผ่านชั้นมัธยมปลาย” ซึ่งแทนที่มาโนชจะโกหก เขาตอบโดยไม่ปิดบังว่า “ศึกษานิเทศก์ประจำจังหวัดหยุดเราไม่โกงข้อสอบ ทั้งโรงเรียนเราสอบตก”
กรรมการท่านหนึ่งถามต่อด้วยความสงสัยว่า “ทำไมคุณถึงบอกเราว่าโกงข้อสอบ คุณโกหกและหาเหตุผลอื่นได้นี่” มาโนชตอบกลับว่า “มันรู้สึกไม่ถูกต้องครับ ที่ซ่อนการโกงด้วยการโกงอีก การโกงครั้งแรก ผมไม่รู้ว่ามันผิด ครูเราช่วยเราโกง แต่เมื่อผมรู้ว่ามันเป็นเรื่องผิด จึงตัดสินใจไม่โกงอีก เอดมันด์ ฮิลลารี เป็นคนแรกที่พิชิตเขาเอเวอเรสต์ แต่แอง ริต้า เป็นชาวเชอร์ปาคนแรกที่พิชิต โดยไม่มีออกซิเจนช่วย สำหรับผม สิ่งที่ริต้าทำสำเร็จนั้น ยิ่งใหญ่กว่ามาก และผมมาถึงจุดนี้ โดยไม่มีออกซิเจนช่วย มาด้วยเท้าเปล่า เช่นกัน”
กรรมการอีกท่านหนึ่งหยอดคำถามต่อว่า “หากคุณไม่ได้รับเลือกล่ะ คุณจะทำอย่างไร” มาโนชตอบอย่างไม่ลังเลว่า “ผมจะยอมรับ แต่ผมไม่รับความพ่ายแพ้ ผมจะไม่พักจนกว่าจะไปถึงเป้าหมาย เป้าหมายผมไม่ใช่เป็นเจ้าหน้าที่ไอพีเอส เป้าหมายของผมคือการปฏิรูปประเทศ ถ้าผมไม่ได้รับเลือก ผมจะไปเป็นครู แล้วสอนเด็กชนบทไม่ให้โกง ถ้าเรียนรู้ตั้งแต่เด็กพวกเขาจะมีชีวิตที่ซื่อสัตย์และมีความสุข ความคิดนี้เข้ามาในวันหนึ่งที่ไฟดับ แล้วผมกำลังอ่านหนังสือใต้ไฟถนน ถ้าผมเป็นดวงอาทิตย์ที่ส่องลงมายังโลกไม่ได้ ผมยังเป็นโคมไฟส่องสว่างให้ถนนได้”
“เสียเวลาเปล่า ๆ อวดดีเหลือเกิน” เป็นคำพูดของประธานสัมภาษณ์ แต่กรรมการท่านอื่นกลับเห็นต่าง โดยเห็นพ้องต้องกันว่า “ระบบต้องการคนกล้าและซื่อสัตย์ ถ้าผู้สมัครคนนี้ไม่ได้รับเลือก การคัดเลือกจะมีประโยชน์อะไร” ถือเป็นข้อสรุปที่ทำให้มาโนชได้รับการบรรจุเป็นนายตำรวจ 1 ใน 30 คน ในปี 2005
คลิกดูตัวอย่างภาพยนตร์ 12th Fail
มาโนชได้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นสู่เป้าหมายอย่างแน่วแน่ และพิสูจน์ให้เห็นว่า หากปล่อยให้การโกงเป็นประเพณีปฏิบัติที่ดำเนินต่อไป โดยไม่มีใครลุกขึ้นมาบอกดัง ๆ ว่า “แค่เลิกโกงเท่านั้น” ประเทศจะไม่หลุดบ่วงปัญหาและไม่ก้าวต่อไป
ปัจจุบัน มาโนชได้รับการเลื่อนขั้นเป็นนายตำรวจสอบสวนกลาง สังกัดกรมตำรวจนครมุมไบ (Mumbai) เป็นเรื่องราวชีวิตจริง และพวกเราสามารถดูภาพยนตร์ในชื่อเรื่อง “12th Fail” ที่กำลังฉายอยู่ในจอสตรีมมิ่ง ณ เวลานี้
รณดล นุ่มนนท์
1 กรกฎาคม 2567
แหล่งที่มา :
1/ ประกายพร วงศ์วุฒิ, ‘12th Fail’, หนังเรตติ้งสูงสุดใน IMDb ปี 2023 ที่ตีแผ่การคดโกงในระบบการศึกษาของอินเดีย, The People, 02 พ.ค. 2567 เวลา 18:05 น. https://www.thepeople.co/culture/film/53419
2/ Twisha Khokhani, IC Youth Writer, Life Lessons From ‘12th Fail’, India Currents, April 11, 2024
https://indiacurrents.com/life-lessons-from-12th-fail/
หมายเหตุ:
ขอขอบคุณ คุณเหมือนแพร ปิยะมาดา ที่แนะนำเรื่องราวชีวิตของมาโนช กุมาร์ ชามา เพื่อนำมาเขียน Weekly Mail สัปดาห์นี้