"...ไม่ใช่ความผิดปกติอะไร ใครจะเข้าถึงเส้นชัยเร็วหรือช้า คนถึงเส้นชัยทีหลัง ไม่ได้ทำความผิดอะไร คนถึงเส้นชัยคนแรกๆ ก็ไม่ได้ทำผิด แม้คนที่ไปไม่ถึงเส้นชัย ก็ไม่มีความผิดใดๆ ทุกคนมีเงื่อนไขของตนเองที่แตกต่างกันไป..."
การแข่งขัน เป็นประสบการณ์ตรงของทุกคน เมื่อเป็นเด็กนักเรียน นอกจากทำคะแนนสอบแข่งขันกับเพื่อนแล้ว ยังต้องไปสอบแข่งขันเข้าโรงเรียนที่ต้องการ จบชั้นมัธยมแล้วยังไปสอบแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัยและคณะวิชาเรียน นักกีฬาต้องไปแข่งขันเอาชนะคู่แข่งคนอื่นๆ หลายคนเข้าแข่งขันชิงทุนไปเรียนต่างประเทศ
เกือบจะเรียกได้ว่า ไม่มีใครที่ชีวิตนี้ไม่ต้องแข่งขัน
มีคลิปกิจกรรมหนึ่ง นำเสนอพฤติกรรมการแข่งขันที่น่าสนใจ
ในคลิปนี้แสดงภาพหนุ่มสาวนักศึกษาราว 40 คน ยืนเป็นแถวหน้ากระดานเรียงกัน ณ เส้นเครื่องหมายที่เป็นจุดตั้งต้น
อาจารย์ใส่เสื้อยืดสีแดง ประกาศว่ามีรางวัล 100 ดอลลาร์ ให้กับคนที่สามารถวิ่งเข้าเส้นชัยเป็นคนแรก แต่จะต้องปฏิบัติตามกติกาที่จะออกคำสั่งทีละครั้ง ว่าใครมีคุณสมบัติหรือมีประสบการณ์ตามที่ระบุ ให้เดินออกมาข้างหน้าคราวละหนึ่งก้าว ใครไม่เข้าข่ายก็ให้ยืนอยู่กับ ที่เดิม และเมื่อถึงจังหวะหนึ่ง จะส่งสัญญาณวิ่งพร้อมกันสู่เส้นชัย
หนุ่มสาว ผิวขาวผิวดำ คนอ้วนคนผอม ทุกคนอยู่ในท่าพร้อมปฏิบัติ
และแล้วอาจารย์ออกคำสั่งทีละจังหวะ
“ใครที่พ่อแม่ไม่หย่าร้าง ยังอยู่ด้วยกันเป็นปกติ”
หนุ่มสาวจำนวนครึ่งหนึ่งก้าวไปข้างหน้าหนึ่งก้าว จำนวนที่เหลือยังยืนอยู่ที่เดิม
“ใครที่ไม่ต้องทำงานบ้านด้วยตัวเอง เช่นซักผ้า ปัดกวาด เช็ดถู ทำความสะอาดบ้าน”
หนุ่มสาวหลายคนก้าวไปข้างหน้า ก้าวหนึ่ง
“ใครที่เติบโตขึ้นมาในบ้าน โดยมีพ่อแม่เป็นตัวอย่างที่ดี”
“ใครไม่ต้อง ช่วยจ่ายเงินค่าไฟ ค่าน้ำ ในบ้าน”
“ใครไม่ต้องทำงานนอกบ้าน เพราะมีเงินใช้จ่ายเพียงพอในการเรียนหนังสือ”
“ใครไม่ต้องห่วงว่า มื้อต่อไปจะมีอะไรกินหรือไม่”
“ใครรู้สึกว่าตนเองโชคดี ที่เกิดมาในครอบครัวผู้มีอันจะกิน”
มีคำสั่งทำนองเดียวกันอีก หลายประโยคตามมา
แต่ละประโยคที่พูดขึ้นมา เห็นได้ว่าหนุ่มสาวที่ก้าวขึ้นมา มักจะได้ก้าวต่อ ตามคำสั่งถัดไป ซึ่งกลายเป็นแต้มต่อที่จะได้เปรียบกว่าคนอื่นๆ
บางคนก้าวได้ทุกครั้งตามคำสั่ง
บางคนก้าวได้เป็นส่วนมาก
บางคนก้าวได้ครึ่งเดียว
บางคนก้าวได้เพียง 2 ก้าว
หลายคนที่ยืนอยู่กับที่มีสีหน้าสิ้นหวัง เพราะไม่มีคุณสมบัติ ไม่มีประสบการณ์แม้แต่จะก้าวเพียงก้าวเดียว
แล้วอาจารย์ก็สั่งว่า
“เอาละทุกคนวิ่งสู่เส้นชัยได้เลย” แล้วเป่านกหวีดส่งสัญญาณ
ไม่ต้องสงสัยเลยว่า คนที่เข้าสู่เส้นชัยแบบสบายโดยไม่ต้องลุ้น คือคนที่มีแต้มต่อที่ไปได้ไกลแล้ว
หนุ่มสาวที่ไร้แต้มต่อ หรือมีเพียง 2-3 ก้าว ต่างต้องวิ่งสุดแรงเกิด เพื่อจะตีตื้นขึ้นมาอยู่ข้างหน้า แต่ก็ไม่มีม้าตีนปลายคนใดสามารถเอาชนะคนที่ตั้งหลักอยู่หน้าสุดได้
อาจารย์อธิบายว่า
“ไม่ใช่ความผิดปกติอะไร ใครจะเข้าถึงเส้นชัยเร็วหรือช้า คนถึงเส้นชัยทีหลัง ไม่ได้ทำความผิดอะไร คนถึงเส้นชัยคนแรกๆ ก็ไม่ได้ทำผิด แม้คนที่ไปไม่ถึงเส้นชัย ก็ไม่มีความผิดใดๆ ทุกคนมีเงื่อนไขของตนเองที่แตกต่างกันไป
คนที่เข้าเส้นชัยคนแรก อาจกลายเป็นคนเข้าเส้นชัยคนสุดท้าย ถ้าเขาเริ่มต้นจากแนวเส้นตั้งต้นเท่ากัน
ดังนั้น อย่ากดดันตัวเอง อย่าเอาความสำเร็จของคนอื่นมาตัดสินว่าเราแพ้หรือเราไม่สำเร็จ เส้นชัยของแต่ละคน ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน จึงไม่ควรที่ใครจะมากำหนดเส้นชัยให้ คนอื่น”
นี่เป็นคลิปที่ควรถอดบทเรียนให้เห็นความเป็นจริงว่า
แต้มต่อ คือฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม เป็นสิ่งที่ติดตัวมาแต่เดิมของแต่ละคน เมื่อเข้ามาสู่สนามวิ่งแข่งขัน จึงเป็นความได้เปรียบตามกติกาที่วางเงื่อนไขไว้
แต่ใช่ว่า แต้มต่อนั้นๆ จะเป็นคุณต่อคนนั้นตลอดไป
คนมั่งมีหลายคน อยู่ดีกินดีเกินไปจนร่างกายเป็นรังโรค มีแต่โรคภัยไข้เจ็บรุมเร้า จนสิ้นลมก่อนเวลาอันควร
คนที่ลำบากยากเข็ญ หลายคนอาจดิ้นรน พยายามฝ่าฟันอุปสรรคสร้างเนื้อสร้างตัวให้ มีอยู่มีกินขึ้นมาได้ เพราะสร้างเงื่อนไขทางบวกให้ตัวเอง และลดเงื่อนไขที่ถ่วงชีวิตตนเองออกไป
และการแข่งขันก็ไม่ใช่มีเพียงสนามเดียวให้เล่น เล่นกอล์ฟไม่เป็นอาจว่ายน้ำเก่ง เล่นกีตาร์ไม่เป็นอาจเล่นเปียโนเก่ง วาดภาพไม่เก่งแต่มีความสามารถถ่ายภาพอย่างมีฝีมือได้
ผู้เขียนไปรับหลานวัย 4 ขวบ ชื่อปรายฝน จากโรงเรียนกลับบ้าน
วันหนึ่งเมื่อสี่ปีที่แล้ว เดือน ธค. กทม. ยังหนาวระดับ 10-15 องศา กลับมาถึงบ้านได้รับรายงานว่า แม่ กับลูกปรายฝนคุยกัน
แม่ : “วันนี้มีกีฬาสีที่โรงเรียนนี่”
ลูก : “ใช่ค่ะแม่”
แม่ : “ลูกเล่นกีฬาอะไรล่ะ”
ลูก : “วิ่งแข่งค่ะแม่”
แม่ : “หนาวอย่างนี้ วิ่งสู้เพื่อนไหวหรือลูก”
ลูก : “เราไม่ต้องชนะก็ได้นี่แม่”
แม่ได้รับบทเรียนจากลูกอย่างจัง เรามักคิดหวังไว้ก่อนว่า มีการแข่งขันเมื่อไร จะต้องเอาชนะได้ คิดแต่จะชนะประตูเดียวเท่านั้น ไม่เผื่อใจทางแพ้ไว้บ้างเลย
ความรู้สึกใสซื่อแบบเด็ก ทำเอาคนเป็นผู้ใหญ่ต้องกลับมาใคร่ครวญ
อีกหนึ่งเรื่อง เป็นเรื่องเกี่ยวกับการแข่งขันที่ดีมากๆ
อูบันตู
นักมานุษยวิทยาคนหนึ่งเดินทางไปศึกษาขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมของชนพื้นเมืองเผ่าหนึ่งในแอฟริกา
ขณะที่รายล้อมไปด้วยเด็กกลุ่มหนึ่ง เขาเล่นเกมด้วยการเอาตะกร้าผลไม้ ซึ่งมีผลไม้วางอยู่เต็มตะกร้า แล้วเอาตะกร้านั้นวางใต้ต้นไม้ ห่างจากกลุ่มเด็กราว 50 เมตร เขาวางกติกาโดยบอกกับเด็กทั้งหมดว่า
ใครก็ตามที่วิ่งเร็วที่สุดถึงตะกร้าเป็นคนแรกเป็นผู้ชนะ จะได้ตะกร้าผลไม้นั้นเป็นรางวัล ก่อนจะให้สัญญาณเด็กวิ่ง ปรากฏว่าโดยไม่ต้องพูดอะไรกัน เด็กทั้งหมดพากันคล้องแขนกันและกันทั้งสองข้างเป็นหน้ากระดานเรียงหนึ่ง หลังจากได้รับสัญญาณให้เริ่มได้ พวกเขาวิ่งเป็นหน้ากระดานไปพร้อมๆ กันและพวกเขาถึงตะกร้าผลไม้พร้อมกันทั้งหมด ทุกคนเอาผลไม้ในตะกร้ามาแบ่งปันกันทั่วหน้า ไม่มีใครได้มากน้อยไปกว่าใคร แล้วต่างก็แกะผลไม้กินกันอย่างเบิกบาน
“ทำไมหนูถึงใช้วิธีวิ่งไปถึงพร้อมๆ กัน แทนที่จะแข่งขันเอาชนะเพื่อน เพื่อจะได้ผลไม้ทั้งตะกร้าไว้กินคนเดียว”
นักมานุษยวิทยาถามเด็ก
เด็กส่งเสียงตอบพร้อมกันว่า “อูบันตู” (UBUNTU) ความหมายก็คือ “ฉันจะสุขได้อย่างไรถ้าคนอื่นเศร้า” หรือหมายความได้ว่า “ฉันเป็นอะไร เพราะเราเป็นอะไร” (I AM BECAUSE WE ARE)
ใช่ไหมว่า เราจะมีภาพในใจของเราเองว่าเด็กชนเผ่าในแอฟริกานั้น ไร้การศึกษา อดอยาก แร้นแค้น จนแม้แต่เสื้อผ้าไม่มีจะสวมใส่ ดังนั้นต่อหน้าผลไม้เต็มตะกร้าที่ยั่วยวนใจอย่างนี้ เด็กแต่ละคนคงจะวิ่งสุดแรง เพื่อไปถึงตะกร้าเป็นคนแรก จะได้คว้าตะกร้าผลไม้มาเป็นของตนเพียงคนเดียวให้ได้ แต่ที่ไหนได้ แม้แต่นักมานุษยวิทยาเองก็ยังงุนงง จึงตั้งคำถามและได้รับคำตอบเช่นนั้น ความอดอยากยากจนจึงไม่ใช่บทสรุปว่า จะเป็นเหตุให้พวกเขาเห็นแก่ตัว ความแร้นแค้น ก็ใช่ว่าจะแล้งน้ำใจที่พึงมีต่อกันและกัน ขาดการศึกษา ไม่ได้หมายถึงว่าจะทำความดีไม่ได้
อูบันตู (UBUNTU) คำโบราณในทวีปแอฟริกา แปลตรงตัวว่า
“ความเป็นมนุษย์ในคน” ก็คือความเมตตาในตัวคนนั่นเอง ในความหมายที่กว้าง “เราเป็นมนุษย์ทุกวันนี้ ก็เพราะเราทุกคนมีความเมตตาต่อกัน”
ใช่ไหมว่า เมตตาธรรมในตัวคนนั่นเองคือแก่นแกนและความยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ
‘Cr. (อูบันตู หนังสือ “หอมกลิ่นความดี”ลำดับที่ 24 หน้า 53-54)’
การแข่งขันโดยทั่วไป ทำให้เกิดความพยายามทั้งเฉพาะตัวผู้แข่งขันและผู้คนที่เกี่ยวข้อง เป็นการพัฒนาและยกระดับความถนัดและความสามารถของคนหรือกลุ่มคน
แต่การแข่งขันยังมีมุมคิดอื่นๆ ที่ควรค่าแก่การทำความเข้าใจ
1. แต่ละคนมีเงื่อนไขที่ต่างกัน ความเหลื่อมล้ำทำให้แต่ละคนมีแต้มต่อและมีแต้มถ่วงด้วยกันทั้งนั้น
2. ความสันทัดและการฝึกฝนทำให้คนที่แพ้ในสนามหนึ่ง อาจเป็นผู้ชนะในสนามอื่นโลกนี้มีสนามของความสามารถหรือความถนัด มากมายหลายด้านให้เลือกได้
3. ผู้ชนะย่อมดีใจ ผู้แพ้ย่อมเสียใจ แต่ทั้งผู้ชนะและผู้แพ้ สามารถแสดงสปิริต หรือมีจิตใจนักกีฬาได้ ดังเช่นที่หลายชนิดกีฬามี “ใบเขียว” ให้แก่นักกีฬา
4. ในการแข่งขัน ไม่จำเป็นต้องตั้งใจหมายมั่นเป็นผู้ชนะเสมอไป เตรียมใจเป็นผู้แพ้ก็ได้จะเป็นไรไป ในเมื่อคนนั้นได้เข้าประกอบส่วนเติมเต็มให้เกม ก็เป็นสิ่งมีค่าแล้ว ใช่หรือไม่
5. แทนที่จะก้าวขึ้นสู่แท่นผู้ชนะในลำดับต้น เราอาจหาวิธีการทำให้ผู้เข้าแข่งขันเป็นผู้ชนะด้วยกันทั้งหมดได้