"...เมื่อคนบนเวที ทั้งนักดนตรี นักร้องนำ ผู้ฟังทั้งหมดร่วมร้องเพลงเดียวกันด้วยความเข้าใจในที่มาและจับใจในเนื้อหาและทำนอง จึงมีความรู้สึก เป็นหนึ่งเดียวกัน..."
“ไม่เคยได้ยินมาก่อนเลยว่า เพลงต่างๆ มีประวัติ มีที่มาน่าสนใจมาก”
“เพลงไพเราะขึ้นมาในความรู้สึกมากกว่าเดิม เมื่อรู้ว่าเบื้องหลังเพลงเป็นอย่างไร”
“ทุกคนสนุก และมีอารมณ์ร่วม เพราะเป็นเพลงยอดนิยม ผู้คนอยู่กันเต็มห้องตลอดตั้งแต่ต้นจนจบสองชั่วโมงกว่า”
“จัดอีกนะคะ จัดเมื่อไรก็จะมาร่วมอีก”
นี่เป็นเสียงตอบรับเมื่อรายการ “เล่าขานตำนานเพลง” จบลงเมื่อเย็นวันอาทิตย์ที่ 23 มิย. 67 ณ ชั้น 2 ของหอสมุดเมือง กทม. ตรงสี่แยกคอกวัว เป็นเสียงสะท้อนที่คุณภาวสุ สิริสิงห์ ผู้ประสานงาน การจัดรายการ เล่าให้ฟัง
เมื่อได้เห็นของจริง จึงรับรู้ว่าหอสมุดเมือง กทม. ออกแบบพื้นที่และระบบเป็นศูนย์เรียนรู้ทันสมัย ที่ตอบสนองการเรียนรู้ยุคใหม่ได้อย่างยอดเยี่ยม
เมื่อคุณภาวสุ ติดต่อมาว่าขอเชิญผู้เขียนไปบรรเลงหีบเพลง (Button Accordion) ณ หอสมุดเมือง กทม. คิดอยู่นานว่าจะนำเสนออย่างไรดี เพราะผู้เขียนเป็นคนเล่นดนตรีสมัครเล่น ไม่มีความเป็นศิลปินเพลงใดๆ เลย แล้วจะมีใครมาฟัง เธอบอกว่าจะเชิญอาจารย์ กีตาร์มีฝีมือชื่อ ดร. วิเชียร ฤกษ์พัฒนกิจ มาร่วมบรรเลง โดยจัด Backing Track เพลงต่างๆ ได้ และเชิญคุณนวกรณ์ พูลพร นักร้องหนุ่มเสียงดี มาเป็นนักร้องนำให้
จึงตกผลึกแนวคิดร่วมกับผู้จัดว่า
1. ไม่เพียงแต่บรรเลงและร้องเพลงเท่านั้น แต่จะมีการ “เล่าขานตำนานเพลง” โดยก่อนร้องเล่นเพลง จะเล่าเบื้องหลังเพลงนั้นๆ ว่ามีที่มาอย่างไร ใครแต่ง และแต่งด้วยแรงบันดาลใจอย่างไร
2. คนเล่นดนตรีและนักร้องนำไม่ใช่พระเอก แต่เป็นคนมีหน้าที่เอื้ออำนวย (Facilitator) ให้รายการดำเนินไป จะไม่ใช่การโชว์วง ไม่ใช่การโชว์เสียงของนักร้อง พระเอกของรายการคือผู้ชมรายการทั้งหมดที่จะร่วมร้องเพลงหมู่ไปด้วยกัน โดยมี Backing Track และมีเนื้อเพลงตัวโตๆ ยิงขึ้นจอให้เห็นชัดๆ
ณ ห้องประชุมชั้น 2 ของหอสมุดเมือง กทม. สี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนินกลาง ราวบ่ายสองกว่า เวทีเปิดขึ้น มีฉากประกอบดูดี เวทีเล็กๆ ยกพื้นราวหนึ่งฟุต ผู้ฟังที่รับรู้จากการประชาสัมพันธ์ของหอสมุดเมืองผ่าน FC ราว 80 คน นั่งกันพอดีกับจำนวนเก้าอี้ที่เตรียมไว้ในห้อง
ผู้เขียนขอความร่วมมือจากผู้ฟังตามแนวทางที่วางไว้ โดยแจ้งผู้ฟังว่า เตรียมเพลงดังที่ทุกคนรู้จักไว้ 9 เพลง คือเพลง จงรัก ของครูจงรัก จันทร์คณา เพลงเรือนแพ และเพลงท่าฉลอม ของครูชาลี อินทรวิจิตร เพลง ใต้ร่มมลุลี ของครูแก้ว อัจฉริยะกุล เพลง ผู้ชนะสิบทิศ ของครูไศล ไกรเลิศ เพลงเดือนเพ็ญ ของอัศนี พลจันทร์ เพลงดอกไม้ให้คุณ ของหงา คาราวาน เพลงน้ำตาแสงไต้ ของครูสง่า อารัมภีร เพลง เก็บตะวัน ของ ธนพล อินทฤทธิ์
ผู้เขียนจะเล่า แล้วบรรเลงร้องไปทีละเพลง ใครคิดว่าจะมาถือไมค์ร่วมร้องนำด้วยก็ได้ โดยจะขอเชิญชวนทุกคนร้องเพลงไปพร้อมกัน
ขอเลือกเอา 4 เพลงนี้ มาถ่ายทอดเป็นตัวหนังสือ
เดือนเพ็ญ
ผู้เขียนเริ่มเล่า เพลงแรก
“เพลงนี้เดิมชื่อว่าเพลง “คิดถึงบ้าน” ผู้แต่งเป็นนักปฏิวัติอาวุโส ชื่อจริง อัศนี พลจันทร์ เป็นอดีตอัยการ เป็นทั้งนักประพันธ์และกวียอดฝีมือของยุคนั้น คู่กันมากับ จิตร ภูมิศักดิ์ เมื่ออยู่ในป่า ทุกคนเรียกว่า “ลุงไฟ” ลุงแต่งเพลงนี้ขณะที่ได้รับมอบหมายจากพรรคคอมมิวนิสต์ไทยให้ไปแปลบทสรรนิพนธ์ เหมา เจ๋อ ตง เป็นไทย อยู่ที่ปักกิ่งนานนับปี
ความรู้สึกคิดถึงบ้านเกิดเมืองนอนจึงอาศัยดวงจันทร์เป็นสัญลักษณ์ แต่งเพลงนี้โดยใช้ทำนองเพลงไทยเดิมชื่อ ‘พม่าเห่สองชั้น’
ด้วยความคิดถึงเมืองไทยและคิดถึง “ป้าลม” ภรรยา ซึ่งตอนนั้นไม่ได้อยู่ด้วยกัน จึงใส่คำว่า “ลม” ไว้ถึง 4 ที่
‘ยามเมื่อลมพัดมา’ ‘ให้ลมช่วยเป่า’ ‘ลมช่วยพัดมา’ ‘ลมเอยช่วยเป็นสื่อให้’
มีการวิพากษ์วิจารณ์กันว่า การคิดถึงบ้าน เป็นอารมณ์ของนายทุนน้อย เป็นพวกยอมจำนน คือเลิกต่อสู้ปฏิวัติแล้ว แต่ความจริงไม่ใช่ ที่อยากกลับบ้านนั้นหมายถึง ต้องการกลับมาอยู่ในเขตป่าเขา ซึ่งเป็นพื้นที่สู้รบในเขตแดนไทยต่อไป
เพลงนี้ หงา คาราวาน ขณะที่อยู่เขต จ. น่าน ได้ต่อเพลงนี้มาจาก “หมอตุ๋ย” ซึ่งเป็นหลานลุงไฟ แต่ก็ได้เนื้อมาอย่างกระท่อนกระแท่น ต่อเมื่อกลับเข้าสู่เมือง ป้าลมได้เขียนเนื้อเพลงถูกต้องครบถ้วนใส่มือ หงา คาราวาน จึงเรียบเรียงเสียงประสานเพลงนี้ขึ้นมา
“แสงเย็นเห็นอร่าม กลางนภาแจ่มนวล” ที่ชื่นเย็นอยู่ในป่า บัดนี้มาเย็นชื่นอยู่ในโลกดนตรีของเมืองอย่างสมบูรณ์แบบไปแล้ว”
และแล้วทำนองเพลงก็กระหึ่มขึ้น เนื้อเพลงขึ้นบนจอ กีตาร์และหีบเพลงบรรเลงร่วมกัน จึงพาให้ผู้ฟังทั้งห้องร้องเพลงนี้ไปด้วยกันจนจบอย่างรื่นรมย์
เรือนแพ
ผู้เขียนรู้จักมักคุ้นกับครูชาลี อินทรวิจิตร ในฐานะเป็นสมาชิกโรตารีบางเขนด้วยกัน ครูเล่าถึงเพลงนี้ให้ฟังตั้งแต่เมื่อ 38 ปีก่อนว่า
ครูแจ๋ว สง่า อารัมภีร พาครูชาลีไปเฝ้า พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล (องค์ชายใหญ่) พอได้พบ ราวหกโมงเย็น
“ฉันรู้จากแจ๋ว ว่า แกแต่งเพลงร้องเอง สลับฉากละครของศิวารมย์ เทพศิลป์ และยังแต่งเพลงให้หนังไทยหลายต่อหลายเรื่องใช่ไหม” เสด็จรับสั่ง
ครูชาลีกราบถวายแล้วตอบ “พะยะค่ะ”
“ฉันจะให้แกแต่งเพลง “เรือนแพ” ให้แจ๋วแต่งทำนอง อยากให้คนรุ่นใหม่อย่างแกใช้อาภรณ์จากธรรมชาติ ใช้อารมณ์จากห้วงน้ำสร้างอุปรากรงานเพลงที่งดงามเป็นภาษาดนตรีและภาษาอักษร ใช้เป็นเพลงนำในภาพยนตร์ยิ่งใหญ่ ที่ฉันร่วมงานสร้างกับฮ่องกง”
เสด็จทรงเล่าถึงเนื้อหาของหนังว่า หนุ่มสามคนเช่าเรือนแพโกโรโกโส ของเถ้าแก่อยู่อาศัย แล้วต่างก็หลงรักลูกสาวคนเดียวของเถ้าแก่
เสด็จฯ กับครูแจ๋ว แยกไปเสวยวิสกี้และคุยกันอย่างรื่นรมย์ ปล่อยครูชาลีให้เรียงร้อยเพลง “เรือนแพ” ไปเรื่อยๆ
เพราะครูชาลีไม่ดื่มเหล้า จึงไม่มีการเสิร์ฟกับแกล้ม ครูชาลีมีแต่น้ำชาให้ดื่มเท่านั้น บางจังหวะครูแจ๋วก็มาเคาะเปียโนช่วยทำทำนองเพลง เที่ยงคืนถึงจะจบท่อนแรก
“เรือนแพ สุขจริงอิงกระแสธารา
หริ่งระงม ลมพลิ้วมา กล่อมพฤกษาดังว่าดนตรี
หลับอยู่ในความรัก รับความชื่น ชั่ววันและคืนเช่นนี้
กลิ่นดอกไม้รัญจวน ยังอบอวลยวนยี สุดที่จะพรรณนา”
จบท่อนแรก ทรงอ่านเนื้อเพลงแล้วครูชาลีร้องให้ฟัง เสด็จฯ ชมเปาะ วรรคที่สามว่า
“คำว่าหลับอยู่ในความรัก มันดีกว่าหลับอยู่ในความฝัน มันล้ำหน้ากว่ากันเยอะเลย”
ทั้งๆ ที่หิวก็หิว แต่เมื่อเจ้าเอ่ยปากชมเช่นนั้น ครูชาลีจึงออกอาการปลื้มปิติอยู่ครามครัน
การหวนคืนสู่อ้อมอกธรรมชาติ นอนแนบผืนทราย ฟังเสียงน้ำคร่ำครวญ ถึงความรักกับดอกไม้ ทำให้เกิดอารมณ์สุนทรีย์ในท่อนที่สอง
“เรือนแพ ล่องลอยคอยความรักนานมา
คอยน้ำค้างกรุณา หยาดมาจากธาราแหล่งสวรรค์
วิมานน้อย ลอยริมฝั่ง ถึงอ้างว้างเหลือใจรำพัน
ทุกข์หรือสุขก็คล้อยตามกัน ชีวิตกลางน้ำสุขสันต์
โอ้สวรรค์...ในเรือนแพ”
กว่าเพลงจะจบก็เกือบรุ่งสาง เสด็จฯ ทอดพระเนตรเพลงท่อนจบอย่างพิถีพิถัน แล้วตรัสว่า
“เพลงบรรทัดที่ 2 ‘คอยน้ำค้างกรุณา’ คำร้องดีมาก ที่บ่งความหมายถึงคอยความรัก ความกรุณาจากแม่ชาวฟ้า ลูกสาวของเถ้าแก่เจ้าของเรือนแพ แต่คำในบรรทัดที่ 4 ทุกข์หรือสุขก็คล้อยตามกัน ตรงนี้มันง่ายไปนะชาลี คิดใหม่ คิดใหม่ หาคำใหม่มาแทนคำว่าทุกข์หรือสุขก็คล้อยตามกัน”
ความหิว ความง่วง บวกกับความน้อยใจ ทำให้ครูชาลีคิดอะไรแวบเข้ามาในสมองทันที
“วิมานน้อย ลอยริมฝั่ง ถึงอ้างว้างเหลือใจรำพัน
หิวหรืออิ่มก็ยิ้มพอกัน ชีวิตกลางน้ำสุขสันต์
โอ้สวรรค์....ในเรือนแพ”
เขียนจบเพลง ครูชาลีเลื่อนเนื้อเพลงส่งให้ครูแจ๋ว แล้วก็หมุนตัวกลับลงบันไดไป ขึ้นรถกลับบ้านทันทีโดยไม่มีการร่ำลา
ด้วยความหิว ความเหนื่อย ความเพลีย และความง่วงทำให้วรรคเดิมที่ว่า “ทุกข์หรือสุขก็คล้อยตามกัน” ถูกเปลี่ยนเป็น “หิวหรืออิ่มก็ยิ้มพอกัน”
ช่างเป็นคำประชด ที่แสนจะลงตัวอะไรเช่นนั้น
ไม่กี่วันต่อมา ครูแจ๋วบอกว่า “เสด็จฯ โปรดคำใหม่นี้มาก คำว่า หิวหรืออิ่มก็ยิ้มพอกัน”
เสด็จฯ จะทรงทราบหรือเปล่าหนอ ว่าถ้อยคำวรรคที่ทรงโปรดปรานนี้ เรียงร้อยขึ้นมาด้วยความน้อยใจแกมประชดโดยแท้
น้ำตาแสงไต้ : เพลงผีบอก
นับเป็นไฮไลท์ของงานก็ว่าได้ ผู้เขียนขอผู้จัดให้เชิญบูรพา อารัมภีร บุตรชายครูแจ๋วมาร่วมรายการและออกมาเล่าเพลงของพ่อ
บูรพา อารัมภีร เล่าว่า
“ที่ศาลาเฉลิมกรุง กำลังจะเปิดการแสดงละครเรื่อง พันท้ายนรสิงห์ ในปี 2480 จะมีสุรสิทธิ์ สัตยวงศ์ เป็นพระเอก มีสุพรรณ บูรณะพิมพ์ เป็นนางเอก ครูเนรมิต และครูมารุต เป็นผู้กำกับและควบคุม ส่วนคุณพ่อ (ครูแจ๋ว) มีหน้าที่เล่นเปียโน และต่อเพลงให้นักร้อง
อีก 5 วัน จะเปิดการแสดง แต่เพลงเอก “น้ำตาแสงไต้” ยังแต่งไม่เสร็จ
องค์ชายใหญ่ ซึ่งเป็นเจ้าของเรื่องสั่งมาว่าเพลงนี้ ต้องเป็นเพลงที่มีสำเนียงไทยแท้ มีรสและวิญญาณไปในทาง หวาน เย็นและเศร้า”
ครูทองอิน บุณยเสนา หนึ่งในทีมงานบอกว่า “เพลงไทยนั้นมีแยะ แต่ไอ้รสหวานเย็นและเศร้า ที่เห็นมีแต่ ‘เขมรไทรโยค’ และ ‘ลาวครวญ’ เท่านั้น
คุณพ่อคงมึนเพราะฤทธิ์เหล้า เลยเอนหลังที่เก้าอี้นวมยาวแล้วหลับไป พ่อเล่าว่า
“แปลกใจมากที่เห็นใครมาเล่นเปียโนที่ห้องเล็ก มี 4 คน เป็นชาย 3 คน แต่งกายเหมือนนักรบไทยโบราณ คนเล่นเปียโนหน้าตาคมคาย อีกคนนั่งทางขวา คนที่สามผมหงอก ดูท่ามีบุญหนักศักดิ์ใหญ่ ส่วนผู้หญิงอีกคนนั้นนุ่งผ้าจีบพก ห่มผ้าแถบสีแดงสด ผมยาวปรกบ่า สวยเหลือเกิน
เขาบรรเลงเพลงเปียโน เพลง ‘ลาวครวญ’ อย่างหวานเศร้า พ่อนั่งน้ำตาคลอ คิดถึงพ่อแม่ ผู้มีพระคุณ เมื่อตื่นขึ้นมา พ่อผู้กำกับและนักแสดง บ่นถึงเพลง ‘น้ำตาแสงไต้’ ที่ค้างอยู่ คุณพ่อนั่งที่เปียโน พานิ้วกรีดไปตามอารมณ์เพลงด้วยความเคลิ้ม ครูเนรมิตถามว่า
‘นั่นเพลงอะไร’ พลางบอกให้เล่นใหม่ พอบรรเลงอีกเที่ยว ครูทั้งสอง บอกว่า
‘นี่แหละน้ำตาแสงไต้’
พ่อดีใจรีบจดโน้ต และเรียบเรียงคำร้องกันเดี๋ยวนั้น
มารุตขึ้น ‘นวลเจ้าพี่เอย’
เนรมิตต่อ ‘คำน้องเอ่ยล้ำคร่ำครวญ’
แล้วก็ช่วยกันต่อ
‘ถ้อยคำเหมือนจะชวน ใจพี่หวนครวญคร่ำอาลัย’ พอจบประโยคแรก สุรสิทธิ์ก็ร้องเกลาทันที ร่วมกันสร้างจบคำร้องในราว 10 นาทีเท่านั้นเอง สุดท้ายเพลงก็ทันละครแสดง”
“พ่อบอกว่า
‘สมัยนั้นฉากสุดท้าย เมื่อทำนองเพลงน้ำตาแสงไต้พลิ้วขึ้นคนร้องไห้กันทั้งโรง’
หลังจากนั้น พ่อ- สง่า อารัมภีร ก็มีชื่อเสียงโด่งดังในโลกดนตรีแต่นั้นมา”
ใครอื่นนั้นฝันถึงตัวเลขแทงหวย ฝันถึงนั่นโน่นนี่ แต่ครูแจ๋วฝันเป็นทำนองเพลงที่กลายมาเป็นเพลงอมตะประดับฟากฟ้าบันเทิงไทย เพราะเหตุนี้เองที่เพลงนี้ถูกเรียกว่าเป็น ‘เพลงผีบอก’
เพื่อให้ได้อรรถรสที่แท้จริง จึงเชิญคุณบูรพา เป็นนักร้องนำเพลงน้ำตาแสงไต้ เป็นการร้องเพลงของพ่อที่มีคนร่วมร้องกลุ่มใหญ่ที่สร้างความประทับใจไม่รู้ลืม
ดอกไม้ให้คุณ
เป็นเพลงสุดท้ายของรายการ ผู้เขียนเล่าว่า
เมื่อ หงา คาราวาน ยกวงไปทัวร์คอนเสิร์ตร่วมกับ โชกิชิ คินะ (Shokichi Kina) ศิลปินเพลงป็อปโฟล์ค ชาวญี่ปุ่น เมื่อปี 2527 เกิดชอบใจเพลง Hana ซึ่งแปลว่า ดอกไม้ ซึ่งเป็นเพลงดังยอดนิยมของญี่ปุ่น ในเวลานั้น หงาจึงขอทำนองมาใส่เนื้อไทย
คินะ บอกว่า “เอาไปเลย เราเพื่อนกัน ไม่ต้องมีค่าลิขสิทธิ์อะไร”
หงา เล่าว่า เมื่อทำเพลงออกมาแล้ว ‘ ผู้จัดการของแจ้ ดนุพล แก้วกาญจน์ มาขอซื้อ เขาบอกว่าเพลงนี้เหมาะกับเสียงของแจ้มาก อยากเอาไปเรียบเรียงใหม่ ให้แจ้ร้อง จึงขอซื้อเพลงนี้ไป โดยผมก็ยังเป็นเจ้าของอยู่ ยังมีสิทธิเต็มที่ในเพลงของผม ’
เสียงร้องของแจ้ ทำให้เพลงดังมาก เพราะเขาสังกัดค่ายนิธิทัศน์ ซึ่งมีรายการโทรทัศน์ วิทยุ หลายรายการ จนผู้คนคิดว่าเพลงนี้เป็นเพลงของแจ้ เพลงดังไปถึงต่างประเทศ แปลเป็นภาษาต่างประเทศ จาก เวอร์ชั่นไทยของผมไม่ต่ำกว่า 10 ภาษา ก็ดี นับว่าแจ้ ช่วยโปรโมทเพลงนี้จนติดปากคนทั่วไป”
ผู้เขียนต่อสายคุยกับแจ้ – ดนุพล แก้วกาญจน์ เมื่อ 28 กพ. 64
“ทำไมจึงชอบเพลง ดอกไม้ให้คุณ ของหงา” ผู้เขียนสอบถาม แจ้ บอกว่า
“ที่จริง ตอนนั้นผมก็ยังไม่เคยฟัง แต่มีแฟนเพลง เขียนจดหมายมาหาแล้วแนะนำผมว่า ควรนำเพลง ดอกไม้ให้คุณ ของน้าหงา มาร้อง เขาบอกว่าเสียงของผมเหมาะมากกับเนื้อและทำนองเพลง
ผมฟังแล้วก็เห็นจริง จึงบอกกับบริษัทสังกัด คือนิธิทัศน์โปรโมชั่น ว่า เพลงของน้าหงาเพลงนี้เพราะมาก แต่เป็นเพลงอยู่ในกลุ่มเพลงเพื่อชีวิต หากเอามาเรียบเรียงเสียงประสานใหม่ให้เป็นเพลงป็อป น่าจะเป็นเพลงที่เผยแพร่ออกไปได้กว้างยิ่งขึ้น เพราะเพลงแนวป๊อป จะอยู่กับคนจำนวนมาก น้าหงาก็ใจดี อนุญาตมาก็เลยได้ทำเพลงนี้ใหม่ นับว่าได้ผลมาก กลายเป็นเพลงยอดนิยมมาจนถึงทุกวันนี้ ได้เจอกัน น้าหงายังแซวผมว่า
‘ ผมเป็นคนปลูกไม้ต้นนี้ ผมเป็นคนรดน้ำ พรวนดิน แต่พอผลิดอก แจ้เป็นคนเด็ดดอกไม้ไปดอมดม ’ ผมได้แต่ยิ้มรับในความเมตตาของน้าหงา ที่ช่วยส่งให้ผมเกิดในโลกดนตรี”
ดอกไม้ให้คุณ เป็นเพลงปิดท้ายรายการที่ทุกคนร่วมร้องกันอย่างชื่นมื่น เป็นเพลงแห่งความสุขร่วมกันที่ทุกคนรู้สึกได้ด้วยตนเอง
ถามว่าทำไมจึงเกิดบรรยากาศความสุขร่วมกัน คำตอบน่าจะเป็นว่า
1. เพลงร้องเล่นที่จัดไว้ เป็นเพลงที่ทุกคนรู้จักและชื่นชอบ มีทำนองง่ายๆ เพียงเห็นเนื้อเพลงก็ร้องกันได้แล้ว
2. ทุกคนที่มาร่วมมาฟัง เป็นผู้ร่วมรายการที่มาอย่างตั้งใจ กว่าครึ่งห้องเป็นคนวัยเกษียณ
จึงถือว่าร่วมสมัยกับคนบนเวที เมื่อรายการเปิดพื้นที่ให้ร่วมร้องกันได้ เวทีจึงเป็นของทุกคน
3. การนำเพลงด้วยที่มาของเพลง เป็นการปูพื้นอารมณ์ให้ลื่นไหลไปตามเนื้อหา
เอื้ออำนวยต่อการร่วมอารมณ์ร้องเพลงนั้นๆ
เมื่อคนบนเวที ทั้งนักดนตรี นักร้องนำ ผู้ฟังทั้งหมดร่วมร้องเพลงเดียวกันด้วยความเข้าใจในที่มาและจับใจในเนื้อหาและทำนอง จึงมีความรู้สึก “เป็นหนึ่งเดียวกัน”
ใช่หรือไม่ว่า ความเป็นหนึ่งเดียวกันนี้เอง เป็นความงาม เป็นปิติ เป็นความสุขร่วมกัน
นี่เป็นอีกรูปแบบหนึ่งในการนำเสนอที่แสดงความเคารพในคุณค่าของผู้แต่งเนื้อและทำนองเพลงอันเป็นต้นธารสร้างสรรค์เป็นคุณูปการ ขยายผลให้เกิดคีตศิลป์และศิลปินเพลงขึ้นมากมายเต็มแผ่นดิน
ประสาร มฤคพิทักษ์ : [email protected]