"...ผู้บรรยายอธิบายถึงปรากฏการณ์การเติบโตแบบก้าวกระโดด (Exponential Growth) ของเอไอ โดยเปรียบเทียบกับหลักการเติบโตของดอกเบี้ยทบต้น โดยทุก ๆ เทคโนโลยีที่เกิดใหม่ จะทบต้นเพื่อสร้างดอกผลเป็นเทคโนโลยีใหม่กว่าเพิ่มขึ้นอีก โดยอาศัยพลังประมวลผลของชิปคอมพิวเตอร์ที่เพิ่มขึ้นและต้นทุนที่ลดลงอย่างก้าวกระโดด ช่วยให้การเรียนรู้และการประมวลผลของเอไอมีความรวดเร็วอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ซึ่งในที่สุด จะมีความฉลาดเหนือกว่ามนุษย์อย่างเทียบกันไม่ได้..."
การบรรยายในโครงการราชบัณฑิตยสภานำความรู้สู่สังคม ศาสตราจารย์ ดร. วรศักดิ์ กนกนุกุลชัย ราชบัณฑิต ได้นำเสนอภาพรวมที่น่าสนใจของความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของปัญญาประดิษฐ์ (AI) และผลกระทบทั้งทางบวกและลบ ที่จะเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางต่อสังคมมนุษย์ในอนาคตอันใกล้นี้ การบรรยายมีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยให้สังคมไทยได้ตระหนักรู้และมีความเข้าใจอย่างครอบคลุมเกี่ยวกับ เอไอ ซึ่งมีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงทุกภาคส่วนของสังคมในอนาคตอันไม่ไกลนักของมนุษยชาติ
ตอนที่ 1 : การประชาภิวัตน์ของเอไอเชิงสร้างสรรค์ (Democratization of AI)
การบรรยายได้เริ่มโดยการพูดถึงแนวโน้มใหญ่แห่งการเปลี่ยนแปลงของโลก (Global Megatrends) โดยแบ่งเป็น 2 ประเภท ประเภทแรกเป็นผลสะสมจากกิจกรรมมนุษย์ตั้งแต่สมัยการปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นต้นมา เช่น ปรากฏการณ์โลกร้อน การทรุดโทรมของสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างช้า ๆ และมีผลที่คาดการณ์ได้ กับการเปลี่ยนแปลงของโลกอีกประเภท ที่เป็นผลจากการเติบโตอย่างก้าวกระโดด (Exponential Growth) ของเทคโนโลยี โดยเฉพาะเอไอ ซึ่งมีศักยภาพมากพอที่จะเปลี่ยนแปลงอารยธรรมของมนุษยชาติโดยสิ้นเชิง ดังนั้น จึงมีความสำคัญมากสำหรับประชากรไทยที่จะได้ตระหนักถึงพัฒนาการเอไอนี้ เพื่อจะได้มีเวลาเตรียมพร้อมรับมือกับผลกระทบที่ไม่มีใครคาดการณ์ได้ ซึ่งเรียกว่า "ความไม่รู้อันเป็นปริศนา (Unknown Unknowns)"
ต่อมา ผู้บรรยายอธิบายถึงปรากฏการณ์การเติบโตแบบก้าวกระโดด (Exponential Growth) ของเอไอ โดยเปรียบเทียบกับหลักการเติบโตของดอกเบี้ยทบต้น โดยทุก ๆ เทคโนโลยีที่เกิดใหม่ จะทบต้นเพื่อสร้างดอกผลเป็นเทคโนโลยีใหม่กว่าเพิ่มขึ้นอีก โดยอาศัยพลังประมวลผลของชิปคอมพิวเตอร์ที่เพิ่มขึ้นและต้นทุนที่ลดลงอย่างก้าวกระโดด ช่วยให้การเรียนรู้และการประมวลผลของเอไอมีความรวดเร็วอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ซึ่งในที่สุด จะมีความฉลาดเหนือกว่ามนุษย์อย่างเทียบกันไม่ได้
ผู้บรรยายได้เสนอแนวคิด "ภาวะเอกฐาน (Singularity)" ที่จุดประกายโดยนักอนาคตวิทยาชื่อดังอย่าง Dr. Ray Kurzweil ผู้ทำนายว่าเอไอจะมีปัญญาเหนือมนุษย์ในเร็ว ๆ นี้ และภายในปี 2045 เอไอจะก้าวกระโดดเข้าใกล้ภาวะเอกฐาน ที่ปัญญาของเอไอจะสูงในระดับเกินกว่าที่มนุษย์จะเข้าใจได้
การเปิดตัวของเอไอเชิงสร้างสรรค์ (Generative AI) ให้ผู้บริโภคใช้ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2022 ทำให้เอไอได้กลายเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลก ส่งผลให้มีจำนวนผู้ใช้งานทั่วโลกเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ถึง 100 ล้านคนภายในเวลาเพียง 2 เดือน ผู้บรรยายได้สาธิตการใช้งาน เพื่อให้ผู้ฟังมองเห็นศักยภาพของเอไอในการสร้างเนื้อหา เช่น ข้อความ ภาพ เสียง และวิดีโอ โดยใช้แพลตฟอร์มอย่าง ChatGPT, Claude, Gemini, Midjourney, Suno และ Sora ที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน และสื่อให้เห็นว่า ในเบื้องต้น Generative AI สามารถทำงานทดแทนศิลปินและนักเขียนได้ดีอย่างไม่น่าเชื่อ ปรากฏการณ์ที่น่าทึ่งที่สุด คือ การที่ Generative AI ที่ชื่อ Sora สามารถจินตนาการสร้างภาพยนตร์ตามคำสั่ง ซึ่งออกมาเป็นภาพเคลื่อนไหวที่ทุกอย่างสอดคล้องกับทฤษฎีฟิสิคส์อย่างค่อนข้างสมบูรณ์ จนนักวิทยาศาสตร์เองออกปากว่า เอไอสามารถเรียนรู้ที่จะจำลองโลกแห่งความเป็นจริงทางกายภาพได้แล้ว
นอกจากนี้ ผู้บรรยายได้อ้างคำคมของ Dr. Andrew Ng แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ที่ได้เปรียบศักยภาพของ Generative AI ที่อีกไม่นานจะเข้าถึงประชาชนผู้ใช้ทั่วโลก และจะปลี่ยนแปลงชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษยชาติอย่างก้าวกระโดด เทียบได้กับการประชาภิวัตน์ของไฟฟ้าเมื่อหนึ่งศตวรรษที่แล้ว ที่ทำให้ไฟฟ้ากลายเป็นส่วนสำคัญของชีวิตมนุษย์ในปัจจุบัน
ตอนที่หนึ่งของการบรรยายมีจุดประสงค์เพื่อเป็นพื้นฐานสำหรับผู้ไม่คุ้นเคยกับเทคโนโลยีเอไอจะได้ทำความเข้าใจในการใช้เครื่องมือเอไอที่มีอยู่ในปัจจุบัน และเข้าใจเส้นทางที่ทำให้เอไอมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยในสังคมมนุษย์ ในตอนต่อไป เราจะมาพิจารณากันว่า เอไอกำลังจะวิวัฒนาการอย่างไร ในการเดินทางสู่การมีอำนาจเหนือมนุษย์
คลิปบรรยาย ตอนที่ 1 :