"...การพิสูจน์ว่ามือสะอาดพอหรือไม่นั้นอยู่ที่ผลงานและการกระทำ แต่วันนี้ ป.ป.ช. ยังมีข้ออ่อนอยู่มาก ที่ต้องกล่าวถึง เรื่องแรก ไม่สามารถปกป้องประชาชนที่เปิดโปงพฤติกรรมคอร์รัปชัน ทำให้คนรู้ไม่กล้าพูด คนสงสัยไม่กล้าถาม เรื่องที่สอง ขาดความสามารถในการสื่อสารที่ทำให้ประชาชนรับรู้ความเคลื่อนไหว อุปสรรค และผลงานที่ทำไป เรื่องที่สาม ขาดศักยภาพในการเชื่อมโยงและใช้ข้อมูลจากหน่วยงานอื่นเพื่อคลี่คลายเรื่องสลับซับซ้อน เช่น ข้อมูลการเสียภาษีรายได้ของนักการเมือง ความร่ำรวยผิดปรกติ..."
วิจารณ์กันมากว่า ป.ป.ช. มีผลงานน่าผิดหวัง บางคนไม่ซื่อสัตย์ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง!! คำพูดแบบนี้หากเป็นจริงก็แปลว่า ป.ป.ช. มือไม่สะอาดพอที่จะไปตรวจสอบผู้อื่นไม่ให้คดโกง
ป.ป.ช. องค์กรหลักของรัฐในการต่อต้านคอร์รัปชัน ขับเคลื่อนด้วยบุคลากรสองกลุ่มที่แตกต่างกันมากในเรื่องที่มา บทบาท อำนาจ การบ่มเพาะ และความผูกพันกับองค์กร
กลุ่มแรกคือ คณะกรรมการฯ มี 9 คน ผู้เป็นทั้งองค์อำนาจ ผู้นำและผู้บริหารองค์กร เป็นคณะบุคคลที่กำหนดทิศทางในการต่อต้านคอร์รัปชันของประเทศ การพิจารณาคดี การบริหารจัดการในสำนักงาน ฯลฯ บุคคลเหล่านี้แต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิบางสาขาอาชีพแล้วผ่านกระบวนการสรรหาให้อยู่ในตำแหน่ง 7 ปี
กลุ่มที่สองคือ ข้าราชการ มีราว 3 พันคน ปฏิบัติหน้าที่ตามนโยบายของคณะกรรมการฯ ด้วยแบบแผนและระเบียบราชการ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ใช้อำนาจตามกฎหมาย เช่น การไต่สวนทำสำนวนคดีเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการฯ ตามขั้นตอน ฯลฯ มี “เลขาธิการ” ป.ป.ช. เป็นผู้บังคับบัญชา บุคคลเหล่านี้ต่างเติบโตในหน้าที่ ผูกพันกับชื่อเสียงและเกียรติยศขององค์กร ตลอดอายุราชการหลายสิบปี
ป.ป.ช. ยังมีบุคคลภายนอกอีกจำนวนหนึ่งที่มาช่วยงานเป็น “อนุกรรมการ” ในคณะต่างๆ
ที่ผ่านมาคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการต่อต้านคอร์รัปชันเคยเสนอว่า บุคลากรสองกลุ่มนี้ต้องร่วมมือกันเป็นหนึ่งเดียว โดยสามารถรักษาความเป็นอิสระในการทำงานตามภาระกิจของตน ควบคู่ไปกับการตรวจสอบถ่วงดุลกัน รวมถึงต้องถูกประเมินตรวจสอบอย่างทั่วถึงจากภาคประชาชน จึงจะเป็นที่ไว้วางใจของสังคมได้
ข้อเสนอดังกล่าวเป็นแนวทางที่พิสูจน์แล้วว่าได้ผลดีในหลายประเทศเช่น องค์กร KPK ของอินโดนีเซีย และ ICAC ของฮ่องกง จากการที่พวกเขาได้รับการหนุนหลังจากประชาชนอย่างเข้มแข็งเมื่อต้องสู้กับนักการเมือง ผู้มีอิทธิพล มหาเศรษฐี ข้าราชการใหญ่... นี่คือหัวใจของความสำเร็จในการต่อต้านคอร์รัปชัน
หลายอย่างที่ต้องปรับปรุง
การพิสูจน์ว่ามือสะอาดพอหรือไม่นั้นอยู่ที่ผลงานและการกระทำ แต่วันนี้ ป.ป.ช. ยังมีข้ออ่อนอยู่มาก ที่ต้องกล่าวถึง เรื่องแรก ไม่สามารถปกป้องประชาชนที่เปิดโปงพฤติกรรมคอร์รัปชัน ทำให้คนรู้ไม่กล้าพูด คนสงสัยไม่กล้าถาม เรื่องที่สอง ขาดความสามารถในการสื่อสารที่ทำให้ประชาชนรับรู้ความเคลื่อนไหว อุปสรรค และผลงานที่ทำไป เรื่องที่สาม ขาดศักยภาพในการเชื่อมโยงและใช้ข้อมูลจากหน่วยงานอื่นเพื่อคลี่คลายเรื่องสลับซับซ้อน เช่น ข้อมูลการเสียภาษีรายได้ของนักการเมือง ความร่ำรวยผิดปรกติ
จากข้อมูลที่เปิดเผย ป.ป.ช. มีผลงานมากดูดีมีความหวัง จากการเปรียบเทียบสถิติคดีคอร์รัปชันในปี 2566 กับปี 2565 พบว่า มีคดีร้องเรียน 3,080 เรื่อง ลดลง 10.18% มีเรื่องร้องเรียนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 34 คดี เพิ่มขึ้นจาก 31 คดี จากสำนวนคดี 970 เรื่อง มีเรื่องขอขยายเวลาทำคดีจาก 2 ปีเป็น 3 ปี หรือยาวนานกว่า 137 เรื่องลดลงคิดเป็น 14.12% มีคดีตกค้างจำนวนมากเพราะมีมติชี้มูลความผิดได้เพียง 464 คดี ลดลง 7.6% (มากสุด 1,105 คดี ในปี 2564) และตลอดปีนี้ไม่มีคดีถูกฟ้องกลับจากผู้ถูกกล่าวหาเลย
ระยะหลัง ป.ป.ช. ริเริ่ม “ทำงานเชิงรุก” มากขึ้น ที่เด่นชัดคือการจัดตั้งศูนย์ CDC เพื่อเกาะติดพฤติกรรมที่ส่อทุจริตอย่างทันท่วงที มาตรการเข้าถึงประชาชนในระดับท้องถิ่นของ ป.ป.ช. จังหวัด โดยมิต้องรอคำสั่งจากส่วนกลาง เช่น การตรวจสอบก่อนเกิดการร้องเรียนเรื่องเงินแป๊ะเจี๊ยะของโรงเรียน ฯลฯ
อีกเรื่องที่น่าสนใจคือ ความพยายามนำมาตรฐานสากล เช่น อนุสัญญา UNCAC 2003 และอนุสัญญาการต่อต้านการติดสินบน ของ OECD มายกระดับมาตรฐานการต่อต้านคอร์รัปชันของไทยให้ทันเกม และปิดช่องทางกลโกงข้ามชาติ แม้จะไม่เห็นการสนับสนุนจริงจังจากภาคการเมืองเลยก็ตาม
แต่เมื่อปรากฏข่าวว่า 5 ปีมานี้มีคดีหมดอายุความมากถึง 53 คดีเช่น คดีนายอิทธิพล คุณปลื้ม ทำให้ข่าวกระแสข่าวว่ามีการดึงสำนวนบางคดีดูเป็นจริงมากขึ้น รวมทั้งการยื้อไม่เปิดข้อมูลกรณีนาฬิกาหรูของพลเอกประวิตร ข่าวบิ๊กโจ๊กแฉสายสัมพันธ์ลึกกับกรรมการ ป.ป.ช. บางคน เป็นต้น
ทั้งเรื่องดีและร้ายที่กล่าวมานี้จะเป็นผลงานส่วนหนึ่งให้ประชาชนตัดสิน
บทสรุป
ทุกวันนี้มีหลายเหตุการณ์ที่ทำให้ ป.ป.ช. ถูกตั้งคำถามในความเป็นอิสระ ซื่อสัตย์ และทำหน้าที่อย่างเปิดเผยโปร่งใส ซึ่งมักจะพุ่งตรงไปที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. บางคน แม้บางครั้งอาจเป็นเพียงการกล่าวหาเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือหรือเทคนิคในการต่อสู้ของผู้ต้องคดี หรือหวังผลทางการเมืองก็ตาม
แต่ตราบใดที่สังคมยังไม่เชื่อว่ามือสะอาดพอที่จะไปตรวจสอบผู้อื่น ป.ป.ช. จะไม่ได้รับพลังสนับสนุนจากประชาชนซึ่งเป็นจุดวิกฤตในการต่อต้านคอร์รัปชันของไทยทุกวันนี้