"...3 ปีหลัง 14 ตุลา 16 คือยุคแห่งการเปิดพื้นที่เสรีภาพเหมือนกระแสคลื่นใหญ่ของนักศึกษา กรรมกร ชาวนา ที่ลุกขึ้นมาทวงสิทธิอันชอบธรรม ที่พึงได้รับจากประชาชนในทุกมิติ วิสา คัญทัพ เขียนบทกวี ว่า ไม่มีอำนาจใดในโลกหล้า ผู้ปกครองต่างมาแล้วสาบสูญ ไม่มีใครล้ำเลิศน่าเทิดทูน ประชาชนสมบูรณ์นิรันดร์ไป เมื่อยืนหยัดต่อสู้ผู้กดขี่ ประชาชนย่อมมีชีวิตใหม่ เมื่อท้องฟ้าสีทองผ่องอำไพ ประชาชนย่อมเป็นใหญ่ในแผ่นดิน..."
ได้เห็นคลิป FB ของ Jaran Ditapichai 11 มิถุนายน 2567 เป็นการร่ายบทกวี โดย วิสา คัญทัพ วรรคต่อวรรค อย่างตั้งอกตั้งใจว่า
โลกต้องมีหลากหลายความไม่เหมือน
โลกยังคงเป็นเพื่อนคบกันได้
โลกขัดแย้งแปลกแยกแตกต่างไป
โลกต้องใช้ความละมุนไม่รุนแรง
โลกต้องหยุดท้าทายทำลายล้าง
โลกต้องสร้างสันติสุขขึ้นทุกแห่ง
คนในโลกทั้งผองต้องสำแดง
พลังแห่งสันติภาพอาบพิภพ
ธรรมดาถ้าจะสื่อสารความคิดอะไรมา วิสา คัญทัพ เลือกเขียนกวี หรือข้อความลงใน FB เป็นครั้งคราว แต่คราวนี้พิเศษตรงที่ส่งเสียงของตนมาด้วย เป็นการร่ายกวี 8 วรรค 2 บท แบบชัดถ้อยชัดคำ มีจังหวะจะโคน ไม่ติดขัดใดๆ ทั้งๆที่มีรายงานว่า มีปัญหาสุขภาพ แต่คลิพล่าสุดนี้ แสดงว่าสมองทำงานได้ดี ร่างกายเคลื่อนไหวได้เป็นปกติ
วิสา เป็นคนโคราช มีแม่ชอบร้องลิเก มีพี่ชายเป็นนักร้องวงดนตรีลูกทุ่ง เรียนจบมัธยม ที่นั่น มาเข้าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง
ใจรักงานขีดเขียน จึงเป็นคนอ่านหนังสือ และในฐานะเป็นผู้จัดทำวารสาร “มหาวิทยาลัยที่ยังไม่มีคำตอบ” วางขายในมหาวิทยาลัย มีข้อความสะเทือนใจผู้นำรัฐบาล เป็นเหตุให้ถูกอธิการบดีลบชื่อเป็น 1 ใน 9 นักศึกษา ที่ถือว่าถูกไล่ออก
ทำให้เกิดการชุมนุมข้ามคืนเป็นครั้งแรก เมื่อ 21-22 มิถุนายน 2516 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเพื่อประท้วงการลบชื่อ นักศึกษาทั้ง 9 คน ได้คืนสภาพนักศึกษาทั้งหมด
ตรงนั้นเป็นที่มาของการประกาศเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ในเวลาต่อมา
วิสา เป็นหนึ่งในร้อยคนที่ลงชื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญ เขาร่วมแจกแผ่นปลิวและถูกตำรวจจับที่ประตูน้ำ ร่วมกับเพื่อน ถูกเรียกว่า 13 กบฏเรียกร้องรัฐธรรมนูญ นำไปสู่การชุมนุมต่อต้าน เผด็จการ 14 ตุลาคม 2516 ครั้งประวัติศาสตร์ ทำให้ผู้นำกลุ่มเผด็จการต้องเผ่นออกนอกประเทศ
3 ปีหลัง 14 ตุลา 16 คือยุคแห่งการเปิดพื้นที่เสรีภาพเหมือนกระแสคลื่นใหญ่ของนักศึกษา กรรมกร ชาวนา ที่ลุกขึ้นมาทวงสิทธิอันชอบธรรม ที่พึงได้รับจากประชาชนในทุกมิติ วิสา คัญทัพ เขียนบทกวี ว่า
ไม่มีอำนาจใดในโลกหล้า
ผู้ปกครองต่างมาแล้วสาบสูญ
ไม่มีใครล้ำเลิศน่าเทิดทูน
ประชาชนสมบูรณ์นิรันดร์ไป
เมื่อยืนหยัดต่อสู้ผู้กดขี่
ประชาชนย่อมมีชีวิตใหม่
เมื่อท้องฟ้าสีทองผ่องอำไพ
ประชาชนย่อมเป็นใหญ่ในแผ่นดิน
นับเป็นบทกวีที่เปี่ยมพลังเร้าใจ ที่ถูกนำไปใช้ในการชุมนุมต่อสู้ของประชาชนแทบจะทุกครั้ง นี่คือพลังแห่งวรรณศิลป์ ที่วิสา เขียนไว้นับเป็นบทบันทึกทางประวัติศาสตร์ได้
เมื่อเข้าไปอยู่ในป่า เพลง “บินหลา กู้เสรี” เป็นอีกหนึ่งงานวรรณศิลป์สะท้อนตัวตนของ วิสา
ปี 2520 ผู้เขียนกับวิสา รวมทั้งอดิศร เพียงเกษ มีโอกาสประกอบวงร่วมทำเพลงป่าด้วยกันในขณะที่อยู่สำนัก เอ.30 ทางตอนเหนือของลาว รัฐบาลยุคนั้น มีปฏิบัติการล้อมปราบคนมุสลิมภาคใต้ โดยร่วมมือกับทางการมาเลเซีย มีการเข่นฆ่าประชาชนอย่างโหดร้าย วิสาบันทึกไว้ว่า
“ผมพยายามนึกชื่ออะไรที่เป็นสัญลักษณ์ของคนใต้ ให้ความหมายในแง่งาม เพื่อบอกถึงประชาชนผู้บริสุทธิ์ต้องนองเลือดล้มตาย ผมนึกถึงต้นยางยืนทะนงอวดทรวดทรงมิยอมให้ข่ม โดยจิระนันท์ พิตรปรีชา นำเอาบินหลา หรือนกกางเขน มาเป็นสัญลักษณ์ พอดีจิ้น (กุลศักดิ์ เรืองคงเกียรติ หัวหน้าวงกรรมาชน) ส่งเสียงฮัมเพลงพื้นบ้านภาคใต้ให้ฟัง ผมเลยเอามาใส่เนื้อ เพื่อรับใช้การต่อสู้ของประชาชน”
บินหลา
บินหลา บินหลา บินลอยมาเล่นลม
ชื่นชมธรรมชาติอันพิลาสสะอาดตา
ต้นยางยืนทะนงอวดทรวดทรงมิยอมให้ข่ม
ต้านทานแรงลมไม่เคยพรั่นภัยพาล
บินหลา บินหลา บินลอยลาไปแห่งใด
โพยภัยทุรชาติมาพิฆาตเลือดสาดแดง
หมู่โจรครองเมืองเรืองอำนาจพิฆาตเธอสิ้น
หมู่มารใจทมิฬกินเลือดเรามวลประชา
บินหลา บินหลา บินคืนมากู้เสรี
แผ่นพื้นปฐพีไม่ยอมให้ใครครอบครอง
(โซโล)
บินหลา บินหลา ชาวใต้มาร่วมพลัง
ด้วยใจมุ่งหวังอธิปไตยของไทยกลับคืน
จับปืนยืนทะนงสู้อาจองมิยอมให้ข่ม
บินหลา เริงลมสู่สังคมอุดมการณ์
เพลงนี้เป็นเพลงที่เกิดขึ้นมาเพื่อรับใช้สถานการณ์ที่ประชาชนภาคใต้ถูกล้อมปราบในเวลานั้น
กำลังใจ
เป็นเพลงคลาสสิคที่จับจิตจับใจผู้คน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนที่มีประสบการณ์ตรง ร่วมสู้รบกันมากับเขา
วิสา คัญทัพ เขียนบันทึกไว้ว่า
“เป็นความรู้สึกย้อนหลัง คล้ายๆ อย่างนั้น เพราะเพลงนี้มาเขียนในเมือง หลังจากลงมาจากภูเขาได้สัก 3 ปีแล้ว จำได้ว่าเขียนที่ห้องแถวเล็กๆ ที่เสนานิเวศน์ เขียนรวดเดียวจบเลย เพราะความรู้สึกมันถึงจริงๆ คงสั่งสมเอาไว้นาน
เราคิดถึงป่า...คิดถึงว่าทำไมเราต้องเข้าป่า มีความจำเป็นอย่างไร เรารู้อยู่แก่ใจ สมัยที่เคยเคลื่อนไหวเป็นผู้นำนักศึกษากับเพื่อนๆ ที่สนิทสนมทำกิจกรรมทางการเมืองร่วมกัน รู้ดีว่ามีอันตรายอย่างไร
เหตุการณ์ร้ายแรงเอาเป็นเอาตายที่เกิดขึ้นก่อน 6 ตุลาคม 2519 เป็นของจริงที่ท้าทายต่อชีวิตของพวกเรา หลายคนตายไปแล้วจริงๆ ยังหาผู้สังหารไม่ได้...หลายคนถูกขู่เอาชีวิต ถึงเราจะกล้าสู้ แต่ก็ไม่อยากเสี่ยงยอมเป็นผู้ถูกกระทำฝ่ายเดียว...ไม่เชิงกลัวแต่ก็รัดกุมป้องกัน...ไปไหนมาไหนระแวดระวัง พวกเราหลายคนพกปืนติดตัวไว้ป้องกันตนตลอดเวลา
เราอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มๆ อย่างน้อยก็สี่ห้าคน อย่างมากก็เป็นเหมือนรังหรือแก๊ง เพราะอยู่กันนับสิบ คอยเป็นหูเป็นตาให้กันและกัน โทรศัพท์ถูกดักฟัง มีผู้ปลอมแปลงเข้ามาสืบข่าวคราวต่างๆ ที่ทำให้น่าสงสัยเหมือนกัน...มันเป็นไปโดยสัญชาตญาณของคนที่ถูกผลักให้ขึ้นไปยืนประจันหน้าเป็นคู่ต่อสู้ ของใคร...บางทีตอนนั้นเราก็ไม่รู้ชัดเจนเหมือนกัน ก็ได้แต่คิดคาดเดา กันไป...
ยามนั้นเราต้องมีกำลังใจ เราต้องการกำลังใจ...เพราะในเวลาต่อมาไม่นาน เราก็อยู่ไม่ได้จริงๆ ต้องเข้าป่า...หรือไม่ก็ต้องหนีไปต่างประเทศ เราเลือกที่จะเข้าไปสู้อยู่ในป่า...จำได้ว่า... เราบอกกับสุธรรม แสงประทุม ว่าพวกเราจะไปแล้วนะ สุธรรมคงเป็นเลขาธิการศูนย์นิสิตนักศึกษาฯ คนสุดท้าย คิดกันอย่างนั้นจริงๆ ซึ่งเพียง 2 เดือนเศษๆ ถัดจากวันที่เราเข้าป่า...เหตุการณ์ก็เป็นดังเราวิเคราะห์ไว้ทุกอย่าง โศกนาฏกรรมและการสังหารอย่างป่าเถื่อนของผู้ปกครองเผด็จการก็อุบัติขึ้น เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519
กำลังใจ เป็นความรู้สึกร่วมของผู้คนและอุดมการณ์เดือนตุลาคม “กี่ปีจะลับเลือน ฝากเพลงคอยย้ำเตือน...หวนไห้”
“จากกันไกลแม้เพียงร่างกายแต่ใจชิดใกล้...เมื่อใจเราซึ้งใจร่วมทางไม่ร้างไกล หมายมั่น”
กำลังใจเป็นเพลงที่เขียนคำร้องและทำนองออกมาพร้อมๆ กัน ไล่ตามกันไปเรื่อยๆ อย่างค่อนข้างจะราบรื่น...พอเขียนจบเพลงแล้วลองบรรเลงร้องดู ขณะนั้นก็นึกชอบ และคิดว่าเป็นเพลงที่น่าจะมีคนชอบเหมือนกับเรา...จุดมุ่งหมายที่เขียนเพลงนี้ก็คือจะเขียนให้หงา สุรชัย จันทิมาธร ร้องในอัลบั้มชุดเดี่ยว ชื่อว่า “แลนด์ออฟสไมล์” ซึ่งผมเป็นโปรดิวเซอร์ เพลงกำลังใจนี้ คนแรกที่ร้องจึงเป็นสุรชัย จันทิมาธร ต่อมาก็มีอีกหลายคนนำไปขับร้อง ก็นับว่าเป็นเพลงที่มีคนรู้จักมากเพลงหนึ่ง”
กำลังใจ
โบกมือลา..... เสียงเพลงครวญมาต้องลาแล้วเพื่อน
กี่ปีจะลับเลือน ฝากเพลงคอยย้ำเตือน หวนไห้
จากกันไกล แม้เพียงร่างกายแต่ใจชิดใกล้
เมื่อใจเราซึ้งใจ ร่วมทางไม่ร้างไกล หมายมั่น
ขุนเขาไม่อาจขวาง สายทางเที่ยงธรรมได้
ความหวังยังพริ้งพราย เก่าตายมีใหม่เสริม
ชีวิตที่ผ่านพบ มีลดย่อมมีเพิ่ม
ขอเพียงให้เหมือนเดิม.... กำลังใจ
อย่าอาวรณ์ รักเราไม่คลอนคลางแคลงแหนงหน่าย
ให้รักเราละลาย กระจายในผองคน
ผู้ทุกข์ทนตลอดกาล
ปราชญ์คนหนึ่งให้ความคิดผู้เขียนว่า “การอ่านเป็นการเรียนรู้คนอื่น แต่การเขียนเป็นการเรียนรู้ตัวเอง”
คำพูดนี้อาจอธิบายตัวตนของวิสา คัญทัพได้ กวีและบทเพลงของเขา คือประกายความคิดของเขาเอง ที่ต้องการบอกเล่าต่อสาธารณะ ว่าเขาคิดอย่างไรต่อประเด็นปัญหา
คนในวงการเพลงรู้ดีว่าเพลงจะรุ่ง จะพอไปได้ หรือจะร่วง ก็อยู่ที่เพลงนั้นมีเนื้อหาและทำนองที่ต้องใจคนฟังมากน้อยแค่ไหน ที่ต้องใช้ความสามารถมากคือการใช้คำที่ตรงเสียงวรรณยุกต์ กล่าวคือ คนร้องไม่ต้องดัดเสียงให้เข้าทำนอง เพราะถ้อยคำมันลงตัว วิสา คัญทัพ สามารถทำสิ่งนี้ได้ ดุจเดียวกับ จิตร ภูมิศักดิ์ แต่งเพลง “แสงดาวแห่งศรัทธา” เพลง “วีรชนปฏิวัติ” และเพลงอื่นๆ
เมื่อต้องการระดมพลังกันต่อสู้เพื่อสังคมธรรมในยุคหลัง 14 ตุลาคม 2516 เขาใช้บทกวี “ประชาชนต้องเป็นใหญ่ในแผ่นดิน” รวมพลังแรงแห่งสายธารของมวลมหาประชาชน
เมื่ออยู่ในป่า เขาแต่งเพลง “รำวงหนึ่งธันวา” โดยใช้ทำนองเพลงไทยเดิม 3 เพลงมาต่อเนื่องกัน เขาใช้เพลง “บินหลา กู้เสรี” เพื่อฟ้องร้องสาธารณะถึงการล้อมปราบที่ทารุณต่อประชาชน เมื่อคืนสู่เมือง เขาเขียนเพลง “กำลังใจ” เพื่อส่งความเอื้ออาทรให้แก่มิตรสหายที่ ร่วมสู้รบกันมาอย่างถึงเลือดถึงเนื้อ และเมื่อไปอยู่ต่างประเทศยาวนานนับสิบปี เขาส่งกวี “สันติภาพ” จากเยอรมันมาถึงผองเพื่อนในเมืองไทย
วิสา คัญทัพ ก็ดุจเดียวกับผองเพื่อนที่ต่างเลือกทางเดินชีวิตของตนเองไปตามใจหมาย
คนที่ผ่านคุกตาราง ฝ่าการสู้รบในแนวป่าแบบสละชีวิตครอบครัวและทรัพย์สินทั้งหมด ต้องอาศัยหัวใจเสียสละในระดับหนึ่ง
วิสาไม่ใช่นักอุดมการณ์ตามลัทธิการเมือง เขามีอารมณ์ รัก โลภ โกรธ หลง เหมือนคนทั่วไป แต่เขามีหัวใจแห่งความเป็นมนุษย์ที่ควรค่าแก่การบันทึกไว้
ถ้าจำกัดวงแคบเข้ามาในบรรดามิตรสหายที่ร่วมสู้รบมาด้วยกัน ตั้งแต่ก่อน 14 ตุลาคม 2516 เมื่อ 51 ปีที่แล้ว มาวันนี้ล่วงเข้าวัย 70 ขึ้นกันแล้ว ทุกคนมีหัวเราะและร้องไห้กับประสบการณ์ตรงมาด้วยกันทั้งนั้น บ้างถลำลึกไปสู่ลัทธิการเมืองสุดโต่ง แล้วพบว่าสงครามประชาชนแบบ “เลือดต้องล้างด้วยเลือด” ระบบนารวม เศรษฐกิจรวมศูนย์ ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของสังคมไทย บางคนถึงขนาดเรียกตนเองว่าเป็น “สิ่งชำรุดของประวัติศาสตร์” ด้วยซ้ำไป
ความคิดที่จะเปลี่ยนโลก เปลี่ยนสังคมนั้น คิดได้ไม่ผิดเป็นความดีงาม มันเป็นอุดมคติของผู้คนที่ไยดีกับชะตากรรมของสังคม ทุกคนล้วนปรารถนาสังคมธรรมด้วยกันทั้งนั้น
ปรากฏการณ์ระลอกคลื่น จากป่าคืนเมือง เมื่อ 45 ปีก่อน คือความล้มเหลวของการเมืองแห่งลัทธิอุดมการณ์ ที่ให้ความเป็นจริงว่าความใฝ่ฝันอันยิ่งใหญ่กับความเป็นจริงของสังคมนั้นไม่ได้ไปด้วยกัน
วิสา คัญทัพ เป็นคนหนึ่งซึ่งอยู่ในกระแสธารแห่งการต่อสู้ที่ผ่านมา เขาเจ็บปวด ชอกช้ำ ป่วยไข้ ทุกข์ทน แต่หัวใจของเขายังห่วงหาอาทรความเป็นไปของบ้านเมืองตลอดมา บทกวีสันติภาพของเขา อาจนึกถึงคาวเลือดและควันปืนในสงครามรัสเซีย-ยูเครน และสงครามอธรรมที่อิสราเอลถล่มปาเลสไตน์ ณ ฉนวนกาซ่า และสันติภาพของวิสา ควรหมายถึงสันติภาพ และสันติธรรมในสังคมไทยด้วยหรือมิใช่
หมายเหตุ : เครดิตข้อมูลจากหนังสือ กำลังใจ บทเพลงและชีวิตของ วิสา คัญทัพ