"...การทำงานคดีค้ามนุษย์ เริ่มจากปี 2537 พบว่า มีเด็กทั้งชายและหญิงอายุต่ำกว่า 15 ที่พัทยา ถูกฝรั่งบ้าง ญี่ปุ่นบ้าง ชักชวนไปมีเพศสัมพันธ์ โดยให้เศษเงิน 200 - 400 บาทกับเด็ก จึงเริ่มกับพรรคพวกองค์กรพัฒนาเอกชน( NGOs )ทั้งที่กรุงเทพและพัทยา ติดตาม แจ้งความบ้าง จับได้บ้างหลายราย..."
หลังจากทำงานเรื่องต่อต้านการค้ามนุษย์ต่อเนื่องมา 30 ปี ก็ได้รับเลือกจากรัฐบาลให้รับรางวัล "บุคคลต้นแบบด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์" ในวันต่อต้านการค้ามนุษย์ เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2567
การทำงานคดีค้ามนุษย์ เริ่มจากปี 2537 พบว่า มีเด็กทั้งชายและหญิงอายุต่ำกว่า 15 ที่พัทยา ถูกฝรั่งบ้าง ญี่ปุ่นบ้าง ชักชวนไปมีเพศสัมพันธ์ โดยให้เศษเงิน 200 - 400 บาทกับเด็ก จึงเริ่มกับพรรคพวกองค์กรพัฒนาเอกชน( NGOs )ทั้งที่กรุงเทพและพัทยา ติดตาม แจ้งความบ้าง จับได้บ้างหลายราย
ปัญหาในการดำเนินคดีต่อมาคือศาลไทยให้ประกันหมด แล้วฝรั่งและชาติอื่น ก็หนีประกันออกนอกประเทศกลับบ้านตัวเองหมด (ร้อยละ 99 หนีหมด)
ศาลก็ชอบที่จะริบเงินประกันโดยไม่สนใจเรื่องการเอาตัวไว้ดำเนินคดี
ปัจจุบันเวลาผ่านมา 30 ปีแล้ว ศาล ก็ยังให้ประกันชาวต่างชาติทั้งที่มีความเสี่ยงในการหนีประกันออกนอกประเทศเกือบ 100% โดยไม่มีมาตรการที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการหนีประกันออกนอกประเทศ
ประเด็นคือประเทศต่างๆ (รวมทั้งไทย) มีมาตรการไม่ส่งคนสัญชาติของตนไปให้ประเทศอื่นดำเนินคดี ยกเว้นจะมีข้อตกลงเฉพาะให้ส่งตัวได้ การเอาตัวกลับมาด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดนจึงทำไม่ได้ ต้องไปแจ้งความดำเนินคดีกับประเทศเจ้าของสัญชาติ ถ้าประเทศนั้นมีกฎหมายลงโทษคนของตนที่ไปทำผิดนอกประเทศ (Extra-territorial jurisdiction)
แม้ประเทศนั้นๆ จะดำเนินคดี เขาก็ต้องให้เราพาเด็กผู้เสียหายไปเบิกความเป็นพยานในประเทศนั้น โดยค่าใช้จ่ายของเราเอง
ผมได้พาเด็กไปเป็นพยานสองคดี คดีแรกที่สวีเดน คดีที่สองที่ญี่ปุ่น โดยต้องลางานไปและหาค่าใช้จ่ายจาก NGO ต่างๆ เพื่อพาเด็กเดินทางไปขึ้นศาลที่สวีเดนและญี่ปุ่น (รัฐบาลและศาลที่ให้ประกันไม่จ่ายค่าใช้จ่ายนี้นะครับ ไม่สนใจด้วยซ้ำไป) ค่าใช้จ่ายในการทำคดีนอกประเทศ แพงกว่าเงินประกันที่ศาลริบไปหลายเท่า
จากการทำงานช่วยเด็กที่โดนข่มขืน เลยขยายมาทำงานด้านการต่อต้านโสเภณีเด็ก และเลยไปถึงโสเภณีผู้ใหญ่ที่ถูกบังคับ หลอกลวงไปค้าประเวณีทั้งในและต่างประเทศ (ซึ่งปัจจุบันเรียกว่าค้ามนุษย์ ก่อนปี 2543 เมืองไทยยังไม่รู้จักคำว่าค้ามนุษย์เลย)
ปี 2541 สหประชาชาติเริ่มกระบวนร่างอนุสัญญาต่อต้านองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ (UN Convention Against Transnational Organized Crime) และพิธีสารป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (UN Trafficking Protocol) NGOs ที่ทำเรื่องนี้ก็หาทุนให้ไปร่วมประชุมในฐานะผู้แทนรัฐบาลไทยสองครั้งแรก
ส่วนอีก 10 ครั้งที่เหลือ สหรัฐอเมริกาเป็นผู้ออกทุนสองล้านบาทให้ไปร่วมประชุมที่เวียนนา โดยเป็นผู้แทนหลักในการเจรจาร่วมกับท่านกาญจน์ ชีรานนท์ รองอธิบดีกรมสนธิสัญญา กระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น และได้รับความช่วยเหลืออย่างมากจากท่านสรยุตม์ พรหมพจน์ ท่านเอครราชทูต และท่านมรกต ศรีสวัสดิ์ เลขานุการเอก ในขณะนั้น (ต่อมาท่านมรกตได้เป็นเอครราชทูตประจำกรุงเวียนนา ปัจจุบันเป็นเอกอัครราชทูตประจำกรุงเวียงจันทน์) โดยรัฐบาลไทยไม่ได้สนใจที่จะไปเจรจาหรือรับรู้เรื่องนี้เลย
พิธีสารของสหประชาชาติแล้วเสร็จปี 2543 มีการลงนาม และได้มีส่วนร่วมในการร่าง พ.ค.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ 2551 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2-4 และทำงานด้านการค้ามนุษย์ตลอดมา
หลังจากนั้น อาเซียนเริ่มตื่นตัวในการปราบปรามการค้ามนุษย์ และได้รับมอบหมายจากสำนักงานอัยการสูงสุด ให้ไปร่วมกับชาติอาเซียน ร่างสนธิสัญญาต่อต้านการค้ามนุษย์ของอาเซียน(ASEAN Convention Against Trafficking in Persons) ใช้เวลาสองปี จึงเสร็จในปี 2558
ขอบคุณกระทรวงพัฒนาสังคมและรัฐบาลไทย ที่เห็นและรับรู้ผลการทำงานด้านการค้ามนุษย์ ที่ทำมาตลอด 30 ปี
ขอขอบคุณทุกท่านที่ร่วมทำงานกันมาตลอดหลายสิบปีด้วยความมุ่งมั่นในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์
วันชัย รุจนวงศ์
ผู้แทนไทยในคณะกรรมาธิการอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก