"...ไก่ ก้าน กล้วย และม่วย ยังมีความมุ่งมั่นที่จะทำให้ร้านเจ้าเป็นสภากาแฟแบงก์ชาติที่มีชีวิตชีวาอยู่คู่แบงก์ชาติต่อไป พร้อมฝากบทเรียนชีวิตว่า “หัวใจสำคัญที่ทำให้ร้านเจ้าอยู่ได้ถึงทุกวันนี้ คือความรักและความสามัคคี” เพราะการอยู่ร่วมกัน 4 คน หากไม่มีการพูดคุยสนทนากันร้านจะไม่มีชีวิตชีวา สร้างบรรยากาศความเป็นพี่เป็นน้อง ทำให้ลูกค้าอยากเข้าร้าน เฉกเช่นเดียวกับพวกเราที่ใช้ชีวิตที่แบงก์ชาติ ต้องทำงานด้วยความสุข รักใคร่ กลมเกลียว ชีวิตจึงจะมีความสุข สุขกับงาน สามารถผลิตงานออกมาได้อย่างมีคุณภาพ ถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องราวที่ผูกสัมพันธ์กับชาวแบงก์ชาติ ที่จะถูกเล่าขานตลอดไป..."
หากพวกเราเดินทางมาถึงแบงก์ชาติตั้งแต่เช้า และเข้ามาทางประตู ต.1 ถนนสามเสน จะพบเห็นพนักงานกลุ่มหนึ่งรวมตัวกันอยู่หน้าบ้านไม้ 2 ชั้น ก่อนถึงทางเชื่อมขึ้นอาคารสำนักงานใหญ่ เพื่อรอหลวงตาจากวัดนรนารถ ที่เมตตาเดินบิณฑบาตเข้ามาถึงภายในบริเวณธนาคารให้พวกเราได้ร่วมทำบุญใส่บาตรกันทุกเช้า ณ บ้านไม้หลังนี้ ถือเป็นจุดกำเนิดของสภากาแฟคนแบงก์ชาติ ในยุคสมัยเปิดใช้งานอาคารสำนักงานใหญ่เมื่อปี พ.ศ. 2552 เพราะเป็นจุดรวมพลที่มีทั้งร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านผลไม้ ร้านขนม รวมไปถึงร้านเสริมสวย เสร็จสรรพในที่เดียวกัน เรียกว่าได้อิ่มท้องพร้อมสวย ก่อนก้าวเข้าไปทำงาน ซึ่งพวกเราเรียกสถานที่แห่งนี้ว่า “ร้านเจ้า” ด้วยเจ้าของบ้านเป็นราชกุลเทวกุล
แม้ว่า ในปัจจุบันจะมีสโมสรให้บริการพนักงาน และสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป แต่ “ร้านเจ้า” ยังคงมีกาแฟ ผลไม้และอาหารจำหน่ายเช่นเคย โดยมี ไก่ ก้าน กล้วย และม่วย คอยให้บริการอย่างเป็นกันเอง ซึ่งทั้ง 4 คนต่างมีเส้นทางชีวิตที่แตกต่างกัน แต่ด้วยฟ้าลิขิตทำให้มาอยู่รวมตัวกัน ณ สถานที่แห่งนี้ ทุกวันจะมีลูกค้าขาประจำมาอุดหนุนไม่ขาดสาย พร้อมกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า “ร้านเจ้า นอกจากจะมีกาแฟกลิ่นหอมละไมเฉพาะตัว มีผลไม้บุฟเฟ่ต์ มีอาหารใส่บาตรและอาหารสำหรับทานแล้ว คนขายยังมีความเป็นมิตร ยิ้มแย้มแจ่มใส อัธยาศัยดี ใส่ใจถามไถ่สารทุกข์สุขดิบของลูกค้า ผ่านบทสนทนาที่ตรงไปตรงมาแบบคนใต้ ทำให้สัมผัสได้ถึงความอบอุ่นใจ จนต้องแวะเวียนมานั่งที่ร้านเป็นประจำทุก ๆ เช้า”
เริ่มต้นด้วย กล้วย (สุดา วาสจำนอง) เพราะร้านอาหารถือเป็นร้านแรกที่เปิดบริการ เคยตั้งอยู่บ้านข้าง ๆ ก่อนที่แบงก์ชาติจะขอซื้อเพื่อทำเป็นถนนเชื่อมไปยังอาคาร 2 เจ้าของร้านดั่งเดิมคือคุณประเทือง เทวกุล ณ อยุธยา มีความสามารถในการทำกับข้าว ถ่ายทอดวิธีทำกับข้าวตำรับชาววังให้กับลุงเปลี่ยน ละม่อม และพี่ไพลิน มาลีรัตน์ ในยุคสมัยนั้น เมนูที่ได้รับการกล่าวขานมากที่สุดคงไม่พ้นแกงหมูพริกขี้หนู แกงจืดลูกรอก หมูก้อน และข้าวแช่ เรียกว่าทุกเช้าจนถึงเที่ยงร้านจะแน่น ต้องรีบมาจับจองโต๊ะกันแบบไม่ยอมลุกไปไหน และที่ลูกค้าจดจำคือการให้บริการอย่างเป็นกันเอง เสียงต้อนรับของพี่ไพลินที่ทักทายลูกค้าด้วยน้ำเสียงไพเราะว่า “ไม่ทราบว่า วันนี้ท่านจะรับอะไรคะ” แต่เมื่อพี่ไพลินเสียชีวิตกะทันหัน กล้วยซึ่งเป็นลูกจ้างประจำจึงมารับช่วงต่อ ด้วยเคยเป็นผู้ช่วยอยู่ในครัวและเป็นคนช่างสังเกต อาศัยครูพักลักจำ หมั่นเรียนรู้ ขยันขันแข็งช่วยงานทุกอย่าง ตั้งแต่ซื้อของ จัดเตรียมและปรุงรส จึงสามารถสานต่อตำนานอาหารตำรับชาววังได้ กล้วยเล่าต่อว่า ตื่นเช้าทุกวันตั้งใจปรุงอาหารอย่างสุดฝีมือ เพื่อให้ชาวแบงก์ชาติได้ทานอาหารที่สะอาด อร่อย อย่างมีความสุข เพียงเท่านี้กล้วยก็มีความสุขแล้ว
ถัดมาคือ ร้านผลไม้ ที่แผงตลาดผลไม้ต้องชิดซ้ายเพราะมีผลไม้ตามฤดูกาลทุกชนิดไม่ทำให้ผิดหวัง ก้าน (สมจิตร์ วงศ์จำนง) และม่วย (ประชิด ปรัชญานนท์) เริ่มขายมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 โดยครอบครัวเป็นเจ้าของสวนทุเรียนอยู่ที่เมืองนนทบุรี ด้วยสามีและมีพี่น้องทำงานอยู่ที่โรงพิมพ์ธนบัตร ถึง 4 คน จึงถูกชักชวนให้มาขายทุเรียนภายในแบงก์ชาติ เริ่มแรกตั้งขายที่เรือนไม้ ก่อนโยกย้ายไปหลายที่ ตั้งแต่สโมสรริมน้ำไปจนถึงนอกรั้วแบงก์ชาติ จนพบกับพี่อาคม โอสถานนท์ และพี่วันเพ็ญ ดีดพิณ อดีตพนักงานฝ่ายธุรการ ที่แนะนำให้ขายผลไม้ประเภทอื่นด้วย สอนแม้กระทั่งวิธีเลือกผลไม้ ตั้งราคาขาย หากขายไม่หมดให้นำไปวางไว้ตามหน้ารถ สิ้นวันพี่วันเพ็ญจะช่วยรวบรวมเงินมาให้ครบทุกบาททุกสตางค์ ทำให้ได้เห็นถึงความซื่อสัตย์ของคนแบงก์ชาติตั้งแต่นั้นมา จึงตัดสินใจตั้งร้านถาวรภายในร้านเจ้าจนถึงทุกวันนี้
ปัจจุบัน ต้องตื่นตีสองเพื่อไปซื้อและคัดเลือกผลไม้ด้วยตนเองที่ปากคลองตลาด นอกจากขายผลไม้สด ยังรับจัดกระเช้าผลไม้ ลูกค้าสามารถเลือกผลไม้แบบไม่จำกัด ที่สำคัญสั่งด่วนจัดให้ได้เลย แบบสั่งปุ๊ปได้ปั๊ป ทั้งก้านและม่วยต่างมีความสุขที่ได้อยู่กับลูกค้าคนแบงก์ชาติ ที่นิสัยดี ตรงไปตรงมา เช่น หากผลไม้คุณภาพไม่ดีหรือราคาแพงไป ลูกค้าจะบอกตรง ๆ แบบนักวิชาการที่มีเหตุและผล ลูกค้าบางคนเห็นตั้งแต่เด็กเพราะคุณแม่นำมาฝากให้ช่วยเลี้ยงที่ร้านผลไม้ จนวันนี้เป็นถึงผู้บริหารระดับสูง
ท้ายสุด คือร้านกาแฟ ฝีมือไก่ (ราเมศร เพชรา) ตั้งเคาน์เตอร์สูง ๆ ไว้ด้านใน ไก่มีความเป็นบาริสต้าฉีกแนว ใส่เสื้อยืดกางเกงยีนส์ พูดสำเนียงใต้เสียงดังฟังชัด ไก่เรียนจบปริญญาตรี รัฐศาสตร์ และกลับไปเกณฑ์ทหารที่บ้านเกิดนครศรีธรรมราช แต่ด้วยใจรักธรรมชาติ ชีวิตอยากโบยบินไปกับนก พี่ชายดูท่าแล้วจะไปไม่รอด จึงมองหาลู่ทางสร้างอาชีพให้ แนะนำให้ขายกาแฟ พร้อมซื้อเครื่องชงกาแฟและสูตรสำเร็จมาให้ เดิมทีไก่ขายกาแฟอยู่ที่หน้าประตูถนนสามเสน คู่กับร้านนกส้มตำ ก่อนย้ายเข้ามาที่ร้านเจ้า ไก่ชอบผสมผสานและคิดค้นสูตรใหม่ ๆ มาให้ลูกค้าที่ชื่นชอบในรสกาแฟได้ลิ้มลอง เน้นคุณภาพ รสชาติเข้มข้น แต่ราคาจับต้องได้ เป็นสภากาแฟย่อม ๆ ก็ว่าได้ ทุกเช้าจะมีลูกค้ามาอุดหนุน เช่น กลุ่มของพี่กฤช กลิ่นหอม ฝ่ายธุรการ ที่มานั่งจิบกาแฟและพูดคุยกันหลากหลายหัวข้อ
ด้วยใจรักธรรมชาติ ไก่มักใช้เวลาว่างศึกษาและดูสารคดีธรรมชาติ สิงห์สาราสัตว์ และชอบท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ เข้าป่าลึกเพื่อส่องนก ดูสัตว์แปลก ๆ ที่ใกล้จะสูญพันธุ์ เช่น นกแต้วแร้วท้องดำ ซึ่งปัจจุบันไม่พบในเมืองไทยแล้ว จากประสบการณ์ตรงที่เคยเห็น เคยฟัง และเคยสัมผัสจริง ไก่จึงขอฝากถึงพวกเราว่า “ไม่เดินทาง ชีวิตจะว่างเปล่า ไปท่องเที่ยวธรรมชาติ เที่ยวบ้าง ก่อนที่โลกรวน ไม่เหมือนเดิม” ไก่เล่าต่อว่า อุทยานในประเทศไทยไปจนครบถ้วนหมดกระบวนท่าแล้ว จึงมุ่งมั่นต่อยอดไปท่องเที่ยวอุทยานต่างประเทศ จากที่เคยไปอุทยานแห่งชาติอิโตชา (Etosha National Park) ประเทศมานิเบียมาแล้ว อนาคตจึงใฝ่ฝันจะไปต่อที่อุทยานประเทศเปรู และบราซิล
ไก่ ก้าน กล้วย และม่วย ยังมีความมุ่งมั่นที่จะทำให้ร้านเจ้าเป็นสภากาแฟแบงก์ชาติที่มีชีวิตชีวาอยู่คู่แบงก์ชาติต่อไป พร้อมฝากบทเรียนชีวิตว่า “หัวใจสำคัญที่ทำให้ร้านเจ้าอยู่ได้ถึงทุกวันนี้ คือความรักและความสามัคคี” เพราะการอยู่ร่วมกัน 4 คน หากไม่มีการพูดคุยสนทนากันร้านจะไม่มีชีวิตชีวา สร้างบรรยากาศความเป็นพี่เป็นน้อง ทำให้ลูกค้าอยากเข้าร้าน เฉกเช่นเดียวกับพวกเราที่ใช้ชีวิตที่แบงก์ชาติ ต้องทำงานด้วยความสุข รักใคร่ กลมเกลียว ชีวิตจึงจะมีความสุข สุขกับงาน สามารถผลิตงานออกมาได้อย่างมีคุณภาพ ถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องราวที่ผูกสัมพันธ์กับชาวแบงก์ชาติ ที่จะถูกเล่าขานตลอดไป
หมายเหตุ : ขอขอบคุณ คุณอภิสรา เปาอินทร์ เลขานุการอาวุโส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกฎหมาย ที่ร่วมสัมภาษณ์ในครั้งนี้