"...เอกเขนกตอนนี้ จึงเป็นตอนพิเศษ ที่ผมขอนำบทสนทนาที่ได้พูดคุยกับท่านมาเล่าให้ทุกท่านฟัง เพราะจะทำให้ “วิชารัฐมนตรี” ที่ผมกำลังพยายามเขียนขึ้นมา มีความสมบูรณ์ และ หลากหลายมากขึ้นจากมุมมองผู้ซึ่งเป็นรัฐมนตรีก่อนผม และเป็นในวัยที่คนสมัยนี้เรียกว่า “คนรุ่นใหม่”..."
ผมคุยกับคนเยอะมากครับ ตอนเป็นรัฐมนตรี และ หลังจากหมดวาระแล้วก็ไม่คิดว่า ตัวเองจะได้คุยกับผู้คนอีกมากมายขนาดนี้ ผมคิดว่า ทุกท่านที่ให้เกียรติเข้ามาในชีวิตผม หลอมหลวมให้ผมเป็นผมทุกวันนี้ครับ
บุคคลสำคัญที่ผมนับถือและได้ติดตาม ศึกษา เรียนรู้ ชีวิตและวิถีการทำงานของท่านมาโดยตลอดอีกท่านหนึ่ง คือ บุคคลสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่อยู่ทั้งเบื้องหน้า และ เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาสำคัญ
และในอดีต ท่านยังได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่ออายุเพียง 29 ปี ซึ่งต่างกับผมมากครับ ผมเป็นรัฐมนตรีตอนอายุ 66 ปี แสดงว่าท่านย่อมมีความสามารถไม่ธรรมดา จึงเป็นบุคคลที่น่าทำความรู้จักครับ
เอกเขนกตอนนี้ จึงเป็นตอนพิเศษ ที่ผมขอนำบทสนทนาที่ได้พูดคุยกับท่านมาเล่าให้ทุกท่านฟัง เพราะจะทำให้ “วิชารัฐมนตรี” ที่ผมกำลังพยายามเขียนขึ้นมา มีความสมบูรณ์ และ หลากหลายมากขึ้นจากมุมมองผู้ซึ่งเป็นรัฐมนตรีก่อนผม และเป็นในวัยที่คนสมัยนี้เรียกว่า “คนรุ่นใหม่”
จึงน่าจะทำให้คนรุ่นใหม่ที่สนใจเรื่องราวของการบริหารประเทศ อยากจะมาอ่านเรื่องของผมมากขึ้น เรียกว่า อาศัยความหนุ่มของท่านมาเรียกคะแนนเสียงครับ
การได้รับมอบหมายตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในวัย 29 ปีนั้น ผมคิดว่าไม่ใช่เรื่องปกติ
เพราะถือเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญสูงมาก และต้องทำงานท่ามกลางบรรดารัฐมนตรี และ ข้าราชการประจำที่มีอายุเฉียดเลข 5 เลข 6 แล้วทั้งนั้น
ท่านเล่าให้ฟังว่า เหตุที่ทำให้ท่านได้รับตำแหน่งสำคัญน่าจะมาจากเหตุผล 2-3 ประการ ซึ่งผมคิดว่าเป็นหัวใจสำคัญของ ผู้นำ คือ ทัศนคติที่ดี และ จิตที่ว่าง ท่านเล่าให้ฟังว่า สังคมในขณะนั้นเกิดความขัดแย้ง และ เห็นต่างกันสูงมาก ซึ่งก็ไม่ต่างกับสมัยนี้ใช่ไหมครับ
แต่สำหรับคนที่จะเป็นผู้นำ ต้องเคารพความเห็นต่างและมองให้เป็นเรื่องดีครับ และสามารถทำงานร่วมกับผู้เห็นต่างได้ โดยให้ความเคารพซึ่งกันและกัน และ ไม่โต้แย้งกันแบบเอาเป็นเอาตาย (เหมือนทุกวันนี้) เพราะทุกคนต่างมีเหตุผลในมุมมองของตัวเอง
และประเด็นที่ 2 การมี “จิตว่าง” หมายถึง นักการเมืองที่อาสามาบริหารประเทศต้องพร้อมที่จะไป พร้อมที่จะอยู่ พร้อมที่จะถูกปรับเปลี่ยนตลอดเวลา แต่ต้องทำงานเพื่อประเทศชาติให้ดีที่สุดในขณะที่อยู่ ไม่ยึดกับตำแหน่ง และ เกียรติยศต่างๆครับ
ซึ่งทั้ง 2 เรื่องนี้ตรงกับผมมาก ซึ่งผมคิดอยู่เสมอว่า หากได้รับโอกาสในการเข้ามาบริหารบ้านเมืองแล้วไม่สร้างประโยชน์ อยู่เฉยๆ รอให้หมดวาระแบบสวยๆ ไม่กล้าตัดสินใจอะไรที่กระทบ กระทั่งกับใคร หรือ กับกลุ่มผลประโยชน์ใดเพื่อไม่ให้ตัวเองเจ็บตัว ผมถือว่าเป็น “บาป” อันใหญ่หลวงต่อแผ่นดิน ซึ่งคนที่จะขึ้นมาบริหารประเทศพึงมีธรรมะข้อนี้อยู่ในใจเสมอ
ประกอบกับคำที่ท่านย้ำหลายครั้งมากว่า ประเทศจะเจริญได้ผู้นำประเทศต้อง “ไม่มีวาระซ่อนเร้น” คิดและทำทุกอย่างด้วยใจบริสุทธิ์ที่จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศ มิใช่ต่อตนเอง หรือ พวกพ้อง
รวมไปถึงการคัดเลือกบุคคลที่จะมาช่วยบริหารราชการแผ่นดิน เป็นเรื่องสำคัญที่เป็นหน้าที่ของผู้ที่เป็นรัฐมนตรี ต้องเลือกให้ถูกต้อง ไม่ใช่ถูกใจ เรียกว่าต้อง “ตาถึง ใจถึง” แม้บางครั้งจะสวนกระแส หรือ มีคนแย้งก็ต้องยึดมั่น และ มุ่งมั่น เพราะถ้าเรา “ไม่มีวาระซ่อนเร้น” การเลือกผู้บริหารที่เป็น Keyman สำคัญๆ จะมุ่งไปที่การสร้างประโยชน์ต่อประเทศเท่านั้นครับ
ตอนที่ผมเข้ามาบริหาร อว. ผมต้องเลือกปลัดกระทรวงให้ได้ภายใน 1 เดือน และผมก็ใช้หลักการเดียวกันนี้ คือ มุ่งสร้างประโยชน์ต่อประเทศ และ ไม่มีวาระซ่อนเร้น
ผมเลือกท่าน ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ซึ่งผมไม่รู้จักท่านเป็นการส่วนตัวเลย มาเป็นปลัดกระทรวงในเวลานั้น ซึ่งบอกตามตรงว่า มีหลายท่านคัดค้าน และ ไม่เห็นด้วย ซึ่งก็เป็นเหตุผลในมุมมองของแต่ละท่านที่ผมรับฟัง
แต่ในที่สุดท่านก็ได้พิสูจน์ว่าท่านเป็นบุคคลที่มีความสามารถ ขับเคลื่อน ผลักดันนโยบายต่างๆออกมาได้เร็ว และ มีประสิทธิภาพ เป็นที่ยอมรับของคนในกระทรวงในที่สุด
บุคคลต้นแบบของผมท่านนี้ ยังได้เปิดมุมมองให้เห็นชัดเจนอีกว่า ผู้บริหารประเทศแบบนักการเมืองกับ ข้าราชการประจำต่างกันอย่างไร ซึ่งไม่มีแบบไหนดีหรือไม่ดีกว่ากัน
เพราะข้าราชการประจำทำเรื่องเดียวตลอดอายุการทำงาน จึงเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญ และ รู้ลึก รู้จริง ในเรื่องที่ทำอยู่ และ ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง
ส่วนนักการเมืองนั้น มีอายุการทำงานสั้น และ ไม่แน่นอน แต่มีความมุ่งมั่นที่จะสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศ จึงต้องทำงานเร็ว และ พร้อมปรับเปลี่ยนอยู่เสมอ
ดังนั้น การบริหารงานของผู้นำประเทศ หรือ รัฐมนตรี คือ การสร้างสมดุลระหว่างคน 2 กลุ่ม ให้ทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ เห็นต่างได้ แต่ไม่หักหาญน้ำใจกัน และ พึ่งพาซึ่งกันและกัน
ซึ่งผมเห็นด้วยมากๆ และเป็นวิธีที่ผมใช้บริหารงานที่ อว. ซึ่งผมต้องขอบคุณผู้บริหารกระทรวง ผู้บริหารหน่วยงาน และ ข้าราชการทุกระดับชั้น ที่สนุกไปกับนโยบายของผม
โดยทุกคนมีเป้าหมายเดียวกันที่จะให้ประเทศไทยก้าวสู่ประเทศพัฒนาแล้วให้ได้ภายใน ปี 2580 เมื่อเป้าหมายชัดเจน ทุกคนเห็นด้วย ก็เดินหน้าแบบ “ไม่มีวาระซ่อนเร้น” ครับ
ซึ่งผมคิดว่า การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเรื่องหนึ่งในตอนที่ผมเป็น รมว.อว.ก็คือ เรื่องคน ผมให้ความสำคัญกับการพัฒนา “คน” โดยพยายามดึงศักยภาพของทุกคนออกมา และให้ Mindset มุมมองการทำงานที่ถูกต้อง ปลดล็อคข้อจำกัด หาทางแก้ปัญหา เคลียร์ถนนให้โล่งและยกระดับให้เป็นทางด่วน
ให้ทุกคนสามารถมุ่งสู่เป้าหมายได้อย่างเร็ว และ มีอุปสรรคให้น้อยที่สุด จนเป็นวลีที่ติดปากผมไปแล้วว่า ต้องใช้ “ทางด่วน ทางลัด และ ก้าวกระโดด โดยไม่เริ่มจากศูนย์ อะไรที่ไม่สำเร็จไม่ต้องทำ”
ผมเชื่อว่า คน อว.จำประโยคนี้ของผมได้ดี ทำให้มีผลสำเร็จออกมาเป็นรูปธรรม ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นฝีมือของทุกคนในกระทรวงครับ ผมมีหน้าที่แค่พูด และ ให้กำลังใจครับ
ท้ายที่สุด ท่านบอกว่ามีคำสอนที่ได้รับตกทอดมาจากผู้ใหญ่อีกท่านหนึ่งสำหรับผู้ที่จะเป็นรัฐมนตรี หรือ ผู้บริหารระดับสูง คือ “อย่ากินอะไรที่มองไม่เห็น อย่าเซ็นอะไรที่ไม่ได้อ่าน”
ประโยคนี้ควรจะจำให้ขึ้นใจเลยครับ เพราะคนเป็นผู้นำ ต้องไม่หลับหู หลับตา ต้องเห็นทุกเรื่อง รู้ทุกอย่าง แต่ไม่ต้องทำทุกเรื่องนะครับ และไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้ จะมาทำเป็นไม่รู้ ไม่ชี้ ปล่อยให้มีการทุจริต คอรัปชั่น หรือ เรื่องที่ทำให้ประเทศเสียหายไม่ได้ครับ
เมื่อท่านได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายสัตย์ปฏิญาณแล้ว ต้องถือว่าท่านรับความไว้วางพระราชหฤทัยจากพระมหากษัตริย์ในการบริหารราชการแผ่นดิน ท่านต้องสร้างประโยชน์ให้กับประเทศตลอดชีวิตของท่านแม้ว่าจะหมดวาระแล้วก็ตามครับ
และทั้งหมดเป็นเรื่องเล่าของท่านดุสิต ศิริวรรณ ผู้ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลของท่านอดีตนายกรัฐมนตรี ธานินทร์ กรัยวิเชียร เมื่อตอนอายุ 29 ปี ในปี พ.ศ.2519 ครับ
ผมต้องขอบพระคุณที่ท่านได้กรุณาแลกเปลี่ยนมุมมองของการเป็นผู้นำประเทศ หรือ รัฐมนตรี ในตำแหน่งที่เป็นโซ่ข้อกลางของคณะรัฐมนตรีในยุคนั้น และ ปัจจุบันท่านยังคงมีคุณูปการในการขับเคลื่อนประเทศอย่างต่อเนื่องแม้จะอยู่ในวัยเกือบ 80 ปี
นี่แหละครับ ความรู้ ความสามารถ ของ “คนรุ่นใหม่” ในยุคนั้น ที่อยากให้ “คนรุ่นใหม่ยุคนี้” ได้เรียนรู้ และ แลกเปลี่ยนกันได้นะครับ เราเคยเป็น “คนรุ่นใหม่” เหมือนกันครับ
..... เชิญทานอาหารให้อร่อยครับ
“เอกเขนก” รวมบทสนทนา (ไม่) ลับบนโต๊ะอาหารตลอด 3 ปี ที่คุณไม่เคยได้ยินของผม อดีต รมว.อว.ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ กับ เรื่องราวเบื้องหลังแผนการเปลี่ยนไทยสู่ประเทศพัฒนาแล้วในปี 2580