"...ดรัคเกอร์ ได้ฝากข้อคิดที่มีประโยชน์มากมาย แม้ว่า ท่านจะจากไปแล้วเมื่อปี ค.ศ. 2005 ด้วยวัย 95 ปี แต่โลกนี้ยังเต็มไปด้วยผลงานที่ท่านได้ริเริ่มและปูทางไว้ให้ อีกทั้งเป็นแรงบันดาลใจและแบบอย่างที่ดีให้กับนักบริหารรุ่นหลังได้นำไปฝึกฝน ต่อยอด ให้องค์กรทั่วโลกมีการพัฒนากระบวนการบริหารและการจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป..."
สวัสดีครับ
“ประสิทธิภาพ คือการทำสิ่งต่าง ๆ อย่างถูกต้อง ประสิทธิผล คือการทำสิ่งที่ถูกต้อง” (Efficiency is doing things right. Effectiveness is doing the right things.) ถือเป็นหนึ่งในแนวคิดที่เป็นอมตะของปีเตอร์ ดรัคเกอร์ (Peter Drucker) ปรมาจารย์ด้านการบริหารจัดการ ที่พวกเราคงมีโอกาสได้อ่านผลงานของท่าน ที่เขียนหนังสือเกี่ยวกับการบริหารมากกว่าสามสิบเล่ม จากหนังสือการบริหารเล่มแรกในปี ค.ศ. 1946 ชื่อ Concept of the Corporation1/ ไปจนถึงบทความฉบับสุดท้ายเรื่อง What Makes an Effective Executive เป็นบทความที่ดีที่สุดของวารสารฮาร์วาร์ดเมื่อปี ค.ศ. 2004 2/
ดรัคเกอร์ เป็นทั้งอาจารย์ นักบริหาร นักคิด และนักเขียน เกิดที่เวียนนา ประเทศออสเตรีย เมื่อปี ค.ศ. 1909 ท่านได้เคยสัมภาษณ์อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) เพื่อให้ข้อวิจารณ์ต่อหนังสือ ไมน์คัมพฟ์ (Mein Kampf) ที่ฮิตเลอร์เขียนถึงแนวคิดสร้างชาติอารยันอันยิ่งใหญ่ ทำให้ดรัคเกอร์เล็งเห็นถึงอันตรายของบุคคลเชื้อสายยิว ตัดสินใจย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่อังกฤษในปี ค.ศ. 1930 ก่อนย้ายไปอยู่สหรัฐฯ เมื่อปี ค.ศ. 1937 และได้เริ่มต้นธุรกิจการให้คำปรึกษาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1950 ท่านได้เป็นอาจารย์สอนธุรกิจอยู่ที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก และย้ายไปที่มหาวิทยาลัยแคลร์มอนต์ ช่วยพัฒนาหลักสูตรเอ็มบีเอ ด้านการบริหาร ก่อนได้รับการแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์พิเศษ ด้านสังคมศาสตร์ และด้านการจัดการ ต่อมาได้ตั้งชื่อมหาวิทยาลัยว่า Peter F Drucker School of Management เพื่อเป็นเกียรติแก่ดรัคเกอร์ และได้สอนในชั้นเรียนครั้งสุดท้ายเมื่อปี ค.ศ. 2002 ในขณะที่มีอายุ 92 ปี
แนวคิดดรัคเกอร์ : สนใจผู้คนมากกว่าวิธีการดำเนินธุรกิจ
ดรัคเกอร์มีแนวคิดในการบริหารจัดการแตกต่างจากคนอื่น จุดเด่นคือ ความพยายามที่จะเข้าใจความซับซ้อนต่าง ๆ ของสังคม และพยายามถอดสรุปสิ่งที่เข้าใจออกมาเป็นแนวคิดที่ได้จากประสบการณ์ด้านการปฏิบัติ ทฤษฎีการบริหารจัดการ ซึ่งประกอบด้วย 1. การวางแผน ทั้งระยะสั้นและระยะยาว 2. การจัดองค์การ เป็นการมอบหมายงานให้บุคลากรได้ปฏิบัติเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามแผนที่วางไว้สุดท้ายองค์กรก็จะประสบความสำเร็จไปด้วย 3. การนำ เป็นการจูงใจ การชักนำ การกระตุ้น และชี้ทิศทางให้ดำเนินไปสู่การบรรลุเป้าหมาย โดยการเพิ่มผลผลิตและเน้นมนุษยสัมพันธ์ และ 4. การควบคุมเป็นภาระหน้าที่ของผู้บริหารที่จะต้องรวบรวมข้อมูลเพื่อประเมินผลการดำเนินงาน เปรียบเทียบผลงานปัจจุบันกับเกณฑ์มาตรฐานที่ตั้งไว้ 3/ ตัวอย่างแนวคิดที่สร้างชื่อเสียง ซึ่งแบงก์ชาติและองค์กรทั่วโลกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลาย คือ แนวคิด Management by Objectives (MBO) ซึ่งเป็นกระบวนการที่ผู้บริหารและพนักงานในองค์กรร่วมกันกำหนดเป้าหมายและวัดผลการทำงานตามเป้าหมายนั้น
สิ่งที่อันตรายที่สุดในสถานการณ์ที่โกลาหล ไม่ใช่ความโกลาหล แต่มันคือ “การกระทำที่ตั้งอยู่บนเหตุผลของเมื่อวาน”
แม้ว่า ดรัคเกอร์จะเป็นทั้งนักคิดและนักเขียนผู้มีอิทธิพลในด้านการบริหารจัดการ ท่านใช้เวลา 2 ใน 3 ของชีวิตอยู่กับการทำงาน แต่ท่านไม่เคยที่จะหยุดแสวงหาความรู้และพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล มีจริยธรรมและคุณธรรม ให้ความสำคัญกับการสร้างสมดุลระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิตส่วนตัว หรือระหว่างการเรียนรู้และการพักผ่อน ท่านจัดสรรเวลาและทรัพยากรได้อย่างเหมาะสมลงตัว สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข ไปพร้อม ๆ กับการสร้างสรรค์ผลงานที่ยิ่งใหญและมีประสิทธิภาพ จนเป็นที่ประจักษ์ ยืนยันได้จากเครื่องอิสริยาภรณ์สูงสุด (Presidential Medal of Freedom) จากประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ซึ่งมอบให้กับบุคคลสำคัญที่อุทิศตนในการสร้างความมั่นคงและสนับสนุนผลประโยชน์ของสหรัฐฯ สันติสุขของโลก วัฒนธรรม และผลงานอื่น ๆ
ปีเตอร์ ดรัคเกอร์ ขณะสอนหนังสือ
หนังสือ Living in More Than One World: How Peter Drucker's Wisdom Can Inspire and Transform Your Life เขียนโดย บรูซ โรสเซนสตีน (Bruce Rosenstein) ได้นำเสนอแนวคิดและหลักปรัชญาของดรัคเกอร์ที่เชื่อว่า การใช้ชีวิตในหลายมิติ ทั้งด้านการงาน กิจกรรมส่วนตัวหรือความสัมพันธ์กับผู้อื่น เป็นสิ่งที่จะช่วยให้เราได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ และพัฒนาตนเองได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการอ่านหนังสือ การเข้าร่วมกิจการ หรือแม้แต่การได้พูดคุยกับผู้คนที่มีประสบการณ์หลากหลาย นอกจากนั้น การแบ่งปันก็เป็นสิ่งสำคัญในการสร้างคุณค่าให้กับสังคม ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งปันความรู้ ประสบการณ์ หรือทรัพยากรต่าง ๆ4/
ดรัคเกอร์ ได้ฝากข้อคิดที่มีประโยชน์มากมาย แม้ว่า ท่านจะจากไปแล้วเมื่อปี ค.ศ. 2005 ด้วยวัย 95 ปี แต่โลกนี้ยังเต็มไปด้วยผลงานที่ท่านได้ริเริ่มและปูทางไว้ให้ อีกทั้งเป็นแรงบันดาลใจและแบบอย่างที่ดีให้กับนักบริหารรุ่นหลังได้นำไปฝึกฝน ต่อยอด ให้องค์กรทั่วโลกมีการพัฒนากระบวนการบริหารและการจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
รณดล นุ่มนนท์
27 พฤษภาคม 2567
แหล่งที่มา
1/ Centurion University of Technology and Management, Uploads 2020/05 http://courseware.cutm.ac.in/wp-content/uploads/2020/05/Concept-of-the-Corporation-PDFDrive.com-.pdf
2/ รศ สมยศ นาวีการ, ปีเตอร์ ดรัคเกอร์ กูรูทางการบริหารที่เป็นตำนานของโลก, Inewhorizon, http://www.inewhorizon.net/peter-drucker/
3/ อมตะ, ข้อคิดการทำงานแบบ Peter Drucker กูรูผู้ล่วงลับ, ฐานเศรษฐกิจ, 04 มี.ค. 2564 18:47 น. https://www.thansettakij.com/general-news/470926
4/ Bruce Rosenstein, Living in More Than One World: How Peter Drucker's Wisdom Can Inspire and Transform Your Life, August 2, 2009
หมายเหตุ:
ขอขอบคุณ อาจารย์เกรียงศักดิ์ นิรัติพัฒนะศัย โค้ชผู้บริหาร ที่แนะนำหนังสือ Living in More Than One World: How Peter Drucker's Wisdom Can Inspire and Transform Your Life
และคุณประภาศรี รงคสุวรรณ เลขานุการบริหาร ประจำผู้ว่าการ ผู้มีส่วนร่วมในการเขียน Weekly Mail ฉบับนี้