"...เบน พราวด์ฟุต (Ben Proudfoot) และคริส โบเวอรส์ (Kris Bowers) ผู้กำกับสารคดีเรื่องนี้ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า “ร้านซ่อมดนตรีแห่งนี้ ไม่เพียงแต่ซ่อมเครื่องดนตรีให้กลับมาอยู่ในสภาพเดิม แต่ได้ให้โอกาสกับเด็ก ๆ ได้สานความฝันของพวกเขา ไวโอลินแตกเกิดจากหลายสาเหตุ ถ้าเราพบรอยแตกและซ่อมแซม เสียงจะกลับมาไพเราะดังเดิม แต่การเลี้ยงดูเด็กแตกต่างกัน เพราะเติบโตมาจากสภาพแวดล้อมที่ต่างกัน ความแตกสลายทางอารมณ์และทางจิตใจ จึงเป็นเรื่องยากที่จะติดกาวกลับเข้าด้วยกันได้ ต้องใช้เวลา ใช้ความระมัดระวัง และมีความอดทนที่เพียงพอ”..."
สมัยวัยเด็ก พ่อแม่จะสรรหาทุกอย่างเพื่อให้ผมและน้องชายได้ค้นพบตัวตน บริเวณรอบบ้านถูกเนรมิตให้เล่นกีฬาได้เกือบครบประเภทกีฬาโอลิมปิก ตั้งแต่สนามฟุตบอล สนามบาสเกตบอล สนามแบดมินตัน ไปจนถึงโต๊ะปิงปอง พอมีคุณครูสอนดนตรีมาเป็นเพื่อนบ้าน คราวนี้พ่อแม่โน้มน้าวให้ไปลองเรียนดู พอเรียนได้ไม่ถึงปี พ่อแม่ถึงกับลงทุนไปซื้ออิเล็กโทนมาตั้งไว้ที่บ้าน คราวนี้งานเข้า เพราะต้องฝึกซ้อมทุกวัน เล่นจนได้ไปออกงานปีใหม่ของหมู่บ้าน แต่พอโตขึ้นมา รับรู้ได้ว่าดนตรีคงไม่ใช่แค่พรแสวง แต่ต้องมีพรสวรรค์ด้วย
อย่างไรก็ดี หลายครอบครัวคงไม่ได้โชคดีเช่นนั้น ด้วยฐานะและสภาพแวดล้อมในสังคมที่แตกต่างกัน ไม่ต้องพูดถึงการลงทุนซื้ออุปกรณ์กีฬาและเครื่องดนตรี เพราะแม้แต่จะเช่าอุปกรณ์เหล่านั้นก็ต้องคิดหนัก ซึ่งไม่เว้นแม้แต่ประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างเช่น สหรัฐอเมริกา ครอบครัวส่วนใหญ่มักส่งลูกหลานไปเรียนในโรงเรียนของรัฐบาล เพราะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ มีหนังสือเรียนฟรี มีอาหารกลางวันให้ พร้อมส่งเสริมให้นักเรียนได้เรียนในสิ่งที่ตนเองรัก ซึ่งรวมถึงการเล่นดนตรี และแน่นอนสำหรับครอบครัวชนชั้นกลางไม่มีฐานะเพียงพอที่จะซื้อเครื่องดนตรีให้ลูก ต้องอาศัยการยืมอุปกรณ์จากโรงเรียนมาฝึกซ้อมที่บ้าน ซึ่งเครื่องดนตรีเหล่านั้น มีราคาแพงโรงเรียนจึงต้องพึ่งจากการรับบริจาค พร้อมหมั่นซ่อมแซมบำรุงรักษาเพื่อส่งต่อให้กับนักเรียนในรุ่นต่อ ๆ ไป
ชานเมืองลอสแอนเจลิส ศูนย์กลางแห่งโลกดนตรี มีสิ่งปลูกสร้างในบล็อกที่มีรั้วรอบขอบชิดแห่งหนึ่งที่รายล้อมไปด้วยร้านซ่อมรถยนต์ ร้านทำหน้าต่าง และโกดังเก็บของเขียนป้ายไว้ว่า “ร้านซ่อม
เครื่องดนตรี” (Music Repair Shop) มีช่างจำนวน 13 คน กำลังซ่อมเครื่องดนตรีนานาชนิดอย่างใจจดใจจ่อ ที่สำคัญพวกเขาไม่ได้ซ่อมแซมเครื่องดนตรีให้กับนักดนตรีทั่วไป แต่กำลังซ่อมเครื่องดนตรีของโรงเรียนรัฐบาล 13,000 แห่ง ในเขตเมืองลอสแอนเจลิสกว่า 6,000 ชิ้น ในแต่ละปี ถือเป็นร้านซ่อมเครื่องดนตรีแห่งสุดท้ายในสหรัฐฯ ที่ถูกตั้งมาเป็นการเฉพาะเพื่อวัตถุประสงค์นี้
เรื่องราวของร้านซ่อมเครื่องดนตรีแห่งนี้ เป็นที่มาของสารคดีสั้นเรื่อง “The Last Repair Shop” ที่ได้รับรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์สารคดีสั้นยอดเยี่ยมครั้งที่ 96 เมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สารคดีเรื่องนี้ได้ถ่ายทอดความเป็นมาของร้านแห่งนี้จากช่างซ่อมประจำร้านจำนวน 4 คน ผู้มีเส้นทางชีวิตที่แตกต่างกัน ก่อนฟ้าลิขิตให้มาอยู่ร่วมกัน ณ ร้านแห่งนี้ ตั้งแต่ดาน่า แอทกินสัน (Dana Atkinson) ช่างซ่อมเครื่องสายไวโอลิน ค้นพบตนเองว่าเป็นเกย์ แต่เติบโตมาในช่วงที่สังคมยังไม่ยอมรับความแตกต่างทางเพศ อยู่ด้วยความไม่เป็นตัวของตัวเอง กลายเป็นความทุกข์ แต่เมื่อพ่อกับแม่ ซึ่งเป็นนักดนตรีสอนว่า “ชีวิตเหมือนกับการเล่นดนตรี จังหวะต้องสม่ำเสมอตลอดเวลา ดังนั้น เราจะทำอะไรต้องอย่าหยุด เดินหน้าต่อไป และอย่าเลิก อย่ายอมแพ้” หลังจากนั้น เขายอมรับในตัวตน พบกับสามีและใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันจนกลายมาเป็นช่างซ่อมเครื่องดนตรีสายในปัจจุบัน
สำหรับพาตี้ โมรีโน่ (Paty Moreno) แม่เลี้ยงเดี่ยวลูก 2 ชาวเม็กซิกัน อพยพเข้ามาสหรัฐฯ เพื่อสร้างชีวิตใหม่ให้ครอบครัว เริ่มต้นด้วยการเป็นลูกจ้างในร้านขายอุปกรณ์ดนตรี มุมานะอดทน ที่จะฝึกฝนเรียนรู้การซ่อมเครื่องดนตรี จนได้โอกาสสมัครสอบเข้าทำงานในร้านซ่อมดนตรีแห่งนี้ แข่งขันกับผู้สมัครที่เป็นผู้ชายล้วนกว่า 20 คน แต่เธอสามารถฝ่าฟันเข้ามาทำงานจนสำเร็จ ด้วยผลงาน
ที่เป็นที่ประจักษ์ถึงความละเอียดรอบคอบ ใส่ใจในเครื่องเล่นดนตรี ที่อยู่ตรงหน้าเธอ ในขณะที่ ดูแอน ไมเคิลส์ (Duane Michaels) สานฝันให้เป็นจริงจากการรบเร้าขอยืมเงินแม่ซื้อไวโอลินมือสองในราคา 20 ดอลลาร์ จากแผงในตลาดนัด จนสามารถตั้งวงดนตรี ประสบความสำเร็จ เป็นวงดนตรีที่เล่นเป็นวงแรกก่อนการแสดงของเอลวิส เพรสลีย์ (Elvis Presley) พร้อมเดินทางไปเล่นทั่วโลก
แต่ชีวิตที่น่าพิศวงที่สุดคงหนีไม่พ้น สตีฟ แบคมันยัน (Steve Bagmanyan) ผู้จัดการร้านซ่อมดนตรีแห่งนี้ เขาเติบโตในประเทศอาเซอร์ไบจาน (Azerbaijan) ครอบครัวเป็นชาวอาร์มีเนีย ต้องอพยพหนีตายมาอยู่ในสหรัฐฯ ภายหลังพ่อถูกยิงเสียชีวิตจากสงครามกลางเมือง สตีฟถูกปลูกฝังให้รักดนตรีมาตั้งแต่เด็ก แอบนำกีตาร์ของพี่ชายมาฝึกเล่น และตอนเด็กได้เห็นช่างซ่อมเปียโนคอยปรับเสียงเปียโนทีละคีย์ เป็นที่ประหลาดใจกับเขามาก และเมื่อสตีฟได้รับโอกาสเรียนรู้การซ่อมเปียโน เขาไม่ลังเลยึดเป็นอาชีพมาจนถึงทุกวันนี้
เรื่องราวของช่างซ่อมทั้ง 4 คนถูกสลับด้วยการสัมภาษณ์เด็กนักเรียนที่ได้รับโอกาสยืมเครื่องดนตรีเหล่านั้นมาฝึก ตั้งแต่อิสเมไร กัลกาเนโอ (Ismerai Calcaneo) ฝึกเล่นแซ็กโซโฟนตั้งแต่อายุ 9 ขวบ สามารถทำให้ดนตรีช่วยเปลี่ยนชีวิตของเธอ เป็นคนมีวินัยขึ้น ตรงต่อเวลาพร้อมกับฝึกสมาธิ และอแมนด้า โนวา (Amanda Nova) วัย 12 ขวบ พ่อสอนให้เธอเล่นเปียโนตั้งแต่ 3 ขวบจากที่เป็นคนอ่อนไหวไม่เชื่อมั่นตัวเอง และพยายามฝึกฝนอย่างหนักอยู่นาน และเมื่ออยู่บนเวทีแสดงดนตรีเหมือนได้รับพลังใจจากผู้ชมส่งมาทำให้เธอฮึดสู้จนทำได้สำเร็จ และที่โดดเด่นคือ สาวน้อยปอร์เช่ บิงเกอร์ (Porche Brinker) วัย 12 ปี ที่ขึ้นไปรับรางวัลออสการ์ พร้อมพูดขึ้นว่า“ครอบครัวหนูสุขภาพไม่ดี เจ็บออด ๆ แอด ๆ อยู่บ่อยครั้ง หากไม่มีไวโอลิน ไม่ทราบว่าจะทำอะไร หนูไม่ได้ล้อเล่นนะ พูดจริง ๆ หนูขอเงินแม่เพื่อเช่าไวโอลินเดือนละ 20 ดอลลาร์ แม่ตอบกลับว่า ถ้าอย่างงั้น คงต้องเลือกระหว่างเลี้ยงหนูหรือไวโอลินแล้วล่ะ”
เบน พราวด์ฟุต (Ben Proudfoot) และคริส โบเวอรส์ (Kris Bowers) ผู้กำกับสารคดีเรื่องนี้ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า “ร้านซ่อมดนตรีแห่งนี้ ไม่เพียงแต่ซ่อมเครื่องดนตรีให้กลับมาอยู่ในสภาพเดิม แต่ได้ให้โอกาสกับเด็ก ๆ ได้สานความฝันของพวกเขา ไวโอลินแตกเกิดจากหลายสาเหตุ ถ้าเราพบรอยแตกและซ่อมแซม เสียงจะกลับมาไพเราะดังเดิม แต่การเลี้ยงดูเด็กแตกต่างกัน เพราะเติบโตมาจากสภาพแวดล้อมที่ต่างกัน ความแตกสลายทางอารมณ์และทางจิตใจ จึงเป็นเรื่องยากที่จะติดกาวกลับเข้าด้วยกันได้ ต้องใช้เวลา ใช้ความระมัดระวัง และมีความอดทนที่เพียงพอ”
ตอนสุดท้ายของสารคดีจบด้วยด้วยการบรรเลงเพลงของกลุ่มนักเรียนทั้งศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน พวกเขาได้รับโอกาสยืมเครื่องดนตรีเหล่านั้นมาฝึกฝน จนค้นพบตัวตน และแน่นอนว่าบางชิ้นได้ผ่านการซ่อมแซมจาก The Last Repair Shop เป็นสารคดีความยาวเพียง 39 นาที แต่เรียกได้ทั้งน้ำตาและรอยยิ้ม
แหล่งที่มา
[1] Sheena Goodyear, An Oscar changed everything for this public school instrument repair shop Academy Award-winning doc brings in donations for beloved L.A. public school program, CBC Radio, Mar 21, 2024 3:21 PM EDT | Last Updated: March 22 https://www.cbc.ca/radio/asithappens/last-repair-shop-donations-1.7149746