"...เมื่อเราเริ่มสังเกต เราจะได้เห็นในสิ่งที่ไม่เคยเห็น ได้ยินในสิ่งที่ไม่เคยได้ยิน พร้อมเห็นโอกาสที่มีอยู่มากมายซึ่งเราเคยมองข้ามไป แม้แต่อาหารเมนูเดิม ๆ ที่เคยทานอยู่ประจำ หากเป็นคนช่างสังเกต ใส่ใจ ทั้งวัตถุดิบ รสชาติ ย่อมทำให้อาหารเมนูเดิมอร่อยมากขึ้น..."
ด้วยการจราจรที่ติดขัดและเวลาที่ไม่เคยรอใคร ผมจะใช้เส้นทางด่วนมาทำงานทุกเช้า ถือเป็นการเดินทางที่ล้อหมุน 6 โมงเช้า และใช้เวลาเดินทางไม่ถึง 30 นาที ถึงหน้าประตูทางเข้าแบงก์ชาติแบบพอดิบพอดี แต่เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เป็นวันหยุดราชการเนื่องในวันพืชมงคล ถนนโล่ง ผมจึงตัดสินใจเดินทางบนถนนพื้นราบ ทำให้ได้สังเกตเห็นบรรยากาศการใช้ชีวิตยามเช้า และอาคารบ้านเรือน ที่เปลี่ยนแปลงไป ได้ทักทายลุงเล็กเพื่อนบ้านที่เดินออกกำลังกายไปถึงหน้าปากซอย ร้านข้าวมันไก่ข้างบ้านที่มีลูกค้ามารอคิวตั้งแต่เช้า ไปจนถึงบ้านริมคลองลาดพร้าวที่ตั้งเป็นระเบียบไม่ยื่นออกมา น้ำในคลองดูสะอาดสะอ้านต่างจากความทรงจำเก่าไปมาก ทำให้สัมผัสได้ถึงวิถีชีวิตชุมชนที่เปลี่ยนแปลงไป พร้อมได้ข้อคิดถึงการมีส่วนร่วมในชุมชนและการเชื่อมต่อกับผู้อื่นด้วยการสังเกตเห็นสิ่งที่เราสนใจและใส่ใจในสิ่งที่เห็น
หนังสือ “ศิลปะแห่งการสังเกต” (The Art of Noticing) เขียนโดยร๊อบ วอล์กเกอร์ (Rob Walker) ชาวอเมริกัน นักเขียนบทความประจำในหนังสือพิมพ์ The New York Times ที่เรียกตัวเองว่า Workologist ได้เกริ่นในบทนำอย่างน่าสนใจว่า “การสังเกตเป็นทักษะที่สำคัญ ที่บ่มเพาะความสามารถในการมองเห็นสิ่งที่คนอื่นมองข้าม เป็นปัจจัยสำคัญต่อกระบวนการสร้างสรรค์”[1] ซึ่งในโลกดิจิทัล สังคมก้มหน้า ที่เราใช้เวลาบนหน้าจอโทรศัพท์มือถือตั้งแต่เช้าจรดเย็น ไปจนถึงสิ่งยั่วเย้าจากทุกทิศทุกทาง ชวนให้เราไขว้เขว เสียสมาธิ และมองข้ามหลักพื้นฐานในการกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์เพื่อการดำเนินชีวิตที่ดีขึ้น
เมื่อเราเริ่มสังเกต เราจะได้เห็นในสิ่งที่ไม่เคยเห็น ได้ยินในสิ่งที่ไม่เคยได้ยิน พร้อมเห็นโอกาสที่มีอยู่มากมายซึ่งเราเคยมองข้ามไป แม้แต่อาหารเมนูเดิม ๆ ที่เคยทานอยู่ประจำ หากเป็นคนช่างสังเกต ใส่ใจ ทั้งวัตถุดิบ รสชาติ ย่อมทำให้อาหารเมนูเดิมอร่อยมากขึ้น
นอกจากนั้น ความคิดที่ต้องการทำงานหลายอย่างในเวลาเดียวกัน และมุ่งมั่นที่จะผลิตผลงาน ทำให้เราไม่ค่อยเต็มใจอยากลองสิ่งใหม่ ๆ และให้ความสำคัญน้อยลงกับการมีสมาธิและการเป็นคนช่างสังเกต ทั้งนี้ หนังสือศิลปะแห่งการสังเกต ได้คัดวิธีการฝึกฝน 131 รูปแบบ เพื่อช่วยให้นิสัยการเป็นคนช่างสังเกตกลับคืนมา มีทั้งรูปแบบง่าย ๆ ที่สามารถทำได้ทันทีในชีวิตประจำวัน และในรูปแบบที่ท้าทาย นอกกรอบ ซึ่งต้องอาศัยความพยายาม
ผมขอยกวิธีการ 2 รูปแบบที่น่าสนใจ รูปแบบแรกไม่ยากนัก ใช้เวลาเพียง 10 นาที มองไปนอกหน้าต่างที่เรามักจะเมินหรือลืมไปแล้วว่ามีหน้าต่างอยู่ตรงนั้น มองจรดริมขอบของภาพที่เห็นผ่านหน้าต่างให้ถี่ถ้วน หาของ 3 อย่างที่เราไม่เคยสังเกตเห็นมาก่อน และลองบรรยายฉากที่เห็นตรงหน้าออกมา[2] ถือเป็นวิธีแบบง่าย ๆ ช่วยให้เรามองเห็น ได้ยิน และรับรู้โลกใบนี้ในอีกรูปแบบหนึ่ง
รูปแบบสองจะแปลกแหวกแนวหน่อยคือ การไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ที่เรามักจะวิ่งปรี่ไปถ่ายรูปผลงานที่โด่งดัง เช่น รูปโมนาลิซา ส่งไปอวดเพื่อน ๆ แต่คราวหน้าหากไปพิพิธภัณฑ์และมีเวลาเพียงพอ เราลองหันไปดูในส่วนอื่น ๆ ที่ผู้เยี่ยมชมมักจะมองข้ามไปบ้าง เช่น รายนามของผู้บริจาคและค้นคว้าประวัติบุคคลเหล่านั้น หรือศึกษาพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย และผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์คนอื่น ๆ เพื่อช่วยให้เราได้เข้าใจพฤติกรรมของมนุษย์มากขึ้น เหมือนกับในปี ค.ศ. 2016 ได้เกิดเหตุการณ์ไม่น่าเชื่อขึ้น เมื่อมีคนคิดมุกตลกทิ้งแว่นตาอันหนึ่งไว้บนพื้นห้องแสดงศิลปะสมัยใหม่ ภายในพิพิธภัณฑ์เมืองซานฟรานซิสโก ในเวลาไม่นานนักผู้เยี่ยมชมต่างพากันห้อมล้อมเบียดเสียดแย่งกันถ่ายภาพเป็นที่ระลึก เกิดศิลปะแห่งการสังเกตโดยไม่ได้ตั้งใจ[3]
การเป็นคนช่างสังเกต นอกจากจะช่วยให้เรามีความคิดสร้างสรรค์แล้ว ยังจะช่วยให้เรารู้จักปล่อยวาง มีสมาธิมองสิ่งเคยชินด้วยบริบทที่ต่างไป สร้างแรงบันดาลใจในการทำสิ่งใหม่ ๆ และที่สำคัญ ใส่ใจความสัมพันธ์กับคนรอบข้างโดยไม่หลงลืมที่จะใส่ใจตัวเอง เป็นไปตามที่ศาสตราจารย์เอลเลน เจ. แลงเกอร์ (Ellen J. Langer) สาขาจิตวิทยา แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด กล่าวไว้ว่า “เมื่อเราสังเกตเห็นสิ่งใหม่ ๆ จะช่วยให้เราอยู่กับปัจจุบัน และจะทำให้เรามีส่วนร่วม ถือเป็นเรื่องที่ไม่ใช่แค่เปรียบเปรย แต่ช่วยให้เรามีชีวิตชีวาขึ้นอย่างแท้จริง”[4]
หากเรานำศิลปะแห่งการสังเกตมาใช้กับชีวิตประจำวัน จะค้นพบว่าชีวิตไม่ได้อยู่กับความต้องการของคนอื่น แต่ความสุขของชีวิตเกิดจากการเรียนรู้และเติบโตที่ค้นพบด้วยตัวเราเอง
แหล่งที่มา:
[1] ร๊อบ วอล์กเกอร์ (Rob Walker), ศิลปะแห่งการสังเกต (The Art of Noticing), พรรษรัตน์ พลสุวรรณา แปล, สำนักพิมพ์ Broccoli พิมพ์ครั้งแรก กันยายน 2566 หน้า 19
[2] Rob Walker, The Art of Noticing, พรรษรัตน์ พลสุวรรณา แปล, หน้า 57
[3] Rob Walker, The Art of Noticing, พรรษรัตน์ พลสุวรรณา แปล, หน้า 64-72
[4] Rob Walker, The Art of Noticing, พรรษรัตน์ พลสุวรรณา แปล, หน้า 26
หมายเหตุ
ขอขอบคุณ คุณประภาศรี รงคสุวรรณ เลขานุการบริหาร ที่แนะนำหนังสือเล่มนี้เพื่อนำมาเขียนใน Weekly Mail สัปดาห์นี้