"...WiNs จึงเป็นโครงการแรกที่ทำให้ผู้บริหารข้ามสถาบันมาทำงานร่วมกันได้อย่างรวดเร็ว และ เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ซึ่งทำให้ผู้บริหารระดับกลาง ระดับต้นเห็นความสำคัญของการเชื่อมโยงเครือข่ายข้ามสถาบัน และ หลอมหลวมเป็น “คนในกระทรวงเดียวกัน” ได้อย่างไม่น่าเชื่อจริงๆ..."
.....เป็นพี่ เป็นน้องกัน เป็นเพื่อนกัน อะไรๆ ก็ง่ายใช่ไหมครับ คนไทยเราลองได้ทานข้าวกันสักมื้อ ไปเที่ยวด้วยกันสักครั้ง 2 ครั้ง จะไหว้วานขอความช่วยเหลืออะไรกัน ก็ได้ครับพี่ ได้ค่ะน้อง
และพอเป็นพี่เป็นน้องกันแล้ว เป็นตลอดไปครับ ไม่มีเปลี่ยนแปลง เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของคนไทยมาแต่ไหนแต่ไร เพราะเราเป็นชาติรักสนุก ยิ่งได้ทำกิจกรรมสันทนาการร่วมกัน ความผูกพันฉันมิตรก็เกิดขึ้นได้ไม่ยากครับ
ผมใช้แนวคิดนี้ สร้างออกมาเป็นนโยบายตั้งแต่เดือนแรกที่เข้ามารับตำแหน่ง เพราะผมมีเวลาน้อย รอไม่ได้ครับ
ผมต้อง “นำ” ให้ผู้บริหารหน่วยงานในกระทรวงที่พึ่งเกิดขึ้นใหม่ ประมาณ 200-300 คน (ส่วนใหญ่ ระดับ ศ. ดร. ระดับอธิการบดี อธิบดี ทั้งนั้นครับ) ให้รู้จักกัน และ ผูกพันกันแบบพี่น้อง เพื่อช่วยกันทำงานให้บรรลุเป้าหมายสูงสุดที่จะทำให้ไทยเป็นประเทศพัฒนาแล้วให้ได้ในปี พ.ศ.2580 เกิดขึ้นได้จริง
โครงการ WiNs จึงเกิดขึ้นทันทีหลังจากผมรับตำแหน่งช่วงเดือนแรกๆ
WiNs : Wisdom,Innovation,Network,Serving Society คือ โครงการพัฒนาเครือข่ายและศักยภาพผู้บริหารระดับสูงทั้งรัฐ-เอกชน ที่เกี่ยวข้อง กว่า 800 คน....แบบไม่เป็นทางการ
ซึ่งเป็น “อาวุธลับ” ของผมที่ทำให้ทุกหน่วยงานรู้จัก รักใคร่ ร่วมแรงร่วมใจกันเพื่อ “รับใช้ประเทศให้ได้เร็วที่สุด” โดยปลดล็อคแทบทุกข้อจำกัด กระชับความสัมพันธ์กันภายในกระทรวง ระหว่างกระทรวง และ ภาคเอกชนให้ทำงานสะดวก เร็ว และ มีประสิทธิภาพ
ทันทีที่เกิด WiNs รุ่นที่ 1 ขึ้น เราก็ได้พิสูจน์ผลงานด้วยการช่วยเหลือประเทศในวิกฤตโควิด19 ได้ทันที ทั้งการเปิดเป็นโรงพยาบาลสนาม และ ศูนย์บริการฉีดวัคซีน ผมเชื่อว่า ถ้าไม่มี WiNs เราอาจไม่ทันรับมือกับปัญหาใหญ่ระดับชาติครั้งนั้นได้
อีกทั้งยังเกิดความร่วมมือกับภาคเอกชนในการทำวิจัยร่วมกัน เช่น การทำ MOU กับบริษัท CP เรื่อง เนื้อสัตว์ทางเลือก แบตเตอรี่ ยานยนต์ไฟฟ้า อาหารแห่งอนาคตเป็นต้น
หัวใจสำคัญที่ทำให้ WiNs ประสบความสำเร็จ คือ การ Put the right man on the right job เพราะถ้าเลือกคนผิด นอกจากงานจะไม่สำเร็จแล้ว ยังสิ้นเปลืองงบประมาณโดยใช้เหตุ
เพราะนโยบายผมสั้น ชัดเจน ตรงประเด็น “สร้างประโยชน์ต่อประเทศ สนุก ไม่มีงานเอกสาร เชื่อมความสัมพันธ์คนทั้งกระทรวง” ผมให้เวลาคิด เตรียมตัวเพียง 1 เดือน ต้องเปิดโครงการ
ดังนั้น ถ้าไม่ได้ผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์ จะไม่มีทางเกิดผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่ขนาดนี้ได้เลย
ผมจึงต้องเอ่ยขอบคุณเป็นพิเศษ ไว้ ณ ที่นี้ ตั้งแต่ท่านแรก พี่เอ้ ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ในฐานะประธาน ทปอ. (ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย) ในตอนนั้น เป็นผู้ออกแบบหลักสูตรและจัดกิจกรรมอย่างเร่งด่วน
ซึ่งมีท่าน ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ท่าน ศ.ดร.นายแพทย์พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะประธาน ทปอ.ท่านต่อมา เป็นผู้สานต่อ และ ทำให้ WiNs เติบโตสร้างประโยชน์ให้กับประเทศได้อย่างมหาศาล
ซึ่งทั้งหมดนี้ได้รับการสนับสนุนทุนจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ
และยังมีกำลังสำคัญหลายท่าน เช่น พี่แอ๊ว รศ.เพ็ญรัตน์ หงส์วิทยากร รองเลขาธิการที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) มาเป็นผู้อำนวยการหลักสูตร
พี่เอฟ ผศ.ดร.วิรัช เลิศไพฑูรย์พันธ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีปทุม มาผู้จัดการหลักสูตร
และ น้องเจี๊ยบ ผศ.ดร.อุบลวรรณ หงส์วิทยากร รองคณบดี คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาเป็นกรรมการบริหารหลักสูตรและหัวหน้า Task Force
และยังอีกหลายท่านที่มาเป็นหัวเรือใหญ่ในการขับเคลื่อน WiNs ที่ผมไม่ได้กล่าวถึงในที่นี้
WiNs คือ ความร่วมมือและสายสัมพันธ์พิเศษ ที่เชื่อมโยงคลังสมองของชาติไปต่อยอดการพัฒนาประเทศ สร้างโครงการที่เกิดประโยชน์กับประเทศมากมาย
โดยระหว่างที่เรียนกันผมกำชับตลอดว่า ไม่เน้นการทำเอกสารวิจัย ไม่ใช้เวลามาก ไม่มีแบบแผน และขอให้ทุกคนไม่มีหัวโขน และเรียกทุกคนว่า พี่ แทนท่าน ผอ. ท่านอธิการบดี เมื่อผู้บริหารสามารถทานข้าว ถ่ายรูปกอดคอกันได้ งานมีแนวโน้มสำเร็จทุกงานครับ
อว.เป็นกระทรวงน้องใหม่ที่ใหญ่มากมีกำลังคนกว่า 200,000 คน ถ้าไม่มี WiNs อาจใช้เวลานานมากที่จทำให้คนในกระทรวงได้ทำความรู้จักกัน
WiNs จึงเป็นโครงการแรกที่ทำให้ผู้บริหารข้ามสถาบันมาทำงานร่วมกันได้อย่างรวดเร็ว และ เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ซึ่งทำให้ผู้บริหารระดับกลาง ระดับต้นเห็นความสำคัญของการเชื่อมโยงเครือข่ายข้ามสถาบัน และ หลอมหลวมเป็น “คนในกระทรวงเดียวกัน” ได้อย่างไม่น่าเชื่อจริงๆ
ทฤษฏี “กินข้าวหม้อเดียวกัน” ของผมถือว่าผ่านครับ เป้าหมายการยกระดับไทยสู่ประเทศพัฒนาแล้วในปี 2580 ของผม ทางสว่างแล้วครับ ผมพร้อมรบให้ประเทศไทยชนะแล้วครับ
วิธีคิดแบบ “ผู้นำ” ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ครับ อย่าเป็นเพียงผู้บริหาร ผู้อำนวยการ หรือ อธิการบดี แต่ต้องเป็น ผู้นำ ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงได้จริง และเป็นผู้นำที่คนอยาก “ตาม” ให้ได้นะครับ
..... เชิญทานอาหารให้อร่อยครับ
“เอกเขนก” รวมบทสนทนา (ไม่) ลับบนโต๊ะอาหารตลอด 3 ปี ที่คุณไม่เคยได้ยินของผม อดีต รมว.อว.ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ กับ เรื่องราวเบื้องหลังแผนการเปลี่ยนไทยสู่ประเทศพัฒนาแล้วในปี 2580
ติดตามคลิปสัมภาษณ์โครงการ WiNs ได้ที่ https://www.mhesi.go.th/index.php/en/all-media/video/5066-12-12-wins.html