"...นี่เป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองระหว่างประเทศ ที่สร้างความงุนงงให้กับคนทั่วไป ใครใช้ให้นายทักษิณไปทำหน้าที่ผู้ไกล่เกลี่ย เขาเอาอำนาจอะไร จากไหน ไปทำหน้าที่ และใครจะยอมรับบทบาทของเขาและงานของเขาจะผูกพันใคร.."
นักโทษอาญาที่ยังไม่พ้นโทษไปทำหน้าที่เปิดการเจรจากับผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์ แห่ง เมียนมา ตั้งแต่เดือน มีค.-เม.ย.ที่ผ่านมา
การทำหน้าที่ตัวกลาง (Mediator) เกิดขึ้นก่อนที่ นายปานปรีย์ มหิทธานุกร จะลาออกจากตำแหน่ง รมว. ก.ต่างประเทศ
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แจ้งว่า “ไม่ทราบว่าอดีตนายกมีการไปเจรจาหรือไม่ แต่ในส่วน ก.ต่างประเทศ และฝ่ายความมั่นคง มีการเข้าไปพูดคุยกับทุกกลุ่มอยู่แล้ว”
นี่เป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองระหว่างประเทศ ที่สร้างความงุนงงให้กับคนทั่วไป ใครใช้ให้นายทักษิณไปทำหน้าที่ผู้ไกล่เกลี่ย เขาเอาอำนาจอะไร จากไหน ไปทำหน้าที่ และใครจะยอมรับบทบาทของเขาและงานของเขาจะผูกพันใคร
สำนักข่าวอิรวดี 10 พค. 67 รายงานว่า
“ทักษิณและทีมงานได้พบกับตัวแทนของกลุ่มต่อต้าน ได้แก่สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) พรรคก้าวหน้าแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNPP) องค์การแห่งชาติคะฉิ่น (KNO) และรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ในเดือน มีค.และเมย.”
รมว.ก. ต่างประเทศของไทย นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ ยืนยันว่า “การเจรจาดังกล่าวเกิดขึ้นจริง และไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายต่างประเทศไทยอย่างเป็นทางการ”
BBC รายงานว่า เจ้าหน้าที่ของพรรค KNPP ที่เข้าร่วมการประชุมรายงานว่า BBC แผนกภาษาพม่าว่า “ตั้งแต่สมัยนายพลเนวิน และนายพลตานฉ่วย เขา(ทักษิณ) มีสายสัมพันธ์กับนายพลเหล่านี้ เขาอาจช่วยทางฝ่ายนั้น (ฝั่งทหาร) และหลังจากพบกับกลุ่มชาติพันธุ์ ทักษิณบอกว่าจะเข้าพบ มิน อ่องหล่าย ด้วย และบอกว่ามีความเป็นไปได้ที่จะพูดคุย”
แหล่งข่าวรายหนึ่งจากกลุ่มต่อต้าน (ตามรายงานของ สนข. อิรวดี) ที่เข้าร่วมหารือกล่าวว่า ทักษิณได้นำเอกสารอย่างเป็นทางการมาให้พวกเขาลงนาม เพื่อมอบอำนาจให้ทักษิณเป็นคนกลาง แต่ “ไม่มีกลุ่มใดลงนามในเอกสารที่ทักษิณนำเสนอ”
อู ออง ซาน มยินต์ เลขาธิการคนที่ 2 ของ KNPP บอกกับอิรวดีว่า ในระหว่างการหารือ ทักษิณกล่าวว่า เขาต้องการไกล่เกลี่ยความขัดแย้งที่กำลังดำเนินอยู่ของเมียนมา
แต่ “เราไม่ได้ทำข้อตกลงใดๆ กับเขา เราบอกว่า ตอนนี้ไม่ใช่เวลาสำหรับการเจรจา เราได้พูดคุยกันว่า ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจะเป็นประโยชน์ต่อผู้คนอย่างไร เราไม่ได้พูดคุยเรื่องอื่นใดอีก”
คมชัดลึกออนไลน์ 10 พค. 2567 รายงานว่า
“เกมโอเวอร์ ทักษิณพลาด เจอถูกเปิดลับ มินอ่องหล่าย ไม่ปลื้มการทูตใต้ดิน กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ระแวง”
โดยมีรายงานข่าวว่า
พล.ต. ซอ มินตุน โฆษกรัฐบาลเมียนมา แถลงว่า
“แม้ตัวเขาจะมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอดีตนายกรัฐมนตรีไทย แต่ว่านายทักษิณ ก็ไม่ควรสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายที่ต่อต้านรัฐบาลเมียนมา (SAC) สัปดาห์ที่แล้ว VOA Burmese ระบุว่าอดีตนายก ได้พูดคุยหารือกับตัวแทนรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติเมียนมา รวมทั้งตัวแทนกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์หลายกลุ่ม”
พล.ท. ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ นสพ.ฐานเศรษฐกิจ 12 พค. 67 ถึง “การออกตัวแรง” ของทักษิณ บนเวทีสันติภาพระหว่างรัฐบาลเนปิดอกับกลุ่มชาติพันธุ์ ว่า
“สถานการณ์ในเมียนมา พื้นที่ปฏิบัติการเป็นประเทศเพื่อนบ้าน ถ้าคุณทักษิณจะมีบทบาท เป็นได้เพียงผู้อำนวยความสะดวก แต่คุณทักษิณลึกไปมากกว่าผู้อำนวยความสะดวก จะไปเป็น Mediator คนกลางเลย ซึ่งเข้มข้นกว่าผู้อำนวยความสะดวก
ผู้อำนวยความสะดวก เพียงแต่เป็นผู้ให้มาพบกัน จัดสถานที่ น้ำชา กาแฟให้ครบ แต่ถ้าเป็นคนกลางเมื่อไร มีสภาพบังคับวิธีการพูดคุยได้ด้วย
ถ้าการพูดคุยไม่ลงตัว คนกลางสามารถชี้ทิศทางได้ เพราะคนกลางต้องถูกยอมรับจากคู่กรณีทั้งหมดให้เป็นคนกลาง”
ในความเป็นจริง ผู้ไกล่เกลี่ย หรือคนกลางจะไปทำหน้าที่ในรัฐที่มีปมปัญหากันอยู่นั้น มีกฎบัตรของสหประชาชาติ วางข้อกำหนดไว้ ซึ่งถือเป็นตัวบทกฎหมายระหว่างประเทศ
ในรายงานของ นายบัน คี มูน เลขาธิการ UN ที่รายงานต่อสมัชชาใหญ่ขององค์การ เป็นรายงานลายลักษณ์อักษรไว้ในเดือนกันยายน ปี ค.ศ. 2012 (เอกสารหมายเลข A / 66 / 811 ลงวันที่ 25 มิย. 2012 ภายใต้ชื่อหัวข้อว่า GUIDANCE FOR EFFECTIVE MEDIATION,
สาระสำคัญ คือ
“ผู้ไกล่เกลี่ย หรือ Mediator ในภาษากฎหมายระหว่างประเทศเรียกว่า ‘ได้รับมติเป็นเอกฉันท์’ หรือ Concensus จากคู่พิพาทในปัญหาที่พิพาทกันในทุกๆ ฝ่าย”
(Understand whose consent is necessary for a viable mediation process to start. If only some of the conflict parties have agreed to the mediator, the mediator may need to engage with the consenting parties and gradually expand the consent base. Such a judgement of “sufficient consent” should be based on an analysis of the different constituencies and an assessment of the possible impact of an initially limited mediation process, as well as the potential for excluded parties to derail the process.)
ยังมีข้อเท็จจริงอีกว่า
บุคคลใด มิได้รับมติเอกฉันท์จากคู่พิพาททุกฝ่ายให้เป็นผู้ไกล่เกลี่ย หรือ Mediator อย่างเป็นทางการย่อมไม่ใช่ผู้ไกล่เกลี่ย หรือ Mediator เป็นความผิดทางอาญาระหว่างประเทศตามสนธิสัญญากรุงเจนีวา ปี ค.ศ. 1949 ทั้งสี่ฉบับ พร้อมโปรโตคอลอีกสามฉบับ ที่บัญญัติไว้เป็นรายละเอียด ต้องถูกฟ้องเป็นจำเลยในศาลอาญาพิเศษ ที่ตั้งไว้โดยคณะมนตรีความมั่นคง (Security Council)
การเป็นผู้ไกล่เกลี่ย หรือ Mediator ต้องได้รับการแต่งตั้งโดยเปิดเผยของคู่กรณี ที่มีปัญหาพิพาทกันอยู่โดยเปิดเผย จะไปแอบทำกันในซอกหลืบใดๆ หาได้ไม่
เพราะนายทักษิณ รู้ว่า การเป็นคนกลางผู้ไกล่เกลี่ย ต้องได้รับฉันทานุมัติจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จึงพยายามขอลายมือชื่อรับรองจากกลุ่มชาติพันธุ์ แต่ไม่มีใครยอมเซ็นชื่อ
นายกรัฐมนตรีไทยไม่รู้เรื่อง ฝ่ายต่อต้านก็ไม่เอา รัฐบาลทหารก็เบือนหน้า นักโทษอาญาที่ยังไม่พ้นโทษมีปมเขื่องที่ไม่สามารถเก็บงำไว้ในใจได้ จึงจั่วลมอีกครั้งหนึ่งแล้ว
ประสาร มฤคพิทักษ์ : [email protected]