"...อาชีพที่ทำให้ลุงกำแหงภาคภูมิใจที่สุดคงหนีไม่พ้น “การเลี้ยงนกเขาชวา” ซี่งเกิดจากความบังเอิญ จากวันหนึ่งเหลือบไปเห็นนกเขาชวาตัวหนึ่งบินมาป้วนเปี้ยนแถวเล้าไก่ พร้อมขันด้วยเสียงที่ไพเราะ จึงตัดสินใจใช้ท่อเป่าบรรจุลูกหินจับนกตัวดังกล่าว มาใส่กรงแขวนเลี้ยงไว้หน้าบ้าน คิดเพียงว่าเพื่อฟังเสียงขัน แต่เมื่อทราบจากเพื่อนว่าการเลี้ยงนกเขาชวาสามารถยึดเป็นอาชีพได้ เพราะมีผู้นิยมเลี้ยงกันเป็นจำนวนมาก ตามความเชื่อที่เล่าสู่กันฟังว่า หากบ้านใดที่มีนกดีจะมีความสุขและจะนำโชคลาภมาสู่ผู้เลี้ยงได้..."
สวัสดีครับ
ปัจจุบัน สภาพถนนใต้สะพานพระราม 8 ว้าวุ่นจากการก่อสร้างรถไฟใต้ดิน อีกไม่นานเกินรอจะมีสถานีรถไฟฟ้า “บางขุนพรหม” ตั้งอยู่ริมรั้ววังบางขุนพรหม ที่จะทำให้สภาพแวดล้อมบริเวณแบงก์ชาติเปลี่ยนแปลงไป แต่หากหลับตาย้อนกลับไปในอดีต บริเวณนี้แตกต่างจากอดีตเป็นอย่างมาก เพราะในอดีตผู้มาเยือนจะพบรั้วด้านหน้าวังบางขุนพรหมที่โอ่อ่า ตั้งเด่นสง่าบนถนนสามเสน ในขณะที่ถนนด้านในฝั่งตรงข้ามรั้ววัง มีต้นโศกเรียงรายเป็นทิวแถวเต็มสองข้างทาง มีตึกไม้ห้องแถว 2 หลัง อยู่ตรงข้าม ด้านในมีบ้านเรือนของเจ้าพระยา ข้าหลวง พ่อค้า และชาวบ้านอาศัยอยู่ หากพวกเราสังเกตดี ๆ จะพบว่าระหว่างตึกแถว 2 หลัง ใต้สะพานพระราม 8 ตรงข้ามรั้วแบงก์ชาติ เป็นทางเข้าบ้าน 3 หลังที่ตั้งอยู่ภายใน แต่ที่โดดเด่นคือบ้านสีชมพูอ่อน 3 ชั้น ตั้งอยู่ด้านซ้ายมือ เพราะมีกรงเลี้ยงนกเขาแขวนที่หน้าบ้านอยู่หลายกรง เป็นที่ดึงดูดสายตาของคนที่เดินผ่าน จนเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ชาวบ้านละแวกนี้ว่า “บ้านนกเขา”
ผมตั้งใจจะไปทำความรู้จักและสัมภาษณ์เจ้าของบ้านหลังนี้มานานแล้ว แต่ไม่มีจังหวะเวลาที่เหมาะสม กว่าจะได้เวลาว่างก็ล่วงเลยถึงช่วงเย็นปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งปกติเจ้าของบ้านไม่รับแขกแปลกหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงมืดค่ำ เพราะอายุมากแล้วและต้องทำละหมาด แต่เมื่อได้แจ้งเหตุผล และได้ชวนคุยกันสักพักหนึ่ง บทสนทนาก็ไหลลื่น
แยกบางขุนพรหม ตึกแถวด้านซ้ายที่อายุกว่า 70 ปี
ปากทางเข้าบ้านนกเขา
บ้านนกเขา
ลุงกำแหง สถิตานนท์ เจ้าของบ้านวัย 85 ปี เล่าให้ฟังว่า คุณตาของลุงกำแหงเป็นคนมุสลิม อพยพมาจากประเทศซีเรีย ทำกิจการค้าขายซุง และให้บริการขนส่งล่องแม่น้ำเจ้าพระยา จึงตัดสินใจซื้อที่ดินบริเวณนี้ ภายหลังคุณตาได้แบ่งที่ดินให้ลูก ๆ รวมทั้งคุณแม่ของลุงกำแหงด้วย และเมื่อคุณแม่มีครอบครัว จึงได้ปลูกบ้านทรงไทยหลังใหญ่เพื่อให้ลูกทั้ง 10 คนได้พักพิง (ปัจจุบันรื้อถอนไปแล้ว) พร้อมสร้างตึกแถวชั้นเดียว 8 ห้อง เพื่อให้คนเช่า โดยใช้ชื่อตึกว่า “สถิตานนท์ 2497” และเมื่อคุณแม่จากไป ลูก ๆ ทั้ง 8 คนที่ยังมีชีวิตอยู่ จึงตัดสินใจแบ่งโฉนดที่ดินด้วยการจับฉลาก ซึ่งลุงกำแหงจับได้แปลงนี้ จนกลายมาเป็นบ้านอาศัยในปัจจุบัน
ลุงกำแหงเล่าต่อว่า ในสมัยเด็กมักเข้าไปวิ่งเล่นภายในบริเวณวังบางขุนพรหมเป็นประจำย่านนี้เงียบเหงาภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 แต่กลับมาคึกคักอีกครั้งหนึ่งเมื่อแบงก์ชาติย้ายที่ทำการมาอยู่ที่วังบางขุนพรหมในปี พ.ศ. 2488 และมีความคึกคักมากขึ้นเมื่อพื้นที่บางส่วนของวัง ได้กลายมาเป็นที่ตั้งของสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 4 บางขุนพรหม สถานีโทรทัศน์แห่งแรกของเมืองไทยในปี พ.ศ. 2496
ด้วยลุงกำแหงต้องคอยช่วยงานคุณแม่ ดูแลความปลอดภัยบริเวณนี้ในช่วงยุค 2499 อันธพาลครองเมือง จึงไม่ได้เรียนต่อเหมือนกับพี่น้องคนอื่น ๆ หันมาทำงานทุกอย่างแบบไม่เลือกหน้า ตั้งแต่เลี้ยงไก่ ขายว่าว เลี้ยงกล้วยไม้ มัคคุเทศก์ พ่อค้าพลอย ลูกจ้างกระทรวงสาธารณสุขและธนาคารพาณิชย์ ไปจนถึงเล่นละครไทยทีวีช่อง 4 บางขุนพรหม ได้รับบทเล่นกับคุณสักกะ จารุจินดา และลูกสาว (คุณดวงดาว จารุจินดา) ตอนอายุ 4 ขวบ นอกจากนั้น ลุงกำแหงยังเป็นนักเพาะกาย ตามรอยพี่ชาย เพราะแม่ลงทุนสร้างสถานเพาะกายและค่ายมวยไทยในบริเวณบ้าน ซึ่งในช่วงนั้นถือว่ามีความคึกคักมาก ทำให้ลุงกำแพงมีโอกาสเข้ามาฝึกสอนพนักงานแบงก์ชาติที่สโมสรริมน้ำ อาทิ พี่ธเนศ ศิริลัภยานนท์ อดีตหัวหน้าหน่วย ฝ่ายธุรการ
อย่างไรก็ดี อาชีพที่ทำให้ลุงกำแหงภาคภูมิใจที่สุดคงหนีไม่พ้น “การเลี้ยงนกเขาชวา” ซี่งเกิดจากความบังเอิญ จากวันหนึ่งเหลือบไปเห็นนกเขาชวาตัวหนึ่งบินมาป้วนเปี้ยนแถวเล้าไก่ พร้อมขันด้วยเสียงที่ไพเราะ จึงตัดสินใจใช้ท่อเป่าบรรจุลูกหินจับนกตัวดังกล่าว มาใส่กรงแขวนเลี้ยงไว้หน้าบ้าน คิดเพียงว่าเพื่อฟังเสียงขัน แต่เมื่อทราบจากเพื่อนว่าการเลี้ยงนกเขาชวาสามารถยึดเป็นอาชีพได้ เพราะมีผู้นิยมเลี้ยงกันเป็นจำนวนมาก ตามความเชื่อที่เล่าสู่กันฟังว่า หากบ้านใดที่มีนกดีจะมีความสุขและจะนำโชคลาภมาสู่ผู้เลี้ยงได้ ในขณะที่การแข่งขัน “เสียงนกเขาชวา” เป็นที่นิยมกันมาก นกที่ได้รับรางวัลขันไพเราะถูกประมูลในราคาเรือนแสน
ลุงกำแหงจึงตัดสินใจเลี้ยงนกเขาชวาเพิ่มเติม พร้อมกับการเรียนรู้วิธีการฝึกให้นกเขาชวาขันด้วยการเดินสายไปตามเวทีประกวด พูดคุยกับคนเลี้ยงที่ได้ส่งนกเข้าล่ารางวัล ไปจนถึงกรรมการที่ให้คะแนน จนทราบถึงเคล็ดลับในการเลี้ยงที่ต้องแขวนกรงในจุดที่ได้รับแดดในยามเช้า ดูแลทำความสะอาดกรงทุก ๆ 3 วัน เป็นอย่างน้อย เปลี่ยนน้ำให้สะอาดอยู่เสมอ พร้อมให้อาหารเม็ดเพื่อบำรุงเสียง ที่คนเลี้ยงนกแต่ละคนมีสูตรลับ ไม่แพร่งพรายบอกกัน1/
อย่างไรก็ดี นกเขาชวาที่มีเสียงดีนั้น ต้องมีพรสวรรค์ตั้งแต่เกิด คือมีสกุลเดิมที่ดี เช่น พ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ที่ดี ทั้งรูปร่าง น้ำเสียง และจังหวะที่ต้องการ ทั้งนี้ น้ำเสียงนกเขาชวามีตั้งแต่เสียงวัยเด็ก วัยรุ่น ไปจนถึงวัยเจริญพันธุ์ คำขันแบ่งเป็น 3 คำหลัก ๆ คือคำต้น คำกลาง คำปลาย เช่น “โก้ ระกะ กก”2/ นกเสียงดีต้องขันด้วยเสียงกังวาน มีจังหวะจะโคนที่พอดิบพอดี ทั้งนี้ ลุงกำแหงศึกษาอยู่หลายปีก่อนตัดสินใจส่งนกเข้าประกวด จนได้รับรางวัลมากมาย แต่ที่ภูมิใจที่สุดคือ รางวัลพระราชทานประเภทนกเขาชวาเสียงใหญ่ที่ชื่อว่านก “บางขุนพรหม” ในการแข่งขันเมื่อปี พ.ศ. 2524 และทำให้ยึดเป็นอาชีพฟักนกเขาชวาขาย รวมทั้งเป็นกรรมการตัดสินการแข่งขัน ต้องเดินสายไปทั่วประเทศ
กรงนกเขาชวา หน้าบ้านลุงกำแหง
รางวัลพระราชทาน
จากเสียงนกเขาชวา “บางขุนพรหม”
ลุงกำแหง สถิตานนท์
ลุงกำแหงเลิกฟักนกเขาชวาขายมาหลายปีแล้ว มีเฉพาะที่เลี้ยงไว้แก้เหงาประมาณ 29 ตัว เนื่องจากไม่ต้องการสร้างภาระให้คนอื่น แต่ยังคงเก็บกรงนกไว้เป็นอย่างดี เพราะแต่ละกรงมีอัตลักษณ์ เป็นของหายาก และมีคุณค่าทางใจ ปัจจุบันใช้ชีวิตในแต่ละวันอยู่กับนกเขาชวาที่ลุงรักเพียงลำพังอย่างเรียบง่าย ภายหลังภรรยาจากไปเมื่อ 13 ปีก่อน ด้วยการทานอาหารมื้อเดียว เดินไปตลาดนัดรวมยางทุกเช้าเพื่อเป็นการออกกำลังกาย ทำละหมาด และนอนแต่หัวค่ำ พร้อมทิ้งท้ายว่า “ผมต่อสู้ชีวิตมาโดยตลอด พร้อมค้นพบว่า ไม่ว่าจะทำอะไร ทำให้มีความสุข ไม่เคยปรามาสตัวเองหรือเปรียบเทียบกับพี่น้อง เพราะแต่ละคนมีเป้าหมายต่างกัน” “บ้านนกเขา” ถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องราวที่ผูกสัมพันธ์กับชาวแบงก์ชาติ และจะถูกเล่าขานสู่คนรุ่นหลังต่อไป
รณดล นุ่มนนท์
7 พฤษภาคม 2567
แหล่งที่มา:
1/ 4 พันธุ์นกเขาที่นิยมเลี้ยง มีวิธีเลี้ยงและดูแลอย่างไร?, Homeday, 21 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 14.09 น. https://today.line.me/th/v2/article/EXLlJvR
2/ https://kb.psu.ac.th/psukb/bitstream/2553/4156/69/ch2_7.pdf
หมายเหตุ:
ขอขอบคุณ คุณอภิสรา เปาอินทร์ และคุณวลัยพร แพ่งศิริ ที่ร่วมสัมภาษณ์ลุงกำแหง สถิตานนท์ และถ่ายรูปประกอบ Weekly Mail สัปดาห์นี้