"...ดังนั้น ผมในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว.ในตอนนั้น จึงเห็นว่า ต้องนำมาเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของ อว. ด้วยเพราะ อว.เป็นผู้ดูแลขับเคลื่อน สถาบันการศึกษา หน่วยงานวิจัยต่างๆในประเทศ ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และ ศิลปะ สุนทรียะ อารยะ อันจะทำให้ประเทศเดิน 2 ขา (วิทย์และศิลป์) ได้ดี และ เร็ว..."
"ประเทศไทยกำลังจะมีราคาที่สูงขึ้น และ มีคุณค่าที่ชาวโลกต้องหันมามอง"
.....ถ้าอยากให้ประเทศไทยเจริญก้าวหน้า จงเรียนรู้ความรุ่งเรืองในอดีตของผืนแผ่นดินที่ประเทศไทยตั้งอยู่ ถอดรหัสความสำเร็จของการเป็นโลกาภิวัฒน์ในยุคนั้นออกมา จงสืบค้นความอัศจรรย์ของดินแดนสุวรรณภูมิที่มีความเจริญมากว่า 2,500 ปี และทำตามภูมิปัญญาของคนในอดีต ด้วยทักษะของคนรุ่นใหม่ เป็นยุทธศาสตร์ชาติที่ผมมั่นใจว่าเราจะ “ชนะ” ครับ
.....เพราะอดีต คือ จุดแข็งของไทย ที่มีความลึกซึ้งและมีคุณค่าแห่งหนึ่งระดับต้นๆ ของโลก เราต้องศึกษาข้อมูลในอดีตมาปรับใช้กับปัจจุบันให้มีความก้าวหน้า และต้องไม่หยุดที่จะพัฒนาต่อยอดไปสู่นวัตกรรมในอนาคต
“ไทยต้องทำปัจจุบันให้ดี และมองถึงอนาคตอย่างจริงจัง ด้วยความใส่ใจ และภูมิใจในอดีต” จะทำให้การศึกษา สืบสานและต่อยอด สร้างคุโณปการให้กับประเทศอย่างใหญ่หลวง
ผมมองเห็น ดินแดนสุวรรณภูมิ คือ สะพานเชื่อมโลก ศูนย์รวมแห่งภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม นวัตกรรมและภูมิปัญญาของดีอันมีค่า เป็นชุมทางและสถานีการค้า พาณิชยการและการบริการที่สำคัญของโลก และจะยิ่งใหญ่มากในอนาคต
ผมจึงผลักดันให้เกิด “สถาบันสุวรรณภูมิศึกษา” ขึ้นเป็น 1 ใน 5 ของธัชชา วิทยสถานด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย (Thailand Academy of Social Sciences, Humanities and Arts: TASSHA) เป็นภารกิจแรกๆ เมื่อเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรี ด้วยมีเป้าหมายที่ใหญ่มากที่จะสร้างสันติภาพและอารยธรรมแห่งใหม่บนโลกใบนี้ผ่านดินแดนสุวรรณภูมิ เพื่อให้ไทยก้าวสู่ประเทศพัฒนาแล้วภายในปี 2580
จริงๆเรื่องนี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ซะทีเดียว เพราะทาง GISTDA หน่วยงานในกำกับของกระทรวง อว. ได้ริเริ่มทำการศึกษาเรื่อง สุวรรณภูมิศึกษา มาตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. 2558 เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยขอให้หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เชิญนักวิชาการไทยและทั่วทั้งโลก เข้าร่วมทำการศึกษา ออกมาเป็นผลงานชุดความรู้ใหม่และบทสังเคราะห์ว่าด้วยสุวรรณภูมิ ภูมิอารยธรรมเชื่อมโลก เมื่อปี พ.ศ. 2562
ดังนั้น ผมในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว.ในตอนนั้น จึงเห็นว่า ต้องนำมาเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของ อว. ด้วยเพราะ อว.เป็นผู้ดูแลขับเคลื่อน สถาบันการศึกษา หน่วยงานวิจัยต่างๆในประเทศ ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และ ศิลปะ สุนทรียะ อารยะ อันจะทำให้ประเทศเดิน 2 ขา (วิทย์และศิลป์) ได้ดี และ เร็ว
การมีกระทรวง อว. ขึ้นมา โดยรวมมหาวิทยาลัย และ สถาบัน หรือ สำนักงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และ นวัตกรรม ไว้ด้วยกัน ทำให้ได้ทำงานร่วมกับ กรมศิลปากร ของกระทรวงวัฒนธรรม งานนี้ทำให้อุทยานประวัติศาสตร์ “ศรีเทพ” ได้รับคัดเลือกให้เป็นมรดกโลก เมื่อผมกำลังจะพ้นจากตำแหน่ง รัฐมนตรี
ในยุคที่ผมอยู่ อว. มีการขุดค้นพบลูกปัดเพิ่มเติมเก่าแก่กว่าสองพันปีมาแล้ว และ พบโบราณวัตถุและศิลปกรรมล้ำค่าจากอารยธรรมโบราณต่างๆ จากทั่วโลก ที่บริเวณพื้นที่คอคอดกระ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคาบสมุทร ภาคใต้เชื่อมสองทะเลสองมหาสมุทร ทั้งหมดนี้เป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นว่า พื้นที่ของประเทศไทยในอดีต เป็นศูนย์กลางการค้า การคมนาคมของโลกมาตั้งแต่เมื่อ 2,500 ปีที่แล้ว
ซึ่งทุกวันนี้ผมเสียดาย ที่คนไทยเราทำได้เพียงชื่นชมชายหาดที่สวยงาม เพียงเพราะไม่ได้ศึกษาเรื่องราวในอดีตนั่นเอง
การ “นำ” ให้เกิดการศึกษา และ สร้างมูลค่าจากคุณค่าที่แท้จริงของประเทศนั้น จะเกิดขึ้นได้ ผู้นำต้องมีทั้งวิสัยทัศน์ และ โลกทัศน์ ที่มองเห็นไทยเชื่อมโยงกับโลกทั้งใบ ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และ อนาคต
และเป็นการสร้างจากราก และ มูลเรื่องจริงของประเทศ และ ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และ งานวิจัยให้เกิดประโยชน์ กับโลกปัจจุบัน ไม่ทำให้งานวิจัยเป็นเพียงงานวิจัยที่มีไว้เพิ่มวิทยฐานะของผู้ทำวิจัยเท่านั้น แต่ต้องวิจัยแบบพุ่งเป้า โดยมีประเทศเป็นโจทย์สำคัญ
ผู้นำต้องทำวิจัยทุกวัน กล้าสร้างทฤษฏีใหม่ๆ และต้องอุทิศตัวเพื่อความสำเร็จของประเทศเป็นสำคัญนะครับ ผมชวนให้ติดตาม ผมจะทะยอยเล่าให้ฟังไปเรื่อยๆครับ
..... เชิญทานอาหารให้อร่อยครับ
“เอกเขนก” รวมบทสนทนา (ไม่) ลับบนโต๊ะอาหารตลอด 3 ปี ที่คุณไม่เคยได้ยินของผม อดีต รมว.อว.ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ กับ เรื่องราวเบื้องหลังแผนการเปลี่ยนไทยสู่ประเทศพัฒนาแล้วในปี 2580
ฟังบทสัมภาษณ์ของผมเรื่อง สุวรรณภูมิเพิ่มเติมได้ที่