"...หนังสือ “มิตรฉาชีพ” รวบรวมเหตุการณ์ที่สามารถเกิดขึ้นกับพวกเราได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการโทรศัพท์มาขอเงินช่วยเหลือครอบครัว ขอเงินทำบุญ ตรงกับนิสัยของคนไทยที่มักจะเป็นคนขี้สงสารและเชื่อในการทำบุญทำทาน การซื้อสินค้าออนไลน์ที่ยั่วยวนด้วยราคาที่จูงใจ รวมถึงแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่มาด้วยสารพัดมุก ตั้งแต่เป็นเจ้าหน้าที่สรรพากร เจ้าหน้าที่ตำรวจ ไปจนถึงคนส่งพัสดุ และที่สำคัญคือการหลอกให้ลงทุนในทรัพย์สินที่ให้ผลตอบแทนสูง แบบเนียน ๆ หลอกล่อให้เริ่มลงทุนก้อนเล็ก ๆแต่ได้เงินตอบแทนคืนกลับมาแบบทวีคูณ จนตายใจโอนเงินเพิ่มแบบลืมเนื้อลืมตัว กว่าจะตื่นจากความโลภก็สายเสียแล้ว เงินสาบสูญแบบควานหาไร้ร่องรอย..."
ก่อนการแข่งขันฟุตบอลอาวุโสเมื่อปลายปีที่แล้ว มีเสียงโทรศัพท์มือถือดังเข้า เป็นหมายเลขที่ผมไม่ได้บันทึกไว้ ซึ่งปกติจะไม่รับสายลักษณะนี้ แต่คราวนี้กลับรับสายแบบไม่ทันคิด พร้อมกับเสียงผู้ชายพูดขึ้นว่า “ผมชื่อ…โทรมาบอกนายว่า เราเปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์นะ” สุ้มเสียงราวกับเป็นเพื่อนสนิทกัน แต่ด้วยเสียงโฆษกในสนามฟุตบอลดังกึกก้องจนทำให้ไม่ได้ยินประโยคที่พูดต่อจากนั้น ผมจึงตัดบทว่า “ผมกำลังจะลงเล่นฟุตบอล เดี๋ยวจะโทรกลับไปครับ” และในระหว่างการแข่งขัน พยายามจะทบทวนว่าเป็นเพื่อนสมัยไหน เพราะได้ยินชื่อที่แนะนำตัวไม่ชัดเจน และเมื่อแข่งฟุตบอลเสร็จจึงรีบโทรกลับไปตามสัญญา เป็นเสียงชายคนเดิมรับพร้อมบอกว่า “ไม่มีอะไร แค่จะโทรมาแจ้งว่าเปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์” ผมจึงตอบขอบคุณและวางสายไป
วันรุ่งขึ้น โทรศัพท์หมายเลขเดิมโทรเข้ามาอีกครั้ง พร้อมด้วยเสียงตามสายที่พูดแบบสนิทชิดใกล้ว่า “เรามีเรื่องรบกวนนะ คือต้องจ่ายเงินค่าสินค้าออนไลน์ที่จะส่งมอบให้ลูกค้าบ่ายนี้ ขอยืมเงินนายก่อน 5,000 บาท พอลูกค้าจ่ายเงินแล้วจะคืนให้ตอนบ่าย หากสะดวกช่วยโอนเงินผ่านบัญชีธนาคารก็ได้ เราจะส่งข้อมูลให้ทาง LINE” ด้วยบทสนทนาในเชิงรุกที่ยังคิดไม่ทันและเป็นคน “รักเพื่อน” จึงตอบกลับไปว่า “งั้นเดี๋ยวติดต่อกันผ่าน LINE แล้วกันนะ” ผมคิดอยู่พักใหญ่ พยายามถามตัวเองว่า เพื่อนคนนี้คือใคร ครั้นจะโทรกลับไปถามชื่อก็เกรงว่าจะทำให้เพื่อนเสียใจว่าแค่นี้ก็จำกันไม่ได้ แต่พอได้สติ เริ่มเกิดข้อสงสัย ในขณะที่น้อง ๆ ทักว่า เป็นเรื่องที่ไม่ชอบมาพากล คราวนี้จึงตัดสินใจโทรกลับไปเพื่อให้ติดต่อกันทาง LINE และขอชื่อบัญชีที่รับโอนเงิน ซึ่งปรากฏว่า เจ้าของบัญชีเป็นผู้หญิงและไม่คุ้นชื่อ ทำให้ตื่นจากความฉงน เขียนกลับไปขอชื่อและนามสกุลจริงของคนที่อ้างว่าเป็นเพื่อนด้วย รออยู่พักใหญ่ ปรากฏว่า ข้อความที่ตอบกลับมาเป็นภาษาสมัยพ่อขุนรามคำแหงที่เขียนออกอากาศไม่ได้ แต่ไม่ทันที่จะตอบกลับไป LINE นี้ก็ได้อันตรธานหายไปแล้ว ถือเป็นเหตุการณ์ที่เกือบตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพที่หากหลงเชื่อข่าวคงดังเป็นพลุแตกแน่นอน
พฤติกรรมการหลอกลวงในปัจจุบันมีหลายรูปแบบ ทั้งผ่านช่องทางปกติ หรือช่องทางเทคโนโลยี ที่ผุดขึ้นมาราวกับดอกเห็ด ตามกระแสของโลกดิจิทัล หนังสือ “มิตรฉาชีพ” ที่รวบรวมเรื่องแห่งการหลอกลวงจากนักเล่าเรื่อง 13 คน โดยมี ศุ บุญเลี้ยง (คุณจุ้ย) ศิลปินและนักเขียนชื่อดัง นำขบวนบอกเล่าพฤติกรรมเล่นเล่ห์เพทุบายของพวกที่เข้ามาในชีวิตเรา ทั้งจากคนรู้จัก และคนแปลกหน้า รูปแบบทำเป็นกระบวนการ สร้างเหตุการณ์ จัดฉาก และแสดงตบตา[1] ซึ่งนอกจากคุณจุ้ยแล้ว ยังมีนักเขียนอีก 2 ท่าน สองสามีภรรยาที่ผมคุ้นเคยดี คือโปรโจ (คุณสุขพัฒน์ ปิยะมาดา) แชมป์บาริสต้า เจ้าของร้านกาแฟ A Cup และเหมือนแพร (คุณแพร ปิยะมาดา) ที่ได้คุณจุ้ยเป็นผู้ถ่ายทอดวิชาการเขียน ภายหลังโลดแล่นในอาชีพนักโฆษณามายาวนาน จนกลายเป็นนักเขียนมืออาชีพ เขียนหนังสือออกมาหลายเล่ม ตั้งแต่เล่มแรกที่ชื่อ “นักอยากเขียนเรียนกับตัวจริง” ในปี พ.ศ. 2561
หนังสือ “มิตรฉาชีพ” รวบรวมเหตุการณ์ที่สามารถเกิดขึ้นกับพวกเราได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการโทรศัพท์มาขอเงินช่วยเหลือครอบครัว ขอเงินทำบุญ ตรงกับนิสัยของคนไทยที่มักจะเป็นคนขี้สงสารและเชื่อในการทำบุญทำทาน การซื้อสินค้าออนไลน์ที่ยั่วยวนด้วยราคาที่จูงใจ รวมถึงแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่มาด้วยสารพัดมุก ตั้งแต่เป็นเจ้าหน้าที่สรรพากร เจ้าหน้าที่ตำรวจ ไปจนถึงคนส่งพัสดุ และที่สำคัญคือการหลอกให้ลงทุนในทรัพย์สินที่ให้ผลตอบแทนสูง แบบเนียน ๆ หลอกล่อให้เริ่มลงทุนก้อนเล็ก ๆแต่ได้เงินตอบแทนคืนกลับมาแบบทวีคูณ จนตายใจโอนเงินเพิ่มแบบลืมเนื้อลืมตัว กว่าจะตื่นจากความโลภก็สายเสียแล้ว เงินสาบสูญแบบควานหาไร้ร่องรอย
ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาแบบก้าวกระโดด จึงไม่แปลกใจว่า มิจฉาชีพมักจะค้นคิดวิธีการและมุกใหม่ ๆ เสมอ เช่น การใช้ Deepfake ที่เพิ่งเกิดขึ้นในฮ่องกงเมื่อต้นปีที่ผ่านมา เมื่อพนักงานบริษัทรายหนึ่ง วิดีโอคอลกับหัวหน้าฝ่ายการเงิน ซึ่งขอให้มีการโอนเงินกว่า 900 ล้านบาท แต่ปรากฏว่าหัวหน้าที่พูดคุยด้วย กลับกลายเป็นตัวปลอมที่เกิดจากเทคโนโลยี Deepfake สวมรอยเป็นประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน (ซีเอฟโอ) ปรากฏตัวในการประชุมทางวิดีโอคอล แต่ที่ทำให้เหยื่อถูกหลอกเชื่อแบบสนิทใจ เพราะในการประชุมวิดีโอคอลมีพนักงานคนอื่น ๆ ร่วมประชุมกับซีเอฟโอด้วยซึ่งผู้ที่อยู่ในวิดีโอคอลทั้งหมดล้วนเป็นตัวปลอม ไม่ใช่เพียงแค่หน้าตา แต่เสียงของทุกคนเหมือนกับเพื่อนร่วมงานที่เขารู้จัก เรียกได้ว่ามิจฉาชีพมักจะเดินก้าวนำเหยื่อที่ถูกหลอกลวงเสมอ [2]
จากบทความเรื่อง จิตวิทยาของการตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ (Victim of scams) ของ ดร.สุภสิรี จันทวรินทร์ มิจฉาชีพมีกลยุทธ์การหลอกลวงหลากหลายรูปแบบ อย่างไรก็ตาม งานวิจัยทางจิตวิทยาที่วิเคราะห์การหลอกลวงทางโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตมากกว่า 580 ประเภท ชี้ว่ามิจฉาชีพมักใช้เทคนิคจิตวิทยาการโน้มน้าว 2 ประเภทหลัก ๆ คือ การอ้างอำนาจ (Authority) และการกดดันโดยการจำกัดเวลาหรือจำนวนรางวัลตอบแทน (Scarcity)[3] และบ่อเกิดที่ทำให้ตกเป็นเหยื่อไม่พ้น 3 องค์ประกอบคือ ความกลัว ความโลภ และความรัก แต่ที่น่าแปลกใจคือเหยื่อของการทุจริตออนไลน์มากกว่า 3 ใน 5 ราย หรือร้อยละ 60 เป็นคนมีอายุต่ำกว่า 40 ปี กลุ่มที่เรียกว่า เป็นผู้ที่มีความรู้ในเรื่องการใช้เทคโนโลยีเป็นอย่างดี เหตุผลที่สามารถอธิบายได้ดีคือ เหยื่อกลุ่มนี้มีความมั่นใจมากเกินไป [4] สอดรับกับที่ ศุ บุญเลี้ยง ได้เขียนไว้ในท้ายเรื่องของหนังสือว่า “หากมีคำสอนใดของศาสดาที่ไม่ซับซ้อน แต่สามารถนำมาใช้ปฏิบัติได้เลยทุกผู้ทุกคน นั่นคือคำว่า อย่าประมาท”
แหล่งที่มา:
[1] ศุ บุญเลี้ยง (และนักเขียนอีก 13 ท่าน), มิตรฉาชีพ, บริษัท กะทิ กะลา จำกัด, พิมพ์ครั้งแรก กุมภาพันธ์ 2567, คำนำบรรณาธิการ (รมณ กมลนาวิน)
[2] มิจฉาชีพใช้ Deepfake ปลอมเป็นหัวหน้าฝ่ายการเงิน หลอกเงิน 900 ล้านบาท, PPTV Online, 5 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 9.57 น. https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8/216306
[3] อาจารย์ ดร.สุภสิรี จันทวรินทร์, จิตวิทยาของการตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ (Victim of scams) บทความวิจัยของคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 5 กันยายน 2565 https://www.psy.chula.ac.th/th/feature-articles/victim-of-scams
[4] LOU SI YUAN, Greed, carelessness, overconfidence': Why youth tend to fall for scams?, Today Online, February 8, 2023 https://www.todayonline.com/singapore/greed-careless-overconfidence-youths-scams-2103011