"...ยกตัวอย่างในประเทศญี่ปุ่น ในกรณีที่พนักงานองค์กรใดๆ เมาแล้วขับ แล้วถูกจับ แม้ว่าจะยังไม่ได้ก่อให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน พนักงานคนนั้นจะถูกไล่ออกจากงานทันที ดังนั้นคนจะกลัวการถูกจับในกรณีเมาแล้วขับมาก เพราะนอกจากจะได้รับโทษที่รุนแรงแล้ว อาจจะตกงานและหมดอนาคตอีกด้วย เคยมีอาจารย์มหาวิทยาลัยที่ญี่ปุ่นเคยเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า หลังเลิกงาน เค้าจะไปดื่มสังสรรค์ เมามายมากแค่ไหนก็ได้ แต่ต้องไม่ขับรถ เค้าจะหาวิธีกลับบ้านโดยไม่ขับรถเอง แม้กระทั่งในเช้าวันรุ่งขึ้นที่ต้องมาทำงาน เค้ายังไม่กล้าขับรถมาเลย เพราะกลัวว่ายังมีแอลกอฮอล์หลงเหลืออยู่ในลมหายใจแล้วโดนเป่า เพราะกฎหมายเมาแล้วขับที่ประเทศญี่ปุ่นรุนแรงมาก รวมถึงมาตรการขององค์กรในการจัดการกับพนักงานขององค์กรที่เมาแล้วขับก็ด้วยเช่นกัน นอกจากโดนปรับ เสียเงิน ติดคุกแล้วยังอาจตกงาน หมดอนาคตไปเลยทีเดียว..."
จากกรณีพนักงานหญิงบริษัทดังระดับโลก “เมาแล้วขับ” แล้วเกิดกรณีกับตำรวจนั้น ในเรื่องข้อพิพาทกับตำรวจก็คงเป็นเรื่องหนึ่ง แต่ปัญหาที่เห็นได้ชัดเจนจากเคสนี้ คือ ปัญหา “เมาแล้วขับ” ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ว่าจะเป็นคนมีการศึกษาในระดับสูงแค่ไหน หรือมีหน้าที่การงานตำแหน่งใหญ่โตอย่างไร ก็ยังคงขาดความสำนึกถึงการรับผิดชอบต่อสังคม โดยกลับมองเห็นว่าการเมาแล้วขับเป็นเรื่องปกติ ไม่ได้ก่อให้เกิดปัญหาใดๆ ทั้งที่จริงแล้วการเมาแล้วขับ เปรียบเสมือนการ “ถืออาวุธ” พร้อมที่จะ “ฆ่า” คนที่อยู่บนท้องถนนร่วมกันได้ตลอดเวลา ในต่างประเทศเค้าถึงถือว่าการเมาแล้วขับ เป็นการกระทำผิดขั้นร้ายแรงมาก ต้องได้รับโทษที่รุนแรงถึงขั้น “ติดคุก” ซึ่งผู้เขียนก็เชื่อว่า คนไทยที่เคยใช้ชีวิตอยู่ในต่างประเทศมาก่อน ก็คงทราบความจริงในข้อนี้ค่อนข้างดีอยู่แล้ว
แต่ทำไม พอเราอยู่ในประเทศไทย กลับไม่ยอมรับในเรื่องนี้ เรามักมองว่าการเมาแล้วขับ ไม่ได้ไปทำร้ายใคร ทำไมต้องได้รับโทษที่รุนแรงด้วย นำมาซึ่งปัญหาการเมาแล้วขับ ที่เป็นสาเหตุหลักอย่างหนึ่งของการเกิดอุบัติเหตุทางถนนที่รุนแรง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากในประเทศไทย พอคนที่เมาแล้วขับถูกจับก็มักจะไม่ยอมรับผิด พยายามหาทางที่จะรอดพ้นจากบทลงโทษที่กฎหมายได้กำหนดไว้ต่างๆ
ใครจะสามารถช่วยแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้?
ดูเหมือนว่าการศึกษาไม่ได้ช่วยอะไรในเรื่องนี้ สิ่งที่เป็นอยู่ในขณะนี้คือ เราโยนทุกอย่างให้เป็นหน้าที่ตำรวจ ไปคอยตามจับ คอยตั้งด่านจับคนเมา บังคับใช้กฎหมาย ซึ่งที่ผ่านมา เราก็จะเห็นปัญหาการไม่ยอมรับจากประชาชนในการบังคับใช้กฎหมายของตำรวจอีก ก่อให้เกิดข้อพิพาทต่างๆ ระหว่างประชาชนและตำรวจอยู่เสมอ ดังนั้น ผู้เขียนจึงมองว่า ปัญหาการเมาแล้วขับนั้น ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะองค์กรต่างๆ ควรต้องมีส่วนร่วมในการช่วยตำรวจควบคุมพฤติกรรมการเมาแล้วขับของพนักงานในองค์กรของตนเองด้วย เพื่อเป็นการร่วมสร้างจิตสำนึกส่วนรวมต่อสังคม หรือการรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวม แนวคิดนี้ก็เป็นสิ่งที่เกือบทุกองค์กรก็พยายามชูประเด็นเรื่องการรับผิดชอบต่อสังคมอยู่แล้ว แต่เรามักจะบอกว่าการเมาแล้วขับของพนักงานนอกเวลางาน เป็นเรื่องส่วนตัว แต่ในเมื่อเค้าเป็นพนักงงานขององค์กร องค์กรจำเป็นต้องออกกฎระเบียบเพื่อไม่ให้พนักงานมีพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดปัญหาแก่สังคม เราก็จะช่วยลดปัญหาการเมาแล้วขับลงได้
ยกตัวอย่างในประเทศญี่ปุ่น ในกรณีที่พนักงานองค์กรใดๆ เมาแล้วขับ แล้วถูกจับ แม้ว่าจะยังไม่ได้ก่อให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน พนักงานคนนั้นจะถูกไล่ออกจากงานทันที ดังนั้นคนจะกลัวการถูกจับในกรณีเมาแล้วขับมาก เพราะนอกจากจะได้รับโทษที่รุนแรงแล้ว อาจจะตกงานและหมดอนาคตอีกด้วย เคยมีอาจารย์มหาวิทยาลัยที่ญี่ปุ่นเคยเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า หลังเลิกงาน เค้าจะไปดื่มสังสรรค์ เมามายมากแค่ไหนก็ได้ แต่ต้องไม่ขับรถ เค้าจะหาวิธีกลับบ้านโดยไม่ขับรถเอง แม้กระทั่งในเช้าวันรุ่งขึ้นที่ต้องมาทำงาน เค้ายังไม่กล้าขับรถมาเลย เพราะกลัวว่ายังมีแอลกอฮอล์หลงเหลืออยู่ในลมหายใจแล้วโดนเป่า เพราะกฎหมายเมาแล้วขับที่ประเทศญี่ปุ่นรุนแรงมาก รวมถึงมาตรการขององค์กรในการจัดการกับพนักงานขององค์กรที่เมาแล้วขับก็ด้วยเช่นกัน นอกจากโดนปรับ เสียเงิน ติดคุกแล้วยังอาจตกงาน หมดอนาคตไปเลยทีเดียว
ดังนั้น สำหรับประเทศไทย ผู้เขียนจึงอยากชวนให้องค์กรและหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน บริษัทขนาดใหญ่หรือขนาดเล็ก และสถาบันการศึกษา ที่เป็นองค์กรทั้งหลาย หันมาช่วยกัน สร้างกฎและวัฒนธรรมในองค์กร เพื่อลดพฤติกรรมการเมาแล้วขับของคนในองค์กร เพราะถ้าทุกหน่วยงานหันมาช่วยกันในลักษณะนี้ เราจะได้ไม่ต้องพึ่งแต่เจ้าหน้าที่ตำรวจในการจับกุมผู้กระทำผิดจากการเมาแล้วขับเพียงอย่างเดียว และจะได้ช่วยลดปัญหาตำรวจทะเลาะกับประชาชนอีกด้วย