"...องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เช่น สตง. ป.ป.ช. ดูจะเป็นหน่วยงานที่ระมัดระวังและมีประสิทธิภาพในการจัดทำงบประมาณและการจัดซื้อมากที่สุด เพราะประหยัดงบประมาณได้มากถึงร้อยละ 12.96 ขณะที่หน่วยราชการทั่วไปประหยัดได้เพียงร้อยละ 3.77 และ อปท. ราวร้อยละ 7.28..."
การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ปีงบประมาณ 2566 มีทั้งสิ้น 6,065,078 โครงการ วงเงิน 2,183,441.06 ล้านบาท ด้วยวิธีจัดซื้อจัดจ้างที่ต่างกัน ตามสถิติแล้ว “อีบิดดิ้ง” เป็นวิธีที่ช่วยประหยัดงบประมาณร้อยละ 8.13 แต่หากจัดซื้อด้วยวิธีคัดเลือก (ผู้ซื้อเชิญผู้ขายบางรายมาร่วมเสนอราคา) จะได้เพียงร้อยละ 5.94 และลดเหลือเพียงร้อยละ 1.54 เมื่อใช้วิธีเฉพาะเจาะจง (ผู้ซื้อกำหนดว่าจะซื้อจากรายใด)
ยังมีข้อมูลบางอย่างที่น่าสนใจ
1. “อีบิดดิ้ง” ถูกนำมาใช้เพียง 166,944 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 2.75 ขณะที่การจัดซื้อด้วยวิธิพิเศษ คือ วิธีคัดเลือกและเฉพาะเจาะจง ถูกใช้มากถึงร้อยละ 97.15
2. ระบุให้แคบเข้าอีกก็คือ จากโครงการที่เข้าเงื่อนไขต้องใช้อีบิดดิ้ง 219,994 โครงการ มีเพียง 3 ใน 4 เท่านั้นที่ใช้ นอกนั้นไม่ทราบว่าหายไปไหนบ้าง
3. น่าแปลกใจว่ามี “การประกวดราคานานาชาติ” (International Bidding) เพียง 23 โครงการ มูลค่ารวม 27.25 ล้านบาทเท่านั้น และยังไม่มีโครงการใดที่ประมูลจบสิ้นเลย!
4. “งานก่อสร้าง” เป็นหมวดที่มีมูลค่ามากถึง 1,007,670.50 ล้านบาท สำหรับ 314,424 โครงการ
5. องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เช่น สตง. ป.ป.ช. ดูจะเป็นหน่วยงานที่ระมัดระวังและมีประสิทธิภาพในการจัดทำงบประมาณและการจัดซื้อมากที่สุด เพราะประหยัดงบประมาณได้มากถึงร้อยละ 12.96 ขณะที่หน่วยราชการทั่วไปประหยัดได้เพียงร้อยละ 3.77 และ อปท. ราวร้อยละ 7.28
6. การ “จัดจ้าง” เช่น จ้างออกแบบ จ้างคุมงาน จ้างที่ปรึกษา หากเป็นการประกาศเชิญชวนทั่วไปให้เข้าแข่งขัน จะประหยัดได้มากถึงร้อยละ 8.33 - 9.54 แต่หากใช้วิธิพิเศษ จะเหลือเพียงร้อยละ 2.65 - 4.38 เท่านั้น
7. วงเงินจัดซื้อฯ ส่งผลต่อการกำหนด “บุคคลผู้มีอำนาจอนุมัติการจัดซื้อ วิธีการและกระบวนการจัดซื้อฯ” ทำให้มีการซอยโครงการให้อยู่ในช่วงวงเงิน 4.99 แสนบาท และ 4.99 ล้านบาทจำนวนมาก โดยปีที่ผ่านมามีโครงการแยกตามวงเงิน ดังนี้
1. ไม่เกิน 1 แสนบาท (ใช้วิธีพิเศษได้) 4,966,333 โครงการ
2. เกิน 1 แสนบาท แต่ไม่เกิน 5 แสนบาท (ใช้วิธีพิเศษได้) 878,751 โครงการ
3. เกิน 5 แสนบาท แต่ไม่เกิน 5 ล้านบาท (ไม่ต้องทำอีบิดดิ้ง) 171,330 โครงการ
4. เกิน 5 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 50 ล้านบาท 45,483 โครงการ
5. เกิน 50 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 100 ล้านบาท 1,754 โครงการ
6. เกิน 100 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 500 ล้านบาท 1,150 โครงการ
7. เกิน 500 ล้านขึ้นไป (มูลค่ารวม 558,363 ล้านบาท) 277 โครงการ
8. หน่วยงานรัฐที่มีการจัดซื้อมากที่สุด 5 อันดับแรกคือ กรมทางหลวง กรมชลประทาน กรมทางหลวงชนบท สำนักงานตำรวจแห่งชาติ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (จากเว็บไซต์ภาษีไปไหน)
9. เอกชนผู้ค้ากับรัฐรายใหญ่ 5 อันดับแรกคือ บริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก องค์การเภสัชกรรม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท ดีเคเอสเอช (ประเทศไทย) จำกัด (จากเว็บไซต์ภาษีไปไหน) โดยสามในห้ารายนี้เป็นผู้ค้ายาและเวชภัณฑ์
ข้อมูลข้างต้นนี้มาจาก “รายงานภาพรวมผลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 (1 ตุลาคม 2565 – 30 กันยายน 2566)” กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง
ดร. มานะ นิมิตรมงคล
เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
29 เมษายน 2567