"...โหน่งได้กล่าวถึงความเป็นมาที่ใช้ชื่อหนังสือว่า “ครอบครัวธุรกิจ” แทนที่จะเป็น “ธุรกิจครอบครัว” ว่าทุกอย่างในโลกนี้เกิดขึ้นเพราะการตัดสินใจของคน เช่น บริษัทเองไม่มีชีวิต ไม่มีสมอง ตัดสินใจไม่ได้ทุกอย่างที่เกิดขึ้นเป็นการตัดสินใจโดยคน ธุรกิจครอบครัวก็ตัดสินใจโดยคนในครอบครัวธุรกิจเป็นหนังสือที่สามารถอ่านได้ทั้งครอบครัว และไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ที่มีธุรกิจของตัวเอง อย่างน้อยจะได้สำรวจตัวเองว่าความสำเร็จหลายอย่างไม่ใช่ว่าจะได้มาโดยง่าย และธุรกิจครอบครัวหลายแห่งที่คนภายนอกรู้สึกว่าประสบความสำเร็จ ร่ำรวย แต่แท้จริงแล้วครอบครัวกลับไม่ได้อบอุ่นมีความสุข..."
หากให้ผมวาดภาพมาด “ศาสตราจารย์” ผมจะคิดถึงอาจารย์ใส่แว่นหนา ๆ ยืนอยู่หน้าห้องเรียนที่นักศึกษาต่างตั้งอกตั้งใจฟังเลกเชอร์ ที่แน่นไปด้วยเนื้อหาวิชาการ แต่สำหรับ ดร.กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์ (โหน่ง) ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์และนโยบายสาธารณะ ผู้ที่ผมได้รู้จักตั้งแต่มาช่วยก่อตั้งสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ เมื่อปี พ.ศ. 2557 กลับเป็นมากกว่าตำแหน่งทางวิชาการที่ได้รับ เพราะนอกจากโหน่งจะเป็นเลิศในเรื่องที่เชี่ยวชาญแล้วเขายังให้ความสนใจกับเรื่องรอบตัวทุกเรื่อง ตั้งแต่ประวัติศาสตร์ วัด วัง ซึ่งมักหาโอกาสเดินไปสำรวจเพื่อนำกลับมาเขียนประวัติความเป็นมา และที่สำคัญโหน่งเป็นคนติดดิน ทำให้เวลาอยู่บนเวทีสัมภาษณ์กับคนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนจึงดูเป็นธรรมชาติ
เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา โหน่งแวะมาที่ทำงานผม ก่อนกลับไปสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานดิเอโก สหรัฐฯ พร้อมทั้งมอบหนังสือ “Business Family” ที่ตนเองเขียน ทำให้ผมได้รับทราบว่าโหน่งมีความสนใจในเรื่องนี้มานานแล้ว ได้ทำวิจัยเรื่อง “Mixing Family with Business: A Study of Thai Business Groups and the Families Behind Them” ที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับโลก พร้อมได้ทำพอดแคสต์ (Podcast) เกี่ยวกับเรื่อง “ครอบครัวธุรกิจ” ร่วมกับ The Cloud ต่อเนื่องมากกว่า 20 ตอน ก่อนตัดสินใจรวบรวมเรื่องทั้งหมดมาขัดเกลาและตีพิมพ์เป็นหนังสือ
ผมหยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาอ่านอย่างเพลิดเพลินแบบรวดเดียวจบในช่วงเทศกาลสงกรานต์ได้รับทราบเกร็ดที่ไม่เคยทราบมาก่อน เช่น โรงแรมโฮชิ เรียวกัง (Houshi Ryokan) โรงแรมแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่นที่ก่อตั้งมานานกว่า 1,300 ปี เกิดจากการสร้างที่พักสำหรับคนป่วยที่เดินทางมารักษาโรคบริเวณน้ำพุร้อน สินค้าแบรนด์หลายยี่ห้อเกิดจากการไม่ลงรอยกันของตระกูลที่ก่อตั้ง เช่น ธุรกิจเครื่องสำอางเอสเต ลอเดอร์ (Estee Lauder) กับคลีนิกข์ (Clinique) หรือธุรกิจรองเท้าอาดิดาส (Adidas) กับพูม่า (Puma) ไปจนถึงธุรกิจของตระกูลมาร์ส (Mars) ที่ไม่ได้ผลิตเพียงช็อกโกแลตที่รู้จักกันดีหลายยี่ห้อ เช่น เอ็มแอนด์เอ็ม (m&m), สนิกเกอร์ส (Snickers), และ ทวิกซ์ (Twix) เท่านั้น แต่ยังเป็นเจ้าของกิจการหมากฝรั่งริกลี่ย์ (Wrigley) และอาหารสัตว์เลี้ยงเพดดิกรี (Pedigree) อีกด้วย พร้อมเลือกไม่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ถือเป็นตระกูลที่ร่ำรวยเป็นอันดับที่ 3 ของสหรัฐฯ [1]
แต่ใน 30 ครอบครัวธุรกิจที่กล่าวไว้ในหนังสือเล่มนี้ มีครอบครัวธุรกิจหนึ่งที่ดลใจผมมากที่สุด เพราะเป็นธุรกิจที่ผ่านพ้นอุปสรรคมากว่า 400 ปี สืบทอดทายาทมากว่า 15 รุ่น ถือเป็นธุรกิจที่เก่าแก่ที่สุดในสหรัฐฯ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นไม่มากนัก เพราะเมื่อกล่าวถึงธุรกิจครอบครัว มักจะเป็นไปตาม “กฎสามรุ่น” จบในรุ่นที่ 3 โดยไม่สามารถส่งต่อธุรกิจไปยังรุ่นต่อไปได้ ด้วยสาเหตุหลายประการ นับตั้งแต่ความแตกต่างกันเองในวงศ์ตระกูล พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของลูกค้า ไปจนถึงการปฏิวัติอุตสาหกรรมจากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป
หากให้พวกเราทายเท่าไหร่คงไม่ถูก เพราะไม่ใช่ธุรกิจทั่วไปที่เราคุ้นเคย แต่เป็นธุรกิจของบริษัทซิลด์เจียน (Zildjian) ที่ผลิต “ฉาบ” (Cymbal) เครื่องดนตรีชนิดหนึ่ง ลักษณะเป็นแผ่นโลหะบาง ๆ คล้ายจาน เอามาตีเพื่อให้เกิดเสียง
ประวัติของซิลด์เจียนต้องย้อนไปถึงปี ค.ศ. 1618 เมื่ออเวดิส (Avedis) ช่างโลหะและนักเล่นแร่แปรธาตุชาวอาร์มีเนีย ทำงานในราชสํานักของสุลต่านแห่งจักรวรรดิออตโตมัน ได้ค้นพบวิธีการขึ้นรูปโลหะผสมของดีบุก ทองแดง และเงิน ให้เป็นแผ่นโลหะ ด้วยความบังเอิญจากการสร้างทองคํา แต่กลับได้โลหะบาง ๆ ที่สามารถสร้างเสียงดนตรีได้โดยไม่แตกเป็นเสี่ยง ๆ สุลต่านมุสตาฟาที่ 1 ประทับใจในสิ่งประดิษฐ์ของอเวดิสมากจนพระราชทานนามสกุลให้กับอเวดิสว่า “Zildjian” แปลว่า "ช่างทําฉาบ" เพื่อให้มั่นใจว่าฉาบซิลด์เจียนจะถูกถ่ายทอดสู่รุ่นลูกหลานต่อไป [2]
ในยุคสมัยนั้น ทหารออตโตมันอาศัยตีฉาบส่งเสียงเพื่อข่มขู่ศัตรูในสนามรบ และยังใช้เป็นเครื่องมือในการแสดง โดยให้นักเต้นรำผูกไว้ที่หน้าท้อง ดังนั้น ฉาบจึงมีความต้องการจำกัด อย่างไรก็ดี ในปี ค.ศ. 1623 อเวดิสได้รับอนุญาตให้เริ่มต้นธุรกิจของตัวเองนอกพระราชวัง และก่อนเสียชีวิตได้ถ่ายทอดสูตรลับผลิตฉาบซิลด์เจียนให้กับลูกชาย ถือเป็นจุดเริ่มต้นในเรื่องราวการสืบทอดที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในประวัติศาสตร์ธุรกิจ
นับเป็นเวลากว่า 356 ปีที่ลูกหลานของอเวดิส ปกป้องสูตรลับการผสมโลหะของเขา และช่วยให้ธุรกิจดำเนินต่อไปอย่างแข็งแกร่ง แม้จะมีความท้าทายเช่น การสังหารหมู่อาร์มีเนีย และการหนีภัยสงครามโลกด้วยการย้ายถิ่นฐานไปตั้งรกรากในเมืองควินซี รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐฯ รวมทั้งบริษัทยังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่ธุรกิจเกือบไปไม่รอด แต่ที่สาหัสที่สุดคือ ภายหลังการเสียชีวิตของอเวดิสที่ 3 ในปี ค.ศ. 1979 เกิดความขัดแย้งของอาร์มานด์และโรเบิร์ต ลูกชายของเขา จนทำให้โรเบิร์ตตัดสินใจแยกตัวออกจากธุรกิจของครอบครัวเพื่อเริ่มผลิตฉาบสายใหม่ จุดกําเนิดของแบรนด์ซาเบียน (Sabian) กลายเป็นหนึ่งในคู่แข่งหลักของซิลด์เจียนในปัจจุบัน
เหตุใดการสืบทอดธุรกิจซิลด์เจียนจึงได้ยืนยาว ทั้ง ๆ ที่ต้องเผชิญกับความท้าทายหลายเรื่อง แน่นอนปัจจัยแรกคือ การรักษาความลับของสูตรการผลิตฉาบไว้ให้กับคนในตระกูลเท่านั้น ปัจจัยที่สองคือ การเปลี่ยนบทบัญญัติด้วยการถ่ายทอดให้กับลูกสาว ซึ่งเดิมระบุให้เฉพาะลูกชายเท่านั้น แสดงให้เห็นถึงความยืดหยุ่นเพียงพอที่จะก้าวไปตามกาลเวลาและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ และเมื่อซิลด์เจียนต้องย้ายธุรกิจจากตุรกีไปยังสหรัฐฯ จำเป็นต้องหาลูกค้าใหม่ เพราะขายสินค้าให้ราชวงศ์ กองทัพ และนักเต้นระบำไม่ได้อีกต่อไป ทำให้ซิลด์เจียนเริ่มผลิตฉาบให้กับวงดนตรีแจ๊ส จุดเริ่มต้นให้ธุรกิจครอบครัวนี้เข้าถึงตลาดดนตรีร่วมสมัย และเมื่อริงโก้ สตาร์ มือกลองของวงเดอะบีทเทิลส์ (The Beatles) นำมาใช้ใปปี ศ.ศ. 1964 ฉาบของซิลด์เจียนจึงเป็นที่รู้จักกันดีของหมู่นักดนตรีตั้งแต่นั้นมา [3]
นอกจากนี้ ซิลด์เจียนยังจ้างผู้บริหารมืออาชีพเข้ามาช่วยงาน และก่อตั้งสภาครอบครัว (Family Council) ทำหน้าที่ส่งเสริมให้สมาชิกครอบครัวเข้ามามีส่วนร่วมในธุรกิจอีกด้วย และหากได้ค้นประวัติของกรรมการบริษัท ซึ่งเป็นคนในตระกูลซิลด์เจียนทั้งหมด จะพบว่าพวกเธอมีประวัติการศึกษาที่หลากหลาย และได้เคยทำงานในธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับฉาบและเครื่องดนตรี เป็นความตั้งใจของพวกเธอ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าธุรกิจจะไม่ติดอยู่ในสุญญากาศ เนื่องจากมีการแนะนําแนวคิดและข้อมูลเชิงลึกใหม่ ๆ จากโลกภายนอกอย่างต่อเนื่อง
ในระหว่างการสัมภาษณ์เครจี ซิลด์เจียน (Craigie Zildjian) ประธานบริษัทคนปัจจุบัน เอมิเลีย (Emilia) หลานสาววัยสี่ขวบ สมาชิกของซิลด์เจียนรุ่นที่ 16 มานั่งบนตัก เครจีถามหลานสาวว่า "วันหนึ่งหนูอยากทำงานเป็นช่างทําฉาบไหม" เอมิเลียตอบอย่างไม่ลังเลว่า "อยากเป็นแน่นอนค่ะ"
บางทีอาจมีบางสิ่งที่พิเศษในสายเลือดของตระกูลซิลด์เจียน หรือบางทีพวกเขาอาจเก่งมาก ในการเชื่อมโยงธุรกิจกับความภาคภูมิใจของครอบครัวไม่ว่าจะด้วยวิธีใด การค้นพบธุรกิจครอบครัวแบบนี้อีกครั้งคงไม่ง่ายนัก
โหน่งได้กล่าวถึงความเป็นมาที่ใช้ชื่อหนังสือว่า “ครอบครัวธุรกิจ” แทนที่จะเป็น “ธุรกิจครอบครัว” ว่าทุกอย่างในโลกนี้เกิดขึ้นเพราะการตัดสินใจของคน เช่น บริษัทเองไม่มีชีวิต ไม่มีสมอง ตัดสินใจไม่ได้ทุกอย่างที่เกิดขึ้นเป็นการตัดสินใจโดยคน ธุรกิจครอบครัวก็ตัดสินใจโดยคนในครอบครัวธุรกิจเป็นหนังสือที่สามารถอ่านได้ทั้งครอบครัว และไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ที่มีธุรกิจของตัวเอง อย่างน้อยจะได้สำรวจตัวเองว่าความสำเร็จหลายอย่างไม่ใช่ว่าจะได้มาโดยง่าย และธุรกิจครอบครัวหลายแห่งที่คนภายนอกรู้สึกว่าประสบความสำเร็จ ร่ำรวย แต่แท้จริงแล้วครอบครัวกลับไม่ได้อบอุ่นมีความสุข [4]
แหล่งที่มา :
[1] กฤษฎ์เลิศ สัมพันธ์ธารักษ์, Business Family, พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2567, สำนักพิมพ์ The Cloud
[2] Dominique Olivier, ON OF A CYMBAL MAKER: LESSONS IN SUCCESSION FROM ZILDJIAN, Ghostmail, DEC 2023,https://www.ghostmail.co.za/son-of-a-cymbal-maker-lessons-in-succession-from-zildjian/
[3] กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์, แบรนด์ 2000 ปี, The Cloud, 14 มีนาคม 2023, https://readthecloud.co/houshi-marinelli-zildjian/
[4] ทรงกลด บางยี่ขัน, Business Family, The Cloud, 27 มีนาคม 2024, https://readthecloud.co/krislert-samphantharak/