"...สมณะ เพาะพุทธ (ท่านจันทร์) ซึ่งเป็นหนึ่งในสมณะสันติอโศก ที่มีบทบาทสูงในการเผยแพร่ธรรมวินัย เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า “ในยุคนั้น ถึงขั้นที่เลขานุการ รมว.กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งกำกับดูแลกรมศาสนา เดินทางมาขอร้องพระโพธิรักษ์ ว่าขอให้ยุติสถานะการเป็นพระสงฆ์”..."
เมื่อสมณะโพธิรักษ์ ละสังขารด้วยโรคชรา วันที่ 11 เมย. 67 เวลา 6.40 น. นั้น คุณกมล สุสำเภา หรือ สหายประดิษฐ์ มิตรร่วมรบในเขตป่าเขา เขียนบันทึกส่งไลน์ มาว่า “ได้รับทราบข่าวด้วยความใจหาย หนังสือธรรมะเล่มแรก ที่ผมอ่านเมื่อปี 2516 คือหนังสือเรื่อง “คน” ของท่านโพธิรักษ์
เช้าวันที่ 16 ตุลาคม 2516 เมื่อจอมพลถนอม – ประภาส ออกนอกประเทศไปแล้ว จะเห็นกระบวนแถวของพระภิกษุ ที่ครองจีวรสีกรักเข้ม ออกเดินแถวบิณฑบาต ที่ถนนราชดำเนิน ท่ามกลางสิ่งกีดขวางรุงรัง ที่ถูกนำมาใช้ในเหตุการณ์นองเลือดหัวขบวน คือ ท่านโพธิรักษ์ นั่นเองครับ ขอร่วมอาลัยและร่วมรำลึกพระคุณนานัปการของท่านต่อทิศทางทั้งทางโลกและทางธรรม”
มีกำหนดการฌาปนกิจสรีรสังขาร สมณะโพธิรักษ์ วันอังคารที่ 16 เมย. 67 โดยเริ่มพิธีรำลึก 12.00 น. เคลื่อนสรีร 16.00 น. จากเฮือนศูนย์สูญ สู่จิตกาธาน ลานสู่สูญ บวรราชธานีอโศก จ. อุบลราชธานี
คนที่อายุ 70 ปีขึ้นไป จะคุ้นเคยกับชื่อ รัก รักพงษ์ ศิลปินนักแต่งเพลงที่คนรู้จักกันทั่วประเทศ เยาวชนยุคนั้นรับรู้ว่ารายการตอบคำถามฝึกสมองลองปัญญา ทางทีวีขาวดำ ช่อง 4 บางขุนพรหม นั้น มี รัก รักพงษ์ เป็นผู้ดำเนินรายการประเภทนี้ในยุคแรกของวงการโทรทัศน์ ที่น่าสนใจ ก็คือ เมื่อครั้งยังเป็นฆราวาสหนุ่มน้อย เป็นศิลปินผู้แต่งเพลงดังไว้หลายเพลง เช่น เพลง ผู้แพ้
“ระกำดวงใจกระไรหนอบาป
แสร้งสาบวนเวียนเจียนจน
ซ้ำป่นฤทัยร้าวในอกเรา.........
........แพ้เกมชีวีสิ้นดีทุกอย่าง
แต่ก็ภูมิใจไม่จาง
ที่จิตของเรามิเลวพ่ายตาม
ยังยิ่งยงเป็นใจดวงงาม
แพ้ก็แพ้ชะตาทราม
ดวงใจทรงความมั่นคง”
เพลงนี้มี นริศ อารีย์ ร้องเป็นคนแรก ต่อมาศิลปินอีกหลายคนนำไปร้อง เช่น วินัย พันธุรักษ์
เพลงที่ดังเปรี้ยงปร้าง สร้างชื่อเสียงให้กับ เศรษฐา ศิระฉายา และ วงดนตรี ดิอิม พอสซิเบิ้ล คือเพลง ชื่นรัก โดย รัก รักพงษ์ แต่งเนื้อ ใช้ทำนอง Scarborough Fair ของวงไซมอน แอนด์ กาฟังเกล ซึ่งเป็นเพลงดัดแปลงมาจากบทกวีโบราณของอังกฤษ
รื่นรมย์สมอุรา (สมอุราสมดังใฝ่)
ชื่นตาฟ้าเบิกบาน (มองฟ้าเบิกบานมองชื่นตาแสนสุขใจ)
นกร้องขับขานสราญแสนสุขตา (นกร้องขับขานเบิกบานใจ)
แมกไม้โบกใบพลิ้ว (แมกไม้โบกใบพลิ้ว)
รื่นริ้วลมเริงร่า (รื่นริ้วลมเริงร่า)
เมื่อรักลอยลงมาแนบอุราสมดังใฝ่ (รักแนบอุราสมดังใจ)
สมรักเราเคยปอง สุขสองประคองใจ
ชื่นรักชักชวนให้ สุขไหนปาน (ชื่นด้วยรักเต็มดวงใจไหนจะปาน)
(ซ้ำ)
เมื่อรัก รักพงษ์ แต่งเนื้อ ปราจีน ทรงเผ่า เรียบเรียงเสียงประสาน วงดิอิมพอสซิเบิ้ล เล่น ใช้ประกอบภาพยนตร์เรื่องโทน ซึ่งเป็นผลงานสร้างของเปี๊ยก โปสเตอร์ ในปี 2513 ทำให้ชื่นรัก กลายเป็นเพลงยอดนิยม ถึงขนาดที่ ม.จ. ทิพยฉัตร ฉัตรไชย นำมาสร้างหนังเรื่อง “ชื่นรัก” ให้ เศรษฐา ศิระฉายา เป็นพระเอก ให้อรัญญา นามวงศ์ เป็นนางเอก ด้วยเพลงนี้และหนังเรื่องนี้ทำให้ทั้งคู่กลายเป็นคู่ชีวิตกันจริง ในเวลาต่อมา
รัก รักพงษ์ ยังแต่งเพลงไว้หลายเพลง เช่น เพลงเริงรถไฟ เพลงฟ้าต่ำแผ่นดินสูง ฯลฯ
วินัย พันธุรักษ์ ยกย่องว่า “ผมและคุณเศรษฐา ศิระฉายา ยอมรับตรงกันว่า พ่อครูสมณะโพธิรักษ์ ทำให้วงดิอิมพอสซิเบิ้ลเกิดและได้รับการต้อนรับจากมหาชนด้วย เพลงชื่นรัก เพลงเริงรถไฟ ของรัก รักพงษ์ นั่นเอง”
ใครได้ฟังเพลงของ รัก รักพงษ์ จะรู้สึกได้ถึงหัวใจอันละเมียดละไมที่มีต่อ ท้องฟ้า ขุนเขา สายลม แมกไม้ใบหญ้า เป็นธรรมชาติรังสรรค์ ธรรมชาติกับธรรมะ ทั้งสองอย่างนี้คือ หนึ่งเดียวกัน ปฏิบัติธรรม คือการปฏิบัติตามธรรมชาติที่มันเป็นและดำรงอยู่นั้นเอง
ด้วยเหตุนี้ หรือมิใช่ที่ ทำให้นักแต่งเพลงที่มีใจผูกพันกับธรรมชาติ หันมาใฝ่ธรรม แม้ช่วงหนึ่งจะไปสนใจไสยศาสตร์ แต่ก็ละมาศึกษาพุทธธรรมอย่างจริงจัง จนเลิกละอบายมุข และพ้นไปจากกามคุณ รับประทานอาหารมังสวิรัติเท่านั้น เพียงวันละหนึ่งมื้อ แล้วบวชในคณะธรรมยุตินิกาย ที่วัดอโศการาม จ.สมุทรปราการ เมื่อ 7 พย. 13 ได้รับฉายาว่า “พระโพธิรักขิโต”
โดยมีพระราชวรคุณ เป็นอุปัชฌาย์ ได้ปฏิบัติธรรมวินัยอย่างเคร่งครัดเป็นที่ศรัทธา มีสงฆ์จากคณะธรรมยุติ และมหานิกาย มาร่วมปฏิบัติด้วย ซึ่งพระราชวรคุณ พระอุปัชฌาย์ไม่ปรารถนาจะให้พระมหานิกายมาศึกษาร่วมอยู่ด้วย พระโพธิรักษ์จึงเข้ารับการสวดญัตติ เป็นพระมหานิกาย อีกคณะหนึ่ง เมื่อ 2 เมย.16 ที่วัดหนองกระทุ่ม จ. นครปฐม โดยมีพระครูสถิตวุฒิคุณ เป็นพระอุปัชฌาย์ โดยมิได้สึกจากคณะธรรมยุติ เพราะพระโพธิรักษ์มุ่งสารธรรมเป็นสำคัญ ไม่ใส่ใจว่าจะเป็นคณะนิกายใด จึงมีพระทั้งสองนิกาย มีปฏิปทาเป็น “สมานสังวาส” เพื่อให้ศึกษาร่วมกันได้โดยยึดเอาธรรมวินัยเป็นแกนหลัก ก้าวข้ามการถือมั่นในนิกาย
ปรากฏว่า พระอุปัชฌาย์ ฝ่ายธรรมยุติไม่พอใจอีก พระโพธิรักษ์จึงคืนใบสุทธิให้ฝ่ายธรรมยุติไปเมื่อ 25 เมย. 16 คงถือแต่ใบสุทธิของมหานิกายเพียงคณะเดียว
วัตรปฏิบัติสำคัญ ของพระโพธิรักษ์และคณะ คือฉันอาหารมังสวิรัติเท่านั้น เพียงวันละหนึ่งมื้อ ไม่ใช้เงินทอง ห่มจีวรสีกรัก ไม่เรี่ยไร ไม่รดน้ำมนต์ ไม่พรมน้ำมนต์ ไม่มีการบูชาด้วยธูปเทียน ไม่มีไสยศาสตร์เกี่ยวข้อง กลายเป็นที่วิจารณ์ว่า เป็น พระนอกรีต
สมณะ เพาะพุทธ (ท่านจันทร์) ซึ่งเป็นหนึ่งในสมณะสันติอโศก ที่มีบทบาทสูงในการเผยแพร่ธรรมวินัย เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า “ในยุคนั้น ถึงขั้นที่เลขานุการ รมว.กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งกำกับดูแลกรมศาสนา เดินทางมาขอร้องพระโพธิรักษ์ ว่าขอให้ยุติสถานะการเป็นพระสงฆ์”
นี่เป็นเหตุให้ พระโพธิรักษ์และคณะประกาศลาออกจากความเป็นสงฆ์ตามแนวทางของมหาเถรสมาคม เมื่อ 6 สค. 2518 เป็นสิ่งที่เรียกว่า “นานาสังวาส” คือต่างฝ่ายต่างอยู่ในทิศทางและถิ่นที่ของตนเอง ไม่ได้อยู่ร่วมกันอันเนื่องมาจากทิฏฐิ ความเห็นและข้อปฏิบัติที่แตกต่างกัน
การ “นานาสังวาส” เป็นสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครอง ตามมาตรา 25 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
นักบวชชาวอโศก ในทุกวันนี้ จึงไม่เรียกตนเองว่าพระสงฆ์ หากแต่เป็นสมณะ ซึ่งถือเป็นนักบวชได้เช่นกัน ในเมื่อได้ปฏิบัติตามธรรมวินัยแห่งพุทธศาสนาอย่างเคร่งครัด
ท่านจันทร์ ชี้แจงให้ผู้เขียนรับรู้ว่า “สมณะโพธิรักษ์และนักบวชสันติอโศก ต่างไม่มีใบสุทธิตามกฎของมหาเถรสมาคม นักบวชทุกคน ใช้บัตรประชาชน เหมือนประชาชนทั่วไป สมณะโพธิรักษ์ใช้บัตรประชาชนชื่อว่า ‘รัก รักพงษ์’ ส่วนอาตมาใช้ชื่อในบัตรประชาชนว่า ‘นายเพาะพุทธ เพื่อมนุษยชาติ’ อาตมาไม่ได้เป็นสงฆ์ ด้วยเหตุนี้อาตมาจึงไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ และก็ไปใช้สิทธิมาแล้ว”
ปัจจุบัน ชุมชนแห่งสันติอโศกมีกระจายทั่วทุกภาค เช่นที่ จ.นครปฐม จ.อุบลราชธานี จ.เชียงใหม่ จ.ตรัง
เป็นชุมชนที่เรียกตนเองว่า “ชุมชนบุญนิยม” ด้วยการถือปฏิบัติมั่นคงในพุทธศาสนาและธรรมวินัย โดยใช้สัมมาทิฏฐิเป็นธงนำ ทั้งนักบวชและฆราวาส ปฏิบัติธรรมอยู่ร่วมในพื้นที่เดียวกันอย่างเป็นหนึ่งเดียว มีความเป็นอยู่อย่างเรียบง่าย ที่เป็นฆราวาสใช้พื้นที่ทำกสิกรรมไร้สารพิษ พึ่งตนเอง ขยันอดทน เสียสละ ไม่เอาเปรียบใคร จนได้รับการยกย่องว่าชุมชนบุญนิยม เป็น “ชุมชนพอเพียง”
ผู้เขียนถามท่านจันทร์ (สมณะเพาะพุทธ) ว่า “นักบวชและญาติธรรมแห่งสันติอโศก ได้ก้าวเข้าไปสู่พื้นที่แห่งการต่อสู้ทางการเมืองอย่างเปิดเผย ในนามของ “กองทัพธรรม” หลายครั้งหลายหนที่ผ่านมา สมณะโพธิรักษ์ ถึงกับเดินนำนักบวช ร่วมขบวนกับประชาชน ก็ปรากฏมาแล้ว หมายความว่าอย่างไร”
ได้รับคำตอบว่า “ธรรมะ กับการเมือง แยกจากกันไม่ได้ ธรรมะนั้นมีอยู่ในทุกมิติทางสังคมของประเทศ ไม่ว่า เศรษฐกิจ การศึกษา การยุติธรรมหรืออื่นๆ การเมืองที่ไร้ธรรมะคือการเมืองแห่งโลภะจริต โทสะจริต โมหะจริต ยกตัวอย่าง ตอนนี้รัฐบาลกำลังมีความคิดว่าจะให้มีกาสิโนถูกกฎหมาย เป็นทิศทางที่จะเอาแต่ได้ คิดถึงแต่มูลค่า ไม่สนใจคุณค่าทางสังคม ในความเป็นจริง จะสร้างมูลค่าได้ตามราคาคุยหรือไม่ ยังเป็นที่สงสัย กัมพูชา ลาว เมียนมา มีบ่อนการพนันถูกกฎหมายระเทศละหลายบ่อนมาหลายปีแล้ว ประชาชนยังจนยาก ลำบากกว่าบ้านเรา บ้านเรามีหวยบนดิน มากี่สิบปีแล้ว แล้วหวยใต้ดินที่ผิดกฎหมายเลิกได้หรือไม่ หวยใต้ดินยังขายกันเกลื่อนมูลค่ามหาศาล เดือนละสองงวด ยังไม่นับว่าหากมีการพนันถูกกฎหมาย ผู้คนและเยาวชนจะบรรลัยวายป่วงกันแค่ไหนในทางจรรยาและศีลธรรม สันติอโศกจึงเป็นตัวอย่างชุมชนปลอดอบายและประกาศไม่เห็นด้วยอย่างแข็งขัน จะเรียกว่าการเมืองหรือไม่ ก็ลองพิจารณาดู สันติอโศกเลือกยืนอยู่ข้างความถูกต้องชอบธรรม ไม่ขอสังฆกรรมด้วยกับคนโกง”
สมณะโพธิรักษ์ และคณะได้สร้างชุมชนบุญนิยมขึ้นมาเป็นชุมชน ที่ถือศีลเคร่งครัด ที่เป็นนักบวช ก็ปฏิบัติธรรมวินัย 227 ข้อ เหมือนพระสงฆ์ทั่วไป ที่เป็นฆราวาส อย่างน้อยก็ถือศีลห้า ตามพุทธบัญญัติ
ผู้เขียนถาม ท่านจันทร์ว่า “การสร้างชุมชนบุญนิยมนั้น มีการทำกสิกรรมด้วยอย่างนี้ เป็นกิจของสงฆ์หรือไม่ เพราะวินัยสงฆ์นั้นถือว่า ‘การพรากของเขียว’ (ตัดต้นไม้ตัดกิ่งตัดใบไม้) เป็นอาบัติปาจิตตีย์ (อาบัติเบา)”
ท่านจันทร์เฉลยว่า “ใช่เลย นักบวชไปตัดกิ่ง ตัดต้นไม้ไม่ได้ นักบวชสันติอโศก ไม่มีการพรากของเขียวใดๆ ไม่มีหน้าที่ปลูก ไม่ไปเก็บผัก เก็บผลไม้ใดๆ นั่นเป็นหน้าที่ของฆราวาส ซึ่งประกอบอาชีพโดยสุจริต พื้นที่ของสันติอโศก เปิดให้แก่สัมมาอาชีวะ เพื่อการดำรงชีพของผู้คน
ถ้าศึกษาก็จะพบว่า พระพุทธเจ้าสอนถึงอริยสัจสี่ ในข้อสี่คือ มรรค หมายถึงหนทางดับทุกข์ ยังมีคำสอนอีกว่า อริยมรรคมีองค์ 8 เริ่มแต่สัมมาทิฏฐิ (ความเห็นถูกต้อง) สัมมาสังกัปปะ (ความคิดถูกต้อง) สัมมาวาจา (วาจาถูกต้อง) สัมมาอาชีวะ (หาเลี้ยงชีพถูกต้อง) เป็นองค์คุณที่ห้า
การช่วยให้ชาวบ้านมีอาชีพที่ถูกต้อง ไม่ไปปล้นฆ่าใคร ไม่ไปลักขโมยใคร นี่คือวิถีหนึ่งแห่งการพ้นทุกข์เป็นสัมมาชีพ ที่จริงทุกวัดในประเทศไทยสามารถจะเอื้ออาทรพื้นที่ให้ชาวบ้าน ประกอบอาชีพได้ เป็นการร่วมด้วยช่วยกันที่ช่วยให้เกิดทักษะอาชีพขึ้นมาจริงๆ มันมีค่ามากกว่า การแจกเงินดิจิตัลเสียอีกนะ”
นี่เป็นแง่มุมของชุมชนอโศก ที่สมณะโพธิรักษ์ ผู้ล่วงลับได้วางแนวทางไว้ ใครจะวิพากษ์วิจารณ์ว่า นอกรีตนอกรอย ใครจะตำหนิว่าไม่ใช่พระสงฆ์องค์เจ้า ใครจะวิจารณ์ว่าอะไรก็ตาม แต่สันติอโศก เป็นธรรมวิถีที่จำหลักไว้อย่างมั่นคงในสังคมไทย สมณะโพธิรักษ์จะละสังขารแล้ว แต่ธรรมวิถีของสันติอโศก ที่ดำเนินมาเกือบกึ่งศตวรรษกำลังรอรับการพิสูจน์อย่างน่าสนใจจากสังคมประเทศไทยในระยะเวลาต่อไป