"...ผลการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกในปี 2014 ของทีมชาติฟุตบอลอเมริกันซามัวเป็นอย่างไร ผมคงไม่เฉลยจนกลายเป็นนักสปอยหนัง แต่ที่แน่ ๆ ปัจจุบันทีมชาติฟุตบอลอเมริกันซามัว ไม่ได้ถูกจัดอันดับเป็นทีมสุดท้ายของโลกแล้ว ถือเป็นข้อคิดที่ว่า “เมื่อถึงคราวลำบาก หลายครั้งทุกอย่างไม่เป็นใจ รู้สึกท้อแท้ สิ้นหวัง ขอให้คิดว่า ปาฏิหาริย์สามารถเกิดขึ้นได้ ตราบใดที่เรามีศรัทธาในตัวเราและคนรอบข้าง”..."
สัปดาห์ที่แล้ว ผมได้เขียนถึงทีมฟุตบอลทีมชาติไทยที่เรียกศรัทธากลับคืนมาจากแฟนฟุตบอล และเรื่องราวของทีมชาติฟุตบอลคนตาบอด ที่สามารถทลายกำแพงอุปสรรคและพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่า เราสามารถพัฒนาได้ด้วยการฝึกฝน มุ่งมั่น ตั้งใจ และความพยายาม จนปัจจุบันทีมฟุตบอลคนตาบอดถูกจัดเป็นอันดับที่ 4 ของโลก
ในสัปดาห์นี้ ผมขอต่อด้วยเรื่องราวทีมฟุตบอลอีกทีมหนึ่ง เพราะได้รับรู้เรื่องราวจากการดูภาพยนตร์ผ่านช่อง Prime Video เรื่อง “หนึ่งประตูสู่ฝัน” (Next Goal Wins) นั่นก็คือ ทีมชาติอเมริกันซามัว (American Samoa) ที่ผุดขึ้นมาบนแผนที่โลกทันทีเมื่อแพ้คาบ้านต่อทีมชาติออสเตรเลีย ถึง 31 ประตู ต่อ 0 ในปี 2001 ถือเป็นผลการแข่งขันฟุตบอลในระดับทีมชาติที่ทีมแพ้เสียประตูมากที่สุดในประวัติการแข่งขัน ทำให้ทีมชาติอเมริกันซามัวหล่นไปเป็นทีมอันดับรั้งท้ายของโลก เพราะนอกจากจะไม่เคยชนะใครมาตั้งแต่ปี 1983 แล้วยังแพ้รวดทุกนัดมาตลอด 18 ปี โดยไม่สามารถยิงประตูคู่แข่งได้แม้แต่ประตูเดียว
อย่างไรก็ดี ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ใช่ภาพยนต์แนว “คนดูรักกีฬา” แต่ได้ให้ข้อคิดกับผู้ชม ในหลายมิติ โดยเฉพาะข้อคิดที่ว่า “ชัยชนะไม่ได้อยู่ที่เกมการแข่งขัน แต่ผลชนะที่แท้จริงคือ การรับรู้ความรู้สึกตนเองและผู้อื่น”
ก่อนอื่น เรามาทำความรู้จักกับประเทศอเมริกันซามัวกันก่อน อเมริกันซามัว เป็นหนึ่งในหมู่เกาะแถบแปซิฟิกตอนใต้ ประชากรมีเชื้อสายโพลินีเซียน (Polynesian) ขนาดประเทศไม่ถึง 200 ตารางกิโลเมตร มีประชากรเพียงประมาณ 50,000 คน และถูกครอบครองโดยสหรัฐ ตั้งแต่แยกออกจากประเทศซามัว อาชีพของประชากรส่วนใหญ่ทำการประมง จับปลาทูน่า [1]
สำหรับกีฬาฟุตบอลถือเป็นเกมที่พวกเขาเล่นกันเพื่อความสนุกสนาน ไม่ได้เคร่งเครียดกับผลการแข่งขันมากนัก แต่ผลการแข่งขันที่ผ่านมาทำให้ทีมคู่แข่งตีตราว่า “สมันน้อย” และถูกตราหน้าว่าเป็นทีมที่ห่วยที่สุดในโลกมานานกว่าทศวรรษ ทำให้พวกเขาต้องร้องขอสมาคมฟุตบอลสหรัฐช่วยจัดหาโค้ชมาคุมทีมชาติสำหรับการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกในปี 2014 และไม่แปลกใจเลยว่าไม่มีใครยอมรับงานนี้ จนสมาคมฟุตบอลสหรัฐต้องฟันธงบังคับให้ โทมัส รอนเยน (Thomas Rongen) กุนซืออเมริกันเชื้อสายดัตช์มาคุมทีม เพราะในช่วงก่อนหน้านี้รอนเยนทำหน้าที่ได้อย่างน่าผิดหวังในการเป็นโค้ชทีมเยาวชนสหรัฐ จึงเป็นข้อเสนอที่รอนเยนปฏิเสธไม่ได้ เพราะหากไม่รับหน้าที่นี้ก็เรียกว่าตกงานนั่นเอง
รอนเยนให้สัมภาษณ์ในภายหลังว่า เขาไม่เคยทราบมาก่อนว่าอเมริกันซามัวอยู่ตรงไหนของโลก “ฉันรับงานนี้ ไม่ใช่เพราะเป็นงานที่ท้าทาย และไม่เคยคิดจะกอบกู้พลิกทีมนี้ในตอนที่รับงานแม้แต่น้อย แต่ฉันถูกบังคับให้รับงานนี้เพราะเป็นงานเดียวที่เหลืออยู่” รอนเยนมีเวลาเพียง 3 สัปดาห์ ในการเตรียมทีม ซึ่งเมื่อได้พบกับผู้เล่นพร้อมเห็นฟอร์มการเล่นแล้ว รอนเยนแทบจะกราบขอบินกลับสหรัฐในวันนั้น ด้วยสีหน้ายอมแพ้กับภารกิจนี้ เพราะนักเตะกว่าครึ่งทีมมีน้ำหนักเกินเกณฑ์กว่า 15 กิโลกรัม และไม่มีทางที่จะวิ่งได้ครบ 90 นาที [2]
อย่างไรก็ดี เมื่อรอนเยนได้สัมผัสกับวิถีชีวิตของชาวอเมริกันซามัวที่ใช้ชีวิตอย่างสงบมีอิสระอย่างมีความสุข และวันหนึ่งเมื่อเขานั่งอยู่บนชายหาด ได้พบกับคนเก็บกระป๋องเก่าตามพื้นทราย พร้อมกับคำพูดที่ว่า “ฉันเก็บกระป๋องเก่า ๆ ที่คนทิ้งอย่างมักง่าย มันถูกคลื่นซัดขึ้นฝั่ง เป็นของที่เคยมีคุณค่า แต่มาวันนี้กลับถูกทิ้งอย่างไร้เยื่อใย คำตอบไม่ได้อยู่ที่ท้องทะเลที่ไกลสุดขอบฟ้าแต่อยู่ตรงหน้าเรา เพียงเปิดโอกาสให้ทุกคนเป็นครั้งที่สอง ใจต้องอยู่กับตัว หากชนะไม่ได้ต้องไม่ท้อแท้ เพราะเราไม่ได้แพ้คนเดียวแต่แพ้ไปด้วยกัน” เป็นคำพูดที่ทำให้รอนเยนฉุกคิดขึ้นได้ว่าเขาควรจะให้โอกาสกับตัวเองและนักฟุตบอลอีกครั้งหนึ่ง
รอนเยนได้กลับไปที่สนามฝึกซ้อม คราวนี้เขาเรียกนักเตะทุกคนมารวมตัวกัน พร้อมกล่าวว่า “ผมไม่ควรเรียกพวกคุณว่าคนขี้แพ้ เพราะมันไม่จริง ผมต่างหากที่เป็นคนขี้แพ้ สองปีก่อน ผมโกรธตัวเองและกลายเป็นคนอารมณ์ร้าย คิดทุกอย่างในเชิงลบ เพราะไม่ได้ขับรถให้ลูกสาวจนประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตด้วยวัยเพียง 19 ปี ผมนึกว่าตัวเองดีกว่าทุกคน แต่บอกตามตรง คุณไม่จำเป็นต้องมีผมเลย พวกคุณไร้ที่ติอยู่แล้ว ดังนั้น คำแนะนำของผมคือ อย่าฟังผม ออกไปเล่นตามที่ใจอยากเล่นออกไปสนุกกับเกมการแข่งขัน ชีวิตมันสั้น ฟุตบอลเป็นเพียงช่วงชีวิตหนึ่งที่จะผ่านพ้นไป ผมอยากให้ทุกคนมีความสุขในชีวิตมากกว่า” นอกจากนั้น รอนเยนยังกลับไปทาบทาม นิคกี้ ซาลาปู (Nicky Salapu) ผู้รักษาประตูที่ลงสนามแพ้ออสเตรเลีย 31-0 ให้กลับมาทำหน้าที่อีกครั้งหนึ่ง โดยเขาบอกกับซาลาปูว่า “นี่เป็นโอกาสที่ดีที่สุดที่จะกลับมาเล่นเพื่อหนีความอับอาย และทำให้สามารถบอกลูกได้เต็มปากว่า พ่อเป็นผู้ชนะ เอาชนะใจตัวเอง ถือเป็นเรื่องยิ่งใหญ่กว่าชัยชนะในเกม” รวมทั้งยอมให้ าห์ ซาเอลัว (Jaiyah Saelua) นักกีฬาแปลงเพศ เข้าร่วมเล่นในทีมได้ ทำให้เหล่านักเตะกลับมาให้การยอมรับนับถือรอนเยนมากขึ้น [3]
ผลการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกในปี 2014 ของทีมชาติฟุตบอลอเมริกันซามัวเป็นอย่างไร ผมคงไม่เฉลยจนกลายเป็นนักสปอยหนัง แต่ที่แน่ ๆ ปัจจุบันทีมชาติฟุตบอลอเมริกันซามัว ไม่ได้ถูกจัดอันดับเป็นทีมสุดท้ายของโลกแล้ว ถือเป็นข้อคิดที่ว่า “เมื่อถึงคราวลำบาก หลายครั้งทุกอย่างไม่เป็นใจ รู้สึกท้อแท้ สิ้นหวัง ขอให้คิดว่า ปาฏิหาริย์สามารถเกิดขึ้นได้ ตราบใดที่เรามีศรัทธาในตัวเราและคนรอบข้าง”
แหล่งที่มา:
[1] วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี (Wikipedia.org), อเมริกันซามัว - วิกิพีเดีย (wikipedia.org)
[2] 31-0 สู่การเกิดใหม่: ชัยชนะนัดแรกของทีมชาติที่แพ้ยับที่สุดในประวัติศาสตร์, Sanook,11 ก.พ. 62 (13:40 น.), https://www.sanook.com/sport/855173/
[3] Adam Bate, Comment and Analysis @ghostgoal, Thomas Rongen interview: Winning with American Samoa, the world’s worst team, and being played by Michael Fassbender,
Friday 5 January 2024 22:08, UK , https://www.skysports.com/football/news/11096/13041983/thomas-rongen-interview-winning-with-american-samoa-the-worlds-worst-team-and-being-played-by-michael-fassbender