"...แม้ว่านักฟุตบอลคนตาบอดจะไม่สามารถมองเห็นลูกฟุตบอลหรือคู่แข่งได้ แต่ด้วยความมุ่งมั่นต่อสู้กับชีวิต ไม่ต้องการเป็นภาระของใคร จึงตั้งใจฝึกฝนทักษะ พัฒนาตนเอง ทำให้นักฟุตบอลสายตาปกติยังต้องทึ่งกับความสามารถในการเก็บและเลี้ยงบอลหลบหลีกคู่ต่อสู้ และยิงประตูได้อย่างแม่นยำจึงทำให้อนาคตของพวกเขากลับไม่ได้มืดมิด แต่กลับมีแสงสว่างที่ตอบโจทย์และใช้ชีวิตไปข้างหน้าอย่างมีเป้าหมาย..."
เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ผมโชคดีได้เข้าร่วมเชียร์ทีมชาติไทยแข่งกับทีมชาติเกาหลีใต้ในฟุตบอลโลกรอบคัดเลือก มีแฟนฟุตบอลเข้าชมแน่นสนามราชมังคลากีฬาสถาน พร้อมส่งเสียงตะโกนเชียร์
ให้กำลังใจนักฟุตบอลตลอด 90 นาที ซึ่งปรากฏการณ์เช่นนี้ไม่ได้เห็นมานานแล้ว แม้ผลการแข่งขันไม่เป็นไปตามที่วาดฝันกันไว้ แต่ทีมชาติไทยสามารถกอบกู้ศรัทธาคืนมาจากแฟนบอล เพราะมีใจสู้แบบไม่เกรงกลัวศักดิ์ศรีของทีมคู่แข่งที่ถือว่า เป็นทีมชั้นนำระดับโลกอย่างทีมชาติเกาหลีใต้
อย่างไรก็ดี แฟนฟุตบอลส่วนใหญ่คงไม่ทราบว่า ในช่วงเวลาเดียวกันนี้มีการแข่งขันฟุตบอลคนตาบอด 2024 Invitation Blind Football Tournament ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ซึ่งปัจจุบันทีมชาติไทยถูกจัดอันดับเป็นที่ 4 ของโลก เคยเข้าร่วมแข่งขันทั้งฟุตบอลโลกคนตาบอดและพาราลิมปิก ล่าสุดคว้าอันดับ 3 ในการแข่งขันเอเชียนพาราเกมส์ ที่เมืองหางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อปลายเดือนตุลาคมปีที่แล้ว เรียกได้ว่าฟุตบอลคนตาบอดทีมชาติไทยได้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศมายาวนาน และยิ่งเมื่อได้รับรู้ความเป็นมาของทีมนักฟุตบอลคนตาบอดทีมชาติไทย ทำให้ได้เห็นเหรียญอีกด้านหนึ่งของชีวิต
ฟุตบอลคนตาบอดเกิดขึ้นในประเทศสเปนมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1920 เป็นการจัดตั้งกลุ่มขึ้นมาเล่นของผู้ที่มีความบกพร่องทางสายตา นำลูกกระดิ่งใส่ไว้ในลูกฟุตบอลเพื่อให้ผู้เล่นได้ยิน และทราบว่าลูกฟุตบอลอยู่ตรงไหน จากนั้นถูกดัดแปลงและนำมาเล่นในประเทศบราซิล มีการแข่งขันชิงแชมป์ของประเทศในปี ค.ศ. 1974 แต่กว่าที่จะมีการกำหนดกติกาเป็นมาตรฐาน ต้องเข้าไปอยู่ภายใต้การบริหารของสหพันธ์กีฬาคนตาบอดนานาชาติ (International Blind Sports Federation) ในปี ค.ศ. 1996 พร้อมกับการจัดแข่งขันฟุตบอลคนตาบอดโลกตั้งแต่ปี ค.ศ. 1998 ก่อนจะถูกบรรจุในกีฬาพาราลิมปิกครั้งแรกในปี ค.ศ. 2004 ที่ประเทศอังกฤษ โดยที่ทีมชาติบราซิลสามารถครองแชมป์มาทุกสมัย[1] และนักฟุตบอลคนตาบอดที่โด่งดังมากที่สุดคงหนีไม่พ้น Jeferson Goncalves หรือ เจฟินโญ่ (Jefinho) ทีมชาติบราซิลวัย 35 ปี ถูกเปรียบเทียบกับเปเล่ ยอดนักฟุตบอลของบราซิล ด้วยทักษะและความเร็ว ทั้งนี้ เจฟินโญ่มีความผิดปกติทางสายตาและตาบอดสนิทตั้งแต่อายุ 7 ขวบ จากโรคต้อหิน โดยที่เขาเริ่มหัดเล่นฟุตบอลในภายหลัง และถูกเรียกเข้าทีมชาติตั้งแต่อายุ 14 ปี[2]
ฟุตบอลคนตาบอดมีกติกาง่าย ๆ นักฟุตบอลฝั่งละ 5 คน รวมผู้รักษาประตู สนามขนาดเท่าสนามฟุตซอล ด้านข้างสนามมีแผ่นป้ายกั้น ไม่ให้ฟุตบอลออกนักกีฬาในสนาม 4 คนเป็นคนตาบอด แต่จะต้องสวมผ้าปิดตาเพื่อให้เกิดความเท่าเทียม โดยผู้รักษาประตูเป็นคนสายตาปกติ แต่จะออกเกินเขตที่กำหนดไม่ได้ ไม่มีการทุ่มบอล ไม่มีล้ำหน้า ใช้เวลาแข่งขันครึ่งละ 25 นาที ลูกบอลที่ใช้จะมีกระดิ่งติดไว้ และผู้เล่นที่จะเข้ามาแย่งลูกจากผู้เล่นที่ครองบอลอยู่ต้องตะโกนคำว่า วอย (Voy) เป็นภาษาสเปน ที่แปลว่า I Go เพื่อให้ทีมรุกรู้ตำแหน่งของฝั่งตรงข้ามและป้องกันการปะทะกันโดยมีโค้ชทั้งข้างสนามและหลังประตู คอยตะโกนสั่งการ เรียกว่านักฟุตบอลคนตาบอดเป็นคนหูทิพย์ขนานแท้ เพราะต้องฟังเสียงจากสารพัดทิศ ทั้งกระดิ่งจากลูกบอล ไปจนถึงฟังเสียงตะโกนจากทั้งคู่แข่ง และโค้ชของตนเองไปพร้อม ๆ กัน ทำให้ต้องมีกติกาสำหรับคนดูในสนามที่ต้องไม่ส่งเสียงระหว่างการแข่งขัน ยกเว้นช่วงที่ทำประตูได้หรือช่วงพักครึ่ง[3]
ย้อนกลับมาถึงทีมฟุตบอลคนตาบอดทีมชาติไทย เรื่องราวของนักฟุตบอลแต่ละคนไม่ธรรมดา ต้องฝ่าฟันอุปสรรคมากมายกว่าจะมีพื้นที่ยืน และมาถึงจุดนี้ ไม่ว่าจะเป็น ประครอง บัวใหญ่ กัปตันทีมชาติแว่นดำมากว่าทศวรรษ ในวัย 35 ปี เกิดมาพร้อมกับความบกพร่องทางสายตาเริ่มเล่นฟุตบอลตั้งแต่สมัยประถม หลังจากได้ยินเสียงเพื่อน ๆ เล่นฟุตบอลกันอย่างสนุกสนานจึงอยากลองเล่นดูบ้าง แม้มองไม่เห็นแต่ใช้หูฟังเพื่อคำนวณตำแหน่ง ทิศทาง และวิถีการเคลื่อนที่ของลูกบอล ซึ่งจะมีกระดิ่งใส่ไว้ในถุงพลาสติก ทุ่มเทฝึกฝนจนสานฝันพาไทยไปบอลโลกได้ถึงสองครั้ง3/ ในขณะที่ ปัญญาวุฒิ คุพันธ์ (เต๋า) ดารายิงประตูประจำทีม วัย 28 ปี ผู้มีปัญหาทางสายตาตั้งแต่อายุ 5 ขวบ จากจอประสาทตาเสื่อม และบอดสนิทตั้งแต่อายุ 16 ปี ต้องลาออกจากการเรียนชั้นมัธยมปลาย จนเกิดอาการท้อแท้ ไม่อยากมีชีวิตอยู่ เพราะไม่อยากเป็นภาระของครอบครัว แต่เมื่อได้รับโอกาสไปเรียนที่ศูนย์พัฒนาสมรรถภาพคนตาบอดปากเกร็ด ได้เรียนรู้การช่วยเหลือตัวเอง มีโอกาสได้ฝึกฝนเล่นฟุตบอล เล่นเก่งติดทีมชาติกลายเป็นศูนย์หน้าทีมชาติ จนปัจจุบันสามารถหารายได้ทั้งจากการเป็นพ่อค้าขายสลากกินแบ่งรัฐบาล และนักฟุตบอลเพื่อเลี้ยงดูครอบครัวช่วยปลดหนี้ให้แม่ และส่งน้องสาวเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา[4]
นักฟุตบอลอีกคนที่มีเรื่องราวที่ไม่แพ้กันคือ พรชัย กสิกรอุดมไพศาล (น้องไกด์) ผู้รักษาประตู เป็นคนมีสายตาปกติ มีโอกาสติดทีมฟุตบอลอาชีพแต่โชคร้ายต้องผ่าตัดเข่าถึง 2 ครั้ง จนไม่ได้รับการคัดเลือกเป็นตัวจริง ตัดสินใจหันหลังให้กับการเล่นฟุตบอลอาชีพ ก่อนมีผู้ชักชวนให้มาเป็นผู้รักษาประตูทีมฟุตบอลคนตาบอด ซึ่งแตกต่างจากเป็นผู้รักษาประตูทั่วไปโดยสิ้นเชิง ตั้งแต่พื้นที่หน้าประตูที่แคบ ๆ ไม่สามารถออกไปเกินพื้นนั้นได้ และการสื่อสารกับเพื่อน ๆ น้องไกด์ติดทีมชาติมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2021 จนประสบความสำเร็จ คว้าอันดับ 3 ในการแข่งขันเอเชียนพาราเกมส์ที่ผ่านมา น้องไกด์กล่าวว่า “ตั้งแต่เล่นบอลไม่เคยร้องไห้มาก่อนเลย เหมือนยกภูเขาออกจากอก…เป็นความภูมิใจที่สุดในชีวิต เป็นความทรงจำที่จะไม่มีวันลืม”[5]
แม้ว่านักฟุตบอลคนตาบอดจะไม่สามารถมองเห็นลูกฟุตบอลหรือคู่แข่งได้ แต่ด้วยความมุ่งมั่นต่อสู้กับชีวิต ไม่ต้องการเป็นภาระของใคร จึงตั้งใจฝึกฝนทักษะ พัฒนาตนเอง ทำให้นักฟุตบอลสายตาปกติยังต้องทึ่งกับความสามารถในการเก็บและเลี้ยงบอลหลบหลีกคู่ต่อสู้ และยิงประตูได้อย่างแม่นยำจึงทำให้อนาคตของพวกเขากลับไม่ได้มืดมิด แต่กลับมีแสงสว่างที่ตอบโจทย์และใช้ชีวิตไปข้างหน้าอย่างมีเป้าหมาย
ประครอง บัวใหญ่ กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า “แม้ผมจะไม่สามารถทำให้ทีมชาติผงาดขึ้นเป็นแชมป์โลก แต่การพาทีมฟุตบอลคนตาบอดทีมชาติไทยมาไกลถึงจุดนี้ได้ เป็นเรื่องที่ภูมิใจที่สุดแล้ว ผมอยู่กับฟุตบอลมาเกือบทั้งชีวิต ถ้าไม่มีฟุตบอลก็คงจะไม่มีวันนี้ ทลายกำแพงอุปสรรคและพิสูจน์ให้เห็นว่าใคร ๆ ก็สามารถพัฒนาได้ด้วยการฝึกฝน มุ่งมั่น ตั้งใจ และพยายาม หวังว่าคงจะได้สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนอย่างทรงพลัง อย่างน้อยเป็นการเปิดโอกาสให้ได้ดูแลช่วยเหลือตัวเองให้ได้มากที่สุด”[3]
แหล่งที่มา:
[1] Blind football, Wikipedia, https://en.wikipedia.org/wiki/Blind_football
[2] Jorge, Paralympic Pele: Brazil hails blind soccer star, September 15, 2016,
USA Today, https://www.usatoday.com/story/sports/olympics/2016/09/15/paralympic-pele-brazil-hails-blind-soccer-star/90397236/
[3] เพ็ญแข สร้อยทอง, พลังแห่งการไม่ยอมแพ้ ประครอง บัวใหญ่ นักฟุตบอลตาบอดทีมชาติไทย, 8 JAN 2024, Thai Power, https://www.thaipower.co/people-praklong-buayai-thai-national-blind-football/
[4] เต๋า หูทิพย์ ตีนระเบิด แข้งตาบอด ทีมชาติไทย | SUPER100 www.youtube.com/watch?v=FsTBzEmGZQw
[5] ธัมมสาร อ่อนเกิดแก้ว, พรชัย กสิกรอุดมไพศาล : ฟุตบอลคนตาบอดทำให้เกิดใหม่อีกครั้ง, StadiumTH.com, 10 พฤศจิกายน 2566, https://stadiumth.com/columns/detail?id=977&tab=thai