"...“การละหมาด เป็นการยืนยันในความศรัทธาและยำเกรงต่ององค์อัลเลาะห์ อย่างไม่มีเงื่อนไข จะเรียกว่าเป็นการยอมจำนนก็ได้ เพราะเป็นการเคารพและภักดีอย่างสุดจิตสุดใจ ของคนที่ถือตนเองว่าเป็นมุสลิม ทั้งเป็นการขอพรในแนวทางที่ถูกต้องและขออภัยในความผิดบาปของตนเองไปด้วย”..."
หน้าประวัติศาสตร์ของเรือนจำประเทศไทย ควรบันทึกไว้ว่า
เย็นวันที่ 1 เมษายน 2567 ณ เรือนจำพิเศษมีนบุรี ผู้นำสูงสุดของศาสนาอิสลามนายอรุณ บุญชม จุฬาราชมนตรี นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ผู้นำฝ่ายนิติบัญญัติ ประธานรัฐสภาไทย พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม นายดำรง พุฒตาล นายสามารถ มะลูลีม นายกูเฮง ยาวอหะซัน นายซุการ์โน มะทา นายประสิทธิ์ มะหะหมัด นายวรวีร์ มะกูดี พร้อมผู้นำชุมชนมุสลิมหลายคนได้เข้าร่วมงาน “Mahabbah Ramadan อ้อมกอดแห่งรอมฏอนสู่เรือนจำพิเศษมีนบุรี” โดยมีนายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ และนายนนทรัตน์ หอมศรี-ประเสิรฐ ผบ. รจพ. มีนบุรี เป็นเจ้าภาพให้การต้อนรับ
งานนี้มีความหมายกว้างไกลและลึกซึ้ง
การละหมาด การถือศีลอด การขอพรองค์อัลเลาะห์ การรับประทานอาหารร่วมกัน การแสดงลิเกฮูลู และการเล่นอังกะลุง ของผู้ต้องขังหญิง กิจกรรมทั้งหมดมีความหมายอย่างยิ่ง
รอมฎอน เป็นเดือนที่เก้าของปี ที่กำหนดให้ชาวมุสลิมปฏิบัติการถือศีลอด ในช่วง 29-30 วัน ตามศาสนบัญญัติ
โดยไม่เลือกผิวพรรณ ไม่แบ่งชั้นด้วยฐานะยากดีมีจน ไม่มีตำแหน่งแห่งหนใดๆเป็นเครื่องกีดขวาง ไม่มียศถาบรรดาศักดิ์ ทั้งจุฬาราชมนตรี ประธานรัฐสภา อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำชุมชนมุสลิมยืนแถวหน้าในระนาบเดียวกันกับผู้ต้องขังมุสลิม ทั้งหมด 417 คน เป็นการยืนแบบไหล่ชนไหล่ มีเพียงอิหม่ามหนึ่งเดียวที่ยืนหน้า เพื่อนำกล่าวคำละหมาด
ทุกคนเคลื่อนไหวร่างกายในท่ายืน ยกมือทั้งสองขึ้นวางซ้อนกันระหว่างอก โค้งคารวะ นั่งก้มกราบแบบศีรษะจรดพื้นเพื่อแสดงความคารวะต่อองค์อัลเลาะห์อย่างพร้อมเพรียงกัน โดยไม่มีข้อจำกัดใดๆ มากีดกั้น การทำหน้าที่ของทุกคนที่จะเข้าถึงองค์อัลเลาะห์ ในเวลาเดียวกัน ณ สถานที่เดียวกัน
อ.เสาวนีย์ จิตต์หมวด นักวิจัยและนักวิชาการสตรีมุสลิม อธิบายว่า
“การละหมาด เป็นการยืนยันในความศรัทธาและยำเกรงต่ององค์อัลเลาะห์ อย่างไม่มีเงื่อนไข จะเรียกว่าเป็นการยอมจำนนก็ได้ เพราะเป็นการเคารพและภักดีอย่างสุดจิตสุดใจ ของคนที่ถือตนเองว่าเป็นมุสลิม ทั้งเป็นการขอพรในแนวทางที่ถูกต้องและขออภัยในความผิดบาปของตนเองไปด้วย”
ในขณะที่ ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้ก่อตั้งและ ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า
“ละหมาด เป็นการทำงานของร่างกาย สมอง และจิตใจไปพร้อมกัน ร่างกายต้องเคลื่อนไหว 5 ท่วงท่า เพื่อไม่ให้ร่างกายเฉื่อยชา สมองทำหน้าที่ผ่านวาจาเป็นการท่องจำบทสวด เท่ากับเซลล์สมองได้ทำงาน ขณะที่จิตใจมีสมาธิแนบชิดอยู่กับองค์อัลเลาะห์”
บนเวทีวันนั้น อ.วันมูหะมัดนอร์ มะทา ชี้ให้เห็นว่า
“คนเรา ไม่ว่าอยู่ในฐานะอะไร สามารถทำความดีได้ตลอดเวลา องค์อัลเลาะห์สอนว่า คนเรานั้นเมื่อหมดลมหายใจ ต้องไปสู่กุโบร์ (ที่ฝังศพ) แม้ดินกลบหน้า หากทำความดีแล้วจะรู้สึกได้ว่า กุโบร์ มีสภาพกว้างขวาง สว่างไสว ร่างกายและจิตใจสบาย ตรงกันข้าม หากทำกรรมไม่ดีไว้กุโบร์นั้นจะบีบรัดตนเอง ทำให้อึดอัดขัดข้อง ไม่มีความสะดวกสบายใดๆ ทุกคนในโลกทำสิ่งดีและไม่ดีด้วยกันทั้งนั้น แม้เคยทำสิ่งที่ผิด แต่ก็สามารถหันกลับมาทำสิ่งที่ถูกได้ เป็นวิธีการที่องค์อัลเลาะห์ตอบแทนต่อผู้ที่กลับมาสู่การทำความดี”
จบจากการละหมาดและขอพรร่วมกันแล้ว ทุกคนจะเข้าสู่สิ่งที่เรียกว่าการถือศีลอด นั่นคือ การรับประทานอาหารร่วมกัน
เวลานั้นราว 18.30 น. ณ เรือนจำมีนบุรี ดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าแล้ว ศาสนบัญญัติอนุญาตให้มุสลิมรับประทานอาหารได้หลังจากอดอาหารและน้ำมานานถึง 12 ชั่วโมง ตั้งแต่อรุณรุ่งถึงยามสนธยา
อินทผลัมแห้งสามเม็ด คือของกินลำดับแรกของทุกคน ที่จะหยิบขึ้นมากิน เนื่องเพราะพืชชนิดนี้มีน้ำตาลที่ให้พลังงานสูง สามารถจะเยียวยาการอดหิวได้อย่างฉับพลัน แล้วตามด้วยอาหารทั่วไป
ทำไมมุสลิมต้องถือศีลอด เป็นเวลานานราวหนึ่งเดือน ในเดือนเก้าของทุกปี
คนมุสลิมปฏิบัติการถือศีลอดเป็นช่วงแห่งการรวมศูนย์จิตใจอย่างตั้งมั่น เป็นสมาธิ ระงับการดื่ม กิน การเสพสุขทางเพศ และการทำบาปอื่นๆ ทั้งปวง เป็นการแสดงความศรัทธา ความซื่อสัตย์ เป็นโอกาสแห่งการเข้าถึงและใกล้ชิดองค์อัลเลาะห์
เป็นการย้ำเตือนให้ชาวมุสลิมระลึกถึงคนอดอยาก หิวโหย คนไร้ที่พึ่ง คนไร้บ้าน คนไร้อาชีพ ที่ลำเค็ญในชีวิตความเป็นอยู่
การถือศีลอดเป็นเวลาหนึ่งเดือน ยังเป็นการปรับสมดุลให้แก่ร่างกาย เพราะก่อนหน้านั้น คนกินอาหารเกินความต้องการ เมื่ออดก็เท่ากับได้ถอนพิษ (DETOX) ตับ ไต ลำไส้ใหญ่ ช่วยลดน้ำหนัก และร่างกายถูกจัดระเบียบการกินใหม่ ไปสู่การกินที่ตรงเวลาอย่างเป็นระเบียบ
ดร. วินัย ดะห์ลัน อธิบายเพิ่มเติมว่า
“ต่อเนื่องจากการถือศีลอด คือซะกาด การอดหิวนั้น อ่านหนังสือก็ไม่สามารถเข้าใจได้ว่าเป็นอย่างไร ต้องอดหิวด้วยตนเอง เมื่อเราหิว เราจะเห็นใจคนอื่นที่หิวเป็นชีวิตประจำวัน หิวมากกว่าเรา จึงมีบัญญัติว่า คนที่มีรายได้พอสมควร ต้องสละรายได้ 2.5 เปอร์เซ็นต์ เพื่อทำซะกาด หมายถึงเงินจำนวนนั้นจะถูกรวบรวมไปช่วยคน 8 ประเภทที่ทนทุกข์มากกว่า เช่น เด็กกำพร้า คนไร้ที่พึ่ง คนไม่มีบ้าน คนมีหนี้สินล้นพ้นตัว คนที่ไม่มีแม้แต่ค่าเดินทาง
จะเห็นได้ว่า คนมุสลิมมีความสัมพันธ์กับองค์อัลเลาะห์ แต่เมื่อเราบริจาคเราได้สัมพันธ์กับสังคม มุสลิมจึงบัญญัติให้มนุษย์ทุกคนรับผิดชอบต่อตนเองและรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อทำให้สังคม ประเทศชาติ มีความสงบร่มเย็นไปด้วยกัน”
ก่อนงานเลี้ยงถือศีลอดจะเลิกรา ผู้เขียนได้คุยกับ ผู้ต้องขังมุสลิมคนหนึ่งที่ร่วมพิธีตั้งแต่ต้นจนจบ โดยถามว่า
“วันนี้ได้ประสบการณ์อะไรครับ”
คำตอบคือ
“ผมไม่เคยคิดว่าชีวิตนี้จะได้มีโอกาสถือศีลอดและทำละหมาด ยืน นั่ง กราบในแถวเดียวกัน ระลึกถึงองค์อัลเลาะห์ด้วยกันกับท่านจุฬาราชมนตรี และท่านประธานวันนอร์ ขณะที่ผมได้สัมผัสมือกับทั้งสองท่านหลังการละหมาด ผมรู้สึกว่า ผมมีตัวตน ได้รับการยอมรับจากผู้อื่น จากบุคคลสำคัญ แม้ผมจะเป็นผู้ต้องขังเคยทำความผิดมา แต่ผมยังสามารถทำความดีได้ผมหวังว่า เมื่อผมตายไป แม้ดินจะกลบร่าง กุโบร์ฝังร่างผมจะมีสภาพกว้างขวางสว่างไสว ตามที่ท่านประธานวันนอร์ ได้สอนเอาไว้”
ผู้เขียนติดตามข่าวและได้ทราบว่า นับแต่ เดือนกุมภาพันธ์ 2567 เป็นต้นมา เรือนจำพิเศษมีนบุรี ได้รับมอบหมายจากกรมราชทัณฑ์ ให้ทำโครงการนำร่อง “แยกผู้ต้องขังระหว่าง (ที่ยังรอการตัดสินจากศาล) ออกจากนักโทษที่ถูกตัดสินเด็ดขาด” เป็นการบริหารจัดการ เพื่อเคารพสิทธิของผู้ต้องขังที่คดียังไม่ถึงที่สุด ด้วยการปฏิบัติต่ออย่างผู้ไม่มีความผิด โดยเตรียมที่จะขยายผลออกไปยังเรือนจำและทัณฑสถานทั่วประเทศ
ขณะที่ทุกคนรับประทานอาหารร่วมกัน เรือนจำมีนบุรีได้จัดคณะลิเกฮูลูหญิง ในชุดสวยงาม ติดตามด้วยวงดนตรีอังกะลุงมาแสดงและบรรเลงบนเวทีแสดงฝีมือเหมือนนักดนตรีอาชีพ อย่างรื่นรมย์
งานเลี้ยงค่ำวันนั้น เลิกราไปแล้ว แต่การถือศีลอดของมุสลิมทั่วโลกยังดำเนินต่อไปอีกราว 4-5 วัน กว่าจะครบหนึ่งเดือน
ปรากฏการณ์ “สู่อ้อมกอดรอมฎอน” มีนัยยิ่งใหญ่และลึกซึ้งมากกว่าการเยี่ยมเยือนของบุคคลสำคัญแบบทั่วไป แต่หมายถึงการยอมรับ (RECOGNITION) ในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ซึ่งตราไว้แล้วในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยในมาตรา 4
ปรากฏการณ์ ดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงเรือนจำวิถีใหม่ ที่ไม่ใช่พื้นที่แห่งการละเมิดการลบหลู่ หรือการหยามหมิ่นใครผู้ใด แต่เป็นพื้นที่แห่งมนุษยธรรม ที่ทุกคนสามารถมีคารวะธรรม ต่อกันและกันได้ แม้ว่าจะมีใครเคยทำผิดอาญาบ้านเมืองมาก่อนก็ตาม
ความดีความงามนี้ต่างหาก ที่ทำให้มนุษยชาติสามารถสืบต่อ และดำรงคงอยู่