"...แม้อนาคตโรงรับจำนำแห่งนี้ยังรอคำตอบ ด้วยไม่มีลูกหลานที่จะสืบสานต่อ แต่พี่ตุ๊กกล่าวว่าโรงรับจำนำคงจะอยู่คู่คนไทยไปอีกนาน ถือเป็นธนาคารของ “คนยาก” ทั้งนี้ นายเลียบหยู่ เจ้าของรุ่นที่ 2 ได้ปลูกฝังจิตใต้สำนึกกับพนักงานและหลงจู๊ไว้ว่า “กิมยิกอู่จี๊ เตียะเสี่ยบ่อจี๊ กิมยิกอู่จี๊ เตียะจอฮ่อสื่อ” (วันที่มีเงิน ให้นึกถึงวันที่ไม่มีเงิน วันนี้มีเงิน ให้ทำความดี) และ “ความทุกข์สร้างคน ความจนสอนให้เราไม่ประมาท ความลำบากทำให้เราเข้มแข็ง, สอนคน เมตตาการุณ บุญถึงจะงาม, น้ำบ่อทำให้บัวสดใส น้ำใจทำให้กายสดชื่น, วิญญาณสงบพบได้ที่ใจ”..."
“โรงรับจำนำ” ถือเป็นสถาบันการเงินอยู่กับวิถีชีวิตคนไทยมายาวนาน ก่อนที่ชาวตะวันตกจะเข้ามาตั้งธนาคารพาณิชย์ การรับจำนำนั้นเชื่อว่า เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ซึ่งพระองค์ทรงมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชกำหนดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2284 ว่า “…ถ้าแลเป็นรูปพรรณเก่าใหม่ ผู้ซื้อผู้รับจำนำ เป็นคนรู้จักคุ้นเคยกันมาแต่ก่อน เห็นสมควรจะเป็นของผู้นั้น ๆ ก็ให้ซื้อให้จำนำกันเถิด” อย่างไรก็ดี การตั้งโรงรับจำนำเป็นโรงหรือสถานที่เป็นการเฉพาะ เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อจีนฮง ชาวจีนโพ้นทะเล ได้มาตั้งโรงรับจำนำเป็นแห่งแรกบริเวณประตูผี หรือสี่แยกสำราญราษฎร์ในปัจจุบัน มีชื่อว่าโรงรับจำนำ “ย่องเซี้ยง” ในปี พ.ศ 2409 [1]
ด้วยจีนฮงเป็นคนหัวการค้า จึงรับจำนำของในราคาสูง กำหนดดอกเบี้ยต่ำกว่าดอกเบี้ยเงินกู้ทั่วไปถึงครึ่งหนึ่ง และไม่เกี่ยงงอนที่จะรับจำนำของทุกชนิด ไม่ว่าจะมีสภาพเป็นเช่นไร พร้อมจัดทำบัญชีเล่มหนึ่งขึ้นมาชื่อว่า “ตึ๊งโผ่ว” สำหรับจดวันที่รับจำนำและรายละเอียดสิ่งของที่จำนำ โดยมีตั๋วประทับตรายี่ห้อให้ไว้กับผู้จำนำด้วย เพื่อป้องกันการหลงลืมและการทุจริต โรงรับจำนำจึงเป็นที่นิยม ผุดขึ้นมากมายราวกับดอกเห็ด และทำให้ชาวบ้านคุ้นชินกับคำว่า “ตึ๊ง” ภาษาจีนแต้จิ๋วที่แปลว่า “จำนำ” มาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ปรากฏว่า มีโรงรับจำนำในกรุงเทพฯ กว่า 200 แห่ง
รัชกาลที่ 5 ทรงเห็นว่า กิจการโรงรับจำนำมีทั้งคุณและโทษ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติโรงรับจำนำ ร.ศ. 114 ตรงกับ พ.ศ. 2438 กระทั่งในปีต่อมา นายเล็ก โทณะวณิก ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตตั้งโรงรับจำนำชื่อว่า “ฮั่วเส็ง” ขึ้นที่ตำบลบ้านหม้อ ถนนพาหุรัด ถือเป็นโรงรับจำนำที่ถูกกฎหมายแห่งแรก แต่ต้องเลิกกิจการไปเมื่อถูกลูกระเบิดในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งนี้ พ.ร.บ. โรงรับจำนำถูกปรับปรุงเรื่อยมาจากที่รัฐบาลได้จัดตั้งโรงรับจำนำของรัฐ และอนุญาตให้มีการตั้งโรงรับจำนำในเขตเทศบาลได้
อย่างไรก็ดี หากกลับมาสำรวจโรงรับจำนำย่านเทเวศร์พบว่า มีอยู่ 3 แห่ง แต่โรงรับจำนำเอกชนที่ถือว่าเป็นตำนานเก่าแก่ที่สุด เปิดมายาวนานกว่า 100 ปี ตั้งอยู่ไม่ไกลจากแบงก์ชาติคือ โรงรับจำนำอาร์เซียง ตั้งอยู่หัวมุมสี่แยกเทเวศร์ ถนนสามเสนตัดกับถนนกรุงเกษม ริมคลองผดุงกรุงเกษม ที่พวกเราต้องเดินผ่านไปด้านหน้าวัดนรนาถ หรือไปท่าเรือเทเวศร์
ผมต้องอาศัยความใจกล้าและมุ่งมั่น เพื่อเดินเข้าไปภายในโรงรับจำนำดังกล่าว ผิดคาดเมื่อย่างก้าวเข้าไป เพราะนึกว่าทางเข้าจะมีมู่ลี่หรือม่านบังเพื่อความเป็นส่วนตัวของลูกค้า แต่กลับกลายเป็นว่า
โรงรับจำนำแห่งนี้สามารถเดินเข้าไปได้ง่ายดาย ภายในโล่ง โปร่งใส ไม่ได้ปิดมิดชิดอย่างที่คิด มีเคาน์เตอร์และลูกกรงขวางกั้นระหว่างพนักงานด้านในและลูกค้า ภายในยังคงสภาพเดิม ด้วยเคาน์เตอร์และโต๊ะทำงานที่ทำด้วยไม้สัก เครื่องชั่งน้ำหนักแบบตุ้มถ่วง ไปจนถึงห้องเซฟที่นำเข้าจากประเทศเยอรมันดูแน่นหนาอยู่ด้านหลัง
หลังเคาน์เตอร์มีพนักงานอยู่ 3 ท่านคือ คุณสุชัย มยุรนาคิน (พี่เม้ง) เป็นโผ่วมึ้ง ดูแลหน้าร้านคอยรับของจำนำจากลูกค้าและตีราคาของ คุณสมพงษ์ วิริยวงศา (พี่บุ้ง) เป็นพะจั๊บ ดูแลความเรียบร้อยของร้าน และคุณภาวิณี สุวรรณภานนท์ เวฬุวนารักษ์ (พี่ตุ๊ก) เป็นหลงจู๊ หรือผู้จัดการ นั่งอยู่ที่โต๊ะทำงานด้านหลัง ซึ่งเมื่อทราบถึงวัตถุประสงค์ที่ผมเข้ามาภายในแล้ว ทำให้พี่ทั้งสามท่านต่างประหลาดใจ ลังเลอยู่พักใหญ่ แต่พออธิบายถึงเรื่องที่จะสัมภาษณ์ได้สักพักหนึ่ง พี่ตุ๊กจึงเป็นผู้เอ่ยปากเชื้อเชิญให้เข้าไปนั่งภายในโรงรับจำนำ พร้อมเริ่มบทสนทนาที่ทำให้ผมรับทราบประวัติของโรงรับจำนำแห่งนี้ พร้อมกับบรรยากาศภายในของแต่ละวัน
พี่ตุ๊กเล่าว่า โรงรับจำนำอาร์เซียงเป็นโรงรับจำนำแห่งแรก ๆ ที่เปิดมากว่า 100 ปีแล้ว ในยุคสมัยนั้น ยังไม่มีสะพานข้ามไปยังฝั่งตลาดเทวราชหรือตลาดเทเวศร์ มีรถลากคนเพื่อใช้ในการสัญจรไปมา เรียกได้ว่าอยู่เป็นที่พึ่งพิงของคนละแวกนี้มายาวนาน ผู้ก่อตั้งเป็นชาวจีนโพ้นทะเล ประกอบธุรกิจหลายอย่าง ตกทอดถึงนายเลียบหยู่ แซ่อึ้ง มาจนรุ่นลูกคือ นายสินธุ์ อิงคตานุวัฒน์ และนายจุน อิงคตานุวัฒน์ ซึ่งปัจจุบันนายอิทธิ อิงคตานุวัฒน์ น้องชายของนายสินธุ์และนายจุนเป็นเจ้าของ และได้ว่าจ้างพี่ทั้งสามที่คร่ำหวอดคอยดูแลกิจการ
พี่ตุ๊กเสริมต่อว่า วิธีการรับจำนำยังคงยึดรูปแบบเดิม ไม่ได้มีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้เริ่มกระบวนการด้วยการตีราคาของจากโผ่วมึ้ง เกิดจากประสบการณ์ล้วน ๆ นับตั้งแต่การพินิจพิเคราะห์เนื้อทองแท้ น้ำเพชรดี ไปจนถึงกระทะทองเหลือง ในขณะที่การชั่งน้ำหนักยังทำด้วยตุ้มถ่วงเหล็ก และพิมพ์ลายนิ้วมือผู้จำนำเพื่อใช้พิสูจน์ตัวตน พร้อมกับยื่นตั๋วประทับตรายี่ห้อให้ไว้แก่ผู้จำนำ ในขณะที่บันทึก “ตึ๊งโผ่ว” เป็นภาษาจีน เรียกว่าใช้ AI จากการถ่ายทอดประสบการณ์จากรุ่นสู่รุ่นโดยแท้
“ลูกค้ามีหลากหลาย ทุกอาชีพ ทุกวัย และไม่ใช่เฉพาะคนแถวนี้ คนต่างจังหวัดยังเดินทางมาจำนำและต่อดอกเบี้ยทุกเดือน” พี่เม้งพูดเสริม แต่จะจดจำลูกค้าได้ทุกคน รู้ว่าแต่ละคนมีเรื่องเดือดร้อนอะไรถึงต้องจำใจเดินเข้ามาจำนำของ ทั้ง ๆ ที่เป็นของรักของหวง และของที่ต้องใช้ประกอบอาชีพ ของที่นำมาจำนำส่วนใหญ่จะเป็นทองคำที่ปัจจุบันราคาสูง แต่มีของที่ไม่คาดคิดเข้ามาจำนำบ้าง เช่น เครื่องประดับของต้นตระกูล หม้อนึ่ง ไปจนถึงกระทะทองเหลือง “ลูกค้าบางคนจะนั่งคุยด้วยก่อนเพื่อจะได้แนะนำว่า ควรจะรับเงินเต็มตามราคาประเมินหรือไม่ เพราะไม่อยากให้ของที่ลูกค้าจำนำไว้หลุดไป ในขณะที่ลูกค้าบางคนใช้โรงรับจำนำเป็นตู้เซฟรักษาของ เช่น จำนำทอง 3 บาท แต่รับเงินไปแค่หมื่นสอง” พี่ตุ๊กกล่าวเสริมเพื่อให้รับรู้ถึงบรรยากาศภายในโรงตึ้งในแต่ละวัน
แม้อนาคตโรงรับจำนำแห่งนี้ยังรอคำตอบ ด้วยไม่มีลูกหลานที่จะสืบสานต่อ แต่พี่ตุ๊กกล่าวว่าโรงรับจำนำคงจะอยู่คู่คนไทยไปอีกนาน ถือเป็นธนาคารของ “คนยาก” ทั้งนี้ นายเลียบหยู่ เจ้าของรุ่นที่ 2 ได้ปลูกฝังจิตใต้สำนึกกับพนักงานและหลงจู๊ไว้ว่า “กิมยิกอู่จี๊ เตียะเสี่ยบ่อจี๊ กิมยิกอู่จี๊ เตียะจอฮ่อสื่อ” (วันที่มีเงิน ให้นึกถึงวันที่ไม่มีเงิน วันนี้มีเงิน ให้ทำความดี) และ “ความทุกข์สร้างคน ความจนสอนให้เราไม่ประมาท ความลำบากทำให้เราเข้มแข็ง, สอนคน เมตตาการุณ บุญถึงจะงาม, น้ำบ่อทำให้บัวสดใส น้ำใจทำให้กายสดชื่น, วิญญาณสงบพบได้ที่ใจ”
แหล่งที่มา:
[1] กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม, กำเนิด “โรงรับจำนำ” ยุคแรกสมัยรัชกาลที่ 4 เผยเทคนิค “จีนฮง” ทำกิจการรุ่งเรืองได้อย่างไร?, นิตยสารศิลปวัฒนธรรม, วันพุธที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2566, https://www.silpa-mag.com/history/article_69428#google_vignette
หมายเหตุ: ขอขอบคุณ คุณอภิสรา เปาอินทร์ เลขานุการอาวุโส (ควบ) ประจำผู้ว่าการ ผู้มีส่วนร่วมในการสัมภาษณ์และเขียนบทความนี้