"...สังคมปัจจุบันต่างจากสังคมโบราณโดยสิ้นเชิง ที่เชื่อมโยงยาวไกลหลายมิติอย่างซับซ้อน เป็นระบบซับซ้อน (Complexity system) ที่มีคุณสมบัติใหม่ต่างจากเก่า เข้าใจยาก พยากรณ์ไม่ได้ ควบคุมไม่ได้ โกลาหลง่าย พลิกผันโดยรวดเร็ว เครื่องมือเก่า ๆ ใช้ไม่ได้ผล คนรุ่นใหม่จึงไม่พอใจสถาบันเก่า ๆ ของสังคม และต้องการการเปลี่ยนแปลง กลายเป็นความขัดแย้งในลักษณะต่าง ๆ โดยเฉพาะการประท้วง แต่วิกฤตความซับซ้อนนั้นยากเกินกว่าแค่การประท้วง หรือการเลือกตั้งพรรคของคนรุ่นใหม่จะได้ผล เพราะทุกฝ่ายต่างทำไปด้วยจิตสำนึกเก่าเดียวกัน จิตสำนึกเก่าเป็นต้นเหตุแห่งวิกฤตโลกในปัจจุบัน การใช้เหตุของปัญหามาแก้ปัญหาไม่มีทางสำเร็จ..."
1.เก่า - ใหม่ ส่วนเสี้ยวของวิกฤตอารยธรรมโลก
สังคมปัจจุบันต่างจากสังคมโบราณโดยสิ้นเชิง ที่เชื่อมโยงยาวไกลหลายมิติอย่างซับซ้อน เป็นระบบซับซ้อน (Complexity system) ที่มีคุณสมบัติใหม่ต่างจากเก่า เข้าใจยาก พยากรณ์ไม่ได้ ควบคุมไม่ได้ โกลาหลง่าย พลิกผันโดยรวดเร็ว เครื่องมือเก่า ๆ ใช้ไม่ได้ผล
คนรุ่นใหม่จึงไม่พอใจสถาบันเก่า ๆ ของสังคม และต้องการการเปลี่ยนแปลง กลายเป็นความขัดแย้งในลักษณะต่าง ๆ โดยเฉพาะการประท้วง แต่วิกฤตความซับซ้อนนั้นยากเกินกว่าแค่การประท้วง หรือการเลือกตั้งพรรคของคนรุ่นใหม่จะได้ผล เพราะทุกฝ่ายต่างทำไปด้วยจิตสำนึกเก่าเดียวกัน จิตสำนึกเก่าเป็นต้นเหตุแห่งวิกฤตโลกในปัจจุบัน การใช้เหตุของปัญหามาแก้ปัญหาไม่มีทางสำเร็จ
การรักษาตามอาการประดุจใช้ยาพาราเซตตามอลมารักษาโรคร้ายจึงไม่มีทางสำเร็จ แม้จะเหนื่อยยากด้วยกันทุกฝ่ายสักเพียงใด จึงจำเป็นต้องเข้าใจสมุฏฐานของวิกฤตอารยธรรมโลกในปัจจุบัน และแก้ที่ต้นเหตุ ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนยุคของมนุษยชาติ
2.โลกวิกฤตสุด ๆ ถึงเวลาเปลี่ยนยุคของมนุษยชาติ
อารยธรรมปัจจุบันได้นำโลกมาสู่ การเสียสมดุลหมดทุกมิติ ตั้งแต่ธรรมชาติแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ การเมือง ตลอดจนการเสียสมดุลในตัวมนุษย์เอง
การเสียสมดุล คือ การป่วย ความสมดุลทำให้สงบสุข หรือสุขภาพดีและยั่งยืน การเสียสมดุลทุกชนิดทำให้ปั่นป่วน วุ่นวาย รุนแรง วิกฤต และไม่ยั่งยืน ดังที่ปรากฏอยู่ทั่วไปในโลก ความไม่ยั่งยืนและการใช้สันติภาพ หรือความรุนแรงในรูปต่าง ๆ รวมทั้งความรุนแรงแบบโจ่งแจ้ง และความรุนแรงแบบเงียบ (Silent violence) เช่น ความยากจน และความไม่เป็นธนรรมทางสังคม นักปราชญ์หลายท่านเห็นว่า วิกฤตอารยธรรมโลกขณะนี้ไม่มีทางแก้ไขด้วยจิตสำนึกเก่าและวิธีคิดเก่า เช่น
Laslo, Grof และ Russell มีทางเดียวคือ ปฏิวัติจิตสำนึก (Consciousness Revolution)
อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ กล่าวว่า “เราต้องการวิถีคิดใหม่โดยสิ้นเชิง ถ้ามนุษย์จะอยู่รอดได้” (We shall need a radically new manner of thinking, if mankind)
“โลกทัศน์ วิธีคิด จิตสำนึก” เป็นตัวกำหนดอารยธรรมหนึ่ง ๆ โลกทัศน์ หรือ การรับรู้โลกว่าเป็นอย่างไร กำหนดวิธีคิดและจิตสำนึก
วิธีคิดและจิตสำนึกอะไร ที่นำมาสู่วิกฤตการณ์ของโลกในปัจจุบัน
3.การเห็นแบบแยกส่วน พัฒนาแบบแยกส่วน นำโลกมาสู่การเสียสมดุล
การรู้เห็นแบบแยกส่วนก็เหมือน “ตาบอดคลำช้าง” เพราะตาบอดจึงไม่เห็นทั้งหมด คลำรู้ช้างเป็นส่วน ๆ ซึ่งไม่ตรงกันเลยทะเลาะกันใหญ่ ถ้าตาไม่บอดเห็นทั้งหมด หรือเห็นช้างทั้งตัว ก็ไม่มีอะไรจะทะเลาะกัน เพราะส่วนต่างเป็นของช้างตัวเดียวกัน
การเห็นแบบแยกส่วนทำให้คิดแบบแยกส่วน แบ่งข้างแบ่งขั้ว เป็นปฏิปักษ์ขัดแย้งกัน และความรุนแรง การขัดแย้งระหว่างฝ่ายซ้ายกับฝ่ายขวาอย่างน่าอเน็จอนาถ ก็เกิดจากการเห็นแบบแยกส่วนแบบตาบอดคลำช้าง ถ้าเห็นทั้งหมดเป็นองค์รวมหนึ่งเดียวกัน เช่น คนที่สมบูรณ์ต้องมีทั้งแขนซ้ายและแขนขวา เครื่องบินจะบินได้ก็ต้องมีทั้งปีกซ้ายและปีกขวา
เพราะฉะนั้น การเห็นทั้งหมดเป็นองค์รวมหนึ่งเดียวกัน (Oneness) จึงสำคัญมากต่อการออกจากยุควิกฤตในปัจจุบัน การคิดและทำแบบแยกส่วนนำไปสู่การเสียสมดุลอย่างรุนแรง ตัวอย่างเช่น ร่างกายมนุษย์ของตัวท่านเอง ของคนทุกคน เป็นระบบที่วิจิตรที่สุดในจักรวาลที่ธรรมชาติสร้างขึ้นมา
ร่างกายมนุษย์ประกอบด้วยเซลล์เป็นล้าน ๆ เซลล์ และมีความหลากหลายสุดประมาณ ตั้งแต่เซลล์หัวแม่เท้าไปจนถึงเซลล์สมอง แต่ท่ามกลางความหลากหลายสุดประมาณนี้มีบูรณภาพอย่างสมบูรณ์เป็นองค์รวมเดียวกัน คือ ความเป็นคน ความเป็นองค์รวมมีคุณสมบัติใหม่อันมหัศจรรย์ ความเป็นคนมีคุณสมบัติใหม่ที่ไม่ใช่คุณสมบัติของส่วนย่อย คือ เซลล์ หรือเครื่องบินที่เป็นองค์รวมบินได้ แต่ไม่มีชิ้นส่วนใดที่บินได้เลย
ถ้าเราต้องการประเทศไทยยุคใหม่ที่บินได้ จึงต้องพัฒนาอย่างบูรณาการสู่องค์รวมประเทศไทย ไม่ใช่พัฒนาแบบแยกส่วนดังที่ผ่านมา
4.จิตสำนึกเก่าสัญชาตญาณการใช้สมองสัตว์เลื้อยคลาน
โลกมีอายุ 4.5 ล้านปี เริ่มมีสิ่งมีชีวิตเมื่อ 3.5 ล้านปี ชีวิตหลายเซลล์หรือขนาดใหญ่ เช่น พืช สัตว์ เริ่มเมื่อ 700 ล้านปี สัตว์เลื้อยคลาน เช่น ไดโนเสาร์ครองโลกอยู่หลายร้อยล้านปี
มนุษย์อย่างปัจจุบัน เพิ่งมีเมื่อ 200,000 ปี
เป็นยุคดึกดำบรรพ์เสีย 190,000 ปี ที่เป็นคนป่าล่าสัตว์
สมองมนุษย์ถูกโปรแกรมมาตั้งแต่ช่วงยุคดึกดำบรรพ์อันยาวนาน นั่นคือสัญชาตญาณการเอาตัวรอดท่ามกลางภัยรอบตัว นั่นคือ ต่อสู้ แย่งชิง หลบภัย หลอกลวง โดยใช้สมองส่วนหลัง ที่เรียกว่าสมองสัตว์เลื้อยคลาน หรือสมองตะกวด
มนุษย์ปัจจุบันถึงแม้จะเจริญด้วยความรู้และเทคโนโลยีต่าง ๆ แต่จิตสำนึกเดิมยังอยู่ ซึ่งเป็นจิตเล็กเห็นแบบแยกส่วน แต่สังคมมีประชากรมากขึ้นและเข้ามาอยู่ใกล้ชิดกัน ไม่ใช่สังคมชนิดเป็นคนป่าล่าสัตว์ อยู่แยกเป็นกลุ่มเล็ก จิตสำนึกเก่าแต่สังคมใหม่
สมองมนุษย์ประกอบด้วย 3 ส่วน
ส่วนหลังอยู่ตรงท้ายทอย = สมองสัตว์เลื้อยคลาน
ส่วนกลาง = สมองสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
ส่วนหน้า = สมองมนุษย์
จึงไม่เข้ากัน นำไปสู่การกระทบกระทั่ง ขัดแย้ง และรุนแรง เป็นวิกฤตอารยธรรมโลกในปัจจุบัน จนนักปราชญ์ข้างต้นกล่าวว่า ต้องปฏิวัติจิตสำนึก และไอน์สไตน์กล่าวว่า ต้องการวิถีคิดใหม่โดยสิ้นเชิง ถ้ามนุษย์ชาติจะอยู่รอดได้
ฉะนั้น “คนไทยที่จิกตีกันเหมือนไก่อยู่ในเข่ง” ถึงจะจิกตีกันเท่าใด ๆ ก็จะออกจากเข่งไม่ได้ ถูกเชือดตายหมดทุกตัว น่าจะหันมาสนใจเรื่อง “จิตสำนึกใหม่” จิตสำนึกใหม่จะพาคนไทยทั้งหมดออกจากเข่ง
5.จิตสำนึกใหม่กับสมองมนุษย์ส่วนหน้า
มนุษย์มีสมองส่วนหน้าที่พอกใหญ่ และส่วนหน้าสุดที่อยู่หลังหน้าผาก มีหน้าที่เกี่ยวกับสติปัญญา วิจารณญาณ ศีลธรรม และการบรรลุธรรม
เป็นสมองมนุษย์ที่มีจิตใจสูง รอให้มนุษย์ใช้มา 200,000 ปีแล้ว บัดนี้ถึงเวลาที่สมองส่วนหลังหรือสมองตะกวดไม่สามารถพามนุษย์ให้อยู่รอดในสังคมแบบใหม่ที่ไม่ใช่ยุคดึกดำบรรพ์ ต้องเปลี่ยนโปรแกรมสมองมาใช้สมองส่วนหน้าหลังหน้าผาก
จิตสำนึกใหม่อยู่ตรงสมองส่วนหน้าสุดนี้แหละ
จิตสำนึกใหม่เป็นจิตใหญ่ ที่เห็นทั้งหมดและคำนึงถึงการอยู่ร่วมกัน
มีตัวอย่างที่กระตุกให้เข้าใจ มนุษย์อวกาศชื่อ Edgar Mitchell ยืนอยู่บนดวงจันทร์มองมาเห็นโลกทั้งใบ ลอยฟ่องอยู่ในอวกาศ เขากล่าวว่า “I came back to Earth, a totally changed man” เขากลายเป็นคนใหม่โดยสิ้นเชิง ใหม่อย่างไรคือ กลายเป็นคนที่มีความสุขอย่างลึกซึ้งในเนื้อในตัว เห็นอะไรก็งามไปหมด เกิดไมตรีจิตอันไพศาลต่อเพื่อนมนุษย์และสรรพสิ่ง
นี่คืออาการของจิตสำนึกใหม่ ที่เปลี่ยนจากจิตเล็กเป็นจิตใหญ่ ตามปรกติปุถุชนติดอยู่ในอัตตาหรือตัวตน ซึ่งคับแคบ แยกส่วน บีบคั้น ไม่เห็นทั้งหมด เมื่ออยู่บนโลกก็เห็นอะไรแบบแยกส่วน รู้แบบแยกส่วน เหมือนตาบอดคลำช้าง
เมื่ออยู่บนดวงจันทร์มองเห็นโลกทั้งใบเป็นองค์รวมหนึ่งเดียวกัน จิตก็หลุดจากความคับแคบเหมือนติดคุกอยู่ในอัตตา เป็นอิสระเพราะสัมผัสความจริงตามธรรมชาติ ทำให้เกิดความสุขอันลึกล้ำ ความงาม และไมตรีจิตดังกล่าว นั่นเพราะในสิ่งสูงสุด ความจริง ความดี ความงาม อยู่ที่เดียวกัน
การรู้ ความจริง ทำให้เกิดความสุข
ความดี คือไมตรีจิตอันไพศาล
ความงาม ซึ่งมีอยู่ในทุกสิ่งถูกรับรู้ด้วยจิตที่ สงบ
จิตสำนึกใหม่ ไม่ใช่ความลำบากตรงข้ามกัน ความเป็นอิสระ ความสุข ความรัก ความงาม เป็นไปเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล
ยุคเก่า คือ การเสียสมดุล เพราะจิตสำนึกอันคับแคบ
ยุคใหม่ คือ การอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล เพราะจิตสำนึกใหม่
คนไทยควรเขยื้อนยุค อย่ามัวติดอยู่ใน “เข่ง” แห่งการจิกตีกันเหมือนไก่ ซึ่งจะตายทุกตัว
6.“ส4ามเหลี่ยมเขยื้อนยุค”
ขอเสนอจุดบรรจบขององค์ประกอบ 3 ประการ เป็น “สามเหลี่ยมเขยื้อนยุค” ดังต่อไปนี้ และตามรูป คือ
1. จิตสำนึกใหม่
2. การพัฒนาอย่างบูรณาการ
3. กระบวนการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม หรือ P4 (Participatory Public Policy Process)
รูป “สามเหลี่ยมเขยื้อนยุค”
จิตสำนึกใหม่ เป็นไปเพื่อความสุข และการอยู่ร่วมกัน
การพัฒนาอย่างบูรณาการ ด้วยการเอาพื้นที่เป็นตัวตั้งแทนที่การพัฒนาแบบแยกส่วน ทำให้เกิดความสมดุลและยั่งยืน
P4 = กระบวนการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม เป็นกระบวนการที่ทุกภาคส่วนของสังคม มีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบนโยบายครบวงจร 12 ขั้นตอน นำไปสู่ความสำเร็จทุกเรื่องเป็นสัมฤทธิศาสตร์ทำให้ประเทศพ้นวิกฤตสู่ความเจริญที่แท้จริงด้วยกระบวนการประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมและกระบวนการทางปัญญา
ถ้าคนรุ่นใหม่ยังใช้จิตสำนึกเก่าและวิธีการเก่า ๆ จะไม่สามารถบริหารบ้านเมืองไปสู่ความสำเร็จเพราะยุคเก่ากำลังถึงทางตัน ต้องเขยื้อนยุคด้วยจิตสำนึกใหม่
รุ่นเก่ารุ่นใหม่จึงไม่ควรนิยามโดยอายุ ไม่ว่าอายุเท่าใด ๆ ถ้ามีจิตสำนึกใหม่ก็เป็นคนใหม่ที่จะช่วยกันเปลี่ยนแปลงประเทศไทยไปสู่อนาคตที่ดีของเราร่วมกัน
7.จิตวิวัฒน์บูรณาการ กลุ่มสร้างเสริมจิตวิวัฒน์ สถาบันส่งเสริมจิตวิวัฒน์
จิตเล็กนั้นแยกส่วน
จิตสำนึกใหม่หรือจิตใหญ่นั้นบูรณาการสู่องค์รวม
อาจเรียกจิตสำนึกใหม่ว่า จิตวิวัฒน์ หรือจิตเจริญ ต่อด้วยคำบูรณาการด้วยก็ดี เป็นการเตือนความจำว่ายุคใหม่เป็นยุคบูรณาการ
บุคคลในทุกภาคส่วนของสังคมควรรวมตัวกันเป็น “กลุ่มสร้างเสริมจิตวิวัฒน์” เพื่อศึกษาและปฏิบัติการสร้างจิตสำนึกใหม่ ซึ่งมีนานาวิธีทั้งเก่าและใหม่ ทั้งที่เกี่ยวกับศาสนาและไม่เกี่ยว ทุกกลุ่มควรรวบรวมความรู้และประสบการณ์จิตสำนึกใหม่และขยายผล ทุกมหาวิทยาลัยควรมีสถาบันส่งเสริมจิตวิวัฒน์ ภาคธุรกิจและภาคการเงินก็ทำได้เช่นเดียวกัน
กำลังมีนักวิทยาศาสตร์ในสหรัฐอเมริกาและยุโรปประมาณ 4,000 คน รวมตัวกันขับเคลื่อนเรื่อง IDG โดยเห็นว่าเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ SDGs (Sustainable Development Goals) ที่ขับเคลื่อนกันมานานพอสมควร ไม่มีทางสำเร็จถ้าปราศจาก IDG IDG คือ Inner Development Goals ภายในก็คือ จิตใจนั่นเอง พัฒนาจิตใจก็ตรงกับจิตวิวัฒน์ โดยสรุปการพัฒนาอย่างยั่งยืนจะสำเร็จได้ต้องมีจิตวิวัฒน์ ทุกฝ่ายที่กำลังขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืนอยู่ควรให้ความสนใจกับจิตสำนึกใหม่หรือจิตวิวัฒน์ กระบวนการจิตวิวัฒน์เป็นกระบวนการที่ก่อความสุขให้ทุกคน ประดุจบรรลุนิพพานและสร้างสรรค์อย่างยิ่ง จะสร้างสรรค์โลกยุคใหม่แห่งการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล ทั้งระหว่างคนกับคน และคนกับธรรมชาติแวดล้อม
เมื่อสมดุล ย่อมสันติ สงบ สุข หรือ ส4
สมดุล สันติ สงบ สุข
คือ อนาคตร่วมกันของมนุษยชาติ
ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์ประเวศ วะสี
ราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์