"...ถ้าคนรุ่นเรารักษามรดกเกาะกูดจากคนรุ่นปู่รุ่นทวดไว้ไม่ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ปล่อยให้ใครที่ไหนมาอ้างสิทธินอกกฎหมายเพื่อหวังฮุบขุมทรัพย์ใต้อ่าวไทยในนามของการเจรจาแบ่งผลประโยชน์ ถึงวันนั้นวิญญาณปู่ต้องร้องท่อนฮุกเพลง ”ถามใจคนไทย“ แน่ คำของท่านนายกฯที่ว่าจะ “แยก” เจรจาเฉพาะเรื่องแบ่งผลประโยชน์ก่อนจึงอันตรายมาก พูดผิด พูดใหม่ได้ !..."
“เรื่องสำคัญที่สุดคือเรื่อง OCA พื้นที่ทับซ้อน ซึ่งความจริงก็มูลค่ามหาศาล ขึ้นอยู่กับตัวเลขไหนที่จะพูดกัน อาจถึง 20 ล้านล้านบาทก็ได้ แต่เรามีปัญหาเรื่องชายแดนเรื่องเขตแดนอยู่ เป็นเรื่องที่ sensitive ผมขอแบ่งเป็น 2 ส่วนละกัน คือเรื่องพื้นที่ทับซ้อนกับเรื่องขุมทรัพย์ที่อยู่ใต้ทะเล อันนี้เป็นอะไรที่เราต้อง handle with care มีการพูดคุยกัน ยืนยันว่าเราให้ความสำคัญสูงสุดกับเรื่องนี้ จะมีการพูดคุยกัน และจะพยายามนำสินทรัพย์นี้ออกมาใชัโดยเร็วที่สุดในช่วงเปลี่ยนผ่านจาก brown energy เป็น green energy ขอให้สบายใจได้ เราจะเดินหน้าเรื่องนี้ต่อไป โดยพยายามแยกแยะระหว่างปัญหาพื้นที่ทับซ้อน กับปัญหาเรื่องแบ่งผลประโยชน์ เรื่องนี้ต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้…“
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวในการปาฐกถาเรื่อง “จุดเปลี่ยนพลังงานไทยสู่ความยั่งยืน” เปิดงาน Thailand Energy Executive Forum เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567
ขีดเส้นใต้ตรงคำ “แยก(แยะ)“ เพราะเป็นท่าทีที่สำคัญมาก
ซึ่งไม่ตรงกับท่าทีที่นายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มาตอบกระทู้ถามด้วยวาจา (กระทู้สด) ของผมในฐานะผู้แทนที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย ในที่ประชุมวุฒิสภาเมื่อ 2 วันก่อนหน้าคือวันที่ 12 กุมภาพันธุ์ 2567 วันนั้นท่านตอบยืนยันว่าจะทำทั้ง 2 เรื่อง ”พร้อมกัน“ และ “ไม่แบ่งแยก” ถือเป็นสัญญาประชาคม
ตกลงว่าอย่างไรกันแน่ครับท่านนายกรัฐมนตรี ??
ผมไม่ได้ค้านการเจรจากับเพื่อนบ้าน
และไม่ได้ขวางแนวคิดการนำทรัพยากรพลังงานขึ้นมาใช้
แม้จะเห็นชื่อ “CHEVRON” อยู่เต็มแผนที่พื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนไทย-กัมพูชา และก็รู้ดีว่าการปฏิรูปพลังงานผ่านการแก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.ปิโตรเลี่ยม พ.ศ. 2514 ในช่วงปี 2558 นั้นไปได้ไม่ไกลนัก ระบบแบ่งปันผลผลิตที่เกิดขึ้นยังไม่มีหน่วยงานที่เป็นบริษัทพลังงานแห่งชาติที่แท้จริงมาจัดการกับส่วนแบ่งปิโตรเลียมที่ได้ ต่อให้ขุดปิโตรเลี่ยมขึ้นมาใช้ได้เร็วความมั่งคั่งของประชาชนจะเพิ่มขึ้นสักเท่าไรและได้สัดส่วนสอดคล้องกับความมั่งคั่งของกลุ่มทุนพลังงานและกลุ่มทุนการเมืองที่จะเพิ่มขึ้นมหาศาลหรือไม่อย่างไร นี่มิพักต้องพูดถึงเรื่อง “เงินทอน”อีกนะว่าจะมีหรือไม่อย่างไร
ถ้าจะทำก็ทำ แต่ขออย่างนะ
ขอให้ต้องอยู่ภายใต้ “เงื่อนไขบังคับ” 2 ประการ !
1. การแบ่งผลประโยชน์ต้องอยู่บนหลักการที่ถูกต้อง ถูกต้องทั้งตามข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายระหว่างประเทศ (อนุสัญญากรุงเจนีวาว่าด้วยไหล่ทวีป ค.ศ. 1958 และอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982) และมีความเหมาะสม ไม่ใช่ปล่อยให้แรงอยากใช้ทรัพยากรโดย “เร็วที่สุด” มาเป็นอคติบดบังหลงไปยอมตาม “กลยุทธตั้งราคา” ปล่อยให้คู่เจรจาอ้างสิทธินอกกฎหมายเสียสูงสุดกู่มาเป็นฐานเจรจา ซึ่งต่อให้ตกลงต่อรองลดลงมาตั้งครึ่งตั้งค่อน สุดท้ายเขาก็ยังกำไรมหาศาลอยู่ดี
2. ต้องไม่เสี่ยงต่อการเสียเขตแดนทางทะเลและสิทธิอธิปไตยทุกรูปแบบในอนาคต
ไม่ใช่เงื่อนไขบังคับที่ผมตั้งขึ้นมาเอง
อาจกล่าวได้ว่าเป็นเงื่อนไขบังคับทั่วไปตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 119 ความผิดฐานทำให้ส่วนหนึ่งส่วนใดของราชอาณาจักรตกอยู่ภายใต้อธิปไตยของรัฐต่างประเทศ
ประเด็นที่จะชี้ให้เห็นคือถ้า “แยก” บทสรุปที่จะเกิดขึ้นก็เสี่ยงที่จะสร้างความเสียหายสาหัสแก่ชาติ
จะไป “แยก” ได้อย่างไร ในเมื่อพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อน หรือ OCA - Overlapping Claims Area ก่อให้เกิดพื้นที่ที่จะเจรจาแบ่งผลประโยชน์ หรือ JDA - Joint Development Area ถ้าแยกการเจรจาแบ่งผลประโยชน์ออกมาทำให้สำเร็จโดยเร็วที่สุดก็เท่ากับเป็น “การยอมรับโดยปริยาย” ต่อเส้นเขตไหล่ทวีปนอกกฎหมายลากผ่ากลางเกาะกูดที่กัมพูชายุคนายพลลอนนอลประกาศเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2515 ถึงจะไม่ยอมรับว่าเป็นเส้นเขตแดนทางทะเล แต่ก็ยอมให้ใช้เป็นรูปพรรณสัณฐานกำหนดพื้นที่ JDA ทางด้านทิศตะวันตกใต้เส้นละติจูด 11 องศาเหนือ โดยเส้นนี้จะมาดำรงอยู่ไม่ได้หากไม่ได้ลากผ่ากลางเกาะกูดออกมาทางทิศตะวันตกก่อนจะวกลงทิศใต้
ก็รู้อยู่แล้วว่าเส้นเขตไหล่ทวีปนอกกฎหมายของกัมพูชา บริษัทน้ำมันต่างชาติช่วยคิดให้นายพลลอนนอล
ก็รู้อยู่แล้วว่าเป็นเส้นที่อาจพิจารณาได้ว่ารุกล้ำอธิปไตยเกาะกูดของไทย
หากเจรจาแบบ “แยก” สมมติว่าสำเร็จ มีการแบ่งผลประโยชน์ในขุมทรัพย์ใต้อ่าวไทยกันได้ ความจริงที่จะเกิดขึ้นก็คือ…
1. ผลประโยชน์ที่ควรจะเป็นของเรามากกว่าในเขต JDA ที่กำหนดรูปพรรณสัณฐานทางทิศตะวันตกโดยเส้นเขตไหล่ทวีปนอกกฎหมายของกัมพูชา ต้องถูกแบ่งปันไปไม่มากก็น้อย
2. การเจรจาเส้นเขตแดนทางทะเลในอนาคต ไม่ว่ารุ่นเรา หรือรุ่นลูกรุ่นหลาน โดยเฉพาะในกรณีที่ทำข้อ 1 สำเร็จ จะถูกอ้างอิง “การยอมรับโดยปริยาย” ของเราในวันนี้ต่อเส้นเขตไหล่ทวีปนอกกฎหมาย ประเทศไทยมีโอกาสที่จะสูญเสียเขตแดนทางทะเลไม่มากก็น้อย อย่างน้อยที่สุดก็จะต้องสูญเสียไปจากที่เราเคยมีอยู่ตามประกาศพระบรมราขโองการกำหนดเส้นเขตไหล่ทวีปเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2516 ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ
เราเคยเจ็บปวดกับ “หลักกฎหมายปิดปาก” ต้องเสียปราสาทพระวิหารในศาลยุติธรรมระหว่างประเทศมาแล้วเมื่อปี 2505 ลืมกันแล้วหรือ ?
แนวคิด “แยก” จึงอันตราย !
ไม่ใช่ของใหม่ รัฐบาลไทยทุกชุดก่อนหน้าคิดกันมาแล้วทั้งนั้น
กัมพูชาก็คิดอย่างนี้มาโดยตลอดตั้งแต่ช่วงการเจรจาปี 2538 ตัวแทนที่มาร่วมประชุมกับฝ่ายไทยที่กรุงเทพฯไม่ยอมพูดเรื่องเขตแดนเลย โดนรุกหนักเข้าก็อ้างว่ารัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1993 ของเขาห้ามเปลี่ยนแปลงเขตแดน เรื่องเขตแดนถือเป็น non negotiable รัฐบาลไทยเองก็เริ่มมึดำริจะเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์ก่อน แต่กระทรวงการต่างประเทศยืนหยัดเสนอแนวคิดคัดค้านมาโดยตลอด แต่ในที่สุดเพื่อตอบสนองฝ่ายการเมืองโดยยังรักษาจุดยืนของตนไว้ได้ด้วยจึงปรากฎเป็นหลักการของ MOU 2544 ที่เริ่มก่อตัวตั้งแต่สมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์และมาลงนามในสมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทยที่มีคุณทักษิณ ชินวัตรเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2544
หลักการที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอคือต้องทำทั้ง 2 เรื่อง
“พร้อมกัน” - to simultaneously
“ไม่อาจแบ่งแยกได้” - as an indivisible package
แต่คงจะเพราะเพื่อตอบโจทย์ใหญ่ให้ฝ่ายการเมืองด้วย กระทรวงการต่างประเทศจึงได้ให้กำเนิดหลักการใหม่ที่กำหนดให้เจรจาแบ่งเขตแดนเฉพาะส่วนไม่ถึงครึ่งเท่านั้น คือแค่พื้นที่ส่วนบนเหนือละติจูด 11 องศาเหนือ 10,000 ตารางกิโลเมตร พื้นที่ใต้เส้นละติจูด 11 องศาเหนือลงมาจำนวน 16,000 ตารางกิโลเมตรให้เป็นพื้นที่ JDA เจรจาแบ่งผลประโยชน์
แบ่งเขตแดนข้างบน แบ่งผลประโยชน์ข้างล่าง - ว่างั้นเถอะ !
มีผู้รู้วิเคราะห์ว่าน่าจะเป็นเพราะกระทรวงการต่างประเทศต้องการจะบีบให้ฝ่ายกัมพูชาที่ต้องการแบ่งผลประโยชน์ในขุมทรัพย์ใต้อ่าวไทย ต้องยอมแลกเปลี่ยนด้วยการยอมตกลงลากเส้นเขตไหล่ทวีปเสียใหม่เฉพาะส่วนบนละติจูด 11 องศาเหนือให้พ้นให้ห่างจากเกาะกูด
ยื่นหมูยื่นแมว - ว่างั้นเถอะ !
เพราะแม้ว่าเกาะกูดจะเป็นของไทยชัดเจนตามสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ค.ศ. 1907 แต่การประกาศเส้นไหล่ทวีปนอกกฎหมายของกัมพูชาในปี 2515 ผ่ากลางเกาะกูดก็เป็นหนามคาใจสร้างความไม่สบายใจให้กับคนไทยและกระทรวงการต่างประเทศมาโดยตลอด เพราะปรากฎข้อเท็จจริงว่าหนังสือพิมพ์ในกัมพูชามักลงข่าวอยู่เนือง ๆ ว่าเกาะกูดเป็นของกัมพูชา ที่ชัดเจนที่สุดคือกรณีหนังสือพิมพ์รัศมีกัมพูชาฉบับวันที่ 29-30 มกราคม 2539 ก่อนการทำ MOU 2544 เพียง 5 ปี ตีพิมพ์บทความว่าเกาะกูดเป็นของกัมพูชา ไทยได้เข้ายึดและวางกำลังกองทัพเรือไว้ในช่วงเขมรแดงครองกัมพูชา ถึงขั้นที่อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมายในยุคนั้นต้องเรียกอัครราชทูตที่ปรึกษาของสถานเอกอักรราชทูตกัมพูชาประจำไทยเข้าพบเพื่อทำความเข้าใจเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2539 และมีแถลงข่าวเผยแพร่เป็นลายลักษณ์อักษร
จะเห็นได้ว่าแผนผังแนบท้าย MOU 2544 แม้จะยังปรากฎเส้นเขตไหล่ทวีปนอกกฎหมายของกัมพูชาอยู่ แต่แทนที่จะลากผ่านเกาะกูดเหมือนกฤษฎีกา 2515 ของกัมพูชา กลับทำเป็นรอยเว้ารูปครึ่งวงกลมทางทิศใต้อ้อมเกาะกูดไป ฟังว่าในช่วงนั้นคนกระทรวงการต่างประเทศพูดว่านี่เป็นความสำเร็จ กัมพูชายอม “ไม่ยุ่ง” กับเกาะกูดแล้ว
แต่ 5 ปีจากนั้นจนถึงวันที่คุณทักษิณ ชินวัตรพ้นจากอำนาจ การเจรจาก็คืบหน้าเฉพาะส่วนแบ่งผลประโยชน์เท่านั้น ส่วนแบ่งเขตแดนไม่คืบหน้าเท่าที่ควร
มาดูภาพประกอบ 2 ภาพที่ผมจัดให้อยู่ในกรอบเดียวกัน
ภาพซ้าย - เป็นความคืบหน้าของการเจรจาแบ่งผลประโยชน์ในเขต JDA ที่กำหนดส่วนแบ่งระหว่างสองประเทศเป็น 3 อัตรา ใกล้ประเทศใครประเทศนั้นก็ได้ส่วนแบ่งมากหน่อย ตรงกลางก็แบ่งครึ่ง
ภาพขวา - เป็นบททดลองเสนอการแบ่งเขตแดน ไม่ค่อยแพร่หลายเท่าภาพแรก เข้าใจว่ายังไม่ได้มีการพิจารณาอย่างเป็นทางการในคณะกรรมการเทคนิคร่วม หรือ JTC - Joint Technical Committee ในยุคนั้น แต่เป็นตัวอย่างที่สำคัญมาก เดี๋ยวผมจะพูดต่อให้ละเอียด
วันนี้ ผมว่าฝ่ายการเมืองน่าจะเข้าใจแล้วว่า MOU 2544 ไม่ใช่เครื่องมือที่จะทำให้กิจที่พวกเขาประสงค์สัมฤทธิผล
ท่าทีของนายกรัฐมนตรี 14 กุมภาพันธ์ 2567 ที่จะให้ “แยก” นี่ขัดแย้งกับหัวใจ MOU 2544 เองชัดเจนนะครับ
จะเอาอย่างไรกันต่อไป ?
สำหรับผม ขอยืนยันว่าต้องเจรจาทั้ง 2 เรื่องไปพร้อมกัน เพื่อให้ได้ข้อสรุปเรื่องแบ่งเขตแดนทางทะเลก่อน จึงจะรู้ว่ามีเขตที่ต้องตกลงแบ่งผลประโยชน์กันหรือไม่ ตรงไหน ไม่ใช่ไปกำหนดไว้ก่อนล่วงหน้าโดยฐานของเส้นเขตไหล่ทวีปนอกกฎหมายที่ลากผ่ากลางเกาะกูด !
เกาะกูดเป็นของไทย จะอดีตตั้งแต่เมื่อกว่า 100 ปีก่อน ปัจจุบัน หรืออนาคต ไม่มีวันแปรเปลี่ยน
แต่ต้องไม่ใช่แค่ตัวเกาะ !
เขตแดนทางทะเล (ทะเลอาณาเขต ไหล่ทวีป และเขตเศรษฐกิจจำเพาะ) ขุมทรัพย์ใต้ทะเล 20 ล้านล้านบาท และสิทธิอธิปไตยทั้งปวงในและเหนือน่านน้ำ อันเกิดจากเกาะกูด จะต้องคงอยู่คู่ชาติไทยด้วย
ผมจึงยังขอยืนยันไม่เห็นด้วยกับ MOU 2544 แม้จะมี “ข้อดีในด้านกลับ” คือการกำหนดให้เจรจา 2 เรื่องพร้อมกันชนิดจะแยกจากกันไม่ได้ ในขณะที่สถานการณ์ต่อหน้าที่เราเห็น ๆ อยู่โอกาสที่การเจรจาตามกรอบนี้จะประสบความสำเร็จพร้อมกันมีน้อยมากหรือแทบไม่มีเลย เพราะข้อกำหนดมันกลายเป็นกับดักล็อกตัวเอง การเจรจาแบ่งผลประโยชน์แม้คืบหน้าตรงกันข้ามกับการเจรจาแบ่งเขตแดนหยุดนิ่งไม่เดินหน้าไปไหน ติดกับดักกันอยู่อย่างนี้มานานแล้ว และก็ยังไม่มีสัญญาณใดให้เห็นว่าจะหลุดออกมาได้อย่างไร แต่ผมก็ไม่อาจเห็นด้วยกับตัวแบบเจรจาของ MOU 2544 ที่กำหนดหลักการใหม่ล็อกให้เจรจาแบ่งเขตแดนเฉพาะพื้นที่ส่วนบนละติจูด 11 องศาเหนือ
เพราะภายใต้ตรรกะประหลาดของ MOU 2544 สมมติ-ย้ำว่าสมมติ—มันสำเร็จขึ้นมาจริง ๆ ท่ามกลางโอกาสน้อยมาก ๆ นี้…
จะเสียหายหนักหนาสาหัสมาก !
เพราะภายใต้วัตถุประสงค์ที่คาดการณ์ได้ว่า (1) ฝ่ายกระทรวงการต่างประเทศของไทยต้องการให้เส้นเขตไหล่ทวีปนอกกฎหมายของกัมพูชารุกรานอธิปไตยของไทยบริเวณเกาะกูดสิ้นสภาพไปโดยสมบูรณ์ (2) ฝ่ายกัมพูชาหากจำเป็นจะต้องถอยจากเส้นเขตไหล่ทวีปนอกกฎหมายของตัวเอง ก็ขอถอยให้น้อยที่สุด และ (3) จุดเริ่มต้นของเส้นแบ่งเขตแดนทางทะเลระหว่างสองประเทศต้องลากออกจากหลักเขตที่ 73 เหมือนเดิมแน่นอน ดังนั้นความเป็นไปได้ของเส้นแบ่งเขตแดนที่จะตกลงกันคือลากแทยงมุมจากหลักเขตที่ 73 มาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ พ้นเกาะกูดแบบชัด ๆ มาจบที่กึ่งกลางอ่าวไทย ณ เส้นละติจูด 11 องศาเหนือ หรือใกล้เคียง เหมือนตัดแบ่งพื้นที่ 10,000 ตารางกิโลเมตรออกเป็น 2 ส่วนเท่า ๆ กันหรือเกือบเท่ากันโดยลากเส้นแทยงมุม
เคยมี “ภาพหลุด” ออกมา
ก็ภาพประกอบด้านขวานั้นแหละครับ ดูเส้นประแทยงมุมในเขตพื้นที่แลเงาลาย ๆ แล้วคิดตามนะครับ
จะเห็นได้ว่าเส้นแบ่งเขตแดนใหม่ที่ทิ้งไว้ให้ลอยอยู่กลางทะเลนี้ มันจะมาต่อกับขอบของ JDA ทางทิศตะวันตก ซึ่งก็คือเส้นเขตไหล่ทวีปนอกกฎหมายเดิมของกัมพูชาส่วนใต้ละติจูด 11 องศาเหนือทันที
ผลก็คือถ้ามีการเจรจาแบ่งเขตแดนในอนาคต มีโอกาสที่เส้นแบ่งเขตแดนใต้ละติจูด 11 องศาเหนือลงมาจะเป็นไปตามแนวเส้นไหล่ทวีปนอกกฎหมายของกัมพูชามากกว่าจะเป็นไปตามเส้นไหล่ทวีปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศและตามประกาศพระบรมราขโองการของพระมหากษัตริย์ไทยที่อยู่ทางขอบ JDA ด้านทิศตะวันออก
จะเป็นไปตามที่ท่านประจิตร โรจนพฤกษ์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา (2554 - 2557) อดีตเอกอักรราชทูตและอดีตอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ เคยฟันธงไว้ตั้งแต่ปี 2555 ประมาณว่า…
ไทยจะได้แต่ส่วนแบ่งจากทรัพยากรใต้ทะเลจากพื้นที่ JDA เท่านั้น แต่จะสูญเสียสิทธิอธิปไตยอื่นทั้งหมด
ใต้ทะเลได้แบ่งปัน ในน่านน้ำและบนผิวน้ำสูญเสียโดยสิันเชิง
เป็นเช่นนี้ แล้วใครจะต้องรับผิดชอบ ?
เป็นพระอัจฉริยภาพสูงสุดและพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ของในหลวงรัชกาลที่ 5 ที่ยอมแลกเมืองเสียมราฐ ศรีโสภณ และพระตะบอง ที่มีทั้งพื้นที่และจำนวนประชากรรวมมากว่าเมืองตราดและเกาะแก่งในอ่าวไทย แถมยังเป็นที่ตั้งแหล่งอารยธรรมทรงคุณค่าของโลกอีก เพราะพระองค์ท่านทรงมีพระราชดำริว่าเมืองตราดแม้จะมีประขากรน้อยแต่ก็เป็น “คนไทย” ทั้งนั้น จะมีความสุขได้อย่างไรถ้าต้องอยู่ภายใต้ร่มธงชาติอื่น
พระอัจฉริยภาพและพระมหากรุณาธิคุณเมื่อกว่า 100 ปีก่อนทำให้เราได้ฝั่งทะเลยาวเหยียดของจังหวัดตราด ได้จุดหลักเขตแดนทางบกที่ 73 อย่างที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้
รวมทั้งได้เกาะกูดที่ไม่ได้มีคุณค่าแค่ตัวเกาะ หากแต่เป็นประโยชน์อย่างเหลือเชื่อแก่ประเทศไทยในการกำหนดเส้นเขตไหล่ทวีปครอบครองเขตแดนทางทะเลในอ่าวไทยกว้างขวาง ตามหลักกฎหมายในอนุสัญญาฯ 1958 และ 1982 ที่เกิดขึ้นในขั้นหลัง
ถ้าคนรุ่นเรารักษามรดกเกาะกูดจากคนรุ่นปู่รุ่นทวดไว้ไม่ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ปล่อยให้ใครที่ไหนมาอ้างสิทธินอกกฎหมายเพื่อหวังฮุบขุมทรัพย์ใต้อ่าวไทยในนามของการเจรจาแบ่งผลประโยชน์…
ถึงวันนั้นวิญญาณปู่ต้องร้องเพลง ”ถามใจคนไทย“ โดยเฉพาะท่อนฮุกแน่ !
การท่านนายกรัฐมนตรีแสดงท่าทีว่าจะ “แยก“ เจรจาเรื่องแบ่งผลประโยชน์กับเรื่องพื้นที่ทับซ้อนออกจากกันจึงอันตรายมาก
พูดผิด หรือพูดแล้วทำให้คนฟังเข้าใจผิดในสาระสำคัญ พูดใหม่ได้ !
คำนูณ สิทธิสมาน
สมาชิกวุฒิสภา