"...ผู้สูงอายุจำนวนนับล้านคน บางคนอาจจะนอนป่วยติดเตียง แต่คนที่ยังเคลื่อนไหวได้ หากบริหารจัดการให้ ผู้สูงอายุทั้งหมด เข้ามาเป็นผู้ผลิตทางการเกษตรที่ใช้แรงน้อย ใช้น้ำน้อย ใช้พื้นที่น้อย ก็จะทำให้ผู้สูงอายุมีความมั่นคงทางรายได้และอาหาร ไม่เป็นภาระอีกต่อไป ทำให้ผู้สูงอายุได้เคลื่อนไหวร่างกาย มีความภาคภูมิในตนเอง ที่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ไม่เป็นภาระของคนอื่น..."
แต่ไหนแต่ไรมา โรงเรียนกับวัดนั้นเหมือนน้ำเนื้อเดียวกัน สมัยก่อนที่ยังไม่มีโรงเรียนนั้น วัดเป็นคลังวิชา เป็นแหล่งเรียนรู้ทางปัญญาดีที่สุด ใครอยากรู้หนังสือต้องไปบวชเรียน ไปอ่านอักขระ อ่านภาษาจากวัด ในเวลาต่อมาจึงพัฒนามาเป็นโรงเรียนที่ควบคู่ไปกับวัด เห็นวัดอยู่ที่ไหน จะเห็นโรงเรียนอยู่ที่นั่น
โรงเรียนวัดเบญจมบพิตร โรงเรียนวัดบวรนิเวศวรวิหาร โรงเรียนวัดนวลนรดิศ โรงเรียนวัดเทพศิรินทร์ โรงเรียนวัดสุทธาราม ล้วนเป็นโรงเรียนที่อิงอยู่กับวัดทั้งนั้น ฯลฯ วัดสมัยโบราณจึงเป็นศึกษาสถานของคนในชุมชน
ในขณะเดียวกัน วัดกับบ้านก็ไม่สามารถจะแยกจากกันได้ ต่างฝ่ายต่างพึ่งพาอาศัยกันและกัน วัดเป็นที่พึ่งทางใจและทางพิธีกรรมของบ้าน ขณะที่บ้านก็ร่วมทำบุญตักบาตร สร้างโบสถ์ วิหาร สร้างกุฏิให้วัด จังมีคำกลอนเปรียบเปรยไว้ว่า
วัดจะดีมีหลักฐานเพราะบ้านช่วย
บ้านจะสวยเพราะมีวัดดัดนิสัย
บ้านกับวัดผลัดกันช่วยก็อวยชัย
ถ้าขัดกันก็บรรลัยทั้งสองทาง
บ้าน วัด โรงเรียน จึงเป็นสามเสาหลักที่อิงอาศัยกันและกันในทุกพื้นที่ประเทศไทย และช่วยกันค้ำจุนสังคมไทย ตั้งแต่อดีตอันไกลโพ้น จวบจนถึงปัจจุบัน
โรงเรียนมีชัยพัฒนา อ. ลำปลายมาศ จ. บุรีรัมย์ ได้สร้างผลงานเป็นแบบอย่างจากโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnership School Project) ที่มุ่งสร้างเยาวชนให้มีทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ และมีหัวใจแห่งการแบ่งปัน โดยได้ขยายผลไปสู่ 240 โรงเรียนทั่วประเทศแล้ว
นอกจากโรงเรียนได้น้อมนำนักเรียนและครูเข้าไปร่วมกับชุมชนในการจัดทำศูนย์เรียนรู้และทำแปลงเกษตร ยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชน และสร้างรายได้ในชุมชนแล้ว โรงเรียนยังเข้าไปทำหน้าที่แบบเดียวกันนี้ในโรงพยาบาล 3 แห่ง
ขณะนี้โรงเรียนกำลังเข้าไปร่วมมือกับวัด เพื่อให้วัดสามารถเป็นแหล่งผลิตพืชผลทางการเกษตรเพื่อชุมชนได้
นี่นับเป็นมิติใหม่ในการแก้ปัญหาความยากจนในชนบทที่น่าสนใจอย่างยิ่ง
วันศุกร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567 ยามบ่าย ณ วัดโนนสุวรรณ ต.โกรกแก้ว อ.โนนสุวรรณ จ.บุรีรัมย์ ผู้เขียนได้กราบสนทนากับ พระมหาสังวรณ์ ชินวังโส เจ้าอาวาสวัดโนนสุวรรณ ซึ่งเป็นกำลังแรงสำคัญในการพัฒนาอาชีพ และยกระดับชีวิตชุมชนในพื้นที่
พระมหาสังวรณ์ เล่าว่า
“คุณมีชัย วีระไวทยะ พูดกับอาตมาว่า บ้านก็พึ่งวัด วัดก็พึ่งบ้าน ชาวบ้านทำบุญตักบาตร สร้างโบสถ์ วิหาร สร้างกุฏิ ให้วัดมายาวนาน หากทางวัดจะได้ช่วยชาวบ้านบ้างก็จะเป็นบุญของสังคมไทย”
ช่วงโควิด -19 ระบาดตอนต้นปี 2563 ผู้คนเดือดร้อนกันมาก อาตมาชักชวนชาวบ้านที่มีจิตอาสา 3 คน มาปลูกผักในวัด เช่น ผักชี ผักกาดขาว แตงกวา ใช้พื้นที่ราวหนึ่งงาน
ต่อมาชาวบ้านร่วมกันบริจาคที่ดินให้วัดรวม 10 ไร่ จึงขยายพื้นที่ เพิ่มประเภทและเพิ่มแปลงผัก ก็ขายได้ขายดี มีสมาชิกเพิ่มขึ้นอีก 5-6 คน
ปรากฏว่า ผอ.มีชัย วีระไวทยะ รับรู้และมาเห็นจึงให้ทักษะการเกษตร ส่งเสริมทั้งอุปกรณ์ เมล็ดพันธุ์ และเทคนิคต่างๆ สร้างขึ้นเป็นศูนย์ฟาร์มเกษตรธุรกิจเพื่อสังคม วัดโนนสุวรรณ อย่างเป็นจริงเป็นจัง
ในช่วงนี้ มีชาวบ้านมาร่วมกันทำแปลงเกษตร 10 ครอบครัว ใครจะทำที่บ้านก็ได้ถ้ามีที่ดิน ถ้าไม่มีก็มาทำที่วัด พื้นที่เกษตรในวัดเพิ่มเป็น 3 ไร่กว่า วัดมีที่ดิน มีอุปกรณ์ มีน้ำในสระ มีน้ำบาดาล ใช้พลังจากโซลาร์เซลล์
ผอ. มีชัย ส่งถังน้ำมาถวายวัดเพิ่มอีก 8 ใบ ขณะนี้มีชาวบ้าน 20 คนเป็นหญิง 19 ชาย 1 คน เข้ามาร่วมกันทำ” พระมหาสังวรณ์ ชี้แจง
ผู้เขียนเดินดูแปลงเกษตรในวัด ได้พบว่ามีพืชผักมากมาย เช่น ผักกวางตุ้ง ผักแพว สะระแหน่ คื่นไช่ ข่า คะน้า กระเพรา โหระพา ผักกาดหอม มะเขือเปาะ ผักบุ้ง ผักสลัด ฯลฯ
ยังมีแผนว่า ต่อไปจะมีถั่วงอก ต้นอ่อนทานตะวัน เพาะเห็ด ซึ่งเป็นพืชใช้น้ำน้อย แรงน้อย พื้นที่น้อย
มีกติกาเคร่งครัด ที่ทุกคนต้องเดินตามคือ ห้ามใช้สารเคมีโดยเด็ดขาด เพื่อสุขภาพที่ปลอดภัยของผู้บริโภค
เดี๋ยวนี้ทุกคนมีรายได้เพิ่มขึ้นราว 800 – 1,000 บาทต่อเดือน นอกเหนือจากเบี้ยคนชราที่หลวงจ่ายให้ เดือนละ 600 บาท
ผักปลูกได้มากน้อยแค่ไหน ก็ขายได้หมด เพราะชาวบ้านรู้ว่าเป็นผักปลอดสารพิษ ทั้งปวง ต้น ใบ โตใหญ่ อย่างคื่นไช่นั้น ต้นใหญ่ยาวถึง 2 ฟุต
“เวลาเก็บผัก ทำอย่างไรครับ” ผู้เขียนถาม
“วัดมีหน้าที่อำนวยความสะดวก จัดที่จัดทางให้ชาวบ้าน พระในวัด เอาเมล็ด เอาต้นกล้า ลงดิน ช่วยพรวนดิน รดน้ำ เวลาเก็บผัก ชาวบ้านเป็นคนเก็บ แล้วนำไปขาย สร้างรายได้ในครัวเรือนและชุมชน” พระมหาสังวรณ์ให้ความกระจ่าง
“มีคำสอนทางพุทธศาสนาอธิบายเรื่องนี้ไหมครับ”
“มีซิ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในธรรมจักรกัปปวัตตนสูตรว่า อริยมรรคมีองค์คุณ 8 ประการเป็นทางสายกลาง เพื่อความดับทุกข์
เช่น สัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูกต้อง สัมมาสังกัปปะ ความคิดถูกต้อง สัมมาวาจา วาจาถูกต้อง ไปจนถึง สัมมาอาชีวะ คือการหาเลี้ยงชีพที่ถูกต้อง (ไม่ใช่มิจฉาชีพ)
นี่แหละเป็นธรรมบัญญัติไว้เลย วัดได้ทำหน้าที่ร่วมกับชาวบ้าน สร้างสัมมาอาชีวะ สร้างอาชีพที่เหมาะสม เป็นกุศลต่อชุมชน”
ผู้เขียนยกมือขึ้นอนุโมทนาในองค์คุณสำคัญที่วัดโนนสุวรรณ มีต่อท้องถิ่น
ในช่วงเย็นย่ำวันนั้น คุณศุภิสรา ศรีงาม นายกเทศมนตรีหญิงเทศบาลโนนสุวรรณ มาที่วัดตามนัดหมาย เธอเป็นกำลังแรงหนุนช่วยศูนย์ฟาร์มเกษตรฯ อย่างมีพลัง ในการระดมชาวบ้านมาร่วมกันทำกิจกรรมเกษตร และทำกิจกรรมออกกำลังกาย ผู้สูงอายุ และทำกิจกรรมอื่นๆ ทำให้วัดกลายเป็นสโมสรผู้สูงอายุ ที่ชาวบ้านกับชาวบ้านมาพบกัน
“อยู่กับบ้าน ก็ไม่มีใคร ลูกหลานย้ายถิ่นกันไปหมด มาที่วัดนอกจากได้ปลูกผักแล้วยังมีเพื่อนเล่นเพื่อนคุย ได้ร้องเพลง ได้ออกกำลังกาย”
แม่เฒ่าคนหนึ่งคุยให้ฟังอย่างมีความสุข
นายกศุภิสรา ยังให้ข้อมูลว่า
“พื้นที่โนนสุวรรณ เป็นพื้นที่ห่างจากเขตภูเขาไฟประมาณ 30 กม. จึงเป็นผืนดินเขตภูเขาไฟมีสีแดงปน มีสายน้ำแร่ และดินเหมาะแก่การเพาะปลูกมาก
ขณะนี้พิสูจน์แล้วว่า ทุเรียนโนนสุวรรณอร่อยมาก เพราะ
1. ไม่มีกลิ่นแรง
2. เนื้อนุ่มละมุนละไม
3. กากใยน้อย
4. รสชาติหอมหวานมาก
ต่อไปถ้าปลูกเมล่อนได้ ก็จะเป็นเมล่อนน้ำแร่ สงสัยว่าพืชผักโนนสุวรรณจะไปโลดแล้ว
ละมั้ง”
นายกพูดอย่างภาคภูมิใจ
ขณะนี้มูลนิธิมีชัย วีระไวทยะ จึงหาทุนสร้างห้องน้ำในวัด 4 ห้องเสร็จไปแล้ว และกำลังจัดสร้างห้องพักคนชราซึ่งไร้ที่อยู่อาศัยให้มาอยู่ในวัด จำนวน 8 ห้องจากการออกแบบห้องพักของกลุ่ม PLAN ACHITECT แห่งสถาบันอาศรมศิลป์ ซึ่งทำให้คนชราได้ใช้ชีวิตอยู่ในวัดและร่วมกันทำแปลงเกษตรอย่างเต็มที่
วิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สถิติไว้ว่า ประเทศไทยมีผู้สูงอายุ 11.6 ล้านคน คิดเป็น 17.5 % ของประชากร 69.3 ล้านคน
ในจำนวนนี้ ผู้สูงอายุ ที่อยู่คนเดียวมี 1.3 ล้านคน และที่อยู่คู่กันแบบตายาย หรือปู่ย่า มี 2.4 ล้านคน ในจำนวนผู้สูงอายุทั้งหมด มีถึง 4.8 ล้านคน มีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่าปีละ 30,000 บาท
ผู้สูงอายุ ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี จึงกลายเป็นปัญหาของรัฐบาล
เงินเบี้ยคนชราที่หลวงจ่ายให้คนละ 600 บาทต่อเดือน หรือมากกว่านั้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น เป็นเงินสงเคราะห์คนชราได้มาก็จ่ายหมดไป รอสิ้นเดือนค่อยรับใหม่
คุณมีชัย วีระไวทยะ ให้ข้อคิดว่า
“ผู้สูงอายุจำนวนนับล้านคน บางคนอาจจะนอนป่วยติดเตียง แต่คนที่ยังเคลื่อนไหวได้ หากบริหารจัดการให้ ผู้สูงอายุทั้งหมด เข้ามาเป็นผู้ผลิตทางการเกษตรที่ใช้แรงน้อย ใช้น้ำน้อย ใช้พื้นที่น้อย ก็จะทำให้ผู้สูงอายุมีความมั่นคงทางรายได้และอาหาร ไม่เป็นภาระอีกต่อไป ทำให้ผู้สูงอายุได้เคลื่อนไหวร่างกาย มีความภาคภูมิในตนเอง ที่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ไม่เป็นภาระของคนอื่น”
ความเป็นจริงก็คือ วัดในประเทศไทย มีทั้งหมด 40,005 แห่ง ทุกวัดมีพื้นที่ดิน มีน้ำ มีไฟ มีเจ้าอาวาส มีคณะกรรมการวัด
หลายวัดมีเงินทำบุญปีละ จำนวนมากมาย
หลายวัดมีทอดกฐิน ทอดผ้าป่าประจำทุกปี
พระสงฆ์มีอาหารเหลือจากบิณฑบาตทุกเช้า
หลายวัดมีโยมอุปัฎฐาก ซึ่งมีใจบุญสุนทานกับวัดเป็นประจำอยู่แล้ว
ทุกวัดมีชุมชน หลายวัดมีโรงเรียนอยู่ใกล้วัด บางแห่งมีสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาไม่ไกลจากวัด
การทำแปลงเกษตร หรือทำศูนย์เรียนรู้ เป็นเรื่องง่ายๆ ใช้เงินเพียงเล็กน้อยเป็นค่าเครื่องมือ อุปกรณ์ และเมล็ดพันธุ์ผัก การตัดสินใจ ขอความร่วมมือแล้วลงมือทำ ทำให้ผู้สูงอายุเข้าสู่ระบบการผลิตทางการเกษตรอย่างเป็นจริงเป็นจัง ดังที่มีตัวอย่างให้เห็นแล้ว ทั้งที่วัดโนนสุวรรณ วัดพัฒนาวนาราม ต. โคกกลาง บุรีรัมย์ วัดท่าประชุม อ. บ้านฝาง ขอนแก่น
วัดก็จะได้ทำหน้าที่ ก่อเกิด สัมมาอาชีวะ ซึ่งเป็นองค์คุณที่ 5 ในอริยมรรคของสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า
นี่คือ อภิมหากุศล ที่จะทำให้เกิดสัมมาชีพเต็มแผ่นดิน
หมายเหตุ : ภาพประกอบภาพปกข่าวจาก dailynews.co.th และ Facebook