“…ยิ่งไปกว่านั้น เงิน 560,000 ล้านบาท กระตุ้นเศรษฐกิจได้น้อย ไม่คุ้มค่า เพราะ `ตัวทวีคูณทางการคลัง’ (fiscal multiplier) ต่ำ อีกทั้งเป็นช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น จะเพิ่มภาระหนี้สาธารณะ และ ทำให้ดอกเบี้ยสูงขึ้นในอนาคต รวมทั้งเราควรจะมี `พื้นที่ว่างทางการคลัง’ (fiscal space) เพื่อรองรับวิกฤติในอนาคต เตรียมรับสังคมสูงวัย…”
..................................
หมายเหตุ : บทความเรื่อง ‘เศรษฐศาสตร์เรื่องการแจกเงินดิจิทัล’ โดย ผศ.ดร.ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ขอออกตัวก่อนว่า ผู้เขียนมีส่วนได้เสียกับเรื่องนี้โดยตรงในฐานะที่ลงชื่อร่วมกับนักเศรษฐศาสตร์คัดค้านนโยบายที่ไม่สมเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ จนได้รับการดูแคลนด้วยวาทกรรม`นักโบราณคดีทางเศรษฐมิติ’
ในขณะที่อีกแง่มุมหนึ่ง ผู้เขียนก็มีส่วนร่วมจ่ายภาษีเช่นคนไทยทุกคนผ่านการบริโภคและรายได้ จึงต้องช่วยกันรับผิดชอบจ่ายคืนชดใช้หนี้เงินกู้ที่ความจริงแล้วสามารถมีทางเลือกอื่นที่คุ้มค่าและเป็นประโยชน์ได้มากกว่าประชานิยมระยะสั้น ยิ่งไปกว่านั้น ในฐานะอาจารย์สอนวิชาเศรษฐศาสตร์และเศรษฐมิติ ผู้เขียนก็ควรจะมีความกล้าหาญในการนำเสนอความรู้และข้อเท็จจริงตามหลักวิชาการ
เหตุผลหลักในแถลงการณ์คัดค้าน ก็คือ เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัว ไม่จำเป็นต้องกระตุ้นการบริโภค ควรเน้นการลงทุนสร้างศักยภาพระยะยาว โดยเงินงบประมาณมีจำกัด ควรใช้จ่ายอย่างคุ้มค่า เพื่อเน้นลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และ สร้าง digital infrastructure
ยิ่งไปกว่านั้น เงิน 560,000 ล้านบาท กระตุ้นเศรษฐกิจได้น้อย ไม่คุ้มค่า เพราะ `ตัวทวีคูณทางการคลัง’ (fiscal multiplier) ต่ำ อีกทั้งเป็นช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น จะเพิ่มภาระหนี้สาธารณะ และ ทำให้ดอกเบี้ยสูงขึ้นในอนาคต
รวมทั้งเราควรจะมี `พื้นที่ว่างทางการคลัง’ (fiscal space) เพื่อรองรับวิกฤติในอนาคต เตรียมรับสังคมสูงวัย เป็นการใช้เงินอย่างคุ้มค่า และ รักษาวินัยการคลัง ตลอดจนระบบ blockchain ช้า ไม่เหมาะกับระบบซื้อขายทั่วไป
รายงาน Thailand Economic Monitor December 2023 ของธนาคารโลกได้วิเคราะห์ว่า โครงการแจกเงินดิจิทัล คิดเป็นงบประมาณ 2.7% ของ GDP จะช่วยเศรษฐกิจขยายตัว 0.5-1.0% ของ GDP ในช่วงระยะเวลา 2 ปี และ อาจทำให้ขาดดุลการคลังเพิ่มขึ้น 4-5% ของ GDP ใกล้ระดับเฉลี่ยช่วงวิกฤตโควิดในปี 2563-2565
ในขณะที่หนี้สาธารณะอาจสูงขึ้นเป็น 65-66% ของ GDP จาก 62% ณ สิ้นไตรมาสสามของปี 2566 ซึ่งสูงกว่าช่วงก่อนโควิดถึง 21% ดังนั้น จึงขอเรียนเชิญท่านผู้อ่านสรุปความคุ้มค่าของการใช้งบประมาณขนาด 2.7% ของ GDP เพื่อเพิ่มเศรษฐกิจขนาด 0.5-1.0% ของ GDP
อีกรายงานของธนาคารโลก (Policy Research Working Paper 9796) สำรวจและสรุปบรรดางานวิจัยที่ใช้เทคนิคเศรษฐมิติขั้นสูงทางเศรษฐศาสตร์มหภาคในประเด็นเกี่ยวกับประสิทธิผลของ `ตัวทวีคูณทางการคลัง’ (fiscal multiplier) เพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งผู้เขียนได้ใช้ประกอบการบรรยายหัวข้อการลงทุนสาธารณะของวิชาเศรษฐศาสตร์สาธารณะเบื้องต้นให้นักศึกษาปริญญาตรี
โดยสรุปของรายงานนี้ คือ หากพิจารณาประเภทของตัวทวีคูณ คือ ก.การใช้จ่ายภาครัฐ ข.การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ค.การลดภาษี และ ง.การโอนเงิน (เช่น กรณีแจกเงินดิจิทัล) พบว่า ตัวทวีคูณจากการลงทุนมีค่าสูงสุด
ยิ่งไปกว่านั้น ผลของตัวทวีคูณในการกระตุ้นเศรษฐกิจในสภาวะเศรษฐกิจถดถอย จะสูงกว่าในสภาวะเศรษฐกิจเติบโตปานกลางหรือขยายตัวดี โดยเงื่อนไขทางเศรษฐกิจมหภาคที่เอื้อต่อประสิทธิผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ได้แก่ อัตราแลกเปลี่ยนคงที่ ระบบเศรษฐกิจแบบไม่ค้าขายกับใคร สภาวะเศรษฐกิจถดถอย หนี้สาธารณะต่ำ และอัตราดอกเบี้ยต่ำมากคือติดลบ ซึ่งล้วนไม่ใช่สถานะของเราในขณะนี้
อนึ่ง ผลของตัวทวีคูณสามารถติดลบได้ หมายความว่า มีความเป็นไปได้ที่การกระตุ้นทางการคลังอาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อผลผลิตทางเศรษฐกิจ
เมื่อพิจารณาด้วยข้อมูลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนที่เราใช้คำนวณความยากจน ความเหลื่อมล้ำ และลักษณะของครัวเรือนและประชากรสำหรับประเทศไทย โดยผู้เขียนได้ใช้ข้อมูลตั้งแต่ปี 2002-2021 เพื่อศึกษา `สัดส่วนการใช้จ่ายบริโภคจากรายได้ที่เพิ่มขึ้น' (marginal propensity to consume: MPC) ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดขนาดของ `ตัวทวีคูณทางการคลัง’
พบว่า MPC ของครัวเรือนไทยมีขนาดโดยเฉลี่ยประมาณ 0.1-0.2 (ขึ้นกับการเพิ่มตัวแปรอธิบายเพื่อ control observable heterogeneity) แต่ถ้าใช้เฉพาะข้อมูลปี 2021 ซึ่งเป็นปีล่าสุดของประเทศที่มีข้อมูลตัวแปรรายได้ และผู้เขียนใช้เป็นตัวอย่างให้นักศึกษาวิชาเศรษฐมิติเบื้องต้นได้ฝึกใช้วิเคราะห์ทางเศรษฐมิติ
จะพบว่า MPC มีขนาดประมาณ 0.2-0.3 หมายความว่า ผลของการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่าน MPC ไม่น่าจะสูงขนาด 60.8 หากคำนวณย้อนกลับสำหรับผลตัวทวีคูณต่อเศรษฐกิจมูลค่า 100,000 ล้านบาท ตามที่ได้โฆษณา (ดูบทความ ข้อคิดต่อตัวคูณทวีทางการคลังและภาษีที่ได้จาก ‘นโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล’ โดยท่านอาจารย์ ดร.วิมุต วานิชเจริญธรรม)
ทั้งนี้ หากคำนวณด้วยวิธี Recentered Influence Functions สำหรับ Unconditional Quantile Regression (Firpo, Fortin, and Lemieux, 2018) จะพบว่า หากเรียงครัวเรือนไทยตั้งแต่จนสุดไปจนถึงรวยสุด พบว่า กลุ่มที่ MPC ต่ำสุด คือ กลุ่มครัวเรือนจนสุด 40% ล่าง มีค่า MPC ไม่ถึง 0.1 หากอธิบายโดยบริบทหนี้ครัวเรือนไทยปัจจุบัน คือ หากรายได้เพิ่มขึ้น ก็จะ “เอาไปจ่ายหนี้” คือ ชดเชยการออมที่ติดลบนั่นเอง
ในทางเศรษฐศาสตร์การเมืองก็น่าสนใจ เพราะค่อนข้างชัดเจนถึงความไม่สมเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ เมื่อเปรียบเทียบต้นทุนและผลประโยชน์ อีกทั้งมีทางเลือกอื่นที่คุ้มค่าและสำคัญกว่า
ทำให้คนไทยที่ยังไม่ลืมเรื่อง “จำนำข้าว” ก็น่าจะค้นคว้างานวิจัยเรื่อง "การทุจริตกรณีการศึกษา : โครงการรับจำนำข้าวทุกเม็ด" จาก TDRI โดยท่านอาจารย์ ดร.อัมมาร สยามวาลา และคณะ สามารถแสดงให้เห็นขนาดของความเสียหายจากการทุจริตคอรัปชั่นในกระบวนการระบายข้าวรวมทั้งหมดราว 1 แสนล้านบาท โดยยังไม่รวมความเสียหายอื่นที่ทั้งวัดได้และไม่สามารถวัดได้
แม้โครงการจำนำข้าวจะมีผลประโยชน์สุทธิ แต่ก็เป็นผลตอบแทนส่วนเกิน หรือ `ค่าเช่าทางเศรษฐกิจ’ (economic rent) มีมูลค่าสูงถึง 5.85 แสนล้านบาท จึงได้ระบุไว้ในบทคัดย่อของรายงานวิจัยว่า “เป็นการถลุงทรัพยากรแท้จริงของประเทศ และส่งผลเสียต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ”
ในที่สุดแล้ว หากรัฐบาลจะไม่ฟังนักเศรษฐศาสตร์ว่า เป็นนโยบายประชานิยมระยะสั้นที่ไม่คุ้มค่า เหมือนสมัยนโยบายจำนำข้าวไม่ยอมฟังคำเตือนของท่าน ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ก็คงอยากจะขอร้องให้รัฐบาล ช่วยพิจารณาแจกเงินแบบ “มีเงื่อนไข” หรือ conditional cash transfer
เช่น คนที่จะได้เงิน หรือ ร้านค้าที่จะรับเงิน จะต้องเข้ามาอยู่ในระบบฐานข้อมูลและรายงานรายได้ โดยกำหนดห้ามไม่ให้ร้านค้ารับเฉพาะเงินสดเท่านั้น เป็นต้น ยิ่งไปกว่านั้น conditional cash transfer สามารถที่จะมุ่งเป้าหมายไปที่การเตรียมรับมือกับความท้าทายแห่งยุคสมัยของประเทศและมนุษยชาติ ทั้งสังคมสูงวัย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ การแทนที่แรงงานด้วยหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์
ในขณะที่ในด้านทางเลือกอื่นสำหรับแหล่งที่มาของงบประมาณการแจกเงินดิจิทัล แทนที่จะกู้เต็มจำนวน หากจะใช้วิธี 1.ปฏิรูปภาษีให้ลดความเหลื่อมล้ำ และ 2.ปฏิรูปงบประมาณให้มีประสิทธิภาพเกิดประโยชน์ตรงต่อประชาชน ก็คงจะช่วยลดเสียงต่อต้านลงได้ ซึ่งหากทำจริงจังในเรื่องแหล่งที่มาของเงิน คือ ปฏิรูปภาษีและปฏิรูปงบประมาณ แทนที่จะกู้ทั้งหมด
ก็จะสามารถหาเงินได้หลายแสนล้านบาท และเป็นคุณูปการระยะยาวสำหรับประเทศ
หมายเหตุ : เหตุผล ทัศนะ หรือข้อสรุปใดๆ ในบทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคลของผู้เขียน